ผมเอนหลัง พลิกอ่านหนังสือ Tracing Marco Polo's China Route ที่เขียนโดยนักเขียนชาวจีน 2 คน ผู้ใช้เวลากว่า 3 เดือนตามรอยเส้นทางการมาเยือนประเทศจีนของนักเดินทางชาวอิตาเลียนผู้ยิ่งใหญ่ มาร์โค โปโล
เมื่อ 700 กว่าปี (ระหว่างปี ค.ศ.1271-1275) ที่แล้ว มาร์โคโปโล ก็ใช้เส้นทางผ่านมณฑลกานซู่แห่งนี้เพื่อเดินทางจากเมืองเวนิซ ในอิตาลี เพื่อมาถึงต้าตู (大都) เมืองหลวงของราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1271-1368) ในขณะนั้น ...... 'ต้าตู' ในวันนั้น ก็คือ 'ปักกิ่ง' ที่เรารู้จักกันในวันนี้นี่เอง
ในอดีตการเดินทางไปบนเส้นทางสายไหมของ พ่อค้าชาวตะวันตก ชาวอาหรับหรือชาวจีนนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องผ่านระเบียงเหอซี (Hexi Corridor:河西走廊) ระเบียงแคบที่บางส่วนมีความกว้างเพียงไม่กี่กิโลเมตร (แต่บางส่วนก็กว้างเกือบ 100 กิโลเมตร)
ระเบียงเหอซีเป็นพื้นที่ราบแคบๆ ยาวกว่า 900 กิโลเมตร ซึ่งถูกประกบไว้ด้วยภูเขาหิมะสูงนามภูเขาฉีเหลียน (祁连山) ทางทิศใต้ และภูเขาอีกสามลูกคือ ภูเขาแผงคอม้า (หม่าจงซาน:马鬃山) ภูเขาเหอหลี (合黎山) และภูเขาหัวมังกร (龙首山) ทางทิศเหนือ
ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์เช่นนี้เองที่ทำให้ระเบียงเหอซี กลายเป็นส่วนยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมระหว่างดินแดนส่วนกลางของประเทศจีนกับดินแดนตะวันตก (西域) โดยเฉพาะในสมัยราชวงศ์ฮั่น (202 ปีก่อนคริสตกาล-ค.ศ.220) และ ราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) สองยุคสมัยที่ประเทศจีนรุ่งเรืองถึงขีดสุด ระเบียงแห่งนี้เป็นทั้งส่วนยุทธศาสตร์ทางการทหาร และส่วนยุทธศาสตร์ทางการค้าที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของราชวงศ์ทั้งสอง
อย่างไรก็ตามหลังจากศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา เมื่อเทคโนโลยีในการเดินเรือก้าวหน้า การค้าทางทะเลเริ่มมีบทบาทเพิ่มขึ้น เส้นทางสายไหมที่ผ่านระเบียงเหอซีอันเป็นเส้นทางการค้าทางบกซึ่งเมื่อเทียบกับการเดินทางทางทะเลแล้วการเดินทางยากลำบากกว่า ทั้งยังขนส่งสินค้าได้ปริมาณน้อยกว่าจึงถูกลดบทบาทลง
นับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี ค.ศ.1949 (พ.ศ.2492) เป็นต้นมา หลายเมืองสำคัญบนเส้นทางระเบียงเหอซีที่ในอดีตเคยเป็นจุดแวะพักนักพ่อค้า-นักเดินทางจากเปอร์เซีย ยุโรป ก็ได้กลายสภาพไป บางส่วนเป็นเมืองไฮเทค อย่างเช่น จิ่วเฉวียน (酒泉) ที่ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางด้านภารกิจอวกาศของประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การยิงดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ศูนย์ฝึกนักบินอวกาศ จนถึงฐานส่งยานอวกาศต่างก็ถูกรวบรวมอยู่ที่จิ่วเฉวียนทั้งสิ้น
ในอีกด้านหนึ่ง เมืองต่างๆ บนระเบียงเหอซีนี้ก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่นักท่องเที่ยวผู้หวังจะได้สูดกลิ่นอายของเส้นทางสายไหมมิอาจจะพลาดได้ ตลอดเส้นทางจากหลานโจว อู่เวย จางเย่ จิ่วเฉวียน อันซี จนกระทั่งถึงตุนหวง
รถไฟสายท่องเที่ยวขบวน L127 หลานโจว-ตุนหวง ที่ผมโดยสารอยู่นี้ก็เช่นกัน เปรียบได้กับม้าเหล็ก หรือ อูฐกินน้ำมัน ที่กำลังพาผมท่องเข้าไปในระเบียงอันเป็นตำนาน ......
ผมปิดหนังสือ Tracing Marco Polo's China Route และหันออกไปดื่มด่ำกับบรรยากาศภายนอก
ลมเย็นจากภายนอกม่านหน้าต่างปลิวไสว แดดอ่อนๆ ลอดผ่านบานหน้าต่างเข้ามา ภายนอกภูเขาเริ่มดูแห้งแล้งขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังพอมีทุ่งข้าวสีเขียวสลับสีเหลืองแซมอยู่
กองข้าวที่ถูกเกี่ยวแล้วนำมากองสุมรวมกันบอกกับเราว่า ณ บริเวณนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว ...... ชาวนาที่เสร็จงานค่อยๆ ทยอยกันจูงวัวกลับบ้าน คนเลี้ยงแกะต่างก็ต้อนฝูงแกะกลับจากทุ่งหญ้า
สิบแปดนาฬิกาสี่สิบห้านาที หมอกที่ระอยู่บนเนินเขาบ่งบอกเราว่า อากาศเย็นลง และเราเริ่มผ่านเข้าสู่เขตพื้นที่ราบสูงอย่างจริงจัง อุณหภูมิบนหน้าปัดชี้อยู่ที่ 10 องศา แม้จะอยู่ในช่วงของกลางฤดูร้อนแต่อุณหภูมิในช่วงกลางคืนของระเบียงเหอซีก็ดูตรงข้ามกับช่วงกลางวันอย่างสิ้นเชิง
โดยเฉลี่ยแล้วอุณหภูมิในช่วงกลางวันกับกลางคืนของระเบียงเหอซีห่างกันมากถึง 15 องศาเซลเซียส ทั้งอากาศยังแปรปรวน จนมีคนกล่าวว่าในหนึ่งวัน ณ ระเบียงเหอซีนี้ อาจจะพบเห็นฤดูได้ถึงสี่ฤดู
...... รถไฟวิ่งผ่านม่านหมอก ไอน้ำในอากาศเริ่มกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำ ไหลลงมาเกาะอยู่บนบานหน้าต่าง สักพักเมื่อฝนเริ่มลงเม็ด เทือกเขาฉีเหลียนก็ถูกหมู่เมฆและม่านหมอกกลืนหายเข้าไปทั้งลูก ......