xs
xsm
sm
md
lg

สังคมนิยม – เครื่องมือสร้างชาติ (27)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ปัจจุบัน คนเรามีความเข้าใจในพัฒนาการของธรรมชาติ สังคมมนุษย์ และจิตใจเราเองมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งมองเห็นความเชื่อมโยงในกันและกันของธรรมชาติ สังคมมนุษย์ และจิตใจของมนุษย์ เกิดปัญญา “ตื่นรู้”มากขึ้น ในทำนองว่า พัฒนาการของส่วนใดส่วนหนึ่ง จะส่งผลต่อพัฒนาการของส่วนอื่นๆเสมอ
บนฐานทางปัญญาดังกล่าว จึงนำไปสู่ความคิดที่ว่า การที่มนุษย์จะพัฒนาตนเอง ทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจได้สำเร็จ ก็จำเป็นต้องพัฒนาสังคมมนุษย์และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติให้สอดคล้องต้องกันไป
จึงมีสิ่งที่เรียกว่า “พัฒนาอย่างยั่งยืน”เกิดขึ้น และกลายเป็นแนวคิดทั่วไป ชี้นำการพัฒนาของประเทศต่างๆ
กระนั้น ในทางปฏิบัติยังปรากฏว่า บางประเทศทำได้ดี บางประเทศทำได้ไม่ดีนัก และบางประเทศก็ยังทำไม่ได้เลย
ประเทศทุนนิยมพัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่ทำได้ดี เพราะรัฐบาลและประชาชนของเขามีความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงปัญหาที่เผชิญหน้าอยู่ มีการใช้วิทยาการสมัยใหม่และวิธีการบริหารจัดการแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงได้อย่างทั่วถึง ที่สำคัญคือความร่วมมือกันของฝ่ายต่างๆ ทำให้ทุกอย่างสามารถดำเนินไปด้วยดี
ประเทศกำลังพัฒนาทำ ส่วนใหญ่ยังทำได้ไม่ดีนัก ไม่เพียงเพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในปัญหาที่เผชิญหน้าอยู่ ไม่รู้ว่าต้นตอของปัญหามันมาจากไหน แต่ที่สำคัญเป็นเพราะคณะผู้บริหารประเทศหรือรัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจที่จะแก้ไขปัญหาในระยะยาว อันเนื่องมาจากความไร้ประสิทธิภาพของคณะผู้บริหารประเทศ ที่มุ่งกอบโกยโกงกินมากกว่าการสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและประชาชน หรืออันเนื่องจากความคร่ำครึของระบบ โครงสร้างและกลไกอำนาจรัฐ เป็นอุปสรรคขัดขวางกระบวนการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ในกรณีของประเทศจีน จัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่พัฒนาตนเองไปได้ค่อนข้างดี และมีแนวโน้มจะเดินไปบนเส้นทางของการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากมีคณะผู้บริหารประเทศที่ทรงประสิทธิภาพสูง และดำเนินการปฏิรูประบบ โครงสร้างและกลไกต่างๆอย่างไม่ขาดสาย
แต่ที่สำคัญที่สุด คือมีการพัฒนาแนวคิดที่ถูกต้อง ชี้นำการพัฒนาประเทศเป็นระยะๆ เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามแนวคิดชี้นำได้อย่างเป็นเอกภาพ สามารถระดมทรัพยากรในด้านต่างๆไปในการพัฒนาประเทศอย่างทั่วถึง เกิดเป็นพลังมหาศาล ขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาของประเทศจีนไปสู่ระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
อีกทั้งเมื่อวิเคราะห์ดูให้ดี จะเห็นถึงความต่อเนื่องของแนวคิดชี้นำในการพัฒนาประเทศในแต่ละระยะของพวกเขาอย่างชัดเจน จึงคาดหมายว่า ประเทศจีนจะพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืนและอย่างยาวไกล จะมีความเจริญรุ่งเรืองทั่วด้าน และประชาชนชาวจีนจะมีความอยู่ดีกินดีทั่วด้าน สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างรอบด้านยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
อะไรๆที่ “ทั่วด้าน” และ “รอบด้าน”นี้แหละ ที่จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความล้ำเลิศของระบอบสังคมนิยม (ในกรณีของประเทศจีนก็คือ “ระบอบสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน”) เหนือกว่าระบอบทุนนิยม ซึ่งไม่ว่าจะเจริญรุ่งเรืองแค่ไหน ก็ไม่ “ทั่วด้าน” หรือ “รอบด้าน” ยังมีการแบ่งขั้ว ยังมีความเหลื่อมล้ำในโอกาสและศักดิ์ศรีของความเป็นคน ยังมีวิกฤติ ยังมีการทำลาย ยังมีความฟอนเฟะ คอยกัดกร่อนชีวิตของผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะเจริญรุ่งเรือง ร่ำรวย มั่งคั่ง แค่ไหน ก็ยังคงไม่ “ทั่วด้าน” หรือ “รอบด้าน”
