xs
xsm
sm
md
lg

กวางตุ้งเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

เขียนถึง “นิราศตังเกี๋ย” ไปสองตอน โดยลืมเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งไป นั่นคือวรรณคดีเรื่อง “นิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน” หรือชื่อแต่เดิมเรียกกันว่า “นิราศกวางตุ้ง”
นิราศกวางตุ้งเรื่องนี้เก่ากว่านิราศตังเกี๋ยมากทีเดียว เพราะแต่งในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช พ.ศ.2324
ซึ่งก็โยงใยได้กับเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงส่งราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับเชียนหลงฮ่องเต้สามครั้งที่เล่าไว้แล้ว
พระยามหานุภาพผู้นี้เดินทางไปกับคณะราชทูตในครั้งที่สาม
สองครั้งแรก เชียนหลงฮ่องเต้ไม่ทรงรับรองฐานะของพระเจ้าตากสิน คือยังไม่ยอมรับว่าพระเจ้าตากสินเป็นกษัตริย์สยาม จนกระทั่งคณะทูตสยามครั้งที่สาม เชียนหลงฮ่องเต้จึงทรงรับรองให้คณะทูตเข้าเฝ้า นั่งคือ ทรงรับรองว่าพระเจ้าตากสินเป็นกษัตริย์ของสยามนั่นเอง แต่ทว่าคณะทูตกลับมาถึงสยามเมื่อเปลี่ยนรัชกาลแล้ว
ทูตสยามไปครั้งนั้น มีเรือเดินทางไปถึง 11 ลำ ออกเดินทางจากกรุงธนบุรี เมื่อวันอังคารเดือน 7 แรม 13 ค่ำ พุทธศักราช 2324 เรื่องราวของคณะทูตระหว่างเดินทางนั้น ชนรุ่นหลังทราบเรื่องราวจากที่มีบันทึกปรากฏในนิราศกวางตุ้งของพระยามหานุภาพนี้เท่านั้น วรรณคดีเรื่องนี้จึงนับว่ามีประโยชน์มากทั้งทางวรรณกรรมและทางประวัติศาสตร์
พระยามหานุภาพผู้นี้จะมียศขุนนางบรรดาศักดิ์ใดขณะที่เดินทางไปกวางตุ้งนั้นไม่ปรากฏ เมื่อท่านกลับมาถึงสยาม ได้รับราชการในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เป็นกวีมีชื่อเสียงในสมัยนั้น และได้รับยศเป็นพระยามหานุภาพ
เนื้อเรื่องย่อๆ ของนิราศกวางตุ้งมีว่า ขบวนเรือ 11 ลำออกเดินทางจากกรุงธนบุรี ถึงปากน้ำในตอนเช้า ต้องรอน้ำขึ้นถึงสองวันจึงเดินทางต่อไปได้ เมื่ออกปากอ่าวแล้วแล่นเลียบฝั่งอ้อมแหลมญวน จนถึงเมืองกวางตุ้งใช้เวลา 33 วัน คณะทูตเข้าพักเรือนรับรอง (กงกวน) ในเรื่องใช้คำว่า “กงกวนเก่า” ทำให้น่าคิดว่า พระยามหานุภาพเคยเดินทางไปกวางตุ้งมาแล้ว จึงระบุว่าได้พักที่บ้านรับรองเดิม จงตกหมูอี๋ – อุปราชเมืองกวางตุ้ง จัดการให้ม้าเร็วนำหนังสือไปแจ้งข่าวราชทูตสยามขอเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงปักกิ่ง ม้าเร็วเดินทางไปกลับใช้เวลา 27 วัน พระเจ้าเชียนหลงฮ่องเต้โปรดให้คณะราชทูตสยามเข้าเฝ้าได้ คณะทูตเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงธนฯ เดินทางทางเรือจากกวางตุ้งไปปักกิ่ง ณ วันศุกร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 12 ปีฉลู ส่วนขุนนางที่ทำหน้าที่ค้าขายมิได้ร่วมเดินทางไปกับราชทูตก็อยู่ทำการค้าขายที่กวางตุ้ง ต้องรอคณะทูตไปกลับกรุงปักกิ่งอยู่ถึง 3 เดือน จึงได้กลับสยามประเทศ
นิราศกวางตุ้งนี้เรียกกรุงจีนว่ากรุงราชคฤห์ กษัตริย์จีนก็เรียกกษัตริย์ราชคฤห์
อันนี้เป็นคติการเขียนแบบเก่า ที่นิยมนำชื่อนครใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์ของชมพูทวีปมาเรียกเป็นชื่อเมืองต่างๆ รอบๆ บ้านเมืองสยาม
เช่น เรียกกรุงญวนว่าจุฬนี เรีกกเมืองคุนหมิงว่าวิเทหราช เรียกเมืองมาวหลวง (ต้นเค้าของไทใหญ่) ว่ากรุงโกสัมพี เป็นต้น
เรือสำเภาเดินทางไป 33 วันจึงถึงเขตกวางตุ้ง เรือสำเภาจะเข้าเมืองกวางตุ้งทางใด อ่านในนิราศแล้วยังนึกไม่ออก ทราบแต่ว่าจาก “โหลบาน” – ซึ่งน่าจะเป็นบริเวณปากน้ำกวางตุ้ง แล่นเรือเข้าแม่น้ำไปสองวันจึงถึงเมืองกวางตุ้ง
