xs
xsm
sm
md
lg

จีนสร้างชาติอย่างไร ? (2)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

นับตั้งแต่คนจีนคิด “กู้ชาติ”ให้พ้นจากอิทธิพลครอบงำของชาติตะวันตก และ “สร้างชาติ” ให้มีความศิวิไลซ์ไม่แพ้โลกตะวันตก ก็มีปัญหาเรื่อง “ใครทำ”และ “ทำอย่างไร” มาโดยตลอด
ใครทำ ? แรกๆก็เป็นพวกขุนนางในสำนัก ที่เห็นจุดอ่อนข้อบกพร่องของตน มีการคิดปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ซึ่งมักจะดำเนินไปในโครงสร้างอำนาจเก่า ผู้มีอำนาจและเสวยประโยชน์สูงสุดไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านปัญญาและความกล้าหาญ จึงไปไม่รอด
ต่อมาเป็นกลุ่มคนนอกระบบอำนาจ หลักๆก็คือปัญญาชน ที่เห็นว่ากลุ่มครองอำนาจคือตัวปัญหา ต้องขจัดออกไปเสียก่อน อันเป็นที่มาของการปฏิวัติโค่นล้มอำนาจเก่า เพื่อสถาปนาอำนาจใหม่ดำเนินการพัฒนาสร้างสรรค์ประเทศให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป ซึ่งกลุ่มคนนอกระบบอำนาจที่กระทำการได้สำเร็จ พลิกประวัติศาสตร์ชาติจีนไปสู่หน้าใหม่ได้อย่างแท้จริง ก็คือพลพรรคของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน
แล้วพวกเขาทำอย่างไร ? อะไรคือตัวกำหนดให้ชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีนกระทำการได้สำเร็จ ?
วิเคราะห์ถึงที่สุด ตัวกำหนดพื้นฐาน ประกอบด้วย “เงื่อนไขทางภววิสัย” กับ “เหตุปัจจัยทางอัตวิสัย”
นอกจากสภาพเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ หรือที่เรียกกันในหมู่ปัญญาชนมาร์กซิสม์ว่า “เงื่อนไขทางภววิสัย” (ที่สำคัญคือสภาวะของประเทศจีนในขณะนั้น และชัยชนะของการปฏิวัติเดือนตุลาคม 1917 นำโดยพรรคบอลเชวิคในรัสเซีย) กระทั่งนำไปสู่การอุบัติขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนแล้ว เหตุปัจจัยสำคัญที่มีลักษณะชี้ขาดก็คือแนวความคิด นโยบาย ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่ถูกต้องของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เรียกรวมๆว่า “เหตุปัจจัยทางอัตวิสัย”
นั่นคือ การพัฒนาแนวคิดที่ถูกต้อง คือตัวกำหนดสำคัญที่สุด
ในระยะแรกๆ แนวความคิดในการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังไม่ถูกต้อง เพราะยึดเอาการปฏิวัติรัสเซียเป็นแม่แบบ ถือเอากำลังจัดตั้งของกรรมกรในเมืองและการลุกขึ้นสู่ในเมืองเป็นหลัก แต่เมื่อสรุปบทเรียนได้แล้ว สามารถปรับแนวคิดใหม่ ยึดเอาความเป็นจริงของประเทศจีนเป็นตัวตั้ง จึงได้เกิดแนวความคิดชี้นำการปฏิวัติประเทศจีนที่สอดคล้องกับสภาพเป็นจริงของสังคมจีน ดำเนินการปฏิวัติด้วยสงครามประชาชน จัดตั้งกองทัพปลดแอก สร้างฐานที่มั่น สถาปนาอำนาจรัฐ(เขตปลดปล่อย)ของประชาชนในเขตชนบทห่างไกล ประสานกับการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆในเมือง ซึ่งต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็นทฤษฎีการปฏิวัติเรียกว่า “การปฏิวัติประชาธิปไตยแผนใหม่” ดำเนินนโยบายสามัคคีประชาชนชาวจีนผู้รักชาติรักประชาธิปไตย เข้าเป็นแนวร่วม ขยายผลการปฏิวัติกว้างขวางยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยเหตุนี้ ชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงบรรลุสัจธรรมที่ว่า