เมื่อหมอกควันแห่งยุคสมัยของสงครามและความวุ่นวายผ่านพ้น ผู้คนก็เริ่มกลับมายังตุนหวงอีกครั้ง ....
มีผู้คนบางส่วนที่เดินทางมายังถ้ำหินสลักม่อเกาเพื่อสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์ต่อไป แต่ทว่า ด้วยความตกต่ำของเส้นทางสายไหมทางบก เนื่องจากพัฒนาการของการเดินทางทางทะเลได้ก้าวหน้าไปมากหลังจากสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279) โดยเฉพาะเมื่อมีการคิดค้นเข็มทิศขึ้น ถ้ำหินสลักม่อเกาจึงไม่มีโอกาสที่จะกลับไปรุ่งเรืองดังเช่นอดีตได้อีกเลย
ที่สำคัญที่สุดก็คือ มรดกอันทรงคุณค่ามหาศาลทั้งทางประวัติศาสตร์ ศาสนา ศิลปะ ภาษา ฯลฯ ในรูปคัมภีร์ ม้วนบันทึก ม้วนภาพ เป็นต้น ที่ถูกเก็บซ่อนอยู่ ณ ส่วนใดส่วนหนึ่งของถ้ำหินสลักม่อเกานั้นถูกซุกซ่อนไว้อย่างดีเยี่ยม จนเรียกได้ว่า "ไร้ร่องรอย"
เวลาล่วงเลยไปศตวรรษแล้ว ศตวรรษเล่า ถ้ำม่อเกากลับกลายคล้ายเป็น 'เพชรในตม' ที่ถูกกาลเวลา และรอยทรายบดบัง-ลบเลือนเสียแทบไม่เหลือประกายแห่งความรุ่งโรจน์ในอดีต
กระทั่งวันหนึ่งของยุคปลายราชวงศ์ชิง ในรัชสมัยของจักรพรรดิกวงสู้ (ราวปี ค.ศ.1892) พระเต๋ารูปหนึ่งนาม หวังหยวนลู่ (王圆箓 หรือชาวจีนนิยมเรียกกันว่า พระเต๋าแซ่หวัง (王道士)) ก็เดินทางมาพบกับถ้ำหินสลักม่อเกาเข้า ทั้งนี้เมื่อพบเห็นสภาพอันทรุดโทรมของถ้ำหินสลักที่เคยเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้หวังหยวนลู่ก็รู้สึกเศร้าสลด และบังเกิดความรู้สึกว่าตนจะต้องฟื้นฟูและปกป้องถ้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ให้คงอยู่ต่อไป
จะว่าไปก็นับเป็นเรื่องแปลกที่พระแห่งลัทธิเต๋า เกิดความเลื่อมใส ศรัทธา และต้องการจะปกป้องสถานที่ซึ่งเคยเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพุทธ และมีร่องรอยของพระพุทธรูปอยู่ทั่วทุกหนแห่งอย่างเช่นม่อเกาคู อย่างไรก็ตาม หลายต่อหลายครั้งความผกผันของประวัติศาสตร์ก็เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความแปลกประหลาดเช่นนี้เอง
การฟื้นฟูและทำความสะอาดถ้ำม่อเกาเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่ง เพราะถ้ำแห่งนี้ถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในส่วนของถ้ำหมายเลข 16 ที่อยู่บริเวณปลายด้านทิศเหนือของหมู่ถ้ำของม่อเกานั้น ด้วยจำนวนทรายที่พัดเข้ามากองสุมกันในถ้ำเป็นเวลานับเป็นร้อยๆ ปี หวังหยวนลู่ ก็ต้องใช้เวลาในการทำความสะอาดถ้ำแห่งนี้นานถึงสองปี อย่างไรก็ตามความพยายามของท่านก็ไม่ได้ศูนย์เปล่าไปเสียเลย เพราะการทำความสะอาดถ้ำที่กินเวลานานนับปีนี้เองได้เชื่อมโยงมนุษยชาติไปสู่สมบัติที่ถูกซุกซ่อนและกลบฝังมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษอีกครั้ง!
