คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการสักคือศิลปะที่มีเสน่ห์ น่าหลงใหล เหตุผลอย่างหนึ่งคงเป็นเพราะรอยประทับนั้นจะอยู่กับเราไปชั่วชีวิต แต่บ่อยครั้ง เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกี่ยวกับการสักก็เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับรอยสักที่เป็นตัวหนังสือต่างชาติ ต่างภาษา ที่เราบรรจงเลือกสรรมาเองกับมือ…
เพื่อฉลองที่ได้ลูกชายคนแรก ประกอบกับเพื่อเก็บความทรงจำที่เปี่ยมล้นด้วยความรักที่มีต่อลูกไว้นานเท่านาน วันหนึ่งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แช็ด แมกเนส ตัดสินใจสักคำจีน 2 ตัวไว้ ที่แขนข้างซ้ายของเขา โดยเลือกจากสมุดตัวอย่างคำจีนของร้าน ซึ่งเขาก็เชื่อสนิทใจว่าคำแปลของตัวหนังสือนั้นถูกต้องแล้ว
ทว่าหลังจากนั้น 6 เดือน แมกเนส จึงค้นพบว่าความหมายของตัวหนังสือบนแขนเขานั้นผิดเพี้ยนไปจากที่เขาเข้าใจชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ จาก ‘รักมาก’ กลายเป็น ‘เจ็บปวดเพราะรัก’ โดยผู้ที่ทำให้แมกเนส ‘ตาสว่าง’ คนแรกคือพนักงานของร้านขายชำแห่งหนึ่ง ตามด้วยเพื่อนร่วมงานที่รู้ภาษาจีน 2-3 คน พวกเขายืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า แมกเนส กำลังป่าวประกาศว่าตนกำลังบอบช้ำเพราะความรัก
“ผมอับอายอย่างบอกไม่ถูก” แมกเนส วัย 31 ปี ซึ่งทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท ออเรนจ์ ในแคลิฟอร์เนีย กล่าว
แมกเนส ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษาตัวเพื่อลบรอยสัก ต้องเจ็บตัวอีกครั้งและต้องใช้เวลานานกว่าที่รอยประทับตรานั้นจะหายไป
เช่นเดียวกับ คริสตินา นอร์ตัน ซึ่งก็กำลังเข้ารับการรักษาเพื่อลบรอยสักด้วยแสงเลเซอร์
นอร์ตัน เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะตัดสินใจทำ เธอได้ถามย้ำกับช่างสักแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังเกิดความผิดพลาดขึ้นจนได้ โดยตัวหนังสือที่สักลงบนเนื้อนั้นไม่มีความหมายใดๆ เลย
เจมส์ มอเรล แห่ง Dr.Tattoff ในเบเวอร์ลี่ ฮิล หัวหน้าคณะผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดรอยสัก เผยว่า มีลูกค้าเข้ามารับบริการลบรอยสักที่คลินิก 5-6 รายต่อสัปดาห์ เนื่องจากพบว่ารอยสักที่พวกเราทำไปมีความหมายไม่ตรงกับที่ต้องการ
ขณะที่เมื่อเร็วๆ นี้ นิตยสารด้านกีฬาเล่มหนึ่ง ก็ได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับกระแสความนิยมรอยสักที่ออกแนวจีนๆ หรือ ‘ไชนิส แทตทู’ ในหมู่นักบาสเกตบอลอาชีพ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ไทสัน ชานด์เลอร์ ผู้เล่นในตำแหน่งเซ็นเตอร์ของทีมชิคาโก บูลส์
ชานเลอร์ กล่าวว่า เขาได้สอบถามจากเหยา หมิง เพื่อนนักบาสฯ ชาวจีนแห่งทีมฮุสตัน ร็อกเกตส์ แล้ว ก่อนที่เขาจะสักคำจีนที่แปลว่า ‘รัก’
แต่บริตนีย์ สเปียร์ส ไม่โชคดีอย่างชานเลอร์ เนื่องจากมีข่าวว่าบนเนื้อของนักร้องสาวสุดเซ็กซี่ มีคำจีนที่แปลว่า ‘แปลกประหลาด’ ปรากฏอยู่แทนที่จะเป็นคำว่า ‘ลึกลับ’ อย่างที่เธอต้องการ
ขณะที่ มาร์ควิส แดนเนียลส์ แห่งของทีมบาสเกตบอล ดาลัส มาเวอร์ริคส์ ที่ปรารถนาตัวย่อชื่อบนแขน ก็ได้คำจีน 3 ตัวสมใจ ซึ่งมีความหมายว่า “แข็งแรง ผู้หญิงและหลังคา”
