xs
xsm
sm
md
lg

วาจาไม่ตรงกับใจ

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

มนุษย์เราทำสิ่งใด ควรตรงกันทั้งกาย วจี ใจ ถ้าใจคิดอย่าง ปากพูดอีกอย่างตรงข้ามกัน นั่นคือ โกหก พูดปด ผิดศีลข้อ 4

ช่วงนี้บ้านเมืองมีปัญหากับปากของบางคน

จึงขอยกเอาคำสอนของคนโบราณจีนเรื่องเกี่ยวกับการพูดจาไม่ตรงกับใจจริงมาเผยแพร่สักชิ้นหนึ่ง คำสอนบทนี้อยู่ในหนังสือ “หลี่ซื่อชุนชิว” ที่เขียนขึ้นในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ โดยหลี่ปู้เหว่ย อัครมหาเสนาบดี เป็นผู้อำนวยการในการจัดทำ

อันที่จริงหนังสือเล่มนี้ เป็นคำสอนจริยธรรมที่ดีมากเล่มหนึ่ง แต่เนื่องจากจีนเขียนขึ้นในสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้ จิ๋นซีฮ่องเต้มีชื่อทางเสียมากกว่าทางดี หนังสือดีๆ อย่าง “หลี่ซื่อชุนชิว” จึงพลอยไม่ได้รับความนิยมไปด้วย

เรื่อง “วาจาไม่ตรงกับใจ” มีเนื้อความดังนี้

คำพูดมีไว้เพื่อสื่อสำแดงจิตปณิธาน หากจิตปณิธานกับคำพูดขัดแยกแตกแย้งกัน ย่อมเป็นอัปมงคล

พวกสร้างความวุ่นวายในแว่นแคว้น กล่าวถ้อยปล่อยคำเลื่อนเปื้อนมากมาย ไม่เคยคำนึกถึงข้อเท็จจริง มุแต่ละทำลายกันและกัน มุแต่จะแก่งแย่งกันและกัน แบ่งพรรคแบ่งพวกแก่งแย่งทำลายกันและกัน ขี้ปากฟุ้งตระลบอบอวลอัมพร (จ้งโข่วซวินเทียน) ไม่จำแนกความดีคนดีกับความต่ำทรามคนชั่วช้า

หากปกครองแว่นแคว้นกันแบบนี้ แม้ประมุขจะเป็นคนดีผู้ปรีชา ก็ยังจะพลอยเลอะหลงไปด้วย และหากเป็นประมุขต่ำทรามด้วยแล้ว ผลจะร้ายขนาดไหน

เภทภัยของความเลอะหลง ก็คือเขาผู้นั้นไม่รู้ตัวว่าเลอะหลง

แต่อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางความเลอะหลงย่อมมีช่วงจังหวะแจ่มใสบ้าง เช่นเดียวกับในท่ามกลางความมืดมิด ก็อาจมีขณะหนึ่งปรากฏแสงสว่าง

สำหรับประมุขที่สิ้นชาตินั้น เขาไม่รู้ตัวเลยว่าเลอะหลง ดังนั้นจึงต้องเป็นเช่นเดียวกับ เจ๊ดอ๋อง ติวอ่อง อิวอ่อง ลี่อ่อง (ประมุขที่สิ้นชาติ เกิดการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ใหม่ขึ้น) ประมุขเช่นนี้ย่อมมีแต่หนทางล่มสลาย ไร้ซึ่งหนทางที่สองอีกแล้ว

ในแคว้นเจิ้ง มีคนเขียนหนังสือไปปิดไว้ตามถนนหนทางกันมาก จื่อฉ่าน (ศิษย์ขงจื๊อเป็นเสนาบดี) ออกคำสั่งห้ามปิด (แผ่นข้อความ) เจิ้งซี (บัณฑิตอีกฝ่ายหนึ่ง) เปลี่ยนไปใช้วิธีเขียนหนังสือส่งให้ (คนที่เป็นเป้าหมาย) จื่อฉ่านออกคำสั่งห้ามเขียนหนังสือส่งถึงกันอีก เจิ้งซีก็เปลี่ยนไปใช้วิธีแนบหนังสือไปกับของฝากสิ่งอื่น คำสั่งออกมามากเท่าใด วิธีรับมือของเจิ้งซีก็มากตามนั้น

อะไรควร อะไรไม่ควร มิได้จำแนกตัดสินไว้ให้ชัด เมื่อยังมิได้ระบุตัดสินการควรการไม่ควร (ให้ชัดก่อน) แล้วใช้อาญาเข้าบังคับควบคุม ยิ่งลงโทษกันแรง ความจลาจลวุ่นวายจะยิ่งเกิดขึ้นเร็ว เรื่องทำนองนี้ผู้ปกครองแว่นแคว้นพึงหลีกละเว้น อย่าปฏิบัติ