การปรับแนวคิดให้สอดคล้องกับความเป็นจริง จึงเป็น “เหตุปัจจัยชี้ขาด”ของ “เหตุปัจจัยทางอัตวิสัย” เมื่อใดที่แนวคิดผิดเพี้ยน ไม่เริ่มจากความเป็นจริง ก็จะได้แนวความคิดชี้นำที่ผิดพลาด และประสบความล้มเหลวในการปฏิบัติ จึงได้กำหนดแนวคิดของพรรคว่าทุกอย่างจะต้องเริ่มจากความเป็นจริง หรือ “หาสัจจะจากความเป็นจริง” (สือซื่อฉิวซื่อ) มีการปรับเปลี่ยนแนวความคิด พัฒนาทฤษฎีชี้นำการเคลื่อนไหวปฏิบัติในทุกขั้นตอนของการเคลื่อนไหวปฏิบัติ ทั้งในยุคการปฏิวัติและยุคพัฒนา อีกทั้งเป็นหลักประกันเบื้องต้นที่สุด ในการกำหนดภารกิจใจกลางและดำเนินโนบายที่ถูกต้องในแต่ละห้วงของการเปลี่ยนแปลง และเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของงานจัดตั้ง ซึ่งก็คือการบ่มเพาะและจัดสรรกำลังคนเข้ารับผิดชอบต่อภารกิจต่างๆ ในการดำเนินนโยบายให้ปรากฏผลเป็นจริง
มองเป็นสูตรก็คือ การใช้แนวคิด “หาสัจจะจากความเป็นจริง” จะนำไปสู่การมีแนวนโยบายที่ถูกต้อง และนำไปสู่การจัดตั้งกำลังคนได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการของการปฏิวัติหรือพัฒนาในแต่ละห้วงประวัติศาสตร์
ปรับให้เป็นภาษาของพวกเขาก็คือ แนวทางความคิด(ซือเสี่ยงลู่เซี่ยน)ที่ถูกต้อง → แนวทางการเมือง(เจิ้งจื้อลู่เซี่ยน)ที่ถูกต้อง → แนวทางจัดตั้ง(จู่จือลู่เซี่ยน)ที่ถูกต้อง
ในระยะเริ่มแรกของการปฏิวัติ เนื่องจากพรรคฯจีนผิดพลาดทางแนวทางความคิด ยึดถือและปฏิบัติตามคำชี้แนะขององค์การคอมมิวนิสต์สากล ไม่เริ่มจากความเป็นจริงของจีน ยังจับเอกลักษณ์ของการปฏิวัติจีนไม่ได้ ยังไม่เข้าใจลักษณะการปฏิวัติจีนว่าจะต้องเป็นการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย จึงไม่สามารถกำหนดภารกิจใจกลางของการปฏิวัติประเทศจีนได้อย่างถูกต้อง จึงไม่สามารถแยกมิตรแยกศัตรูได้อย่างถูกต้อง จึงไม่สามารถขยายเครือข่ายการจัดตั้งของพรรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การปฏิวัติประสบความล้มเหลว
แต่เมื่อพวกเขาหันมายึดแนวทางความคิดที่ถูกต้อง ยึดเอาความรับรู้ที่ได้มาจากการเคลื่อนไหวปฏิบัติ จากการสำรวจค้นคว้าด้วยตัวเอง ตามแนว “หาสัจจะจากความเป็นจริง” เริ่มจากความเป็นจริงของประเทศจีน จึงได้เข้าถึงลักษณะเฉพาะของการปฏิวัติจีน ว่าจะต้องดำเนินการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชาติจีนกับจักรพรรดินิยม ระหว่างประชาชนจีนกับศักดินานิยมและทุนนิยมขุนนาง ซึ่งเป็นความขัดแย้งหลักในสังคมจีนขณะนั้น
การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย กำหนดภารกิจใจกลางอยู่ที่การโค่นล้มอำนาจปกครองร่วมกันของ “จักรพรรดินิยม ศักดินานิยม และทุนนิยมขุนนาง” โดยภาพรวมยังไม่ใช่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมกร ดังนั้น จึงสามารถสร้างแนวร่วมรักชาติกับคนจีนทุกระดับชั้นที่รักชาติรักประชาธิปไตย
กระทั่งเมื่อจัดการความขัดแย้งกับจักรพรรดินิยม ศักดินานิยม และทุนนิยมขุนนางได้สำเร็จแล้ว ประเทศจีนก้าวเข้าสู่ความเป็นรัฐสังคมนิยม อำนาจรัฐอยู่ในมือของชนชั้นกรรมาชีพ ในระบอบสังคมนิยมจึงมีแต่การดำรงอยู่ของกลุ่มทุนและนายทุน ที่เป็นส่วนหนึ่งของพลังการผลิตในระบอบสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน ไม่มีการดำรงอยู่ของชนชั้นนายทุนอีกต่อไป ความขัดแย้งระหว่างนายทุน กลุ่มทุนกับผู้ใช้แรงงาน จึงเป็นความขัดแย้งภายในหมู่ประชาชน สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่นตามตัวบทกฎหมาย
