xs
xsm
sm
md
lg

จีนสร้างชาติอย่างไร ? (10)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

อุดมการณ์สูงส่ง บนฐานของความเข้าใจในกระบวนการขับเคลื่อนของสังคมประเทศจีน และสังคมโลก คือตัว “ชี้ทิศนำทาง”ให้แก่การกำหนดแนวคิดยุทธศาสตร์การปฏิวัติชาติจีนและสร้างชาติจีน ถักทอต่อเชื่อมกันเข้าเป็น “เค้าโครงความคิด” สะท้อนวิสัยทัศน์ในระดับองค์รวม ให้ประชาชนชาวจีนยึดถือเป็นเป้าหมาย เข้าร่วมกระบวนการเปลี่ยนแปลงในฐานะ “เจ้าภาพ”ตัวจริง
เรื่องของ “เค้าโครงความคิด”จึงสำคัญมาก ต้องมีปรากฏขึ้นในทุกขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลง ถ้าผิดก็ไปไม่รอด ถ้าถูกก็สามารถเดินหน้าต่อไป
พัฒนาการของประเทศจีนในห้วง 100 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินมาตาม “เค้าโครงความคิด”ใหญ่ๆลักษณะนี้ทุกประการ ประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นขั้นๆ โดยเฉพาะตั้งแต่มีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
มองในภาพรวม อุดมการณ์สูงส่ง แนวคิดยุทธศาสตร์ และเค้าโครงความคิด ก็คือองค์ประกอบแก่นแกน ของกระบวนการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของสังคมจีนในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา ทั้งในห้วงของการปฏิวัติปลดปล่อยประเทศ และในระยะการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย
อีกนัยหนึ่ง การปฏิวัติและการพัฒนาของประเทศจีน จะมิอาจได้รับชัยชนะและประสบความสำเร็จได้หากปราศจากบุคคลและคณะบุคคลในรูปของพรรคการเมืองที่เปี่ยมด้วยอุดมการณ์สูงส่ง มีปัญญามากพอที่จะนำเสนอแนวคิดยุทธศาสตร์ชี้นำการปฏิบัติ และมีเค้าโครงความคิดชัดเจนพอที่จะโน้มน้าวสาธารณชนให้เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาต่อแนวคิดอุดมการณ์ และแนวทางยุทธศาสตร์ที่นำเสนอออกไป
ในบริบทดังกล่าว ผู้นำและพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง มีอุดมการณ์สูงส่ง จึงเป็น “เหตุปัจจัยชี้ขาด”ของการเปลี่ยนแปลงสังคมจีนยุคใหม่ ทั้งในรูปของการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธและการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย
อีกทั้ง เหตุปัจจัยชี้ขาดที่ว่านี้ จะต้องก่อเกิดขึ้นบนฐานของความเรียกร้องต้องการการเปลี่ยนแปลงของสังคมจีนอย่างแท้จริง (อันเป็นเหตุปัจจัยเบื้องต้น เสมือนเนื้อดินที่พร้อมอุ้มชูให้พืชพันธุ์ เจริญงอกงาม )
จึงกล่าวได้ว่า ความเรียกร้องต้องการที่จะก้าวพ้นจากความล้าหลังยากจน ไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ทันสมัยเฉกเช่นนานาอารยประเทศของจีน อันเป็นเหตุปัจจัยเบื้องต้น กับการพัฒนาเติบใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำอันถูกต้องของคณะผู้นำพรรคฯอันเป็นเหตุปัจจัยชี้ขาด จึงประกอบกันเข้า เป็น “สองด้าน”ของเหรียญเดียวกัน แยกจากกันไม่ได้
ปัจจุบัน มีการสรุปเชิงทฤษฎีเบื้องต้นแล้วว่า ชัยชนะของการปฏิวัติและความสำเร็จของการพัฒนาประเทศ ที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นผลการ “เลือก”ของสังคมจีน สามารถตอบคำถามว่า ทำไมจีนจึงไม่เลือกเดินหนทางทุนนิยม ทั้งๆที่โลกทุนนิยมยังคงแสดงออกถึงความฟู่ฟ่าเหนือกว่าโลกสังคมนิยม
