xs
xsm
sm
md
lg

อัครมหาเสนาบดีจีน ผู้รวยกว่าราชสำนัก (1)

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

เป็นเรื่องบังเอิญที่เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 20 พ.ค. ตอนประมาณตีสาม ผมเปิดดูโทรทัศน์ช่อง 3 เห็นภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่องจีน ชื่อไทยว่า “บัลลังก์มังกร” ส่วนชื่อภาษาจีนนั้นดูจนจบตอนก็ยังไม่เห็นว่าชื่อเรื่องอะไร

ที่เปิดดูเพราะนอนไม่หลับ ไม่ได้ตั้งใจติดตามหนังเรื่องนี้ ตอนแรกก็ดูไม่รู้เรื่อง ดูไปๆ จึงพบว่าเป็นเรื่องราวของ “เหอเซิน” อัครมหาเสนาบดีสมัยรัชกาลเชียนหลง ในเรื่องมีองค์รัชทายาทของเชียนหลงฮ่องเต้ผู้ปลอมตัวไปตรวจตราดูความเป็นไปของบ้านเมืองเป็นพระเอก

ผมปะติดปะต่อเรื่องราว จนนึกออกว่านี่เป็นประวัติศาสตร์ที่สอนใจคนจีนได้มากตอนหนึ่ง จนกลายเป็นสุภาษิตว่า “เหอเซินล้มกลิ้ง เจียชิ่งอิ่มท้อง” (เหอเซินเตี๋ยต่าว เจียชิ่งชือเป่า)

เรื่องมีอยู่ว่า เหอเซินผู้นี้เป็นขุนนางคนสนิทของจักรพรรดิเชียนหลง เมื่อจักรพรรดิเชียนหลงทรงพระชราภาพมากแล้ว เหอเซินได้เป็นอัครมหาเสนาบดีกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เหอเซินกระทำการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างมโหฬาร แต่ไม่มีใครทำอะไรเหอเซินได้ จนกระทั่งเปลี่ยนรัชกาล เจียชิ่งฮ่องเต้ขึ้นครองราชย์ งานแรกที่ทรงกระทำคือสั่งจับเหอเซินสอบสวน พบความผิดร้ายแรงจึงยึดทรัพย์และประหารชีวิต

เหตุที่เกิดกรณีเหอเซินฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ร้ายแรงขนาดนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเชียนหลงฮ่องเต้ (พ.ศ.2279-2339) เองด้วย

ฮ่องเต้องค์นี้นับเป็นฮ่องเต้ที่ปรีชาสามารถมาก รัชกาลของพระองค์นับเป็นยุครุ่งโรจน์สูงสุดของราชวงศ์ชิงทีเดียว

พระองค์มีส่วนช่วยสยามทางอ้อมด้วยนะครับ

คือช่วงที่กองทัพพม่ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาจนตีได้เมื่อ พ.ศ.2310 นั้น เชียนหลงฮ่องเต้ส่งกองทัพจีนมาตีพม่า สถานการณ์ฝ่ายพม่าย่ำแย่มาก พระเจ้าแผ่นดินพม่าต้องรีบส่งสาส์นเรียกกองทัพพม่าที่กำลังล้อมกรุงศรีอยุธยากับไปช่วยรบทัพจีนด่วน สาส์นนั้นมาถึงอยุธยาหลังจากกรุงแตกได้ประมาณ 7 วันเท่านั้น

นั่นหมายความว่า หากกองทัพไทยสามารถยืนหยัดต้านทานพม่าได้อีกสักครึ่งเดือนเท่านั้น กองทัพพม่าก็จำเป็นต้องถอยกลับเพราะต้องรีบไปช่วยกู้ภัยทางเมืองหลางของพม่า

อะแซหวุ่นกี้นำทัพพม่าตีโต้กองทัพของจีน จนกองทัพจีนต้องถอยกลับไป

ในจังหวะที่พม่ารบติดพันอยู่กับจีนนั่นเอง ทางสยามก็สามารถกู้อิสรภาพขับไล่กองทัพพม่าไปได้

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงส่งราชทูตไปเมืองจีนถึงสามครั้ง แต่ทางราชสำนักจีนไม่ยอมรับสถานะพระเจ้าแผ่นดิน (ก๊กอ๋อง) ของพระเจ้าตาก

