xs
xsm
sm
md
lg

ฮ่องกงเมื่อร้อยยี่สิบปีก่อน

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

อันที่จริงผมบ้าวรรณคดีไทยมากกว่าวรรณคดีจีน ก็ผมเป็นคนไทย ภาษาไทยเป็นภาษาที่หนึ่งของผม ถึงอย่างไรๆ ผมก็ต้องให้เวลากับภาษาไทยมากกว่าภาษาจีนหลายสิบเท่าตัว

ตอนนี้กำลังบ้ารวบรวมคำศัพท์และสำนวนที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานและฉบับมติชนยังไม่รวมเอาไว้ ก็ได้พอสมควรเหมือนกันสำหรับคำศัพท์แปลกๆ

วิธีรวบรวมวิธีหนึ่งของผมคือ ตะลุยอ่านวรรณคดีเก่าๆ แล้วก็จดคำศัพท์แปลกๆ เอาไว้

ตอนนี้หยิบ “นิราศตังเกี๋ย” มาอ่านอยู่ครับ เรื่องนี้รู้สึกว่าจะเป็นวรรณคดีไทยเรื่องเดียวที่เล่าเรื่องเมืองจีนที่ผู้เขียนได้ไปพบเห็นมาด้วยตัวเอง

เป็นสภาพเมืองจีนเมื่อหนึ่งร้อยยี่สิบปีที่แล้วครับ

ดังนั้นถึงแม้จะบ้ายกเอาวรรณกรรมไทยมาเล่า แต่มันก็ยังอยู่ในกรอบของคอลัมน์นี้

บางทีลูกหลานจีนมาอ่านเรื่องราวที่ขุนนางไทยสมัยก่อนมองคนจีนแล้วก็อาจจะตะขิดตะขวงใน แต่อย่าคิดอะไรมากเลยครับ มันคือประวัติศาสตร์สังคมที่มีค่าต่อการเรียนรู้

นิราศตังเกี๋ยเป็นเรื่องราวเกิดขึ้นในปีกุน พ.ศ. ๒๔๓๐ ในจีนก็เป็นปลายยุคราชวงศ์ชิง ของชาวแมนจู ทางภาคใต้ของจีนมีกบฏใหญ่เรียกว่า “ไท่ผิงเทียนกั๋ว อาณาจักรวิมานสันติ” สู้รบกับราชสำนักจีนนานปี มีผู้นำชื่อหงซิ่วฉวน หรืออั๊งโส้วชวน เขานำเอาแนวความคิดเสมอภาคจากคำสอนของศาสนาคริสต์มาเป็นอุดมคติของการปฏิวัติ

กบฏไท่ผิงเทียนกั๋วมีผลสะเทือนมาก รบกันนานปี แต่สุดท้ายกลุ่มกบฏชาวนาเหล่านี้ก็พ่ายแพ้ต่อกองทัพราชสำนัก กองกำลังกบฏแตกพลัดพรายกันไป ส่วนหนึ่งเข้าไปเคลื่อนไหวอยู่ในกวางสี ครั้นถูกติดตามปราบปราม ก็จำต้องหลบเข้ามาเคลื่อนไหวในเวียดนาม (ตังเกี๋ย) และลาว ก็เลยเกิดสงครามปราบฮ่อขึ้นในรัชกลที่ ๕

อันที่จริงพวกที่มาตีปล้นหลวงพระบางและหัวเมืองลาวอื่นๆ ตอนนั้น เป็นกองกำลังที่หลงเหลือจากกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว ไพร่พลในกองกำลัง ส่วนหนึ่งเป็นจีน (ฮั่น) ส่วนหนึ่งเป็นจ้วง (ตระกูลภาษาเดียวกับไท)

ประวัติศาสตร์ตรงจุดนี้ก็น่าสนใจค้นคว้าไว้เป็นข้อมูลความโยงใยไทยกับจ้วง (ในกวางสี) ชนชาติจ้วงเป็นชนชาติส่วนน้อยในจีนที่มีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มชนชาติส่วนน้อยด้วยกัน คือมีมากถึง ๑๕ ล้านคน ถ้ารวมพี่น้องชนชาติอื่นที่อยู่ในตระกูลภาษาเดียวกันอีก ๗ ชนชาติ ก็นับว่ากลุ่มชนชาติตระกูลภาษาจ้วง-ไท มีจำนวนมากทีเดียว

พ.ศ. ๒๕๓๐ ทางการฝรั่งเศสที่ปกครองอาณานิคมในอินโดจีน ต้องการปราบปรามกองกำลังกบฏไท่ผิงเทียนกั๋วที่หนีทางการจีนเข้าไปเคลื่อนไหวในตังเกี๋ย แต่พรมแดนตังเกี๋ยมันติดต่อกับลาวซึ่งยังเป็นของสยามอยู่ ฝรั่งเศสจึงขอให้มีขุนนางสยามไปร่วมดูแลเกี่ยวกับอาณาเขตพรมแดนด้วย ราชสำนักสยามจึงส่งขุนนางเดินทางไปกรุงฮานอย เมื่อจุลศักราช ๑๒๔๙ (พ.ศ.๒๔๓๐) เดือนอ้าย วันศุกร์ ขึ้นสามค่ำ

นายแวว เป็นข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ ได้รับตำแหน่งเลขานุการสำหรับจดหมายเหตุ คือ ผู้แต่งนิราศตังเกี๋ย ด้วยรูปแบบกลอนสุภาพ