สังคมตะวันตกหลงใหลการสักตัวหนังสือจีนเช่นเดียวกับที่คลั่งไคล้วัฒนธรรมแนวตะวันออกอื่นๆ เช่น เฟิงสุ่ย หรือฮวงจุ้ย รวมทั้งเสื้อผ้าอาภรณ์สไตล์เอเชีย
อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐฯ ช่างสักชาวอเมริกันส่วนมากไม่มีความรู้ภาษาจีน แต่อาศัยการลอกเลียนแบบลายเส้นของตัวหนังสือจีน ที่นำมาจากที่ต่างๆ ความผิดพลาดจึงเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย บางครั้งเพียงแค่การตวัดปลายเส้นของตัวหนังสือ ความหมายก็อาจเปลี่ยนไปคนละทิศละทาง หรือการนำคำจีนมารวมกัน โดยหวังสร้างวลีที่กิ๊บเก๋ อย่างที่ปรากฏเมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษ ท้ายที่สุด อาจกลับกลายเป็นวลีที่ไม่สื่อความหมายใดๆ ถ้าโชคดีหน่อย ก็อาจแค่ตลกขบขัน แต่ถ้าโชคร้าย ก็จะได้ความหมายที่แย่ไปเลย
เทียนถัง ผู้ที่ทำหน้าที่อธิบายความหมายของรอยสักซึ่งเป็นคำจีนแห่ง www. hanzismatter.com แหล่งรวมรอยสักที่มาจากคำจีนหรือ ฮั่นจื้อ (hanzi ) เล่าว่า ในแต่ละวันมีอีเมล์ราว 2,500 ฉบับที่ส่งเข้ามาให้ช่วยอธิบายความหมายของรอยสัก ขณะที่รอยสักจำนวนไม่น้อยมีความหมายที่ตลกขบขันมาก อาทิ ลูกหมูจอมพลัง พรสำหรับสัตว์เพศแม่ เป็นต้น
แองเจลา โซ ชาวแคนนาดา เชื้อสายจีน แสดงความเห็นว่าคนที่สักคำจีนโดยมิได้ศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน มักทำสิ่งที่แปลกประหลาด ในอีกด้านหนึ่งมันการกระทำที่ดูหมิ่นวัฒนธรรมจีน
มาริซา ดิแมตเทีย ทนายความและบรรณาธิการแห่งเว็บแทตทูอันโด่งดัง www.needled.com เตือนว่า “ถ้าคุณต้องการสักลวดลายถาวรบนร่างกาย คุณต้องศึกษาข้อมูลก่อน… และถึงแม้ว่าจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็จะไม่มีคนมาพูดกับคุณว่า รอยสักนั่น ไม่ได้มีความหมายเช่นนั้น”
คำเตือนของดิแมตเทีย น่าจะครอบคลุมไปถึงอีกฝากหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก อาทิ ในญี่ปุ่น ที่ซึ่งวัฒนธรรมการสักกำลังเบ่งบานเต็มที่ ขณะที่ในจีน บอดี้เพนต์หรือการเขียนลวดลายชั่วคราวลงบนลำตัว กำลังเป็นที่จับตามองในปัจจุบัน
เทียนถังแห่ง Hanzi Smatter ตระหนักดีถึง ‘ดาบแห่งการละเลยทางภาษาศาสตร์’และส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจในการทำบล็อกของเขานั้นก็มาจาก www. engrish.com ซึ่งรวบรวมเรื่องราวขบขำเกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษที่ไม่ถูกกาลเทศะของชาวเอเชีย ซึ่งปรากฏให้เห็นบ่อยๆบนเสื้อเชิ้ต ป้ายที่ติดตามท้องถนน หรือบนหีบห่อของสินค้า เป็นต้น
โฮริทากะ ผู้เชี่ยวชาญการสักสไตล์ญี่ปุ่นในซานโจเซ่ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า “วัยรุ่นที่ญี่ปุ่นก็คล้ายกับวัยรุ่นที่นี่ ชาวอเมริกันจำนวนมากนิยมตัวคันจิ (คำเรียกตัวหนังสือจีนในภาษาญี่ปุ่น) เพราะลักษณะที่แปลกตา ขณะที่ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากก็เริ่มนิยม “การเขียนแบบตะวันตก”
ทั้งนี้ ข้อมูลของ ซี. ดับเบิลยู. เอลดริดจ์ ในเมืองบิร์กเลย์ ช่างสักและนักประวัติศาสตร์การสัก เผยว่า การสักเป็นรสนิยมเฉพาะที่ย้อนหลังไปถึงต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อกะลาสีที่แล่นเรือไปตามท่าต่างๆ ในทวีปเอเซียนได้จากดินแดนเหล่านั้นมาพร้อมกับรอยสัก ก่อนจะเป็นที่นิยมแพร่หลายในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 หรือในต้นทศวรรษที่ 90
เรียบเรียงจากนิวยอร์กไทมส์