ซินหัวเน็ต01/06/06 – พูดถึงวันเด็ก แต่ละประเทศจะกำหนดไม่ตรงกัน อย่างวันเด็กไทย ตรงกับวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม ฮ่องกงตรงกับวันที่ 4 เมษายน เกาหลีใต้วันที่ 5 พฤษภาคม และสำหรับจีนแผ่นดินใหญ่ วันเด็กของเขาก็ตรงกับวันนี้วันที่ 1 มิถุนายนพอดิบพอดี
นักข่าวท้องถิ่นทราบมาว่า บริษัทภาพยนตร์เสิ่นหยังได้จัดเตรียมนำภาพยนตร์มาฉายเอาใจเด็กๆ ได้แก่เรื่อง การ์ฟิลด์ (Garfield) ไอซ์ เอจ เจาะยุคน้ำแข็งมหัศจรรย์ (Ice Age) ชิกเก้น รัน วิ่ง...สู้...กระต๊าก...สนั่นโลก (Chicken Run) และ ดิ อินคริดิเบิ้ล (The Incredible) แต่ที่น่าสงสัยก็คือ ทำไมถึงไม่มีรายชื่อภาพยนตร์จีนอยู่ในรายการด้วยเลย
ผู้กำกับคนหนึ่ง ซึ่งเคยกำกับภาพยนตร์ประเภทนี้ให้ความกระจ่างว่า “การถ่ายทำภาพยนตร์เด็ก นอกจากจะเป็นเรื่องที่เหน็ดเหนื่อย แต่ไม่มีใครเห็นคุณค่าแล้ว ยังหางบยาก โรงหนังก็ไม่ค่อยเปิดประตูต้นรับ หลังจากฉายแล้วก็ไม่มีเสียงชื่นชมให้กำลังใจ พอถึงวันเด็ก เราก็ได้แต่กล่าวคำขอโทษต่อพวกเขาเท่านั้น”
แล้วภาพยนตร์แบบไหนล่ะ ที่ได้ใจเด็กๆ
“เราอยากดูแฮรี่ พอตเตอร์” “ของเล่นที่ฉันชอบที่สุดคือ เจ้าเหมียวจากเรื่อง การ์ฟิลด์” “ผมชอบซูเปอร์แมน กับสไปเดอร์แมน” “ดูเรื่อง The Emperor Journey แล้ว ฉันกับแม่น้ำตาร่วงเลย” เสียงสะท้อนชื่นชมภาพยนตร์ต่างชาติดังไม่ขาดสาย ในขณะที่ความรู้สึกที่มีต่อภาพยนตร์ของประเทศตัวเองกลับตรงกันข้าม “หนังของเราไม่ดึงดูดใจเท่าของต่างชาติ” “ดูหนังพวกนั้นแล้ว ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังเรียนวิชาการเมือง”
จากการสัมภาษณ์ความคิดเห็นของหนูๆ ถึงภาพยนตร์เด็กที่พวกเขาชื่อชอบที่สุด 8 ใน 10 เลือกหนังเทศ ขณะที่ภาพยนตร์ที่เด็กๆ คุ้นเคยที่สุดในตอนนี้เห็นจะหนีไม่พ้น แฮรี่ พอตเตอร์ ภาพยนตร์ดัดแปลงจากงานเขียนระดับเบสต์เซลเลอร์ของ เจ.เค.โรลลิ่ง ตลอดจนเรื่อง ไอซ์เอจ และ กองทัพพิราบน้อย (Valiant) ปัญหาดังกล่าว เห็นได้ว่า ปัจจุบันภาพยนตร์เยาวชนของต่างชาติเข้ายึดหัวหาดตลาดจีนอย่างแน่นหนา ดังจะเห็นได้จากงานวันเด็กปีที่แล้วที่ปักกิ่ง เมื่อ “เฉี่ยนหลันเซินหลัน” ภาพยนตร์เด็กของจีน ซึ่งนำแสดงโดยดาราชื่อดัง ซุนหงเหลย และ น่าอิง ต้องชนโรงกับการ์ตูนเทศเรื่อง Valiant ปรากฏว่า รายได้ของจีนเทียบกับกองทัพพิราบน้อยไม่ได้เลย
แม้แต่ สีว์เจิงปิน ผู้จัดการโรงภาพยนตร์ สตาร์ แอนด์ ดรีม (星辰梦幻影都) ถึงกับขนามนามภาพยนตร์เด็กของจีนว่า “หนังสารคดี”
ปีที่แล้ว จีนผลิตภาพยนตร์ออกมาทั้งสิ้น 260 เรื่อง แต่มีภาพยนตร์สำหรับเด็กแค่เพียง 25 เรื่องเท่านั้น และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เข้าฉายในโรงหนัง สีว์เจิงปินอธิบายว่า “ในความเป็นจริงตลาดจำเป็นต้องมีภาพยนตร์เด็ก แต่หนังที่ผลิตในประเทศกลับไม่ดึงดูดความสนใจของพวกเขา ขณะที่รายได้จากการฉายก็น้อยเอามากๆ”
เฉินจวิน ผู้กำกับหนังเด็กเรื่อง อ้ายจ้ายลู่ซ่าง 《爱•在路上》 ถึงกับระบายความในใจให้ฟังว่า “พูดตามตรง การถ่ายภาพยนตร์เด็กในวันนี้ ก็เหมือนทำงานการกุศล ถ่ายทำเสร็จก็ไม่ได้เข้าฉายในโรงหนัง ไม่มีดาราดังแสดงก็ระดมทุนยาก” อย่างที่ผู้กำกับสือเสี่ยวหัว ที่เคยสร้างหนังเด็กมาหลายต่อหลายเรื่องเคยเผชิญ เขาเคยพยายามระดมเงินมาสร้างหนังเด็ก แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ จนต้องนำบ้านของตัวเองไปจำนองเอาเงินมาสร้างหนัง ขนาดสตูดิโอแห่งแรกของจีนที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ถ่ายทำหนังสำหรับเด็กโดยเฉพาะในวันนี้ก็เหลือแต่เพียงชื่อเท่านั้น
และปัญหาสำคัญอีกประการ เฉินจวินว่า “คือปัญหาเรื่องบทภาพยนตร์ ทำไมหนังต่างชาติถึงได้รับการตอบรับดีขนาดนั้น อย่างเรื่อง แฮรี่ พอตเตอร์ และ ฟายดิ้ง นีโม ไม่เพียงเป็นที่ชื่นชอบของเด็ก แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ยังดู คนสร้างหนังของจีนไม่ได้รู้เลยว่า เด็กต้องการอะไร”
สอดคล้องกับความคิดของนักวิจารณ์หนังคนหนึ่งที่เห็นด้วยว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการทำหนังเด็กคือ บทภาพยนตร์ที่ดี “หากพิจารณาภาพยนตร์เด็กของต่างชาติอย่างละเอียดจะพบว่า หนังเหล่านี้ท้าทายความคิด เต็มไปด้วยจินตนาการ เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก และเปิดโลกทัศน์ให้กับเด็ก
เมื่อวันเด็กเวียนมาถึงอีกครั้ง การออกมาพูดขอโทษต่อหน้าเด็กทั้ง 400 ล้านคน ดูจะเป็นเรื่องที่ซ้ำซากจำเจเสียแล้ว เมื่อใดพวกเขาจะสามารถหลุดพ้นจากคำว่าขอโทษไปได้เสียที กลายเป็นคำตอบที่เด็กๆ และผู้ปกครองในวันนี้ต้องการจะรู้...