สำหรับชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองเก่าแก่ของจีน เช่น ปักกิ่ง ซีอัน เซี่ยงไฮ้ ที่กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ความทรงจำเก่าๆ ในอดีตกำลังจางลงอย่างรวดเร็ว ด้วยหูท่ง (胡同)หรือตรอกแคบๆ ที่ 2 ฝั่งเรียงรายไปด้วยบ้านจีนที่มีลานกลางบ้าน และชื่อสถานที่เก่าแก่ กำลังถูกแทนที่ด้วยอาคารสูงหรูหราทันสมัย
ชาวปักกิ่งในทุกวันนี้แทบจะหวนรำลึกไม่ได้ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1980 ทั่วเมืองหลวงแห่งนี้มีหูท่งมากกว่า 3,679 แห่ง เพราะเมื่อถึงในปัจจุบันที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของชาวจีนโบราณลดจำนวนลงกว่า 40% เพื่อหลีกทางให้แก่ถนนและตึกระฟ้า
ย่านชุมชนเก่าแก่ของปักกิ่ง เขตเซวียนอู่ มักปรากฏคำว่า “拆” (ไช) หมายถึงการรื้อถอน อยู่บนกำแพงของบ้านในหูท่ง “หูท่งจำนวนมากเคยอยู่ที่นี่มานานหลายร้อยปี แต่เพียงไม่กี่สัปดาห์ก็ไม่เห็นแล้ว” ชาวปักกิ่งในท้องที่ปรารภ
ในประวัติศาสตร์และในปัจจุบัน หูท่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านธรรมดา ซึ่งนับว่ามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการกำเนิดและการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมในท้องถิ่น หากเปรียบว่าพระราชวังต้องห้าม หอสักการะฟ้า และพระราชวังฤดูร้อน เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมราชวงศ์จีน หูท่งก็เปรียบเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมชาวบ้าน โดยเฉพาะในปักกิ่ง ภาพที่ชินตาของหูท่ง กำแพงอิฐสีเทา หลังคามุงกระเบื้อง ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองปักกิ่งเก่าไปแล้ว
หลิวกัง หนึ่งในนักอนุรักษ์หูท่ง กล่าวย้ำว่า “ปักกิ่งไม่ขาดแคลนตึกสูง แต่หูท่งเป็นสิ่งที่สร้างใหม่ไม่ได้”
เช่นเดียวกัน ชื่อสถานที่เก่าแก่ทั่วแดนมังกรก็กำลังถูกลบออกไปจากแผนที่ของเมืองและจากความทรงจำของผู้คน
ในเมืองหนันจิง เมืองหลวงเก่าของราชวงศ์ 6 ราชวงศ์ในอดีต และเป็นเมืองเอกของมณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของจีน ชื่อสถานที่เก่าแก่มากกว่า 180 ชื่อได้หายไปในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา และชื่อสถานที่ใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้นในอัตรา 200 ชื่อต่อปี ตั้งแต่ปี 2001 จากรายงานข่าวของพีเพิลเดลี่เมื่อเร็วๆ นี้
ส่วนในมณฑลเหอเป่ย ทางตอนเหนือของจีน ชื่ออำเภอ “หวันเซี่ยน” ซึ่งคำว่า “หวัน” ในภาษาจีนโบราณหมายถึงแม่น้ำและภูเขาที่สมบูรณ์ ได้ถูกเปลี่ยนเป็นอำเภอ “ซุ่นผิง” เมื่อปี 1993 ด้วยเหตุผลง่ายๆ เพราะนักธุรกิจจีนโพ้นทะเลบางคนออกเสียง “หวัน” ในภาษาพูดสมัยปัจจุบัน อาจหมายถึง “สิ้นสุด” หรือ “จบ” ซึ่งมีความหมายที่ไม่เป็นมงคล
“ชื่อสถานที่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของชนชาติจีน” หลิวเป่าเฉวียน หัวหน้าศูนย์วิจัยชื่อสถานที่ สังกัดกระทรวงกิจการพลเรือนกล่าว “ชื่อสถานที่ที่เก่าแก่ชื่อหนึ่งมักจะบอกเล่าเรื่องราวที่พิเศษของสถานที่แห่งนั้น”