แต่ระหว่างทางก่อนเข้าแม่น้ำ พระยามหานุภาพเอ่ยชื่อ “เกาะมะเกาสถาน” ทำให้งุนงง มะเกาตรงนี้ดูจากระยะการเดินทางแล้วไม่ใช่เมืองท่า “มาเก๊า”
“เขาบอกกันว่านั่นแลขอบเขตเป็นประเทศที่จีนทั้งหลาย
ก็ชื่นเริงบันเทิงร่ำทำกรุยกรายบ้างอธิบายบอกเบื้องเรื่องคิรี
อันโหลบานนี้ทวารแต่ชั้นนอกที่เข้าออกกวางตุ้งกรุงศรี
จำเพาะทางเข้าหว่างคิรีมีครั้นลมดีก็ได้แล่นเข้าโหลบาน
ขึ้นยืนดูผู้คนมั่งคั่งฝรั่งตั้งเต็มเกาะมะเกาสถาน
เป็นท่วงทีหนีไล่ก็ได้การมีกำแพงสามด้านดูดี”
จากเวลาออกเดินทางมาถึงตรงจุดนี้ พระยามหานุภาพบอกว่าเป็นเวลา 33 วัน ระยะทางประมาณสามร้อยโยชน์เศษ บริเวณนี้มีป้อมรักษาการ เจ้าหน้าที่จีนลงเรือมาสอบถามที่มาที่ไปของขบวนเรือ เมื่อทราบว่าเป็นคณะราชทูตก็รับตัวคณะทูตลงเรือจีนไป ขบวนเรือแล่นเข้าแม่น้ำไปสองวันจึงถึงเมืองกวางตุ้ง (คือเมืองกวางโจวหรือกวางเจา ในแม่น้ำจูเจียง)
“แต่เข้าคลองไปได้สองราตรีก็ถึงที่หยุดพักนัครา
เห็นกำปั่นแลสำเภาเขาค้าขายเป็นทิวทอดตลอดท้ายคฤหา
ทั้งสี่แถวตามแนวนัคราก็ทอดท่าหน้าเมืองเป็นเรื่องกัน
แต่เสากระโดงที่ระคะตะกะก่ายจนสุดสายเนตรแลแปรผัน
บ้างขึ้นล่องเที่ยวท่องจรจรัล สุดอนันต์ที่จะนับคณนา”
ท่าเรือกวางตุ้งมีเรือสำเภามาค้าขายมากมายนับไม่ถ้วน สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจการค้าเมื่อสองร้อยกว่า
ปีมาแล้ว ต่อไปเป็นคำบรรยายป้อมค่ายสำหรับป้องกันเมือง ขณะนั้นจีนยังไม่ได้รบพุ่งทำสงครามกับฝรั่งนักล่าอาณานิคม
“พิศภูมิสถานที่นัคเรศเป็นขอบเขตอยู่แนวเนินผา”
มีกำแพงสามชั้นกั้นนัคราล้วนศิลาแลงปรับระดับดี
อันหอรบนางเรียงที่เรียงเรียบไว้ระเบียบป้องกันบุรีศรี
มีป้อมขวางอยู่กลางชลธีวารีแล่นรอบเป็นขอบคัน
ตรงฟากเมืองไว้เครื่องข้างเรือรบก็เตรียมครบทอดราอยู่ท่านั้น
พอขุกเหตุสังเกตคืนวันก็เรียกทันถอยไล่ก็ได้ที”
ป้อมค่ายแม้จะใหญ่โตเตรียมไว้ดี ทหารประจำการและกองเกณฑ์ก็มีตระเตรียมพร้อม แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเผชิญกับศึกฝรั่ง จีนก็พ่ายแพ้ต่ออาวุธทันสมัยที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงกว่า
คณะทูตไทยได้เข้าพักที่กงกวนเก่า (ที่พักรับรองทูตต่างประเทศ) ต่อมาทูตได้เดินทางไปกรุงปักกิ่ง ส่วนคณะผู้ทำหน้าที่ค้าขายต้องดูแลการค้าขายอยู่ที่กวางตุ้ง ซึ่งพระยามหานุภาพเขียนบอกเป็นนัยว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ออกไปรบทัพจับศึกยังจะง่ายกว่า ด้วยเกรงว่าจะมีผิดพลาดบกพร่อง ค้าขายไม่ได้กำไร แต่ในที่สุดบุญญาธิการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ทำให้การค้าขายราบรื่น
“ฝ่ายทูตเขาจะไปเห็นได้ดีเพราะธุลีบาทคุ้มคลุมไป
อันพวกเราอยู่ขายจำหน่ายของแต่นั่งตรองนอนตรอมจนผอมไผ่
ที่ขาดเหลือเจือครบบรรจบไปก็มีในบานชีว่าทั้งห้าบาน
ครั้งเสร็จของเงินทองสำเร็จรับแล้วประดับเภตราจะมาสถาน
ความดีใจประหนึ่งได้วิมานปานแต่นับวารคอยเคร่าทุกเช้าเย็น
..................................................
ประการใดไปทางระวางเหตุ ก็สังเกตรัถยาเข้ามาถวาย
เห็นการค้าเหลือบ่าจะแบกตะพายถ้าหักค่ายฤาตีทัพขอรับไป
ไม่เห็นช่องเลยว่าของพระราชทรัพย์จะได้กลับฤามามากลายเป็นง่ายได้
แล้วแสนยากที่ทะเลคะเนไกลก็กลับพามาได้สะดวกดี
ดังเทวามาสุมประชุมทรัพย์ไว้สำหรับหน่อเนื้อพระชินศรี
จะสร้างสมอบรมพระบารมีในยุคนี้บรรจบให้ครบกัลป์”
กำลังโหลดความคิดเห็น