xs
xsm
sm
md
lg

จีนสร้างชาติอย่างไร ? (17)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

บทนี้ขอขมวดปมความเข้าใจในเรื่องแนวคิดทฤษฎีแบบรวบยอดอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะเจาะลึกเข้าสู่เนื้อหาสาระของทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง ทฤษฎีแม่บทของการพัฒนาประเทศจีนอย่างรอบด้านในบทต่อๆไป
ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง เป็นผลรวมของกระบวนการพัฒนาแนวคิดทฤษฎีชี้นำการปฏิวัติและพัฒนาประเทศจีน โดยอาศัยจุดยืน ทัศนะ วิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์แบบมาร์กซิสม์เป็นหลักยึด ขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการพัฒนาอย่างรอบด้านเพื่อขับเคลื่อนประเทศจีนบรรลุสู่ความเป็นสังคมนิยมก้าวหน้า ซึ่งเป็นทางออกร่วมกันของมวลมนุษยชาติ ในการฝ่าพ้นวิกฤติรอบด้าน อันเกิดจากการพัฒนาของระบอบทุนนิยมในรอบห้าร้อยปีที่ผ่านมา
เป็นกระบวนการดัดแปลงโลกตามทัศนะมาร์กซิสม์ นั่นคือมุ่งสะท้อนกฎเกณฑ์การพัฒนาของสังคมมนุษย์ ที่ดำเนินไปในตัวมันเองโดยไม่ขึ้นต่อเจตนารมณ์ของผู้ใด หรือที่เรียกกันเป็นศัพท์ปรัชญาว่า “กฎภววิสัย” ใกล้เคียงกับคำว่า “กฎธรรมชาติ”หรือ “ธรรมะ”ในหลักพุทธปรัชญา ในทางปฏิบัติ จึงเน้นในด้านการเคารพความเป็นจริง เริ่มจากความเป็นจริง ถือเอาความเป็นจริงเป็นฐานของการปฏิบัติ ใช้การรับรู้จากการเคลื่อนไหวปฏิบัติบนฐานของความเป็นจริงเป็นตัวกำกับการกำหนดแนวทางการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมหรือพัฒนาประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแต่ละขั้นตอน เพื่อบรรลุสู่จุดหมายปลายทางตามกรอบกำหนดของ “กฎภววิสัย”ในกระบวนการพัฒนาของสังคมมนุษย์ ซึ่งในความเข้าใจของคนเราในยุคปัจจุบัน ก็คือสังคม “สังคมนิยมก้าวหน้า” สนองตอบความต้องการของมวลมนุษย์ในการพัฒนาตนเองอย่างรอบด้าน ในระดับเกินกว่าที่ระบอบทุนนิยมจะทำได้
ด้วยทัศนะเช่นนี้ ชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงสามารถพิสูจน์ตนเองมาเป็นระยะๆ ในความถูกต้องของแนวคิดทฤษฎีชี้นำการปฏิบัติ เกิดกระบวนการสานเชื่อมหลักทฤษฎีแห่งอดีตไปพร้อมๆกับนวัตกรรมแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆไปสู่อนาคตได้ในทุกขั้นตอนของการขับเคลื่อนอย่างเป็นพลวัตของสังคมจีน
อาจกล่าวได้ว่า ตราบใดที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ในฐานะพรรคบริหารประเทศ ยังยึดมั่นในทัศนะดังกล่าว หรือกล่าวรวมๆก็คือ ยืนหยัดในจุดยืน ทัศนะ วิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์แบบมาร์กซิสม์ ดังที่พวกเขาได้ประพฤติปฏิบัติมาแล้วเกือบร้อยปี(ในท่ามกลางการลองผิดลองถูก และต่อสู้เอาชนะแนวคิดผิดๆในรูปแบบต่างๆ) ก็เชื่อได้ว่า พวกเขาจะสามารถนำพาประชาชนชาวจีนปฏิวัติเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองอย่างรอบด้านได้อย่างแท้จริง เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาชนชาวโลกชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
ที่ผู้เขียนสรุปเช่นนี้ ก็เพราะเข้าใจและเชื่อมั่นศรัทธาในความเป็นวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวปฏิบัติของมวลชน และความเป็น “ธรรมะ”ของลัทธิมาร์กซ์ เห็นถึง “กฎเกณฑ์ทั่วไป”ในการขับเคลื่อนตัวเองของมวลมนุษยชาติ ที่แสดงออกในรูปของเหตุปัจจัยหรือ “กฎเกณฑ์เฉพาะ” ในเหตุการณ์ต่างๆของประเทศต่างๆ
ทั้งนี้ กรณีของประเทศจีน ในช่วงเกือบร้อยปีที่ผ่านมา สามารถให้คำตอบได้มากที่สุด ทั้งในเรื่องกฎเกณฑ์ทั่วไปและกฎเกณฑ์เฉพาะ นั่นคือ การปฏิวัติและพัฒนาประเทศจีน ตามกฎเกณฑ์เฉพาะของประเทศจีน ที่ยังเป็นประเทศล้าหลังยากจน ขาดความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเอง ถึงที่สุดแล้วก็เพื่อปลดปล่อยและพัฒนาพลังการผลิต อย่างสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ทั่วไปในกระบวนการพัฒนาของสังคมมนุษย์
