xs
xsm
sm
md
lg

"เฒ่าทารกแห่งบู๊ลิ้ม" ทั้งชีวิตขอสืบสานตำนานมวยจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในท่านกลางกระแสทุนนิยมที่ไหลบ่า เม็ดเงินกลายเป็นตัววัดของสิ่งต่างๆ หลายสิ่ง ผู้คนสัมพันธ์กันบนพื้นฐานของผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจชาวเมืองเทียนสินผู้รักในวิชาการต่อสู้คือ ผู้เฒ่าท่านหนึ่ง ซึ่งกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเปิดสอนวิชาการต่อสู้ให้กับลูกศิษย์มาแล้วกว่าหมื่นคนโดยไม่คิดเงิน

ท่านผู้เฒ่าซึ่งได้รับสมญานามว่า “เฒ่าทารกแห่งบู๊ลิ้ม”ได้ทุ่มเทกายใจฝึกฝนวิชาบู๊ให้ลูกศิษย์มาอย่างมากมาย จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ลูกศิษย์บางคนได้เข้ามาเป็นตำรวจหน่วยพิเศษ บางคนเข้าคณะงิ้ว คณะกายกรรม บางคนกลายเป็นอาจารย์พละ และมีอีกหลายคนที่จบการศึกษาในระดับปริญญาโท แต่ผู้เฒ่าผู้ซึ่งมีศิษย์อยู่ทั่วทุกสารทิศเอง นอกจากบรรดาใบประกาศนียบัตรด้านวิชาการต่อสู้และรูปถ่ายที่มีอยู่อย่างนับไม่ถ้วนภายในบ้าน รวมทั้งชื่อเสียงที่ได้รับจากผู้คนทั่วไปแล้วนั้น ชีวิตของผู้เฒ่าก็ยังคงดำเนินไปบนความขัดสน ยากไร้ แต่ขณะเดียวกันกลับเต็มไปด้วยอิสระเสรีและความมีน้ำจิตน้ำใจอย่างที่เคยเป็นมา

วัยเยาว์มุฝึกวิชาบู๊ริมน้ำ

ปีนี้ “เฒ่าทารกแห่งบู๊ลิ้ม”เฝิงเหอจิ่ง (冯和景) อายุครบ 80 ปีพอดี เขาเกิดและโตที่เทียนสิน จึงเรียกได้ว่าเป็นคนเทียนสินขนานแท้ แม้ว่าปีนี้ผู้เฒ่าจะอายุมากแล้ว แต่สมองยังคงปราดเปรียว ร่างกายแข็งแรง เคลื่อนไหวแคล่วคล่องว่องไว ดูเผินๆ คล้ายอายุเพียงแค่ราว 60 ปีเท่านั้น

เมื่อถามถึงประสบการณ์การฝึกวิชาบู๊ ผู้เฒ่ารำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งยังเยาว์และเล่าว่า ในวัยเด็กตนเองโตมากับแม่น้ำซินไคที่อยู่ข้างบ้าน ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เขาได้มีโอกาสรู้จักกับอาจารย์สอนวิชาการต่อสู้ท่านหนึ่ง ซึ่งอยู่มาวันหนึ่งอาจารย์คนดังกล่าวได้ตบศีรษะเขาเบาๆ และกล่าวว่า“อย่ามัวเอาแต่ว่ายน้ำอยู่เลย มาฝึกวิชาบู๊กับเราเถอะ”หลังจากนั้น ผู้เฒ่าเฝิงเหอจิ่งซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 4 ขวบจึงคำนับครูคนแรกในชีวิตเป็นอาจารย์ฝึกวิชาบู๊

หลังจากฝึกฝนเคี่ยวกรำอยู่เป็นเวลานานนับปี จนลูกเตะ ลูกถีบ ท่าหกคะเมนตีลังกา และท่าร่างต่างๆ ถือได้ว่ามั่นคงพอตัวแล้ว ในปีที่เฝิงเหอจิ่งอายุ 19 ปี จึงร่ำลาอาจารย์คนแรก ออกตามหายอดฝีมือเพื่อประสิทธิ์ประสาทวิชาต่อไป จนกระทั่งได้ปวรณาตนเข้าเป็นศิษย์ของปรมจารย์ด้านหมัดมวยที่โด่งดังอย่างอี๋ว์จินถัง (于金堂)

