ตรุษจีนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ นั่นคือ ประเพณีนิยมในการแจกอั่งเปา (ซองแดง) หรือ *แต๊ะเอีย (กด/ทับเอว) เด็กสมัยใหม่ต่างคาดหวังหรือหลงระเริงไปกับตัวเงินในซอง แต่หารู้ไม่ว่า กุญแจสำคัญอยู่ที่ซองแดงต่างหาก
ชาวจีนนิยมชมชอบ “สีแดง” เป็นที่สุด อย่างที่มีคนเคยพูดว่า “จะถูกจะแพง ก็ขอให้แดงไว้ก่อน” เพราะว่า ตามความเชื่ออย่างจีน สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของความมีชีวิตชีวา ความสุข และโชคดี
เรามอบอั่งเปาให้แก่บุตรหลาน หรือญาติผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการมอบโชคลาภและพรอันประเสริฐต่างๆ ให้แก่พวกเขา เงินในซองแดงแค่เพียงต้องการให้เด็กๆ ดีใจ แต่ตัวเอกของประเพณีนี้อยู่ที่ซองแดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโชคดี ดังนั้น การเปิดซองอั่งเปาต่อหน้าผู้ให้ถือเป็นเรื่องที่ไม่สุภาพเช่นกัน
อั่งเปาสามารถมอบให้ในระหว่างไหว้ตรุษจีนในหมู่ญาติพี่น้อง หรือวางไว้ข้างหมอนเวลาที่ลูกๆ หลับในคืนวันสิ้นปีก็ได้ ส่วนเงินในซองแดง บางคนถึงขนาดไปแลกธนบัตรใหม่ที่ธนาคาร ให้ตัวเลขแบงก์เรียงกันแสดงถึงสัมพันธ์ปรองดอง ผู้ที่ได้รับบางคนก็ให้พ่อแม่นำไปฝากธนาคารให้ บ้างก็นำไปจับจ่ายซื้อของที่ตัวเองอยากได้
ประเพณีการให้แต๊ะเอียได้สืบทอดสู่ชาวจีนรุ่นต่อรุ่น ทั้งในประเทศจีนและจีนโพ้นทะเล ครอบครัวจีนส่วนใหญ่ถือว่า ลูกหลานที่ทำงานแล้ว จะไม่ได้แต๊ะเอีย แต่จะกลายเป็นผู้ให้แทน ดังเช่น หนุ่มพรีเซลล์เชื้อสายจีนวัย 27 ปี จากบริษัทคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่งย่านศรีนครินทร์ ให้สัมภาษณ์ว่า เขาให้อั่งเปาพ่อแม่และน้องๆ ตั้งแต่เริ่มทำงาน โดยจะใส่ซองให้พ่อแม่คนละ 2,000 บาท น้องๆ และลูกพี่ลูกน้องที่ยังไม่ทำงานอีกคนละ 100 บาท “ผมมองการให้อั่งเปา ว่าเป็นวิธีการกระชับสัมพันธ์ในหมู่ญาติอีกแบบหนึ่ง และยังเป็นการตอบแทนบุญคุณญาติผู้ใหญ่ ผ่านการให้อั่งเปาลูกๆ ของพวกเขาด้วย”
นอกจากนี้ ยังมีตำนานโบร่ำโบราณเกี่ยวกับเรื่องอั่งเปาอีกว่า เมื่อครั้งโบราณกาลมีปีศาจเขาเดียวนามว่า “ซุ่ย” (祟) อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึก ทุกคืนวันส่งท้ายปีมันจะขึ้นฝั่งมาทำร้ายเด็กๆ โดยซุ่ยจะใช้มือลูบศีรษะเหยื่อ หลังจากนั้นเด็กจะจับไข้ จากเด็กฉลาดเฉลียวจะกลายเป็นเด็กที่สมองเชื่องช้า
ชาวบ้านเกรงว่า ปีศาจซุ่ยจะมาทำร้ายลูกหลาน เมื่อถึงคืนวันสุดท้ายของปี ก็จะจุดไฟเฝ้ายาม ไม่หลับไม่นอนตลอดทั้งคืน เรียกว่า “โส่วซุ่ย” (守祟 หรือ เฝ้าตัวซุ่ย) ต่อมาแผลงเป็น “โส่วซุ่ย” (守岁) ประเพณี **“เฝ้าปี” ที่ชาวจีนนิยมปฏิบัติกันในค่ำคืนก่อนผัดเปลี่ยนสู่ปีใหม่แทน
ในคืนนั้นเองมีเรื่องเล่าว่า มีสามีภรรยาคู่หนึ่ง แซ่กวน นำเงินเหรียญออกมาเล่นกับลูก ครั้นลูกน้อยเหนื่อยล้าหลับไป จึงได้นำเงินเหรียญห่อใส่กระดาษแดงแล้ววางไว้ข้างหมอนลูก
คืนนั้น ปีศาจซุ่ยบุกเข้าบ้านสกุลกวนหวังทำร้ายเด็ก แต่เพราะแสงทองจากเหรียญโลหะข้างหมอนกระทบเข้าตา ทำให้ซุ่ยตกใจและหนีไป
เรื่องราวดังกล่าวแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านอื่นๆ ต่างพากันลอกเลียนแบบ โดยทุกวันสิ้นปีผู้อาวุโสจะมอบเงินห่อกระดาษแดงแก่ลูกหลาน “ซุ่ย” จะได้ไม่กล้ามาทำร้าย นับแต่นั้นมาจึงเรียกเงินที่ให้นี้ว่า “ยาซุ่ยเฉียน” (压祟钱หรือ เงินทับตัวซุ่ย)ต่อมาแผลงเป็น “เงินทับซุ่ย (ปี)” แทน
อย่างไรก็ตาม อั่งเปานั้น ไม่ได้ให้เฉพาะในเทศกาลตรุษจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเทศกาลมงคลอย่างงานแต่งงานด้วย ในงานจะมีประเพณีที่เรียกว่า “ยกน้ำชา” (ขั่งแต้) โดยคู่บ่าวสาวจะคุกเข่า ยกน้ำชาให้แก่ญาติผู้ใหญ่ เมื่อดื่มน้ำชาแล้ว ญาติผู้ใหญ่ก็จะให้อั่งเปาแก่คู่บ่าวสาวเป็นของขวัญในการเริ่มชีวิตคู่
* ที่มาของคำว่า “แต๊ะเอีย” มาจากสมัยก่อนเงินตราที่ชาวจีนโบราณใช้กันเป็นโลหะ ขณะนั้นยังไม่มีชุดเสื้อผ้าที่มีกระเป๋า จึงได้นำเงินใส่ถึงและผูกรอบเอว เงินยิ่งมากน้ำหนักยิ่งกดทับที่เอวมากตาม
** การเฝ้าปีนั้น สมาชิกในบ้านไม่ได้รอคอยปีใหม่กันเฉยๆ แต่มีกิจกรรมร่วมกัน ทั้งการกินเกี๊ยว เหนียนเกา เหล้า เบียร์ เมล็ดแตง อีกทั้งมีการเล่นเกมต่างๆ หรือรวมตัวดูรายการโทรทัศน์ส่งท้ายปีเก่า
เมื่อใกล้ถึงเที่ยงคืน ก็จะเริ่มตั้งโต๊ะ เรียงธูปเทียนไหว้บรรพบุรุษ และต้อนรับเทพเจ้าแห่งโชคลาภ รวมทั้งจุดประทัดไล่โชคร้าย และความไม่ดีต่างๆ ด้วย