การโต้แย้งแบบเล่นลิ้น ไม่ยึดมั่นในหลักเหตุผล คือพวกจอมปลอมตลบแตลง พวกมีปัญญา แต่ไม่ยึดหลักธรรมคือพวกเรวฬาก ราชะในอดีตมิเคยยกเว้นไม่ฆ่าพวกจอมปลอมตลบแตลง กเรวฬาก ทั้งนี้เพราะหลักธรรม (เหตุและผล) คือ รากฐานแห่งความถูกและผิด

เศรษฐีชาวแคว้นเจิ้งผู้หนึ่งจมน้ำตาย ในแม่น้ำหยิวสุ่ยยามหน้าน้ำหลาก ชาวบ้านคนหนึ่งได้ศพเศรษฐีผู้นั้น คนในครอบครัวเศรษฐีผู้นั้นขอไถ่ซากศพกลับไป ชาวบ้านคนนั้นเรียกร้องเงินจำนวนมาก ญาติเศรษฐีจึงพากันไปปรึกษาเจิ้งซี

เจิ้งซีแนะนำว่า “อย่าห่วงเลย ชาวบ้านคนนั้นจะขายศพให้ใครอื่นๆ ได้ (นอกเสียจากพวกญาติๆ คนตาย)”

ชาวบ้านที่เก็บศพได้ก็กังวลเช่นกัน จึงไปปรึกษาเจิ้งซี

เจิ้งซีก็แนะนำว่า “อย่าห่วงเลย พวกเขาจะหาซื้อศพ (ผู้นั้น) ได้จากที่อื่นหรือไม่เล่า”

บรรดาพวกที่คอยทำร้ายขุนนางตงฉิน ก็ใช้วิธีคล้ายๆ อย่างนี้

(หากขุนนางดี) ไม่มีความดีความชอบไม่ถูกใจราษฎร พวกมันก็ใช้ความไม่มีความดีความชอบความไม่พอใจของราษฎร มาทำร้ายโจมตี (หากขุนนางดี) มีความดีความชอบเป็นที่พออกพอใจของราษฎร พวกมันก็ใช้การมีความดีความชอบการเป็นที่พึงใจของราษฎรมาทำร้ายโจมตีอีก

หากประมุขไม่รู้เท่าทันเหลี่ยมเหล่านี้ ไม่จำแนกถูก-ผิดแล้ว จะมิเป็นเรื่องน่าเศร้าเสียใจหรือ ปี่กัน ฉางหง ต้องเสียชีวิต ฉีจื่อ ซางหญง ต้องยากจน โจวกง จาวกง ต้องถูกสงสัย ฟ่านหลี อู๋จื่อซี ต้องหลบเร้นหนีภัย ก็ด้วยเหตุนี้

พิบัติ-สงบ คงอยู่-ล่มสลาย เป็น-ตาย เริ่มจากจุดนี้เอง

เมื่อจื่อฉ่านบริหารแคว้นเจิ้ง เจิ้งซีก่อกวนสร้างความลำบากให้กับจื่อฉ่าน เจิ้งซีเชื้อเชิญให้คนที่เป็นความขึ้นโรงขึ้นศาลมาเรียนวิธีโต้เถียง โต้เรื่องใหญ่เรียกเก็บค่าเรียนเป็นอาภรณ์ชุดหนึ่ง โต้เรื่องเล็กเรียกเก็บค่าเรียนเป็นอาภรณ์สั้นตัวหนึ่ง ชาวบ้านนำอาภรณ์ไปขอเรียนวิชาโต้เถียงจากเจิ้งซีเป็นจำนวนมากจนนับไม่ถ้วน

จากนั้นความผิดก็กลับเป็นถูก ความถูกก็กลับเป็นผิด ผิด-ชอบไม่มีหลักฐานกำหนด อะไรควรอะไรไม่ควร เปลี่ยนแปรกันไปได้ทุกวัน ฝ่ายที่หวังจะชนะความก็ชนะ ฝ่ายที่หวังจะใส่ร้ายป้ายผิดเขาก็สำเร็จ นิติกระบวนของแคว้นเจิ้งปั่นป่วนวุ่นวายสับสน ราษฎรมีปากเสียงวุ่นวาย

จื่อฉ่านเป็นกังวล จึงตัดสินใจประหารชีวิตเจิ้งซี พร้อมทั้งประกาศโทษกรรมประจานศพเจิ้งซี จากนั้นราษฎรจึงราบคาม ถูก-ผิด เป็นอันกำหนดแน่นอน กฎหมายถึงเป็นกฎหมาย

คนทุกวันนี้ปรารถนาจะปกครองบ้านเมืองได้สงบ แต่กลับมิกล้าประหารคนเช่นเจิ้งซี ดังนั้นจึงยิ่งบริหารยิ่งปั่นป่วน

คนอย่างเจิ้งซี ผู้ทำให้เกิดวิกฤติด้านตุลาการในแคว้นเจิ้ง จึงถูกประหารชีวิต นี่แลพิษภัยของการใช้วาจาในทางที่ผิด
กำลังโหลดความคิดเห็น