การสถาปนาและสร้างสรรค์ระบอบสังคมนิยม คือจุดประสงค์หลักของการปฏิวัติสังคมในรูปสงครามประชาชน พรรคคอมมิวนิสต์จีนนำประชาชนดำเนินการปฏิวัติ ถึงที่สุดก็เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาพลังการผลิตที่ก้าวหน้า ให้สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นยิ่งกว่าในระบอบทุนนิยม ต่อมา พรรคคอมมิวนิสต์จีนดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ เชื่อมประเทศจีนเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลก ก็เพื่อใช้ประโยชน์ปัจจัยต่างๆในระดับทั้งโลก ทั้งตลาด แหล่งทรัพยากร บุคลากรและเทคโนโลยีใหม่ๆ กระตุ้นให้การพัฒนาพลังการผลิตภายในประเทศจีนดำเนินไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อให้สังคมนิยมแสดงออกถึงความล้ำเลิศในความเป็นสังคมอุดมการณ์ของมวลมนุษยชาติ เมื่อเทียบกับข้อจำกัดของระบอบทุนนิยมที่นับวันปรากฏชัดในท่ามกลางวิกฤติระดับโลก
อีกนัยหนึ่ง การปฏิวัติสังคมของคนจีนเป็นไปเพื่อการพัฒนาพลังการผลิตที่ก้าวหน้า การปฏิรูปและเปิดประเทศก็เพื่อให้การพัฒนาพลังการผลิตที่ก้าวหน้าสามารถดำเนินไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เป็นกระบวนการขับเคลื่อนทางสังคมที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์การพัฒนาของสังคมจีนและสังคมโลก มีความเป็น “ธรรมะ”ในตัว
ตราบใดที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ในฐานะผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศในปัจจุบัน ยืนหยัดดำเนินการพัฒนาประเทศไปในแนวทางเช่นนี้ ( ตามทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิงก็คือแนวทางพื้นฐาน “ 1 หัวใจ 2 ฐาน” ได้แก่ ถือเอาการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหัวใจ ยืนหยัดในหลักการพื้นฐาน 4 ประการ และยืนหยัดดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศ) ก็จะสามารถสร้างเสริมเหตุปัจจัยที่เป็นคุณหรือเป็นด้าน “บวก”ให้แก่การเปลี่ยนแปลงของสังคมจีนและสังคมโลก ผู้ได้รับประโยชน์สุดท้ายจะครอบคลุมไปถึงประชาชนชาวจีนและประชาชนชาวโลก อันเป็น “ปรากฏการณ์ใหม่” ที่ไม่เคยมีมาก่อน แม้ในยุคโลกทุนนิยมกำลังรุ่งเรืองสุดขีด ดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
ถ้าเราจับตาดูดีๆ ก็จะพบว่า การดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีน โดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนา เช่นกลุ่มประเทศแอฟริกา ลาตินอเมริกา รวมมาถึงกลุ่มประเทศอาเซียนของเรา ได้สร้างความหวั่นไหวให้แก่กลุ่มประเทศทุนนิยมโลกเป็นอย่างยิ่ง แต่จะทำการขัดขวางหรือทำอะไรที่เป็นการสกัดยับยั้งก็ทำไม่ได้ถนัด เพราะจีนดำเนินกลยุทธ์ใช้ประโยชน์จากการปฏิบัติตามกฎกติกาสากล เลือกเส้นทาง “การพัฒนาอย่างสันติ” เคารพและให้เกียรติประเทศอื่น ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน มั่งคั่งหรือยากจนแค่ไหน ควบคู่ไปกับการพัฒนาความสัมพันธ์อย่างรอบด้านกับประเทศทุนนิยมชั้นนำของโลก ทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น ในรูปของ “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” ซึ่งก็คือนโยบาย “ออลวิน” ไม่มีใครได้ฝ่ายเดียวหรือเสียฝ่ายเดียว แต่จะได้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ส่วนใครจะได้มากได้น้อยแค่ไหนก็ขึ้นกับปัจจัยและเงื่อนไขรูปธรรมและความพร้อมของแต่ละฝ่าย ซึ่งในเงื่อนไขของกรอบกำหนดและกฎกติกาที่ใช้กันอยู่ในวันนี้ ประเทศทุนนิยมโลกเป็นฝ่ายได้เปรียบเต็มประตู จากการพัฒนาประเทศของจีนในด้านต่างๆอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและค่าเงินหยวน ส่วนใหญ่พากันแสดงท่าที “ยินดี”ที่จะคบค้ากับจีนในวงกว้างยิ่งขึ้น แต่ก็พร้อมที่จะใช้มาตรการต่างๆกดดันบีบคั้นและกีดกันจีนทุกวิถีทาง