อี๋ว์จินถัง ชาวซานตงผู้นี้ฝึกวิชาบู๊แขนงหนึ่งจากสำนักเส้าหลินเหนือ ซึ่งเน้นเพลงหมัดแบบแข็งแกร่ง หนักแน่น ออกหมัดเร็วและแรง ภายใต้การชี้แนะของอี๋ว์จินถัง เฝิงเหอจิ่งจึงได้รับการฝึกวิชามวยของเส้าหลิน ยังไม่นับอาวุธต่างๆ เช่นมีด ปืน ดาบ ง้าว ที่เมื่อมาอยู่ในมือของเขาต่างเคลื่อนไหวอย่างพริ้วไหว จนทำให้ผู้ที่ได้ดูได้ชมต่างยอมรับนับถืออย่างสุดจิตสุดใจ

ในช่วงเวลานั้น เมื่อถึงฤดูน้ำหลากกระแสน้ำสีแดงถั่งโถมมาที่บริเวณปากแม่น้ำ บริเวณฝั่งแม่น้ำซินไคใกล้กับสะพานจิงจิน จะพบเห็นชายฉกรรจ์ รวมทั้งเด็กหนุ่ม เด็กเล็ก และผู้เฒ่า มายืนเปล่งเสียงร่ายรำเพลงดาบและเพลงมวยกันอย่างกึกก้อง พวกเขาเหล่านั้นต่างก็คือศิษย์พี่ศิษย์น้องร่วมอาจารย์กับเฝิงเหอจิ่งทั้งสิ้น และท่านกลางการโหมฝึกซ้อมอย่างหามรุ่งหามค่ำ ฝีมือของเฝิงเหอจิ่งก็รุดหน้าก้าวเข้าสู่ทำเนียบยอดฝีมืออย่างรวดเร็ว

ครึ่งศตวรรษแห่งการถ่ายทอดมรรคาบู๊

ช่วงทศวรรษที่ 60 ของศตวรรษที่ 20 ภารกิจของเฝิงเหอจิ่งก็เริ่มต้นขึ้น เนื่องจากฝีมือวิชาการต่อสู้ที่โดดเด่น ทำใหทุกครั้งที่เขาฝึกซ้อมเพลงมวยจึงดึงดูดผู้คนล้อมวงเข้ามาชมเป็นจำนวนมาก นานเข้าๆ ก็มีคนมาคำนับเพื่อขอเป็นศิษย์ หลังจากนั้นไม่นานเฝิงเหอจิ่งก็กลายเป็น“ครูมวย ” ที่มีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก ซึ่งลูกศิษย์ของเขามีทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กอายุเพียงไม่กี่ขวบจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ บ้างจูงมือกันมาทั้งพ่อทั้งลูก หรือแม้กระทั่งรุ่นพ่อ รุ่นลูก รุ่นหลานก็ยังมีให้เห็น

เมื่อชื่อเสียงขจรขจาย แน่นอนว่าในเวลาเดียวกันก็ดึงดูดคนจากคณะกรรมการกีฬาของท้องถิ่นเข้ามาด้วย นั่นคือมาชักชวนให้เฝิงเหอจิ่งจับมือกับพวกเขาเปิดศูนย์ฝึกวิชาการต่อสู้ กระนั้นแม้จะเรียกว่าศูนย์ฝึก แต่ครูฝึกก็หมายถึงเฝิงเหอจิ่งเพียงคนเดียว

เฝิงเหอจิ่งทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับการสอนโดยไม่หวังผลประโยชน์ โดยในแต่ละเทอมที่เปิดสอนนั้นมีผู้สนใจมาสมัครเรียนถึง 3-4 ร้อยคน ไม่เพียงเป็นชาวจีน แต่ลูกศิษย์ของเขาหลายคนเป็นชาวต่างชาติ หนึ่งในนั้นคือ หลู่เวย ชาวอเมริกันที่เดินทางมาศึกษายังเมืองจีน ซึ่งเคยมาเรียนวิชาการต่อสู้กับเฝิงเหอจึงจนสำเร็จ มวยจับถึง 8 ชนิด หลู่เวยเป็นผู้ที่มีความรู้ความสนใจต่อศิลปะการต่อสู้จีนอย่างยิ่ง จนกระทั่งเฝิงเหอจิ่งเองยังยอมรับและระลึกถึงอยู่เสมอ

