xs
xsm
sm
md
lg

การปฏิวัติ จีน – ไทย

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

เขียนถึงเรื่องคนจีนฮักกา (จีนแคะ) แล้วก็นึกถึงท่านซุนยัดเซน วันก่อนเพื่อนคนหนึ่งโทรมาถามว่า ซุนยัดเซนเป็นคนกวางตุ้งหรือคนแคะกันแน่ ตอบไปว่า ท่านเกิดในมณฑลกวางตุ้ง ครอบครัวท่านมีเชื้อสายจีนแคะ ท่านพูดได้ทั้งภาษากวางตุ้งและภาษาแคะ สหายร่วมการปฏิวัติของท่านหลายคนก็เป็นคนฮักกา และท่านเคยเข้ามาเคลื่อนไหวจัดตั้งหน่วยงานปฏิวัติในประเทศสยามถึงสี่ครั้ง

แต่ก่อนที่จะเล่าเรื่องท่านซุนยัดเซนในสยาม ผมขอย้อนขึ้นไปถึงเรื่องวิเทโศบายเรื่องความสัมพันธ์ สยาม-จีน ในสมัยรัชการที่ 4 ก่อน

ดังที่เรารับรู้กันอยู่ (ผมคิดเอาเองว่าท่านผู้อ่านคงจะรู้แล้วนะครับ) ว่าความสัมพันธ์สายาม-จีน ตั้งแต่สมัยโบราณมานั้น เป็นระบบจิ้มก้อง (จิ้นก้ง – ถวายราชบรรณาการ) คือทางฝ่ายจีนหลังจากช่วงเจิ้งเหอเดินเรือแสดงแสนยานุภาพแล้ว ฮ่องเต้องค์ต่อๆมากลับปิดประเทศ พ่อค้าสำเภาต่างชาติจะเข้าไปค้าขายในจีนได้ ก็ต้องอ้างว่าไปจิ้มก้อง สยามนั้นด้านหนึ่งต้องการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับทางจีน อีกด้านหนึ่งก็ยอมรับว่าจีนเป็นประเทศใหญ่ การจะส่งพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการไป เพื่อจะค้าขายหากำไรและสิ่งของที่ต้องการ เป็นเรื่องปกติไม่รู้สึกเสียหายอะไร สยามจึงจิ้มก้องพร้อมๆกับค้าขายหากำไรไปด้วยตลอดมาจนถึงรัชกาลที่ 4

ตอนนั้นภัยฝรั่งนักล่าอาณานิคมมันชัดเจนขึ้นแล้ว อินเดีย พม่า ชวา ฟิลิปปินส์ ตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่งไปแล้ว ทางจีนซึ่งเคยเป็นพี่เอื้อยในภูมิภาคนี้ ก็เพลี่ยงพล้ำเสียดินแดนให้กับฝรั่งมากขึ้นเรื่อยๆ ทางสยามซึ่งเคยส่งทูตไปจิ้มก้องตามประเพณีจึงเริ่มตื่นตัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่สี่และเหล่าเสนาบดี ปรึกษาหารือกันเรื่องจะจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับจีนอย่างไรดี เรื่องนี้แสดงถึงความปรีชาสามารถของบรรพบุรุษไทยมากนะครับ

การปรึกษาหารือครั้งนั้นได้ผลสรุปว่า สยามควรจะเลิกไปจิ้มก้องกับจีน

เพราะอะไรหรือครับ

เพราะปราชญ์ไทยสมัยนั้น วิเคราะห์อนาคตว่า ฝรั่งจะคุกคามประเทศแถบนี้มากขึ้น จีนมีแนวโน้มว่าอาจจะพ่ายแพ้ฝรั่งจนถูกยึดครองแบบเดียวกับอินเดีย

ทีนี้เนื่องจากจีนเขาถือว่า ประเทศใดไปจิ้มก้องเขา ประเทศนั้นก็เป็นเมืองออกหรือเมืองขึ้นของเขาทั้งนั้น ปราชญ์สยามรู้ดีว่า แม้ในทางเป็นจริงสยามจะมิใช่เมืองขึ้นของจีน แต่ราชสำนักจีนเขาคิดอย่างนั้น ซึ่งถ้าฝรั่งยึดครองได้เมืองจีน ฝรั่งก็จะอ้างว่าสยามเคยเป็นเมืองขึ้นจีน แล้วจะยึดครองสยามเสียด้วย

