ขณะที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน กำลังฉายรัศมีโชติช่วง จนเป็นที่จับตามองของทั่วโลก แต่ประเทศจีนที่เป็นอู่อารยธรรมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเคยเป็นแบบอย่างแก่ชาติใกล้เคียงในด้านวัฒนธรรมขนบประเพณีนั้น กลับมีชื่อเสียหายด้านพฤติกรรมที่ไร้วัฒนธรรมของประชาชน ยิ่งในขณะนี้และอนาคต ที่มีกลุ่มชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่แห่แหนออกท่องเที่ยวในต่างแดนกันมากขึ้น โดยระหว่าง 5 ปี นับจากปี ค.ศ. 2000-2005 ขยายตัวถึง 196% หรือราว 31 ล้านเที่ยวคน พร้อมๆกับการนำชื่อเสียมาสู่ประเทศชาติ
กระแสวิพากษ์วิจารณ์ความไร้วัฒนธรรมของชาวจีนปะทุขึ้นเมื่อดิสนีย์แลนด์ฮ่องกงเปิดสวนสนุกในเดือนกันยายนที่ผ่านมา พฤติกรรมแบบที่ถูกประณามว่าไร้การศึกษาไร้สมบัติผู้ดี... ก็ได้ตกเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ ภาพพ่อแม่ที่เปิดกางเกงลูก ยืนปัสสาวะริมถนนท่ามกลางกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินผ่านไปมา แซงคิว นอนเหยียดยึดครองเก้าอี้ยาวในสวนสาธารณะ ......ฯลฯ ถูกเผยแพร่และวิจารณ์กันเกรียวกราว
กระทั่งในเดือนนี้ ก่อนที่ชาวจีนจะได้พักผ่อนออกท่องเที่ยวในวันหยุดยาวเนื่องในวันชาติ 1 ตุลาคม คณะกรรมการปลูกฝังความศิวิไลซ์ของสำนักงานศิวิไลซ์แห่งชาติ และการท่องเที่ยวแห่งชาติจีน ก็จับมือกันรณรงค์ปราบปรามพฤติกรรมไร้วัฒนธรรม โดยได้จดรายการพฤติกรรมเสียหายที่เลื่องลือมากสุด 10 แบบด้วยกัน ได้แก่ ถ่มน้ำลาย ทิ้งขยะเกลื่อนกราด ยื้อแย่งที่นั่งบนรถประจำทาง แซงคิว ถอดรองเท้าในห้องอาคารสาธารณะ เปลือยร่างท่อนบน ตักอาหารพูนล้นจานในร้านอาหารบุตเฟ่ ด่าทอโขมงโฉงเฉง ...
“ไม่กี่ปีมานี้ นิสัยมักง่ายหยาบของนักท่องเที่ยว ได้ทำลายชื่อเสียงของชนชาติแห่งขนบประเพณีของประเทศมาก” หลี่เสี่ยวหมั่นผู้อำนวยการแห่งคณะกรรมการปลูกฝังความศิวิไลซ์แห่งชาติ กล่าวพร้อมกับเผยว่าสำนักงานของเขาตั้งเป้าใช้เวลา 3 ปี สำหรับพิชิตความสำเร็จในโครงการปรับปรุงคุณภาพด้านวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวจีน เพื่อเป็นการกอบกู้ชื่อเสียง นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่พลังด้านสารัตถะของชาติ (Soft Strength)
หนังสือพิมพ์”ชานเข่า” สื่อชั้นนำของแผ่นดินใหญ่รำพึงด้วยความเสียดายว่า ชาวจีนที่ไปเที่ยวต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่มีรายได้ระดับกลางถึงสูง ซึ่งการที่มีกระแสโจมตีพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีน ก็เท่ากับว่าคนมีเงินของจีนนั้น ไร้คุณภาพ
ด้านกลุ่มนักวิชาการในจีนและนักวิชาการด้านจีนศึกษา ก็พยายามมองลึกลงไปถึงสาเหตุที่มาของพฤติกรรมไร้ความศิวิไลซ์ของคนจีน
อาจารย์ Lung-Kee Sun ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเมมพิสในสหรัฐอเมริกา ได้วิเคราะห์ไว้ในหนังสือที่เขาเขียน “โครงสร้างเชิงลึกของวัฒนธรรมจีน” ว่าการที่ชาวจีนไร้จรรยามารยาทพื้นฐานในที่สาธารณะนั้น มาจากชุดหรือกางเกงสำหรับทารกของจีน ที่ตัดเย็บผ่าช่องเปิดตรงเป้า เพื่อให้ทารกสามารถถ่ายเบาหรือถ่ายหนักได้ทันทีนั้น เป็นการบ่มเพาะนิสัยความรักสะดวกที่มากเกินไป และได้ติดตัวมากระทั่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
