xs
xsm
sm
md
lg

จีนสร้างชาติอย่างไร ? (16)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

จีนสร้างชาติได้สำเร็จเป็นประจักษ์แก่สายตาชาวโลก ก็เพราะมีทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิงชี้นำการปฏิบัติ
และเมื่อวันเวลาผ่านไป ผลการปฏิบัติปรากฏออกมา ก็ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่จากประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งด้านบวกและด้านลบ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการประมวลและสรุปเป็นองค์ความรู้รวบยอด คือการรับรู้ในระดับที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์การพัฒนาประเทศจีนในขั้นต่อไป ในบริบทของการขับเคลื่อนของสังคมโลก นำไปสู่การเกิดขึ้นของแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆ สานต่อทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง ในด้านต่างๆตามสภาวะของความเรียกร้องต้องการในแต่ละห้วงของการพัฒนา โดยทั้งหมดนั้นก็ยังคงดำเนินไปตามแนวคิดยุทธศาสตร์ “สามก้าว”ของเติ้งเสี่ยวผิง นั่นคือ การทำให้จีนเป็นประเทศพัฒนาระดับโลกในกลางศตวรรษที่ 21
จึงกล่าวได้ว่า ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง เป็นทฤษฎีแม่บท ชี้นำการพัฒนาประเทศจีนให้ก้าวพ้นจากสภาวะล้าหลังยากจน ไปสู่ความทันสมัยมั่งคั่ง ประชาชนอยู่ดีกินดีเป็นเบื้องต้น และ เป็นรากฐานของทฤษฎี “สามตัวแทน”ในยุคเจียงเจ๋อหมิน และทฤษฎี “การพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์”ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
เนื้อหาสาระของทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิงที่สำคัญคืออะไร ?
มองในระดับองค์รวม ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง ก็เช่นเดียวกับทฤษฎีชี้นำการเคลื่อนไหวปฏิบัติสำคัญๆของชาวลัทธิมาร์กซ์ เช่น ลัทธิเลนิน และความคิดเหมาเจ๋อตง คือเป็นระบบความคิดพัฒนาขึ้นมาบนฐานของปรัชญาลัทธิมาร์กซ์ (ลัทธิวัตถุนิยมวิภาษ และลัทธิวัตถุนิยมประวัติศาสตร์) มีความสมบูรณ์ในตัว และมีความเป็นวิทยาศาสตร์ในตัว นั่นคือสะท้อนกฎเกณฑ์การพัฒนาของสังคมในขั้นใดขั้นหนึ่ง สามารถนำไปสู่การกำหนดภารกิจใจกลางได้อย่างถูกต้อง สามารถระดมสรรพกำลังเข้าสู่การต่อสู้หรือเคลื่อนไหวปฏิบัติ จนบรรลุเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ในทุกขั้นตอน
มองในมุมของการพัฒนา ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิงเป็นทฤษฎีแม่บทของการพัฒนาอย่างรอบด้าน หัวใจอยู่ที่การพัฒนาพลังการผลิต ตามหลักทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ที่ว่า พลังการผลิตคือพลังขับเคลื่อนเบื้องต้นที่สุดของกระบวนการพัฒนาของสังคมมนุษย์ สังคมจะเจริญก้าวหน้าถึงขั้นไหน ก็ต้องอิงอยู่บนฐานของระดับการพัฒนาของพลังการผลิตในสังคม
นั่นก็คือคำตอบเบื้องต้นว่า ทำไมโลกสังคมนิยมในอดีตจึงไปไม่ถึงดวงดาว
เพราะเพียงการปฏิวัติสังคม ทำให้ทุกอย่างดูเป็น “คอมมิวนิสต์” ไม่ได้ช่วยให้ประเทศสังคมนิยมมีความก้าวหน้าเหนือประเทศทุนนิยมเลย
ยังผลให้คำวินิจฉัยของคาร์ล มาร์กซ์ที่ว่า ระบอบสังคมนิยมซึ่งเป็นระยะต้นของสังคมคอมมิวนิสต์ล้ำเลิศกว่าระบอบทุนนิยมหมดความขลัง ไร้แรงดึงดูด