หลิวกล่าวต่อว่า สำหรับจีน ชื่อสถานที่ของทุกๆ แห่งจะมีความสัมพันธ์พิเศษกับประวัติศาสตร์ “หากชื่อของสถานที่เก่าแก่ยังคงสูญหายไปอย่างต่อเนื่อง คงจะมีสักวันที่เราไม่สามารตามรอยวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชนชาติเราได้”
ชาวจีนสูงอายุ ชื่อสถานที่เก่าแก่ ล้วนเป็นบันทึกที่มีชีวิตของความรุ่งโรจน์และดับสลายของราชวงศ์ ในประวัติศาสตร์จีนที่ยาวนานกว่า 5,000 ปี
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติ อำเภอมากกว่า 700 อำเภอ เมืองมากกว่า 1,000 เมือง และเทศบาลนครมากกว่า 300 เทศบาลนครทั่วประเทศจีน ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านโบราณมากกว่า 100,000 หมู่บ้าน ที่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ยังบอกไม่ได้ว่า ที่ที่พวกเขาฝังรากอยู่นี้มีอายุมายาวนานเท่าไรแล้ว
“สถานที่ส่วนใหญ่ได้รับการตั้งชื่อที่สะท้อนถึงลักษณะของยุคสมัยที่พิเศษและความรุ่งเรืองของชาวจีน” หลิวกล่าว “เราสามารถเรียกสถานที่เหล่านี้ว่าเป็น “ฟอสซิลมีชีวิต” ของวัฒนธรรมจีนโบราณ”
เพื่อรับมือกับสถานการณ์สิ้นสลายทางวัฒนธรรมเก่าแก่เช่นนี้ รัฐบาลจีนได้เริ่มโครงการแห่งชาติ ที่จะปกป้องชื่อสถานที่เก่าแก่จากการถูกเปลี่ยนแปลง เจ้าหน้าที่ในโครงการดังกล่าวจะทำงานเพื่อเสาะหา จำแนก และวิเคราะห์ชื่อสถานที่เก่าแก่ที่ยังเหลืออยู่ และจัดตั้งระบบประเมิน เพื่อแยกแยะชื่อเหล่านี้ตามความสำคัญ
“เจ้าหน้าที่ของกระทรวงกิจการพลเรือนในทุกระดับชั้นจะทบทวนใบคำร้องสำหรับการเปลี่ยนชื่อสถานที่อย่างเข้มงวดที่สุดและภายใต้การชี้แนะของผู้เชี่ยวชาญ เป็นพื้นฐานสำคัญ”
ส่วนหนึ่งของโปรแกรม กลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้จัดตั้งมาตรฐานขึ้นมาชุดหนึ่งสำหรับการประเมิน “เมืองโบราณ” ทั้งนี้ เมืองช่วงปลายปี 2005 อำเภอและเมือง 15 แห่งในเหอเป่ยได้รับการอนุมัติให้เป็น เมืองกลุ่มแรกของประเทศจีนที่อยู่ในกลุ่ม “เมืองพันปี” แห่งแดนมังกร.
กำเนิดหูท่ง
ประวัติศาสตร์ของหูท่งมีความยาวนานเท่าๆ กับประวัติศาสตร์ปักกิ่งเมืองหลวงของจีน โดยเขตเมืองเก่าของปักกิ่งในปัจจุบันเป็นเขตเมืองหลวงเก่าในราชวงศ์หยวน (ค.ศ. 1271-1368) ซึ่งมีประตูเมือง 11 แห่งรอบเมือง ถนนสายใหญ่จากประตูเมืองแต่ละแห่งเชื่อมโยงกันเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของเมือง เส้นทางหลักที่พาดผ่านกันก่อให้เกิดเขตชุมชนสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในเขตชุมชนมีตรอกเล็กจากทิศตะวันออกไปตะวันตก ตรอกเหล่านี้ก็คือหูท่งนั้นเอง ซึ่งในสมัยหยวน มีระเบียบกำหนดความกว้างของถนนสายใหญ่ราว 37.2 เมตร ถนนสายเล็กราว 18.6 เมตร และให้หูท่งกว้างราว 9.3 เมตร
แต่เมื่อมาถึงสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) กฎระเบียบการวางผังเมืองไม่เข้มงวดเท่าสมัยหยวน จึงเกิดถนนหนทางที่เป็นแนวเฉียงและไร้ระเบียบมากมาย ทำให้มีตรอกหูท่งที่โค้งไปโค้งมาและคับแคบให้เห็น.
เรียบเรียงจาก ไชน่าเดลี่