หวังเหยียนเซิงนักศึกษาชาวจีนในอังกฤษ กล่าวว่าภาพลักษณ์ของชาวจีนในใจของเขาคือ ทุกแห่งหนที่มีคนจีน ก็จะได้ยินเสียงคุยโฉงเฉงไม่หยุดหย่อน จนชาวอังกฤษมองชาวจีนว่า “ช่างทำอะไรง่ายๆ ไม่สำรวม” (The Chinese are simple) หรือยากที่จะเข้าใจพฤติกรรมของชาวจีน (Difficult to understand Chinese behavior)
กัวเสี่ยวชงอาจารย์ภาควิชาการเผยแพร่และวัฒนธรรมของสถาบันศึกษาการระหว่างประเทศได้เสนอแนะการจัดการพฤติกรรมไม่ศิวิไลซ์ของคนจีนว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะแบ่งเกรดของพฤติกรรม ได้แก่ พวกไร้วัฒนธรรมอันดับหนึ่งคือ “พฤติกรรมที่ใกล้เคียงกับสัตว์” อย่างเช่น การถ่มน้ำลายเรี่ยราด การถอดรองเท้าในที่สาธารณะ แคะขี้มูก อันดับต่อมาคือ “พฤติกรรมขาดการอบรมสั่งสอน” ได้แก่ พวกไม่เข้าแถวและแซงคิว ใช้คำหยาบด่าทอกัน เข้าห้องน้ำไม่ราดทำความสะอาด และพวกไร้วัฒนธรรมกลุ่มสุดท้ายคือพวกที่มี “คุณภาพด้านวัฒนธรรมน้อยและไม่รู้ธรรมเนียมต่างชาติ” อย่างเช่น ปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องขณะอยู่ในโบสถ์ หรืออยู่ในวัด เป็นต้น สำหรับการจัดการพวก “พฤติกรรมใกล้เคียงกับสัตว์” และ “วัฒนธรรมขาดการอบรมสั่งสอน” ควรออกกฎห้ามพฤติกรรมอย่างชัดเจน เป็นต้น
ทำไมคนจีน จึง “ไร้มารยาท”
ย้อนกลับไปในยุคเก่าแก่ในยุคราชวงศ์ถัง ราชวงศ์ซ่ง และราชวงศ์หมิง ที่ล่วงเลยมากว่าพันปี และเกือบพันปี ชนชาติจีนนั้น ได้ชื่อว่าเป็นจ้าวแห่งขนบประเพณีอันสูงส่ง จากบันทึกประวัติศาสตร์จีน ระบุว่าในยุคถังและซ่ง เมื่อพ่อค้าจีนออกไปค้าขายในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ได้รับการต้อนรับให้เกียรติอย่างพิเศษในฐานะผู้เพียบพร้อมด้วยขนบประเพณี ถึงขนาดได้รับการยกเว้นค่าที่พัก ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีต่างก็เลียบแบบเจริญรอยตามจีน
ถึงยุคราชวงศ์หมิงที่ ประชากรขยายตัวมาก ชนเร่ร่อนยิ่งทวีจำนวนมาก ทางการไม่อาจรับมือปัญหาสังคม กระทั่งมีการรวมกลุ่มสมาคมเถื่อนต่างๆมากมาย อาทิ กลุ่มศาสนา กลุ่มพ่อค้าวานิช สำนัก...พรรคต่างๆ ด้านการใช้ชีวิตสังคมยิ่งนับวันก็ยิ่งหยาบมากขึ้น
“สภาพแบบนี้ ได้ตกทอดมาถึงปัจจุบัน มันเป็นผลมาจากความบีบคั้นในชีวิต” ผู้คนเหล่านั้นรู้สึกเหนื่อยกับชีวิต และไม่มีทางออก ซึ่งคนเราทั่วไปนั้น ต้องการการปลดปล่อยและได้ใช้ชีวิตอย่างสงบตามลำพัง แต่วัฒนธรรมแบบนี้ ไม่อาจปล่อยให้คุณได้อยู่สุขสงบตามลำพัง
“การไม่ยึดถือหลักการ ยึดถือแต่ความสัมพันธ์ใกล้ชิด ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมและความตึงเครียด เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันในชีวิต ก็ไม่รู้หรือระแวงเกี่ยวกับความซับซ้อนในความสัมพันธ์ของคนอื่นๆ กัวเสี่ยวชงยังวิเคราะห์ถึงสาเหตุอีกประการที่ทำให้คนจีนในวันนี้ “ไร้วัฒนธรรม” นั่นคือ การปะทะกันระหว่างรูปแบบชีวิตตามขนบประเพณีและสังคมปัจจุบัน อุปมาดั่งคนบ้านนอกที่ไม่คุ้นเคยกับกฎระเบียบจราจรของเมืองกรุง ถ่มน้ำลายตามอำเภอใจ พูดคุยเสียงดังลั่น เปลือยร่างท่อนบน คนที่เติบโตกลางท้องทุ่ง ก็เสมือนกับบุตรแห่งธรรมชาติ อิสระสบายๆ แต่เมื่อต้องมาอยู่ในเมืองใหญ่ ท่ามกลางผู้คนแปลกหน้าและหนีไม่พ้นที่จะต้องถูกกฎระเบียบต่างๆจำกัดการกระทำต่างๆ
บางความเห็นชี้ว่า การมีประชากรจำนวนมากนั้น นำไปสู่สังคมที่หยาบกระด้าง และความวิตกกลัวขาดแคลนทรัพยากรหรือไม่มีกินไม่มีใช้นั้น ได้นำไปสู่พฤติกรรมที่ไร้วัฒนธรรม