เฝิงเหอจึงเปิดการสอนต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยไม่รับเงินค่าสอน และไม่มีวันหยุด โดยตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมา เฝิงเหอจิ่งก็ค่อยๆ นำหัวใจสำคัญของวิชาการต่อสู้ของเขาถ่ายทอดสู่เด็กๆ โดยเขาได้เข้าไปเปิดสอนวิชาศิลปะการต่อสู้ในโรงเรียนอนุบาลมาแล้วทั้งสิ้นกว่า 10 โรงเรียน รวมทั้งทุกวันนี้ เฝิงเหอจิ่งยังมีลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นเด็กอนุบาลและกำลังเรียนวิชาบู๊กับเขาอยู่อีกกว่า 10 คน

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ครึ่งศตวรรษผ่านไปอย่างรวดเร็ว เฝิงเหอจิ่งกล่าวอย่างภาคภูมิว่าตลอดชีวิตของเขานั้นรับลูกศิษย์มาแล้วมากกว่าหมื่นคน

“สำนักเฝิง”ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง

แม้ว่าจะมีลูกศิษย์ลูกหาอยู่มากมาย แต่งานของเฝิงเหอจิ่งในสายตาของคนธรรมดาส่วนใหญ่เป็นงานที่ไม่มีผลประโยชน์เป็นตัวเงินอะไรคืนกลับมา แล้วแรงผลักดันใดกันเล่า ที่ทำให้ผู้เฒ่าท่านนี้กลับทำงานของตนอย่างทุ่มเท?

เฝิงเหอจิ่งกล่าวว่า อี๋ว์จินถัง อาจารย์ของเขาเคยกล่าวไว้ก่อนตายว่า “วิชาการต่อสู้ของชาวจีนเรานั้นเป็นสมบัติล้ำค่าที่บรรพบุรุษทิ้งเอาไว้ให้ ดังนั้นจึงต้องถ่ายทอดไปสู่รุ่นต่อๆไป โดยเฉพาะต้องถ่ายทอดให้กับเด็กๆ ” เฝิงเหอจิ่งได้ยึดถือคำพูดคำนี้ของอาจารย์มาตลอด และฉายา "เฒ่าทารกแห่งบู๊ลิ้ม" ของเขาก็ได้มาในช่วงเวลาที่ฝึกสอนเด็กๆ เหล่านี้ด้วย

นอกจากนั้นบรรดาคณะผู้จัดทำละครและภาพยนตร์ต่างๆ ที่ได้ยินกิติศัพท์ของเฝิงเหอจิ่ง ก็มักจะเชิญเขาและบรรดาลูกศิษย์ไปแสดงฝีมือด้วย ดังนั้นในช่วง 20 กว่าปีนั้น คนจาก “สำนักเฝิง”จึงได้ไปปรากฏอยู่ในละครและภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง แต่ ไม่ว่าจะอยู่ในจอหรือนอกจอ ฝีมือของ “เฒ่าทารกแห่งบู๊ลิ้ม”ผู้นี้ก็เปรียบได้กับปลาได้น้ำ ที่คล่องแคล่วพลิ้วไหว

เมื่อพูดถึงภาพยนตร์ เมื่อ 30 ปีที่แล้วเขาพาลูกศิษย์เดินทางมายังเมืองปักกิ่งเพื่อแสดงภาพยนตร์บู๊เรื่องหนึ่ง ได้มีโอกาสสอนการต่อสู้ให้กับนักแสดงคนหนึ่งที่ขณะนั้นอายุเพียง 7 ขวบเศษๆ ซึ่งปัจจุบันเด็กน้อยคนนั้นได้เติบโตขึ้น และกลายเป็นนักแสดงบทบู๊นามกระเดื่อง “หลี่เหลียนเจี๋ย ”หรือที่ฮอลลีวูดรู้จักดีในนาม“เจท ลี”นั่นเอง

ที่มา: เวบไซด์ซินหัว
กำลังโหลดความคิดเห็น