จนกระทั่งเมื่อประเทศจีน ในยุคเติ้งเสี่ยวผิงและต่อๆมา ดำเนินการพัฒนาประเทศบนฐานของความเข้าใจใหม่ ในแก่นแท้ของสังคมนิยม ตระหนักยิ่งในความสำคัญที่มีลักษณะชี้ขาดของพลังการผลิตในกระบวนการพัฒนาสร้างสรรค์ระบอบสังคมนิยม จึงได้ปรับแนวคิดของพรรคฯ กำหนดภารกิจใจกลางตลอดระยะเวลาของการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ไว้ที่การพัฒนาพลังการผลิต ดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทำการปฏิรูประบบ กลไก ต่างๆในระบอบสังคมนิยม ให้สามารถดูดซับเอาทรัพยากรต่างๆจากทั่วทั้งโลก รวมทั้งศึกษาบทเรียนและประสบการณ์จากประเทศต่างๆ โดยไม่เลือกว่าเป็นประเทศสังคมนิยมหรือทุนนิยม
ทั้งหมดก็เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาพลังการผลิตในสังคมจีนให้ก้าวรุดหน้า ยกระดับมาตรฐานสังคมจีน และระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวจีนให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการพัฒนาในด้านอื่นๆควบคู่กันไป ทั้งทางด้านสังคม การเมือง การศึกษา วิทยาการใหม่ๆ และศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ
อีกนัยหนึ่ง คือการสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างรอบด้าน ทั้งทางด้านวัตถุและทางด้านจิตใจ
ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิงเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิงไม่ได้เกิดขึ้นแบบปุบปับแบบเบ็ดเสร็จ แต่เป็นกระบวนการค่อยเป็นค่อยไป ตามความเรียกร้องต้องการของสถานการณ์ขณะนั้นๆ นั่นคือ หลักเหตุผลที่ว่า ทฤษฎีชี้นำการปฏิบัติไม่สามารถอยู่อยู่ก็งอกขึ้นมาในหัวสมองของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันเป็นไปตามความเรียกร้องต้องการของสภาวะเป็นจริง ต้องอาศัยมันสมองรับรู้ของผู้อยู่ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวปฏิบัติที่เป็นจริง บนฐานขององค์ความรู้และประสบการณ์ในทุกๆด้านของมวลชน
คุณสมบัติของผู้นำเด่นๆของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อาทิเช่น เหมาเจ๋อตง เติ้งเสี่ยวผิง ก็คือ “เก่ง”ในการประมวลและสังเคราะห์องค์ความรู้ของมวลชนอันกว้างใหญ่ไพศาล ในการขับเคลื่อนกระบวนการปฏิวัติและพัฒนา ใช้จุดยืน ทัศนะ วิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ชี้นำการปฏิบัติ พัฒนาองค์ความรู้จากการปฏิบัติเป็นแนวคิดทฤษฎี แล้วหันกลับไปชี้นำการปฏิบัติของมวลชนอีกที เมื่อแนวคิดทฤษฎีที่ถูกต้องประสานเข้ากับกระบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน เป็นที่ยอมรับของมวลชน ก็จะเกิดอานุภาพยิ่งใหญ่ ในการเปลี่ยนแปลงสังคม ทั้งในรูปของการปฏิวัติและการพัฒนา
ในกรณีของเติ้งเสี่ยวผิง การที่เขามีบทบาทเป็นแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่เริ่มต้นของการปฏิวัติ ผ่านงานการนำมาอย่างโชกโชนทั้งทางด้านการเมือง การทหาร การเศรษฐกิจ ได้รับรู้อย่างกว้างขวางในทุกขั้นตอนของการปฏิวัติและพัฒนาประเทศจีน และที่สำคัญคือเป็นผู้ที่ยืนหยัด “เคารพความเป็นจริง” มากที่สุดคนหนึ่งในหมู่ผู้นำจีน
ด้วยคุณสมบัติต่างๆดังที่ได้กล่าวมา ทำให้เติ้งเสี่ยวผิงมีทัศคติที่เปิดกว้าง ง่ายในการเข้าถึงสัจธรรม ง่ายที่ปรับเปลี่ยนทัศนะและท่าที และพร้อมที่จะรับแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ หากเห็นว่ามันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงไป
ในทุกช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการต่อสู้ระหว่างแนวคิดที่ถูกต้องกับแนวคิดที่ผิดพลาด เติ้งเสี่ยวผิงไม่ลังเลที่จะเลือกยืนอยู่ในฝ่ายถูกต้อง ในครั้งที่เหมาเจ๋อตงนำเสนอแนวคิดทฤษฎีสงครามประชาชน เขายืนหยัดอยู่เคียงข้างเหมาเจ๋อตง แต่เมื่อเหมาเจ๋อตงนำเสนอแนวคิดที่ผิดพลาดในการพัฒนาประเทศจีน เขาก็คัดค้าน และยืนหยัดอย่างเหนียวแน่นในเรื่องการพัฒนาพลังการผลิต จนกระทั่งถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งแกนนำภายในพรรคและรัฐบาลหลายครั้งหลายครา
จนกระทั่งความเป็นจริงพิสูจน์ถึงความถูกต้องของแนวคิดของเขา ประชาชนเรียกร้องต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต จำเป็นจะต้องพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน
ในระยะเริ่มแรก เติ้งเสี่ยวผิงจึงได้นำเสนอทฤษฎี “แมวสีอะไรก็ได้ ถ้าจับหนูได้ก็เป็นแมวที่ดี” นั่นคือรับเอาวิธีการอะไรก็ได้ ที่จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว เริ่มด้วยการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตามอย่างสิงค์โปร์ (ก่อนเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ พรรคฯจีนได้ส่งเจียงเจ๋อหมินไปศึกษาประสบการณ์ถึงสิงคโปร์)
บนฐานความคิดดังกล่าว เติ้งเสี่ยวผิงได้ทยอยนำเสนอแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีน ในรูปแบบอื่นๆมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งการนำระบบเศรษฐกิจตลาดมาประยุกต์ใช้ในระบอบสังคมนิยม ต่อมามีการเรียกเสียใหม่ว่า “ระบบเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน” ซึ่งกว่าจะนำเสนอได้อย่างครบสมบูรณ์ในระดับที่เป็นระบบรอบด้าน ก็กินเวลาหลายปี
อีกนัยหนึ่ง การนำเสนอแนวคิดทฤษฎีของเติ้งเสี่ยวผิง จะต้องใช้การปฏิบัติเป็นเครื่องพิสูจน์ ซึ่งผลจากการปฏิบัติในแต่ละห้วงที่ปรากฏออกมา จะมีเสียงสะท้อนที่แตกต่างกันไป กระทั่งตรงกันข้าม ตามสถานภาพของแต่ละบุคคล ทำให้เกิดความสับสนขึ้นในสังคมเป็นพักๆ มีการถกเถียงกันในระหว่างสมาชิกพรรค และผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็นนักลัทธิมาร์กซ์และชาวคอมมิวนิสต์ ตลอดจนนักวิชาการสำนักต่างๆอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในช่วงต้นทศวรรษ ค.ศ. 1990 เมื่อกลุ่มประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกและอดีตสหภาพโซเวียตพากันล่มสลาย
จนกระทั่งปี ค.ศ.1992 เติ้งเสี่ยวผิงจึงได้สรุปรวบยอดถึงลักษณะของ “ระบบเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน” ว่าระบบเศรษฐกิจตลาดนั้น ทุนนิยมก็ใช้ได้ สังคมนิยมก็ใช้ได้ เช่นเดียวกันกับการวางแผนเศรษฐกิจ สังคมนิยมก็ใช้ได้ ทุนนิยมก็ใช้ได้
อันเป็นการยืนยันในความถูกต้องของแนวคิดพื้นฐานเรื่อง “แมวสีอะไรก็ได้” หากเป็นประโยชน์ก็นำมาปรับใช้กับประเทศจีนในการพัฒนาประเทศ ภายใต้ระบอบสังคมนิยม เพราะมีแต่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบอบสังคมนิยม สร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ประชาชนชาวจีน
ส่วนข้อเสียต่างๆที่ยังมีอยู่หรือมีตามมา ก็สามารถแก้ไขด้วยการปฏิรูปในท่ามกลางการพัฒนา โดยการปฏิรูปครอบคลุมไปในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง
อันเป็นที่มาของวลีอมตะ ที่ว่า“การพัฒนาก็คือเหตุผลเหล็ก” (ฟาจั่นจิ้วซื่ออิ้งเต้าหลี่) ประเทศจีนจะก้าวหน้าไปได้ด้วยการพัฒนา โดยถือเอาการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหัวใจ

---------------------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น