ฝรั่งคิดอย่างนั้นจริงๆ ดังที่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ห้า เมื่อฝรั่งเศสยึดครองเวียดนามได้แล้วก็อ้างว่ากัมพูชาเคยเป็นเมืองขึ้นเวียดนาม แย่งยึดเอาดินแดนกัมพูชาไปครอง

ปราชญ์ไทยสมัยรัชกาลที่ 4 ประชุมวิเคราะห์กันได้เช่นนั้น ราชสำนักสยามจึงเลิกไปจิ้มก้องกรุงจีน และได้ขาดความสัมพันธ์ระดับรัฐมาอีกนาน

อีกประการหนึ่งของการที่ฝรั่งเข้ายึดครองดินแดนบางส่วนของจีน เช่น ฮ่องกง มาเก๊า ชานตุง ฯลฯ ทำให้คนจีนบางส่วนยอมเข้าอยู่ใต้อาณัติ เป็นคนในอาณัติชาติฝรั่ง เช่น เป็นคนในอาณัติอังกฤษ อาณัติฮอลันดา ฯลฯ คนเหล่านี้เมื่อมาอยู่เมืองสยาม เขาก็มีสิทธิสภาพะนอกอาณาเขตไปด้วย คือ ไม่ต้องขึ้นศาลไทย คนจีนที่อยู่ในอาณัติชาติฝรั่ง มักจะตื่นตัวก้าวหน้าทางการเมือง และเคลื่อนไหวทางการเมืองได้มาก เพราะไม่ต้องกลัวภัยจากผู้ปกครองท้องถิ่นเช่นรัฐบาลสยามมากนัก

ท่านที่สนใจเรื่องราวการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชายจีนโพ้นทะเลตั้งแต่ยุครัชการที่ 5 หาอ่านได้จากหนังสือเรื่อง “กิจกรรมทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเล” เขียนโดย เขี่ยกวง แปลโดย เชาวน์ พงษ์พิชิต และ “การเมืองจีนสยาม” เขียนโดย เออิจิ มุราชิมา แปลโดย วรศักดิ์ มหิทธโนบล ทั้งสองเล่มจัดพิมพ์โดยศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก่อนการปฏิวัติซินไห่ ปี พ.ศ.2454 เวทีการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยนั้น แตกแยกกันเป็นสองพวก พวกหนึ่งจะใช้แนวทางให้มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ กลุ่มนี้มี คั่งเหยี่ยวเหวย เหลียงฉี่เชา เป็นผู้นำทางควมคิด อีกพวกหนึ่งจะใช้แนวทางปฏิวัติประชาธิปไตย เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐ กลุ่มนี้มีท่านซุนยัดเซนเป็นผู้นำทางความคิด ทั้งสองกลุ่มพยายามส่งคนของพวกตนออกไปเคลื่อนไหวในสยามด้วย

บุคคลสำคัญที่กลุ่มนิยมกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญส่งมาสยามคือ ลวีฉิน อู๋เซี่ยนจื่อ ได้พยายามหาการสนับสนุนจาก “ยี่กอฮง” (แต้ตี้ย่ง หรือ เจิ้งจื้อหย่ง) หัวหน้าหงเหมินเทียนตี้ฮุ่ย (อั้งยี่) ในสยาม

ส่วนบุคคลสำคัญที่กลุ่มนิยมสาธารณรัฐส่งมาสยามคือ โหยวเสี่ย คังยินเถียน พวกนี้ได้รับการสนับสนุนจากนายเขียวผอเฉิง (เขียวฮุดเล็ง ศรีบุญเรือง) ผู้ทรงอิทธิพลในชำฮะหวย

เขียวฮุดเล็งผู้นี้มีส่วนในการสร้างเสริมวงการพิมพ์หนังสือในประเทศสยามอยู่มาก เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางภาษาทั้งภาษาจีนและภาษาไทย และก็มีความกล้า เขียนบทความโต้แย้งกับในหลวงรัชกาลที่ 6 (ทรงใช้นามปากกาเขียนลงหนังสือพิมพ์)

ทั้งนี้ อาจจะเพราะว่า เขียวฮุดเล็งเป็นคนในบังคับอังกฤษ และยังมีสายสัมพันธ์อันดีกับวงการปัญญาชนสยามด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น