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1900 ขณะที่คนรับใช้แซ่หยางที่หวังหยวนลู่จ้างมาคัดลอกคัมภีร์เต๋ากำลังพักผ่อนอยู่บริเวณทางเข้าของถ้ำหมายเลข 16 เขาก็พบว่าผนังถ้ำนั้นทำขึ้นจากดินที่ไม่หนานักและมีรอยแตกจางๆ อยู่ ทั้งนี้เมื่อเคาะดูก็คล้ายกับว่าหลังผนังมีที่ว่างคล้ายเป็นห้องอีกห้องหนึ่ง และเมื่อคนแซ่หยางนำเรื่องราวนี้ไปบอกกับหวังหยวนลู่ พระเต๋ารูปนี้จึงตัดสินใจรื้อผนังเพื่อพิสูจน์ดูว่าที่ด้านหลังนั้นมีอะไรอยู่
เมื่อทลายผนังส่วนนั้นของถ้ำหมายเลข 16 ออก หวังหยวนลู่ก็พบว่าที่ด้านหลังมีถ้ำเล็กๆ อยู่ถ้ำหนึ่ง โดยในถ้ำนั้นมีผ้าสีขาวที่ห่อคัมภีร์จำนวนมหาศาลถูกวางกอง ซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบ และเมื่อนับดูแล้ว คัมภีร์ที่ถูกห่อด้วยผ้าขาวนั้นก็มีจำนวนมากมายกว่า 4-5 หมื่นม้วน นอกจากนี้แล้วก็ยังมีม้วนภาพ อุปกรณ์ในการทำพิธีทางศาสนา เครื่องบูชา อีกจำนวนหนึ่งด้วย โดยคัมภีร์ ม้วนภาพ และสิ่งของที่ถูกค้นพบในถ้ำที่อยู่ในบริเวณทางเข้าของถ้ำหมายเลข 16 นั้นมีของตั้งแต่ยุคสมัยจิ้น (晋) จนกระทั่งยุคต้นของราชวงศ์ซ่ง
ด้วยเหตุนี้ในเวลาต่อมาถ้ำที่อยู่ติดกับถ้ำหมายเลข 16 นี้จึงได้ถูกจัดลำดับให้ว่าเป็นถ้ำหมายเลข 17 และถูกเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า ถ้ำเก็บคัมภีร์ (藏经洞)
เดิมทีถ้ำเก็บคัมภีร์แห่งนี้นั้นเป็นสถานที่ซึ่งพระสงฆ์ในสมัยราชวงศ์ถังนาม หงเปี้ยน อดีตเจ้าคณะภาคในพื้นที่แถบระเบียงเหอซีใช้จำวัด และเจริญวิปัสสนา กรรมฐานในช่วงหลายสิบปีของปั้นปลายชีวิต โดยเมื่อท่านมรณภาพไป เหล่าสานุศิษย์ก็ได้การสร้างรูปปั้นท่านั่งขัดสมาธิท่านไว้เป็นอนุสรณ์ภายในถ้ำแห่งนี้ ทั้งนี้เมื่อพระเต๋าแซ่หวัง ทลายกำแพงเข้าไปพบถ้ำดังกล่าว รูปปั้นของพระหงเปี้ยน รวมไปถึงภาพวาดบนฝาผนังก็ยังคงความสมบูรณ์อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง
หลังการค้นพบทรัพย์สิน และวัตถุโบราณอันทรงคุณค่ามหาศาลที่ถูกซุกซ่อนเอาไว้หลายศตวรรษในถ้ำลับ หวังหยวนลู่ก็รู้สึกยินดีปรีดาเป็นอย่างยิ่ง โดยหลายต่อหลายครั้งเขาพยายามที่จะแจ้งเรื่องราวการค้นพบดังกล่าว พร้อมกับนำตัวอย่างคัมภีร์ที่ค้นพบในถ้ำเก็บคัมภีร์ไปเป็นหลักฐานเพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ของราชสำนักชิงเข้ามาดูแลถ้ำม่อเกาอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ในช่วงเวลาดังกล่าว ประกายแห่งราชวงศ์ชิงกำลังใกล้จะสิ้นแสง ประเทศจีนกำลังถูกรุมเร้าจากภัยทั้งภายในและภายนอกอย่างไม่หยุดหย่อน ขุนนางผู้ดูแลพื้นที่แถบตุนหวงจึงไม่ให้ความสนใจกับการค้นพบของหวังหยวนลู่มากไปกว่า การออกหนังสือมอบอำนาจให้เขาเป็นผู้ดูแลรักษาถ้ำม่อเกาต่อไป
สำหรับฮ่องเต้ชิงและขุนนางทั้งหลาย เมื่อเปรียบเทียบการล่มสลายของราชวงศ์ กับการค้นพบกองคัมภีร์และวัตถุโบราณ ณ ดินแดนอันใกล้โพ้นทางตะวันตกแล้ว เรื่องแรกก็ดูจะเป็นเรื่องสำคัญกว่าเรื่องหลังอย่างมิอาจเทียบกันได้จริงๆ ......
