xs
xsm
sm
md
lg

กบฏฮักกา

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

สัปดาห์ที่แล้วติดค้างเรื่อง “หงซิ่วฉวน” ผู้นำของการลุกขึ้นสู้ของชาวนากลุ่ม “ไท่ผิงเทียนกั๋ว – อาณาจักรวิมานสันติ” การลุกขึ้นสู้ของชาวนาจีนนั้น ถ้าสำเร็จสามารถโค่นล้มราชวงศ์เก่าลงได้ และปราบปรามเอาชนะกลุ่มลุกขึ้นสู้กลุ่มอื่นๆ ลงได้ ผู้นำของกลุ่มชนะก็จะได้เป็นฮ่องเต้ ตั้งราชวงศ์ใหม่

แต่ถ้าแพ้ต่อกองทัพของราชสำนัก ก็แน่นอนว่า จะถูกเรียกว่า กบฏ

การลุกขึ้นสู้ของกลุ่มไท่ผิงเทียนกั๋ว แม้จะสั่นสะเทือนราชวงศ์ชิงได้มาก แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้ จึงถูกเรียกว่า “กบฏ” ทางการเรียกสั้นๆ ว่า “กบฏไท่ผิง” ส่วนชาวบ้านเรียกว่า “กบฏผมยาว” เพราะกบฏกลุ่มนี้ ตัดเปีย อันเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นข้าแผ่นดินของราชวงศ์แมนจูทิ้งไป

หงซิ่วฉวน และสหายของเขาที่เป็นระดับผู้นำทัพหลายคนเป็นชาวจีนเชื้อสายจีนแคะหรือฮักกา

ผมเลยตั้งชื่อบทนี้ว่า “กบฏฮักกา”

หงซิ่วฉวน เกิดในครอบครัวชาวนาเชื้อสายจีนแคะ ในหมู่บ้านกวนลู่ผู่ อำเภอฮัวเสี้ยน มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) เขาเกิดเมื่อปี พ.ศ.2356 (ตรงกับรัชกาลที่ 2) ปีระกา เกิดปีเดียวกับเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี- ขำ บุนนาค)

หงซิ่วฉวนก็ร่ำเรียนตำราขงจื๊อ เพื่อสอบเข้ารับราชการทำนองเดียวกับชายหนุ่มชาวฮักกาในสมัยนั้น แต่เขาไปสอบไล่เป็นซิ่วไฉ (บัณฑิตระดับต้น) ที่เมืองกวางเจาถึงสามครั้ง ก็สอบไม่ผ่าน

ในการไปสอบซิ่วไฉครั้งที่สอง หงซิ่วฉวนได้พบกับนักสอนศาสนาชาวตะวันตก และได้รับแจกหนังสือภาษาจีนอธิบายเกี่ยวกับศาสนาคริสต์จากนักสอนศาสนาผู้นั้นมาเล่มหนึ่ง หนังสือนั้นชื่อว่า “สุนทรกถาเพื่อปลุกเร้ายุคสมัย” เขียนโดยชาวจีนชื่อ เหลียงอาฝา เหลียงอาฝาผู้นี้เป็นผู้ช่วยของ โรเบิร์ต มอริสัน มิชชันนารีชาวอังกฤษ ผู้เดินทางมาเผยแพร่นิกายโปรเตสแตนท์ในเมืองจีนเป็นคนแรก

หนังสือเล่มนี้ยังไม่มีอิทธิพลต่อหงซิ่วฉวน จนเมื่อเขาสอบตกเป็นครั้งที่สาม เขาล้มป่วยหนักเจียนตายอยู่ 40 วัน ครั้นหายป่วยเขาก็เปลี่ยนไปมาก ระหว่างป่วยเขาเกิดนิมิตว่า ถูกนำไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่ง มีแสงสว่างจ้า เขาถูกเปลี่ยนอวัยวะภายใน แล้วถูกนำไปพบกับ ผู้เฒ่าสวมเสื้อคลุมดำ ผู้เฒ่ามอบดาบวิเศษให้เขาเพื่อประหารปีศาจร้ายให้หมดสิ้น และผู้เฒ่านั้นได้ด่าบริภาษขงจื๊อมากมาย

หงซิ่วฉวนอาจจะเห็นนิมิตนี้จริง เนื่องจากพิษไข้ก็เป็นได้

หรือไม่เรื่องนี้ก็เป็นตำนานที่เขาสร้างขึ้น เพื่อยกระดับของตนว่ามิใช่คนธรรมดาสามัญ

และจากเรื่องนี้เราจับประเด็นได้ว่า หงซิ่วฉวนนั้นรู้สึกขัดแย้งกับคำสอนของขงจื๊อมาตั้งแต่หนุ่มแล้ว เขาถึงสอบตกถึงสามครั้งไง

หายป่วยแล้ว เขาเปลี่ยนแปลงไป มีคุณลักษณะของผู้นำมากขึ้น เขาหันมาสนใจหนังสือ “สุนทรกถาเพื่อปลุกเร้ายุคสมัย” ของเหลียงอาฝา จนในที่สุด เขาก็สร้างลัทธิความเชื่อแบบของเขาขึ้นมาชุดหนึ่ง ทำการเผยแพร่จนมีผู้คนเชื่อถือตามมากขึ้นเรื่อยๆ