ทั้งนี้เพราะ ระบอบสังคมนิยมตั้งอยู่บนฐานของอุดมการณ์ “ปลดปล่อย”มวลมนุษย์ออกจากกรอบจำกัดของธรรมชาติ (ความไม่รู้) และจากกรอบจำกัดทางสังคม (การกดขี่ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบ เบียดเบียนซึ่งกันและกัน) มุ่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคมให้เอื้อต่อการพัฒนาตนเองของมนุษย์อย่าง “รอบด้าน”มากขึ้นเรื่อยๆ
อันหมายถึงว่า คนเราจะเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ อยู่ดีมีสุขยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไปพร้อมๆกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
อุดมการณ์ยาวไกลเช่นนี้ ปัจจุบันได้เริ่มปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมบ้างแล้วในประเทศจีน เช่น แนวคิดทฤษฎีชี้นำการพัฒนาประเทศ ที่กำหนดชัดถึงจุดหมายปลายทางของการพัฒนาประเทศ และการดำเนินแนวนโยบาย “ปฏิรูป”ในด้านต่างๆอย่างสอดคล้องกับแนวคิดทฤษฎี โดยไม่มีทีท่าว่าจะ “เปลี๊ยนไป๋” เป็นอย่างอื่นแต่ประการใด
ขณะที่ ในประเทศโลกทุนนิยม ได้เน้นย้ำถึง “อิสรภาพ เสมอภาค ภารดรภาพ”มานานกว่าสองร้อยปีแล้ว ก็ยังไม่บรรลุผล ยังคงมีการแยกขั้ว ข่มเหงรังแก เอารัดเอาเปรียบ ทำลายซึ่งกันและกัน เกิดวิกฤติในจิตใจของผู้คนในสังคมอย่าง “ทั่วด้าน”(ด้านลบ) ไม่มีเว้น ไม่ว่าจะยากดีมีจนแค่ไหนอย่างไร
นั่นหมายถึงว่า ระบอบสังคมนิยมเอกลักษณ์จีน กำลังทำหน้าที่นำเสนอ “ทางเลือกใหม่ที่ดีกว่า”ให้แก่ประชาคมโลก ซึ่งทั้งโลกกำลังจับตามอง
คนไทยเรามีบทเรียนด้านลบจากการพัฒนาประเทศตามแนวคิดตะวันตกค่อนข้างมาก หลายสิบปีของการพัฒนาประเทศ มีรัฐบาลทหารและรัฐบาลพรรคการเมืองตัวแทนกลุ่มทุนเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศ กลับพบว่า สังคมไทยเต็มไปด้วยปัญหา คนไทยส่วนใหญ่ดำเนินชีวิตอยู่ในเงามืดแห่งภัยคุกคาม ชีวิตไร้หลักประกัน
ไม่มีเค้ารางของการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เห็นเลย
ตรงกันข้าม กลับปรากฏเงาทะมึนของวิกฤติระดับชาติรออยู่เบื้องหน้า ถึงขั้นอาจจะต้องตกเป็นเมืองขึ้นยุคใหม่ของทุนนิยมครอบโลก
ร้อนถึงองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องนำเสนอแนวคิดพัฒนาประเทศอย่าง “พอเพียง”สู่สังคมไทย เพื่อเป็นทางออกให้แก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยในยุคโลกาภิวัตน์ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลและนักวิชาการไทย (เกือบร้อยทั้งร้อยตกเป็นทาสความคิดตะวันตก)อย่างแท้จริง
ทั้งๆที่ทฤษฎี “พอเพียง”ของพระองค์ท่านตั้งอยู่บนฐานของการ “ปฏิบัติ” อย่างเป็นวิทยาศาสตร์และตั้งอยู่บนฐานพุทธปรัชญา ที่สอดคล้องกับสภาวะจิตใจของคนไทยเรามากที่สุด
และแย่ยิ่งกว่านั้น เมื่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทยประกาศพัฒนาประเทศโดยใช้แนวคิดทุนนิยมตะวันตกเป็นตัวตั้ง สวนทางกับแนวคิด “พอเพียง”อย่างจัง สร้างความปั่นป่วนขึ้นสังคมไทยเป็นอย่างมาก เพราะมีแนวคิดสองอย่างที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แข่งประชันกันชี้นำการพัฒนาของสังคมไทย
ผู้เขียนสนับสนุนแนวคิดทฤษฎี “พอเพียง” คัดค้านแนวคิดไทยรักไทย (หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “ระบอบทักษิณ”) เนื่องจากเป็นแนวคิดทฤษฎีที่มาจากการปฏิบัติ เป็นวิทยาศาสตร์ สามารถพิสูจน์ความถูกต้องได้ ขณะที่แนวคิดไทยรักไทย มีจุดเริ่มต้นจากความโลภ มุ่งผูกขาดประเทศไทย ซึ่งเป็น “โมหะ”ชนิดร้าย ที่มาจากมิจฉาทิฐิหรือความรู้เห็นจอมปลอม อันเป็นมายาคติ ไม่ได้สะท้อนกฎเกณฑ์การพัฒนาของสังคมไทยแต่ประการใด
ผู้เขียนเชื่อว่า อะไรก็ตาม ที่เริ่มจากความเป็นจริง สอดคล้องกับกฎเกณฑ์พัฒนาการทางภววิสัย ก็จะดำเนินไปได้
จึงกล่าวได้ว่า แม้ว่าทฤษฎี “พอเพียง”กับทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง จะอธิบายโลกด้วยทัศนะและมุมมองที่ต่างกัน แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปในทำนองเดียวกัน คืออิงอยู่กับความเป็นจริง เริ่มจากความเป็นจริงของตนเอง ในบริบทของสังคมโลกที่เป็นจริง ช่วยทำให้พึ่งตนเองได้ รักษาความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองได้
อีกนัยหนึ่ง เป็นแนวคิดที่เกิดจากการ “หาสัจจะจากความเป็นจริง” เช่นเดียวกัน

--------------------------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น