กระทั่งปี ค.ศ.1907 นักโบราณคดีชาวอังกฤษนาม Aurel Stein ผู้ซึ่งในช่วงระหว่าง ค.ศ.1900-1916 เดินทางมาสำรวจดินแดนในแถบซินเกียงถึง 3 ครั้ง ก็เดินทางมาถึงถ้ำม่อเกา ทั้งนี้นับจากปี ค.ศ.1900 ตั้งแต่หวังหยวนลู่ค้นพบถ้ำเก็บคัมภีร์เป็นครั้งแรก จนกระทั่ง Stein เดินทางมาถึง สมบัติแห่งถ้ำม่อเกาได้ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีมาแล้วเป็นเวลาเจ็ดปีด้วยความแข็งขันของพระเต๋า แน่นอนว่าเมื่อชาวต่างชาติอย่าง Stein พยายามจะขอเข้าพบชาวอังกฤษผู้นี้จึงถูกปฏิเสธโดยตลอด
แล้ว Stein จะทำเช่นไรดี เพื่อที่จะสามารถตีสนิทและเข้าใกล้หวังหยวนลู่ บุคคลเดียวที่จะนำเขาไปสู่เหล่าม้วนคัมภีร์อันล้ำค่า?
เล่ากันว่า วันหนึ่งเมื่อ Stein ระแคะระคายมาว่าพระเต๋าแซ่หวังนั้นศรัทธาในพระถังซำจั๋งอริยสงฆ์ผู้เลื่องชื่อแห่งราชวงศ์ถังเป็นอย่างมาก Stein จึงปลอมตัวเป็นพุทธศาสนิกชนผู้นับถือพระถังซำจั๋ง และหลอกพระเต๋าว่าเขาคือสานุศิษย์ผู้เดินทางตามรอยเส้นทางการไปอัญเชิญพระไตรปิฎกของพระถังซำจั๋งจากอินเดียมาจนกระทั่งถึงตุนหวง ซึ่งในที่สุดแผนของ Stein ก็ประสบผล โดยเขาสามารถหลอกซื้อคัมภีร์และม้วนภาพจากพระเต๋าได้เป็นจำนวน 24 ลัง กับทรัพย์สินอื่นๆ อีกจำนวน 5 ลัง และใช้เวลาราว 1 ปีเพื่อขนถ่ายสิ่งของเหล่านี้กลับไปไว้ที่ พิพิธภัณฑ์บริติช และห้องสมุดบริติช ณ ประเทศอังกฤษ
หลังจากข่าวของ Stein แพร่สะพัดออกไปได้ไม่นานนักโบราณคดี นักเดินทาง ชาวญี่ปุ่นและชาวตะวันตกที่หวังว่าจะได้ขุมทรัพย์ติดไม้ติดมือกลับไปบ้างก็หลั่งไหลมายังถ้ำม่อเกา โดยผู้ที่ตามรอย Stein มาเช่น Paul Pelliot (ชาวฝรั่งเศส มาถึงในปี ค.ศ.1908) Kozui Otani พร้อมคณะ (ชาวญี่ปุ่นมาถึงถ้ำม่อเกาในปี ค.ศ.1912) S. F. Oldenburg พร้อมคณะ (ชาวรัสเซีย สำรวจถ้ำม่อเกาในช่วง ค.ศ.1914-1915) Langdon Warner (ชาวอเมริกัน มาถึงถ้ำม่อเกาในปี ค.ศ.1924) เป็นต้น