การเดินหนทางสังคมนิยม ไม่เพียงสามารถพาคนจีนหลุดพ้นจากความล้าหลังยากจนเท่านั้น แต่จะพัฒนาล้ำหน้าโลกทุนนิยมได้ในที่สุด ส่วนจะทำอย่างไรให้การก้าวไปสู่ความเป็นสังคมนิยมได้อย่างรวดเร็ว และเจริญรุ่งเรืองรอบด้าน เพื่อบรรลุสู่ความเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ในอนาคต ก็ต้องใช้ความพยายามมากขึ้น ด้วยการนำเสนอแนวคิดยุทธศาสตร์และพัฒนาเค้าโครงความคิดใหม่ๆ อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงและด้วยวิธีการที่ถูกต้องที่สุดเท่าที่จะทำได้
จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
เพราะมันคือกฎเกณฑ์ที่คุณต้องเคารพและปฏิบัติตาม กำหนดให้คุณไม่ทำอะไรตามใจนึก ถือเอา “อัตตา”เป็นที่ตั้ง
อีกนัยหนึ่ง คุณต้องมีจุดยืน ทัศนะ วิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีระบบความคิดที่ไม่หลุดลอยไปจากฐานแห่งความเป็นจริง โดยเฉพาะจากการเคลื่อนไหวปฏิบัติทางสังคมในท่ามกลางการเคลื่อนไหวของมวลชน
เมื่อนั้น คุณก็จะมีแนวคิดยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง เดินไปบนหนทางแห่งชนะตลอดกาล
จากกรณีของจีน น่าจะอนุมานได้ว่า ประเทศที่ยังอยู่ในขั้นของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อให้พ้นจากความล้าหลังยากจน ก้าวเข้าสู่ระยะของความเจริญรุ่งเรือง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคณะผู้นำการบริหารประเทศ ซึ่งปัจจุบันก็คือพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในอุดมการณ์สูงส่ง สามารถนำเสนอแนวคิดยุทธศาสตร์ชี้นำการต่อสู้ปฏิวัติหรือพัฒนา พร้อมกับเชิดชูเค้าโครงความคิดที่จะรังสรรค์สังคมที่ดีงามและชีวิตที่ดีกว่า ให้ปรากฏแก่สายตาปวงประชามหาชน
ทั้งนี้ทั้งนั้น ลักษณะหรือประเภทของผู้นำและพรรคการเมืองที่ว่านั้นจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับความเรียกร้องต้องการของประเทศชาติและความตื่นตัวของประชาชนในขณะนั้นเป็นสำคัญ

ในกรณีของจีน ประเทศจีนเมื่อย่างเข้าสู่ระยะของการเปลี่ยนแปลงจากสังคมโบราณ สู่สังคมสมัยใหม่ โดยมีสงครามฝิ่นเป็นชนวนเหตุสำคัญ ได้ปรากฏเค้าโครงความคิดที่จะนำพาประเทศจีนก้าวพ้นจากความล้าหลังยากจนอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถดำเนินให้ปรากฏเป็นจริง จนกระทั่งถึงต้นศตวรรษที่ 20 ดร.ซุนยัดเซน(ซุนจงซัน) ได้นำเสนอเค้าโครงความคิดสร้างชาติจีนให้เจริญด้วยลัทธิไตรราษฎร์ (ซันหมินจู่อี้) มุ่งหมายให้ประชาชาติจีนเป็นอิสระ ประชาชนมีสิทธิประชาธิปไตยและมีความอยู่ดีกินดี สามัคคีชาวจีนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยดำเนินการปฏิวัติโค่นล้มการปกครองของราชวงศ์ชิง(แมนจู)ได้สำเร็จ แต่ก็ไม่อาจนำประเทศจีนก้าวเข้าสู่ขั้นของการพัฒนาได้
ต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน โดยเฉพาะคือตั้งแต่เหมาเจ๋อตงก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำในกลางทศวรรษ ค.ศ.1930 ได้นำเสนอเค้าโครงความคิดปฏิวัติประชาธิปไตยแผนใหม่ มุ่งปลดแอกประเทศจีนและประชาชาติจีนโดยรวม เพื่อก้าวไปสู่การสถาปนารัฐสังคมนิยมและสร้างสรรค์สังคมนิยม สามารถสามัคคีประชาชนชาวจีนทุกระดับชั้นดำเนินการต่อสู้ปฏิวัติจนประสบความสำเร็จ และก้าวเข้าสู่ระยะของการพัฒนาประเทศได้เป็นเบื้องต้น
