xs
xsm
sm
md
lg

กระดาษ: คนจีนปฏิวัติโลก

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

ยุคนี้เป็นยุคไอที เทคโนโลยีกำลังปฏิวัติโลก ความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของคนมันพรวดพราดไปเร็วมาก นึกอีกทีมันก็เร็วจนน่าตกใจมากเหมือนกัน

ย้อนมองอดีต สังคมมนุษย์เราก็เคยมีการปฏิวัติทำนองนี้มาแล้วหลายครั้ง

การปฏิวัติครั้งหนึ่งก็คือ เมื่อมนุษย์รู้จักผลิตกระดาษขึ้นใช้

กระดาษที่เราเห็นว่ามันเป็นสิ่งพื้นๆ ไม่น่าสนใจอะไรนี่แหละ ในสมัยโบราณมันมีบทบาทเปลี่ยนแปลงโลกมาแล้ว

และโลกเกิดการปฏิวัติอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมนุษย์ค้นคิดเทคโนโลยีการพิมพ์ได้

กระดาษเป็นเหมือนหญ้าปากคอก มันดูเหมือนการผลิตกระดาษเป็นเรื่องง่ายๆ แต่กว่าที่โลกจะมีกระดาษใช้กันแพร่หลาย ก็ภายหลังปี ค.ศ.105

ก่อนหน้านั้น มนุษย์ต้องใช้วัสดุอื่นๆจดบันทึกสัญลักษณ์หรือข้อความ ตัวอักษรนั้นมนุษย์เราสร้างขึ้นได้ก่อนจะมีกระดาษ รูปลักษณ์ของตัวอักษรและวิธีเขียน กำหนดขึ้นจากวัสดุที่ใช้บันทึก

เช่นบันทึกลงบนแผ่นดินเหนียวที่ยังเปียก ตัวอักษรมันก็ต้องเป็นตัวเหลี่ยมๆ ขูดขีดหรือเขียนบนติ้วไม้ไผ่แล้วเอาติ้วนั้นร้อยโยงกันเป็นม้วน การเขียนมันก็ต้องเขียนจากบนลงล่างและจากขวาไปซ้าย

ชาวจีนนั้นเริ่มจดจารึกข้อเขียนบนกระดองเต่า กระดูกสะบักวัวควายบ้าง บนติ้วไม้ไผ่บ้าง บนผ้าไหมบ้าง บนภาชนะที่ทำด้วยสำริดบ้าง ลักษณะตัวอักษรจึงแตกต่างกันไปหลายแบบ

มาถึงยุคจิ๋นซีฮ่องเต้ หลี่ซือมหาเสนาบดีออกคำสั่งให้ทั่วประเทศใช้รูปแบบอักษรแบบเดียว เป็นเอกภาพกัน

การขีดสลักหรือเขียนบนติ้วไม้ไผ่ เป็นเรื่องยุ่งยากไม่สะดวกเลย การเขียนบนผ้าหรือผ้าไหมก็เป็นการสิ้นเปลืองมาก ตำรับตำราหนังสือหนังหาที่จดความรู้ต่างๆจึงมีน้อย ไม่สามารถแพร่หลายในวงกว้าง

จนกระทั่งไช่หลุน ขุนนางของราชสำนักซีฮั่นคิดค้นกรรมวิธีผลิตกระดาษขึ้นใช้เป็นจำนวนมากๆได้สำเร็จ ในปี ค.ศ. 105 ผู้คนจึงมีกระดาษใช้จดบันทึกเขียนข้อความกันได้อย่างแพร่หลาย

วัสดุที่ใช้เขียนข้อความก่อนสมัยของไช่หลุนนั้น คือลำไผ่ สิ่งทอ หรือผ้าไหม ที่สามารถสลักหรือเขียนตัวหนังสือลงบนสิ่งนั้นได้ แต่ไช่หลุนเห็นว่า ผ้าไหมเป็นสิ่งมีค่า ไม่เหมาะที่จะนำมาเป็นวัสดุในการเขียน เขาจึงรวบรวมประสบการณ์ของมวลชนในการทำกระดาษ มาปฏิรูปปรับปรุงจนสามารถผลิตเป็นกระดาษสำหรับใช้เขียนได้

ก่อนหน้าไช่หลุน มวลชนมีกรรมวิธีการผลิตกระดาษอยู่ก่อนแล้ว โดยใช้ใยไหมและใยป่านเป็นวัตถุดิบ แต่ก็ยังไม่เหมาะสำหรับการเขียนหนังสือ