การมาถึงถ้ำม่อเกาของนักโบราณคดีชาวญี่ปุ่นและชาวตะวันตก (โดยบางคนเดินทางมาหลายรอบ) แม้ในมุมหนึ่งจะก่อประโยชน์ต่อการศึกษาและการสำรวจถ้ำม่อเกาในเชิงวิชาการต่อคนรุ่นหลังไม่น้อย อย่างเช่น ริเริ่มการจดบันทึกเรื่องราวและสภาพด้านต่างๆ ของถ้ำม่อเกา การกำหนดหมายเลขถ้ำให้เป็นระเบียบ การจดบันทึกรายละเอียดภาพจิตรกรรมฝาผนัง การบันทึกภาพของถ้ำม่อเกา แต่กระนั้นอีกมุมหนึ่งความเสียหายที่เกิดจากน้ำมือของชาวต่างชาติเหล่านี้นั้นก็มากมายมหาศาลเกินกว่าที่จะประเมินออกมาเป็นมูลค่าได้เช่นกัน
ส่วนหนึ่งด้วยความรู้เห็นเป็นใจของพระเต๋าและภายใต้ร่วมมือจากคนจีน (อย่างเช่น Stein ที่จ้างชาวจีนผู้มีความรู้คนหนึ่งเป็นล่ามให้) ชาวต่างชาติที่เดินทางมาค้นหาสมบัติยังถ้ำม่อเกานอกจากจะใช้เศษเงินเพื่อซื้อ หรือหลอกซื้อ คัมภีร์ ม้วนภาพ และมรดกในถ้ำหมายเลข 17 จากพระเต๋าหวังหยวนลู่ไปแล้ว ชาวต่างชาติบางคนก็ยังปฏิบัติตัวเยี่ยงโจรด้วยการขโมยงานศิลป์จากถ้ำม่อเกาคูไปซึ่งๆ หน้า อย่างเช่น Langdon Warner
ในปี ค.ศ.1924 เมื่อชาวอเมริกันผู้นี้เดินทางมาถึงถ้ำม่อเกา วัตถุล้ำค่าในถ้ำหมายเลข 17 ก็ถูกขายหรือโยกย้ายไปจนเกือบเกลี้ยงแล้ว ดังน้น Warner จึงเลือกกระเทาะเอาจิตรกรรมฝาผนังสวยๆ ในถ้ำต่างๆ ของม่อเกาไปจำนวน 12 ชิ้น อย่างเช่นจิตรกรรมฝาผนังในถ้ำ 320 323 329 เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังขโมยพระพุทธรูปไปอีก 2 องค์ด้วย
ทั้งนี้กว่าที่ทางการจีนจะเข้ามาดูแลถ้ำม่อเกาอย่างจริงจังในช่วงทศวรรษที่ 40 ของศตวรรษที่ 20 ของมรดกอันล้ำค่าของม่อเกาคูก็สูญหายและถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก ขณะที่คัมภีร์ ม้วนภาพ และทรัพย์สินที่อยู่ในถ้ำหมายเลข 17 ที่มีมากกว่า 50,000 ชิ้น ในปัจจุบันกลับหลงเหลืออยู่ในประเทศจีนเพียงราว 8,600 ชิ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ทำให้ในปัจจุบันวัตถุดิบในการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคโบราณที่มีความเกี่ยวข้องกับเมืองตุนหวง ซึ่งกลายสภาพเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งคือ ตุนหวงศึกษา (敦煌学) จึงกระจัดกระจายไปทั่วโลก โดยจำนวนมากถูกเก็บไว้ที่ พิพิธภัณฑ์บริติชในอังกฤษ พิพิธภัณฑ์ Louvre ในฝรั่งเศส Oriental Study Institute of St.Petersburg ในรัสเซีย ห้องสมุดแห่งชาติที่อินเดีย เป็นต้น