ตรงนี้ จะเห็นได้ชัดยิ่งขึ้นเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับท่าทีของพวกเขาที่มีต่อประเทศอินเดีย ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดของโลก มีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชีย แสดงบทบาทคานอำนาจความยิ่งใหญ่ของประเทศจีนได้
กระนั้น ด้วยการยืนหยัดในแนวคิดทฤษฎีที่ถูกต้องของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ดังที่ได้นำเสนอมาแล้วนั้น จะเป็นหลักประกันให้ประเทศจีนสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ไม่วอกแวกไปกับปัญหาอุปสรรคหรือปัจจัยก่อกวนในรูปแบบต่างๆ ยึดหลัก “การพัฒนาก็คือเหตุผลเหล็ก” ดำเนินการแก้ไขปัญหารูปธรรมในรูปแบบต่างๆในท่ามกลางการพัฒนา พวกเขาก็จะไม่เสียหลัก พลาดท่าเสียทีง่ายๆ หรือแม้พลาดพลั้งไปบ้างก็ตั้งตัวได้ทัน พร้อมที่จะเดินหน้าพัฒนาตนเองต่อไป
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นภาพย่อกระบวนการแห่ง “เหตุปัจจัย”ขับเคลื่อนการพัฒนาของสังคมจีน ตั้งแต่ช่วงก่อนการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน จวบจนถึงทุกวันนี้ โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนเป็นผู้นำ หลักๆก็คือแนวคิดทฤษฎีปฏิวัติและพัฒนาสังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์ สอดคล้องกับ “กฎภววิสัย”ของประเทศจีนและสังคมโลกโดยรวม
ในมุมมองทางประวัติศาสตร์การพัฒนาของสังคมมนุษย์ มันก็คือภาพแห่งชัยชนะและความสำเร็จอันน่าระทึกใจ ที่นับวันจะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ชาวโลกมากขึ้นทุกที ตามการเปิดกว้างของประเทศจีนและความก้าวหน้าของระบบสื่อสารคมนาคมยุคโลกาภิวัตน์
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ก็ยังเป็นการยืนยันถึงที่มาหรือ “ต้นธาร”ทางปัญญาของชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย
ด้วยจุดยืน ทัศนะ วิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์แบบมาร์กซิสม์ ทุกอย่างเริ่มจากความเป็นจริง ทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของปวงประชามหาชน ทฤษฎีประสานกับการปฏิบัติ วินิจฉัยและหาคำตอบบนฐานของการปฏิบัติ หาสัจจะจากความเป็นจริงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง โดยไม่ยึดติดในตัวตน(อัตตา) ฯลฯ เช่นนี้แล้ว พวกเขาก็พร้อมที่จะเข้าถึงสัจธรรม เกิดความสว่าง สามารถใช้ธรรมนำหน้าในการดำเนินการต่อสู้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งในยุคสงครามและการปฏิวัติ และในยุคสันติภาพและการพัฒนา
ปัจจุบัน เมื่อประเทศจีนก้าวเข้าสู่ระยะการพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ที่ถือเอาคนเป็นฐาน ดำเนินการพัฒนาอย่างรอบด้าน อย่างเชื่อมโยงทั่วถึง และอย่างยั่งยืน เราจะยิ่งประจักษ์ชัดในพัฒนาการของ “สายธารทางปัญญา”ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน นั่นคือ ทฤษฎีพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และการสร้างสังคมจีนให้เป็นสังคมกลมกลืน ที่กำลังแสดงบทบาทเป็นทฤษฎีชี้นำการพัฒนาประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนวันนี้ ก็คือผลพวงรูปธรรมของหลักการพื้นฐานของลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิเลนิน ความคิดเหมาเจ๋อตง ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง และทฤษฎี “ตัวแทน 3 ประการ”
บนฐานของการใช้จุดยืน ทัศนะ วิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ยึดติดในตำราและตัวบุคคล แต่ยึดและถือเอาความเป็นจริงเป็นตัวตั้งเสมอ นั่นเอง

-----------------------------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น