นายแววผู้นี้ เป็นบุตรของกวีใหญ่ท่าน “ขุนสารประเสริฐ” (นุช) อาลักษณ์สมัยราชกาลที่ ๔ บทกวีนิราศของท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณคดีแต่งดีเรื่องหนึ่ง

ท่านผู้แต่งเรื่องนิราศตังเกี๋ยนี้ ต่อมามีความจำเริญทางอาชีพราชการด้านกฎหมาย ได้เป็นข้าหลวงพิเศษ ช่วยราชการกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ รับพระราชทานสัญยาบัตรเป็นหลวงนรเนติบัญชากิจ

เนื้อเรื่องตั้งแต่เดินทางออกอ่าวไทย ผ่านเกาะต่างๆ ทางภาคตะวันออก ไปจนถึงเมืองไซ่ง่อน เมืองฮานอย เดินบกไปชายแดนตังเกี๋ย-ลาวนั้น ผมขอข้ามไปไม่กล่าวถึง (กลัวเดี๋ยวจะหลุดกรอบของคอลัมน์ไป)

ตัดลัดความว่า นายแววได้ “ลงเมล์ทะเลใหญ่” ไปถึงฮ่องกง กลับสิงคโปร์ เข้ากรุงเทพ เนื้อความช่วงนี้เล่าไว้เพียงย่อๆ ไม่ยืดยาวเหมือนตอนท่านไปลำบากอยู่กลางป่าในตังเกี๋ย แต่ก็ให้ภาพเมืองจีน และชาวจีน ในสายตาขุนนางไทยไว้ได้ชัดเจนพอสมควร

ขอคัดมาอ่านกันบางตอนดังนี้ครับ
“พอรุ่งขึ้นลงเมล์ทะเลใหญ่อาการไข้ท่านขุนเป็นบุญขัน
มีเรี่ยวแรงดีเหลือลงเรือพลันออกกำปั่นไฮฟองมาฮ่องกง
ทั้งคลื่นลมไม่พักสงัดเงียบกำปั่นเลียบเกาะไหหลำตามประสงค์
กับหน้าเมืองกวางตุ้งเป็นคุ้งวงน้ำขึ้นลงไม่รู้แล่นลู่มา
สองวันครึ่งถึงละเมาะเกาะเฮียงกั๋งเป็นของอังกฤษอนงค์คงรักษา
เห็นตึกรามตามเขาไม่เปล่าตาเหมือนไปทาดินสอพองมองออกพราว”

ฮ่องกงเมื่อร้อยยี่สิบปีที่แล้ว มีตึกทาสีขาวราวทาดินสอพองเต็มไปหมดแล้วนะครับ ท่านผู้แต่งเล่าไว้ในตอนต่อไปว่า อังกฤษมาครองฮ่องกงก่อนหน้าผู้แต่งนิราศตังเกี๋ยห้าสิบปี และว่าแม้จะมีตึกสีขาวอยู่มาก แต่ก็ยังมีพื้นที่ว่างเป็นป่าเขาอยู่ ส่วนในอ่าวนั้น ท่านว่ามีเรือมากมายจริงๆ

“ที่พื้นเมืองชานบุรีมีแต่เจ็กรูปร่างเล็กน่าเกลียดเบียดไม่ไหว
ทั้งเจ๊สัวตัวกุลีที่มาไปเดินออกไขว่เหมือนมดได้รสตาล
แต่เรือจ้างขึ้นล่องสองพันกว่า แจวออกซ่าเหมือนจะปล้นคนโดยสาร
กับเรือใหญ่ใบแข็งพอแรงการรับทำงานบรรทุกของลงท้องเมล์
สังเกตเสาราวกับต้นหมากสาวแลเป็นพรวนแล่นจอดบ้างทอดเป๋
น่าจะโดนกันล่มจมทะเลเสียงโว้เว้ชักใบขึ้นใส่เรียว
ทั้งเรือจ้างประจำกำปั่นเล็กล้วนแต่เจ๊กเต็มเรือห่มเสื้อเขียว
เป็นหลายสิบแล่นลอยที่คอยเทียวถึงคนเดียวก็ส่งคงเอาเซ็น”

เมื่อร้อยยี่สิบปีที่แล้ว ฮ่องกงเป็นเมืองท่าใหญ่ที่สองของโลก นายแววท่านบันทึกไว้ว่า

“ว่าที่สองค้าขายเมืองในโลกของชาวโอฆประเทศวิเศษโส
เป็นท่ารับทรัพย์สินค่อยภิญโญยิ่งสุโขบริบูรณ์พูลทวี
เขาว่าแต่ก่อนนี้ไม่มีบ้านเป็นถิ่นฐานพวกสลัดมันซัดหนี
แล้วอังกฤษคิดอยู่เป็นบุรีห้าสิบปีได้ผดุงเอารุ่งเรือง”

เห็นจะต้องขอเล่าต่ออีกตอน เพราะยังมีเรื่องสุกๆ อีกหลายเรื่อง อีกประการหนึ่ง หนังสือเรื่องนี้ก็ใช่ว่าจะหาอ่านกันได้ง่ายๆ ผมไปค้นได้เอาฉบับที่พิมพ์ในงานศพน้องชายของหลวงนรเนติบัญชากิจ (แวว) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ มาอ่านครับ ฉบับพิมพ์หลังจากนั้น ไม่รู้ว่ามีหรือเปล่า
กำลังโหลดความคิดเห็น