ด้วยสถานภาพเช่นนี้ ทำให้ในความรู้สึกของชาวจีนในปัจจุบัน 'ตุนหวง' คล้ายเป็นรอยด่างแห่งความอัปยศของชาติที่ยากจะลบเลือน ด้านหนึ่งเพราะมรดกอันล้ำค่าของบรรพบุรุษและของชาติจำนวนไม่น้อยต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของต่างชาติโดยที่ชาวจีนมิอาจเรียกร้องอะไรคืนได้ อีกทางหนึ่งการสูญหายของทรัพย์สินแห่งตุนหวงคล้ายกับเป็นเครื่องตอกย้ำถึงความฟอนเฟะของสังคมจีนในยุคปลายราชวงศ์ชิงถึงยุคสาธารณรัฐที่ประเทศและสังคมจีนตกอยู่ในภาวะแห่งความโกลาหล วุ่นวาย เสียจนไม่มีใครสนใจที่จะรักษามรดกอันล้ำค่าของชาติเอาไว้ ทั้งยังมีชาวจีนบางส่วนให้ความช่วยเหลือกับต่างชาติ หรือบางส่วนก็หยิบฉวยทรัพย์สมบัติเหล่านี้เอาไว้เป็นของตัวเองอีกด้วย
ในทางกลับกัน ชาวตะวันตกและชาวจีนบางส่วนกลับมองว่า การถ่ายเทเอามรดกของตุนหวงออกไปนอกประเทศจีนในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั้นถือเป็นการช่วยเหลือไม่ให้มรดกของมนุษยชาติเหล่านี้ต้องสูญหายหรือถูกทำลายไปมากกว่านี้ โดยบางคนจินตนาการเอาว่า หากการค้นพบถ้ำม่อเกาเกิดขึ้นในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ.1966-1976) ความเสียหายของถ้ำม่อเกาอาจร้ายแรงเกินกว่าที่เป็นอยู่ก็เป็นได้
...........................
หลังจากวนเข้าถ้ำนู้นออกถ้ำนี้ เพื่อชมความงดงามและนัยยะแห่งพุทธศิลป์ของถ้ำหินสลักม่อเกาอยู่เกือบสองชั่วโมงเต็ม ผมเดินเลียบไปตามทางเดิน ที่ด้านซ้ายเป็นหน้าผาที่เรียงรายไปด้วยถ้ำหิน และด้านขวาเป็นทิวไม้ที่ทอดเงาลงบนผาหิน ......
เมื่อพิจารณาดูแล้ว สิ่งเกิดขึ้นกับ 'ตุนหวง' นับได้ว่าเป็นโศกนาฎกรรมของชาวจีนอย่างที่เขาว่า แต่ทว่าสำหรับชาวพุทธอย่างผม ณ วันนี้ การที่เนื้อที่ของพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในหัวใจคนเราดูเหมือนจะถูกบีบให้เหลือน้อยลง ถูกลบเลือน ถูกทำลาย และสูญหายไปหนักหนาเสียยิ่งกว่า พุทธศิลป์และมรดกแห่งตุนหวงเสียอีก
โศกนาฎกรรมอย่างหลัง ไม่น่าโศกสลดเสียยิ่งกว่าโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นกับตุนหวงหรอกหรือ?