หงซิ่วฉวนสร้างลัทธิของเขาว่า พระผู้เป็นเจ้าส่งเขาลงมาโลกมนุษย์พร้อมด้วยดาบเพื่อสังหารปีศาจร้าย คริสตศาสนาแต่เดิมเป็นคำสอนทางศาสนาของชาวจีน เคยแพร่หลายมาก่อนลัทธิขงจื๊อ อาณาจักรจีนเดิมเป็นที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้า หากแต่ปัจจุบันพวกปีศาจร้ายเข้ามาครองครอง พระผู้เป็นเจ้ามีประกาศิตให้หงซิ่วฉวนมาปราบปีศาจร้าย

พระเจ้าจะเป็นใคร ชาติฝรั่งหรือชาติจีน คงไม่ใช่ประเด็นที่ชาวบ้านจะติดใจสงสัย เพราะชาวบ้านภาคใต้จีนก็นับถือเทพเจ้ามากมายหลายองค์อยู่แล้ว

จุดสำคัญอยู่ที่ปีศาจร้าย ซึ่งหงซิ่วฉวนหมายถึงพวกราชสำนักแมนจู และขุนนางจีนที่รับใช้แมนจู

จุดสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือเรื่องความเสมอภาค ภราดรภาพ ตามอุดมคติของคริสตศาสนา ซึ่งเป็นแนวความคิดใหม่ที่โดนใจทาสกสิกรที่ถูกศักดินากดขี่ขูดรีดอย่างทารุณ

หงซิ่วฉวนไปเผยแพร่ลัทธิในเขตชาวจีนแคะที่ลำบากยากจนตามภูดอยในกวางสี เขาได้สหายร่วมอุดมการณ์สำคัญสี่คนซึ่งก็ล้วนเป็นคนฮักกาทั้งสิ้น คือหยางซิ่วชิง-คนเผาถ่าน เซียวเฉากุ้ย-คนตัดฟืน ซือต๋าไค-หนุ่มลูกชายเจ้าที่ดิน และวุ่ยจางฮุย-เจ้าที่ดินและนายทุนเงินกู้ ผู้ออกทุนในการเตรียการลุกขึ้นสู้ถึงหนึ่งแสนตำลึง ทั้งสี่คนนี้ภายหลังเป็นแม่ทัพคนสำคัญของกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว

หงซิ่วฉวนตระเตรียมฐานที่มั่นของกองทัพไว้แถบภูเขาจื่อจิงซาน มีกำลังพลนับหมื่นคน ทางราชสำนักแมนจูจึงส่งกองทัพไปปราบในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.2393 แต่ก็พ่ายแพ้แก่ชาวนาฮักกา (มีชนพื้นเมือง เช่น ชาวจ้วง ชาวม้ง ร่วมกบฏด้วย)

กองกำลังสมาคมบูชาพระเจ้า (ไป้ส้างตี้หุ้ย) ของหงซิ่วฉวนรบชนะกองทัพหลวง ก็เลยประกาศสถาปนา “ไท่ผิงเทียนกั๋ว” ในอุดมคติเสียเลย หงซิ่วฉวนสถาปนาตัวเองเป็น “เทียนหวาง” (ราชาแห่งสวรรค์) ยกพลสามหมื่นบุกเข้าโจมตีเมืองต่างๆ แถบกวางสีและกวางตุ้ง ได้รับชัยชนะยึดได้เมืองต่างๆ มากขึ้น

จนกระทั่งสามารถตีนครหนานจิง (นานกิง) เป็นราชธานีนามว่า “เทียนจิง-ราชธานีสวรรค์” ตั้งสหายร่วมรบคนอื่นๆ เป็น “หวาง” (อ๋อง) มากมายหลายคน แล้วหงซิ่วฉวนก็วางมือ ไม่ค่อยยุ่งกับการบริหารดูแลบ้านเมือง ปล่อยให้ “หวาง” คนอื่นๆ รับหน้าที่บริหาร

ตรงนี้เป็นจุดเสื่อมของขบวนการชาวนา

ผู้นำคือ หงซิ่วฉวน ด่วนวางมือไปเสพสุขในวังเร็วไป บรรดาแม่ทัพที่เป็น “หวาง” หลายคนชิงดีชิงเด่นริษยากัน จนในที่สุดก็คิดกำจัดฆ่ากันเอง

จาก พ.ศ.2393 ถึง พ.ศ.2399 นับเป็นช่วงรุ่งโรจน์ที่สุดของกลุ่มกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว นอกจากยึดนานกิงเป็นศูนย์กลางอำนาจได้แล้ว ยังได้ครอบครองดินแดนทั้งหมดของมณฑลเจียงซี อันฮุย และส่วนใหญ่ของมณฑลหูเป่ย

แต่ก็อย่างที่นักประวัติศาสตร์สรุปไว้ว่า การก่อกบฏของชาวนามีจุดอ่อนตรงที่ชนชั้นชาวนามักมีวิสัยทัศน์คับแคบ เห็นแก่ผลประโยชน์ระยะสั้นของพวกพ้องเป็นใหญ่ ภายหลังจากเกิดกรณีพวกแม่ทัพฆ่ากันเองแล้ว กลุ่มไท่ผิงเทียนกั๋วก็เสื่อมลงเรื่อยๆ จนพ่ายแพ้แก่ราชสำนักในพ.ศ.2407
กำลังโหลดความคิดเห็น