ไช่หลุนทดลองนำเอาเปลือกไม้ ใยป่าน ผ้าขี้ริ้วและตาข่ายเก่าๆมาเป็นวัตถุดิบ และปรับปรุงกรรมวิธีการผลิต จนสามารถทำกระดาษที่เหมาะสำหรับเขียนหนังสือออกมาได้ทีละมากๆ ความดี ความชอบนี้ทำให้เขาได้เลื่อนศักดินาเป็นเจ้าระดับ “ถิงโหว” ชื่อ “หลงถิงโหว”

มันน่าอัศจรรย์มาก เยื่อไม้กับน้ำ เกิดปฏิกิริยาแสนอัศจรรย์ เกิดเป็นแผ่นกระดาษ กระดาษที่มีอิทธิพลส่งผลกระทบถึงมนุษยชาติอย่างมหาศาล

โมเลกุลของน้ำทำให้อะตอมภายใน fibers bond จับขั้วแน่น เป็นการจับขั้ว bond ที่เหนียวแน่นมาก เมื่อโมเลกุลของน้ำถูกถ่ายออกไป ไฟเบอร์เหล่านั้นก็ยังจับขั้วกันแน่นมากจนกลายเป็นแผ่นกระดาษ

คนจีนค้นพบความลับนี้ก่อนเพื่อน
และต่อมา คนจีนก็เป็นชาติแรกที่รู้จัก ใช้ “เงินกระดาษ” กระดาษชำระและการพิมพ์หนังสือ

แม่พิมพ์ในการพิมพ์หนังสือ แรกๆก็เป็นการแกะสลักจากไม้ทั้งแผ่น แกะเป็นทั้งหน้าและทั้งแผ่น ซึ่งมันยากลำบากอยู่ แผ่นหนึ่งถ้าหากแกะสลักผิดพลาดไปคำเดียวก็เสียหายต้องทิ้งแม่พิมพ์ไปทั้งแผ่น ต่อมาจึงรู้จักแกะสลักเป็นตัวๆ แล้วเอาวางในรางหรือช่องที่เป็นแม่พิมพ์ใหญ่ ซึ่งก็ช่วยให้การพิมพ์หนังสือเร็วขึ้น แต่ก็ยังไม่อาจทำเป็น mass product

ชาวยุโรปเพิ่งรู้จักผลิตกระดาษในคริสต์ศตวรรษที่ 12 แล้วอีกสามร้อยปีต่อมา ชาวยุโรปถึงจะทำการปฏิวัติระบบการพิมพ์หนังสือ

เทคโนโลยีการพิมพ์ที่กูเตนเบอร์กคิดค้นได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงโลกอีกครั้งหนึ่ง

หนังสือที่ถูกตีพิมพ์ออกมามากที่สุดในตอนนั้นคือคัมภีร์ไบเบิล พระคัมภีร์สามารถเผยแพร่ไปถึงครัวเรือน แต่ก่อนหน้านี้การเข้าถึงคำสอนของพระเจ้าจะต้องผ่านบาทหลวงเท่านั้น การที่ชาวบ้านสามารถอ่านพระคัมภีร์ได้ด้วยตนเอง ทำให้เกิดการปฏิรูปทางศาสนาครั้งใหญ่

มาร์ติน ลูเธอร์ ผู้ปฏิวัติศาสนาคริสต์ (เกิดเป็นนิกายโปรเตสแตนท์ ) ชื่นชมยกย่องการพิมพ์อย่างยิ่ง เขากล่าวว่า “การพิมพ์คือบทบาทที่สง่างามยิ่งใหญ่สูงสุดของพระเจ้า”

ลูเธอร์ให้เหตุผลว่า “ถ้าทุกคนสามารถมีหนังสือไบเบิล พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องมีบาทหลวงเอาไว้คอยแปลถ้อยคำของพระเจ้าอีกต่อไป”

และหลังจากกูเตนเบอร์ก ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์สำเร็จแล้ว 50 ปี ยุโรปก็หลุดพ้นจากยุคมืด

ทุกวันนี้ กระดาษยังเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับโลกสื่อสารข้อมูล แม้ว่าผู้ศรัทธาในวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมองว่า ในอนาคตเราจะใช้กระดาษในการสื่อสารกันน้อยลง หรือกระทั่งไม่ใช้เลย แต่ในขณะนี้ เรายังนึกไม่ออกว่า ถ้าปราศจากกระดาษ…กระดาษที่คนจีนได้ค้นพบวิธีการผลิต พวกเราจะอยู่กันอย่างไร.
กำลังโหลดความคิดเห็น