เพราะอะไรหรือครับ ก็เพราะในช่วงนั้นพระยาราชเศรษฐี เจ้าเมืองบันทายมาศ ซึ่งเป็นคนเชื้อสายจีน ยุยงข้าหลวงมณฑลกวางโจวว่า พระยาตากเป็นแต่เพียงขุนนาง ที่ทรยศเจ้า ยกตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ข้าหลวงมณฑลวกวางโจวจึงเกษียนหนังสือทูลเขียนหลงฮ่องเต้ว่าอย่างทรงยอมรับสถานะของพระเจ้าตาก

ตอนที่พระเจ้าตากสะสมกำลังอยู่ที่จันทบุรี เตรียมจะเข้ามายึดอยุธยาคืนจากพม่านั้น ได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือถึงพระยาราชเศรษฐีเมืองบันทายมาศ (ปากแม่น้ำโขง) พระยาราชเศรษฐีก็ตอบตกลงแล้ว แต่ก็ไม่มาร่วม ภายหลังทายาทของกรมหมื่นเทพพิพิธหนีไปพึ่งพาพระยาราชเศรษฐีหลังจากก๊กเจ้าพิมาย (กรมหมื่นเทพพิพิธ)รบพ่ายแพ้ พระยาราชเศรษฐีจึงได้ที เพราะมีทายาทราชวงศ์เก่าของกรุงศรีอยุธยาอยู่กับตน ทำหนังสือไปบอกข้าหลวงมณฑลกวางโจว

ถ้าเชียนหลงอ่องเต้เลือกยอมรับทายาทราชวงศ์เก่า พระยาราชเศรษฐีก็จะได้เป็นใหญ่เป็นโตกว่าเดิม ว่างั้นเถอะ

พระเจ้าตากส่งราชทูตไปสองครั้ง ราชสำนักจีนก็ยังไม่รับราอง กระทั่งส่งไปครั้งที่สาม ราชสำนักจีนเห็นว่าพระเจ้าตากได้อำนาจมาสิบห้าปี มีความมั่นคง สถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว จึงยอมรับสถานะพระเจ้าแผ่นดินสยามของพระเจ้าตาก แต่คระราชทูตยังไม่ทันกลับมากรุงธนบุรี พระเจ้าตากก็สวรรคตเสียก่อน เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกส่งราชทูตไปราชสำนักจีน เชียนหลงฮ่องเต้ก็ทรงรับรองพระราชบุตรของพระเจ้าตาก (ความจริงเป็นพระราชบุตรเขย) เป็นก๊กอ๋องของสยามสืบแทน

เล่าเรื่องเชียนหลงฮ่องเต้แล้วสนุกครับ เพราะมีหลายเรื่องโยงใยถึงประวัติศาสตร์ไทยด้วย

รัชกาลของพระองค์แม้จะเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของราชวงศ์ชิงก็ตาม แต่สัจธรรมที่ว่าทุกสิ่งเมื่อขึ้นสู่จุดสูงสุดแล้วจะร่วงโรย เป็นสัจจะที่ไม่มีใครปฏิเสธหรือต่อต้านได้ ในท่ามกลางความรุ่งโรจน์ของรัชกาลเชียนหลงนั้น ก็ได้หมักหมมปัญหาใหญ่ๆ ขึ้นสามด้าน ได้แก่ 1.วงราชการฉ้อราษฎร์บังหลวงโกงกินกันหนักหน่วง 2.ราชสำนักใช้จ่ายในการศึกสงครามฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเกินตัว 3.ประชากรล้นเกิน ในรัชกาลคังซีฮ่องเต้ (พ.ศ.2205-2266) มหาราชแห่งราชวงศ์ชิงอีกพระองค์หนึ่งนั้น จีนมีประชากรเพียง 27.5 ล้านคนเท่านั้น แต่ตกมาถึงรัชกาลเชียนหลงฮ่องเต้ จีนมีประชากรถึง 300 ล้านคน เพิ่มขึ้นสิบเท่าในระยะไม่นาน การเติบโตด้านอื่นๆ จึงตามไม่ทัน

และการที่เชียนหลงฮ่องเต้ทรงปรีชาสามารถมากในวัยฉกรรจ์ จนทรงหลงตัวเองในวัยชรา หลงใหลเชื่อถือแต่ขุนนางที่ตามพระทัยพระองค์ จุดนี้ทำให้ขุนนางสอพลออย่างเหอเซินได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งใหญ่โตอย่างรวดเร็ว แล้วในที่สุดเหอเซินก็กลายเป็นผู้ผูกขาดอำนาจเสียเอง

ติดตามเรื่องราวของอัครมหาเสนาบดีเหอเซินว่าร่ำรวยกว่าราชสำนักได้อย่างไรในสัปดาห์หน้าครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น