การพัฒนาประเทศในระยะต้นๆ ระหว่างปี ค.ศ.1953-1956 เป็นการพัฒนาตามแบบสหภาพโซเวียต คือเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก เหมาเจ๋อตงและคณะผู้นำพรรคฯเห็นว่าไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของประเทศและความเรียกร้องต้องการของคนจีนส่วนใหญ่ เพราะมีข้อจำกัดในหลายๆด้าน ปิดกั้นมิให้เกิดการระดมปัจจัยที่เป็นคุณทั้งหลายทั้งปวงเข้าสู่กระบวนการพัฒนา จึงได้นำเสนอแนวคิด “เก็บรับบทเรียนของสหภาพโซเวียต เดินหนทางของตนเอง” เกิดเป็นเค้าโครงความคิดที่จะ “เดินไปบนหนทางการพัฒนาให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมสังคมนิยมแบบจีน”
ตามเนื้อหาสาระที่ปรากฏในบทวิเคราะห์ “ความสัมพันธ์ใหญ่ 10 ประการ” หลักๆก็คือ 1. พัฒนาอุตสาหกรรมหนักและเบาอย่างสมดุล 2. พัฒนาอุตสาหกรรมกับเกษตรกรรมอย่างสมดุล 3. พัฒนาเขตชายทะเลกับเขตในประเทศอย่างสมดุล 4. พัฒนาเศรษฐกิจกับการป้องกันประเทศอย่างสมดุล 5.จัดการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หน่วยผลิตและปัจเจกบุคคลอย่างถูกต้อง 6.จัดการความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นอย่างถูกต้อง 7. จัดการความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติฮั่นกับชนชาติส่วนน้อยอย่างถูกต้อง 8. จัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนในพรรคกับคนนอกพรรคอย่างถูกต้อง 9. จัดการความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายปฏิวัติกับฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติอย่างถูกต้อง จัดการความสัมพันธ์ระหว่างความถูกและความผิดอย่างถูกต้อง และ 10. จัดการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนกับต่างประเทศอย่างถูกต้อง
แนวความคิดนี้เกิดจากการลงมือสำรวจค้นคว้าอย่างทั่วถึงทุกด้านของผลการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาฉบันที่ 1 ระหว่าง ค.ศ.1953-1956 โดยเหมาเจ๋อตงและคณะผู้นำพรรคฯจีนเป็นผู้ลงมือเองและกำกับการอย่างใกล้ชิด ได้รับการเห็นชอบอย่างกว้างขวางในหมู่สมาชิกพรรค และมีการบรรจุไว้ในรายงานการเมืองของเหมาเจ๋อตงต่อที่ประชุมสมัชชาพรรคฯสมัยที่ 8 ในเดือนกันยายน 1956
ยิ่งกว่านั้นในปีถัดมา เหมาเจ๋อตงยังได้นำเสนอแนวคิดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในหมู่ประชาชนอย่างเป็นระบบ (ในบทวิเคราะห์เรื่อง “เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในหมู่ประชาชนอย่างถูกต้อง” เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมนิยมจีนในห้วงการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย
ตามเค้าโครงความคิด “เดินไปบนหนทางแห่งการพัฒนาให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมสังคมนิยมแบบจีน”

----------------------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น