Tips สำหรับการท่องเที่ยว :
- ถ้ำหินสลักม่อเกาเปิดเวลา 8.30-18.00น. ในช่วงฤดูท่องเที่ยว (เดือนเมษายน-ตุลาคม หยุดจำหน่ายบัตรเวลา 17.00น.) และเวลา 9.00-17.30น. นอกฤดูท่องเที่ยว (เดือนพฤศจิกายน-มีนาคม หยุดจำหน่ายบัตรเวลา 16.30น. จะปิดในวันที่หิมะตกหนัก) บัตรผ่านประตู ราคา 100 หยวน (นักเรียน 50 หยวน) ตลอดปี
- ค่ารถแท็กซี่เที่ยวเดียวจากเมืองตุนหวงไปม่อเกาคูราคาประมาณ 35-50 หยวน หรืออาจจะขึ้นรถประจำทางไปก็ได้ราคาคนละ 5 หยวน
- ก่อนเยี่ยมชมถ้ำหินสลักม่อเกา แนะนำว่าควรเตรียมตัวด้วยการหาอ่านข้อมูลเกี่ยวกับตุนหวง ถ้ำหินสลักของจีน และถ้ำหินสลักม่อเกาไปล่วงหน้าเพื่อเพิ่มอรรถรสในการเยี่ยมชม
- ศูนย์ท่องเที่ยวของถ้ำหินสลักม่อเกามีบริการผู้นำชมฟรี โดยมีทั้งบรรยายเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษ โดยแต่ละรอบจะนำชมถ้ำสำคัญๆ ประมาณ 10 แห่ง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ทั้งนี้การชมถ้ำส่วนใหญ่ผู้นำชมจะมีกุญแจใช้เปิด นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินเข้าไปชมได้อย่างอิสระ ทั้งนี้ในจำนวนถ้ำหินสลักม่อเกาที่มีทั้งหมด 429 แห่งนั้น ปัจจุบันเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมประมาณ 40 แห่งเท่านั้น แนะนำว่าควรตามไปกับคณะของผู้บรรยาย เนื่องจากถ้ำหินสลักม่อเกาแต่ละแห่งมีเกร็ดความรู้และเกร็ดประวัติศาสตร์ต่างๆ ซ่อนอยู่มากมาย
- ในถ้ำหินสลักม่อเกา ห้ามถ่ายรูป-วีดีโอโดยเด็ดขาดไม่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้แฟลชก็ตาม ทั้งนี้ ณ ประตูก่อนเข้าชมจะมีจุดฝากกระเป๋าไว้ให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม : เรื่องราว ถ้ำหินสลักแห่งอื่นๆ ในประเทศจีนจากคอลัมน์ริมจัตุรัส
- ถ้ำหินสลักหยุนกัง (อวิ๋นกัง) (云冈石窟) แห่งต้าถง (大同) มณฑลซานซี ตอนที่หนึ่ง และ ตอนที่สอง
- ถ้ำหินสลักหลงเหมิน (龙门石窟) แห่งลั่วหยาง (洛阳) มณฑลเหอหนาน ตอนที่หนึ่ง และ ตอนที่สอง
- ถ้ำหินสลักไม่จีซาน (麦积山石窟) แห่งเทียนสุ่ย (天水) มณฑลกานซู่
- ถ้ำหินสลัก ณ วัดหลิงอิ่น แห่งหางโจว มณฑลเจ้อเจียง
อ้างอิงจาก :
- หนังสือ 世界文化史故事大系•中国卷 โดย จูอี้เฟย และ หลี่รุ่นซิน (朱一飞,李润新) สำนักพิมพ์ 上海外语教育出版社 หน้า 213-217
- หนังสือตุนหวงและเส้นทางสายไหม (敦煌与丝绸之路) โดย 杜斗城 และ 王书庆 สำนักพิมพ์ 海天出版社, ค.ศ.2004
- ฝานจิ่นซือ (樊锦诗) 2000, 敦煌石窟研究百年回顾与瞻望, 《敦煌研究》(Dunhuang Research),第2期
- นิตยสาร 敦煌 โดย 上海大雅文化传播有限公司 สำนักพิมพ์ 中国旅游出版社, พฤศจิกายน ค.ศ.2002