ความขัดแย้งหลักในรัฐสังคมนิยมจีนขณะนั้น จึงเป็นความขัดแย้งระหว่างความเรียกร้องต้องการการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวจีนส่วนใหญ่ในประเทศ กับความล้าหลังของพลังการผลิต ซึ่งก็คือความล้าหลังทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ การศึกษา ฯลฯ
เมื่อเริ่มต้นจากความเป็นจริงดังกล่าว การพัฒนาประเทศให้ทันสมัย โดยถือเอาการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหัวใจ เพื่อพัฒนาพลังการผลิตของประเทศจีนให้ก้าวหน้า จึงเป็นภารกิจหลักของชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประชาชนชาวจีนทั้งประเทศ
แต่ความผิดพลาดทางแนวทางความคิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงปลายทศวรรษ ค.ศ. 1950 โดยกลุ่มผู้นำพรรคฯที่มีเหมาเจ๋อตงเป็นแกนนำ เกิดความเอนเอียงทางความคิด มองโลก “เพี้ยน”ไปจากความเป็นจริง ละเลยความขัดแย้งหลักที่ดำรงอยู่ในสังคมจีน หันไปเน้นความขัดแย้งทางความคิดภายในพรรคและในระหว่างพรรคฯจีนกับพรรคคอมมิวนิสต์อื่นๆในเวทีสากล กำหนดแนวทางการเมืองไปในด้านการต่อสู้ทางความคิด ถือเอาการต่อสู้ทางความคิดเป็นภารกิจหลักของพรรคฯและประชาชนทั่วประเทศ ถึงขั้นลุกลามเป็นการ “ปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม” ยังผลให้สังคมจีนตกอยู่ในความระส่ำระสาย การพัฒนาตกอยู่ในภาวะชะงักงัน ความขัดแย้งหลักในสังคมจีนไม่ได้รับการแก้ไขให้ตกไป
จนกระทั่งปลายทศวรรษ ค.ศ.1970 พรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยกลุ่มผู้นำที่มีเติ้งเสี่ยวผิงเป็นแกนนำจึงได้ปรับแนวทางความคิดของพรรคฯจีน ให้กลับมายึดหลัก “หาสัจจะจากความเป็นจริง” (แนวทางความคิดที่ถูกต้อง) เริ่มจากความขัดแย้งหลักของสังคมจีน กำหนดภารกิจหลักของพรรคฯจีนไปยังการพัฒนาพลังการผลิต ดำเนินนโยบายปฏิรูป-เปิดกว้าง เปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างประเทศ และพัฒนาระบบเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยมขึ้นในประเทศจีน(แนวทางการเมืองที่ถูกต้อง)
เพื่อการนี้ พรรคฯจีนได้ปรับแนวทางการจัดตั้งภายในพรรคครั้งใหญ่ มีการคัดเลือกสมาชิกพรรคและผู้ปฏิบัติในระดับชั้นต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจพัฒนาประเทศให้ทันสมัย คุณสมบัติของสมาชิกพรรคและผู้นำรุ่นใหม่ จึงต้องประกอบไปด้วยคุณสมบัติ 4 ประการ คืออายุน้อย มีการศึกษาสูง มีผลงาน และมีจิตใจปฏิวัติ (แนวทางจัดตั้งที่ถูกต้อง)
จากนี้ จึงสรุปได้ว่า ตราบใดที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยืนหยัดอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องสามประการ คือ 1. แนวทางความคิดที่ถูกต้อง 2. แนวทางการเมืองที่ถูกต้อง และ 3. แนวทางจัดตั้งที่ถูกต้อง ก็จะสามารถบริหารประเทศได้สำเร็จ แก้ไขปัญหาความขัดแย้งสำคัญๆในสังคมจีนได้เป็นขั้นๆ

กำลังโหลดความคิดเห็น