สำหรับพวกที่มองประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ได้โทษว่าพฤติธรรมอันไร้จรรยามารยาทของคนจีนนั้น เป็นผลพวงมาจาก “การปฏิวัติวัฒนธรรม” ซึ่งกินเวลานานนับ 10 ปี (ค.ศ.1966-77) ซึ่งก่อนยุคปฏิวัติวัฒนธรรมนั้น การโฆษณาชวนเชื่อและปลุกระดม ได้ผลักรุนให้บรรดาเด็กนักเรียนที่มีจรรยามารยาทจำนวนมหาศาล เข้าร่วมการต่อสู้ ไล่ล่าจับกุมปฏิปักษ์ เข้าสู่ชนบทใช้แรงงาน พวกเขาได้เรียนรู้พฤติกรรมที่ถ่อยลง ถ่มน้ำลาย ด่าทอบริภาษ เก่อเจี้ยนฉง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฝู่ตันชั้นนำในเซี่ยงไฮ้กล่าว
นายกัวเสี่ยวชงอาจารย์ภาควิชาการเผยแพร่และวัฒนธรรมของสถาบันศึกษาการระหว่างประเทศก็เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ข้างต้น โดยกล่าวว่าพวกที่ผ่านการปฏิวัติวัฒนธรรม มักพูดคำว่า “ขอโทษ” ไม่เป็น และมักใช้กำปั้นในการแก้ปัญหา
นายจูต้าเข่อนักวิชาการในเซี่ยงไฮ้ยังชี้ว่าการที่สังคมขาดจรรยามารยาทนั้น มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับ “การศึกษาการต่อสู้ทางชนชั้น” ที่บ่มเพาะมาเป็นเวลายาวนาน คนเหล่านี้ จะมองคนอื่นเป็น “ศัตรูในจินตนาการ” มองเรื่องราวต่างๆในชีวิตประจำวันเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางชนชั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าไม่มีใครที่จะมีมรรยาทกับศัตรู “พวกเราไม่ได้ขาดการศึกษา แต่ศึกษามากเกินไป โดยเฉพาะศึกษาการต่อสู้มากเกินไป”
นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งบอกว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของประเทศจีนในช่วง 100 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้การสืบทอดระเบียบแบบแผนในสังคมถูกตัดขาดหรือขาดช่วงไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือแบบแผนของคำเรียกหรือสรรพนามแทนผู้อื่น ในสังคมแบบขนบประเพณีจะมีคำเรียกสรรพนามที่แสดงความความเคารพนับถือ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดหรือห่างออกไป อาทิ หลังการปฏิวัติจีนใหม่ในปีค.ศ. 1949 ทุกคนจะใช้สรรพนามเรียกอีกฝ่ายว่า “สหาย” ขณะที่ ทุกวันนี้ คำว่า “สหาย” หรือ “คุณ (ผู้หญิง)” (小姐) นั้น มีความหมายเฉพาะตัวแตกต่างกัน
เส้นทางแสวงหาวัฒนธรรมของจีนวันนี้…
จีนได้หันมาแสวงหาวัฒนธรรมด้านการปฏิบัติตัวของคน โดยขณะนี้ หน่วยงานของรัฐได้พยายามปรับปรุงมารยาทสร้างสมบัติผู้ดีแก่เจ้าหน้าที่ของตน อาทิ เมื่อปลายเดือนกันยายน สำนักงานคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่กว่า 30 คน ไปเข้ารับการอบรมจรรยามารยาท ซึ่งฝึกอบรมตั้งแต่การสวมใส่เสื้อผ้า การรับรองแขก การตัดขนจมูก ความยาวเล็บที่เหมาะสม แขนเสื้อเชิร์ต ควรยาวกว่าเสื้อนอก 1 ซม. ถึง 1.5 ซม. การยิ้มควรเผยให้เห็นฟันเพียง 8 ซีก การนำแขกจะต้องเดินนำหน้าด้านซ้าย....
ทั้งนี้ ชั้นเรียนอบรมสมบัติสุภาพชนเริ่มผุดพรายขึ้นเมื่อ 10 ปี ที่ผ่านมา ในช่วงเริ่มต้นเมื่อทศวรรษที่ 1990 ความต้องการชั้นเรียนแบบนี้ ยังมีอยู่ต่ำ กระทั่งเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการพุ่งกระฉูด ขยายไปทั่วทุกภาค
อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังของขนบประเพณีหรือจรรยามารยาทต่างๆนั้น ควรมีวัฒนธรรมเป็นพื้นฐาน...กัวเสี่ยวชงกล่าว.
แปลเรียบเรียงจากหนันฟางโจวม่อฉบับวันที่ 28 กันยายน 2006