xs
xsm
sm
md
lg

แย้มกลเม็ดอุปรากรจีน “เปลี่ยนหน้า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การแสดงอุปรากรจีนเปลี่ยนหน้ากาก หรือที่เรียกเป็นภาษาจีนว่า “เปี้ยนเหลี่ยน” ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของเสฉวน มักจะสร้างความตื่นตาตื่นใจและความสนเท่ห์แก่ผู้ชม ว่านักแสดงสามารถเปลี่ยนหน้ากาก (เหลียนผู่) สีสันฉูดฉาดแต่ละหน้าได้อย่างไรในเวลาอันรวดเร็ว และ “เปี้ยนเหลี่ยน” เป็นมายากล หรือว่าเป็นทักษะเฉพาะตัว

ราชาเปลี่ยนหน้ากาก เรียนรู้และฝึกฝนทักษะด้วยตัวเอง

เหอหงชิ่ง ราชาเปลี่ยนหน้ากาก หรือเรียกในภาษาจีนว่า “เปี้ยนเหลี่ยนหวัง” ที่อายุน้อยที่สุดในขณะนี้ เล่าถึงความหลังกว่าจะถึงวันนี้ให้ฟังว่า เขาได้ได้ร่ำเรียนการแสดงงิ้วเสฉวนมาตั้งแต่เด็ก และตอนที่อายุ 15 ปี ได้เรียนรู้วิธีเปลี่ยนหน้ากากและศิลปะการแสดงมาบ้างจากอาจารย์ ซึ่งนับเป็นการจุดประกายให้เหอรู้สึกสนใจการแสดงเปลี่ยนหน้ากากเป็นอย่างมาก แต่ในขณะนั้นศิลปะเปลี่ยนหน้ากากยังไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทอดแก่คนภายนอกง่ายๆ ดังนั้นเมื่อเหอสนใจอยากเรียนรู้จึงต้องใช่วิธีครูพักลักจำเอาเอง

สิ่งสำคัญที่สุดของการแสดงคือเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ที่ต้องทำขึ้นพิเศษ

เหอหงชิ่งกล่าวต่อว่า หน้ากากหรือเหลียนผู่เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของการแสดง ซึ่งในตอนต้นไม่มีใครสอนเหอถึงวิธีการทำเหลียนผู่ เหอจึงต้องคิดค้นวิธีทำหน้ากากเอง สำหรับเหลียนผู่อันแรกของเหอ ไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจนัก เพราะรู้สึกว่าไม่แนบชิดติดกับผิวหน้า ซึ่งนอกจากจะดูไม่สวยงามแล้ว ยังส่งผลต่อความเร็วในการเปลี่ยนหน้ากากด้วย

ภายหลังเหอหงชิ่งได้ยินอาจารย์พูดถึงแบบพิมพ์ที่ช่วยทำเหลียนผู่ แม้เหอก็ไม่รู้ขั้นตอนการทำอย่างละเอียด แต่ก็ได้ไปซื้อปูนพลาสเตอร์มาถุงใหญ่ เหอนอนลงหลับตาแล้วใช้ปูนพลาสเตอร์ที่ผสมกับน้ำดีแล้วเทราดลงบนหน้า

หลังจากผ่านอุปสรรคมากมาย ในที่สุดเหอก็ทำแบบพิมพ์หน้าอันแรกสำเร็จ และใช้เป็นแบบพิมพ์วาดหน้าเหลียนผู่ การวาดบนแบบพิมพ์เช่นนี้ก็เปรียบเหมือนวาดบนหน้าตัวเอง ดังนั้นเหลียนผู่ที่ได้จึงมีขนาดพอเหมาะพอเจาะกับใบหน้าเป็นที่สุด

ส่วนเครื่องแต่งกายที่นักแสดงสวมใส่ต้องเป็นชุดที่พิเศษ ซึ่งหลายจุดทำขึ้นจากวัสดุพิเศษ เมื่อมองจากด้านหลังจะเห็นว่าบนเสื้อคลุมมีรูมากมายเหมือนรูกระสุนรัวใส่ สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อการแสดง และถือเป็นเคล็ดลับสุดยอดเลยทีเดียว “เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ที่ใช้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อนักแสดงเปลี่ยนหน้ากาก” เหอหงชิ่งกล่าวย้ำ และชุดที่ใช้ออกแสดงชุดแรกของเหอก็เป็นฝีมือตัดเย็บของเขาเอง

ยิ่งกว่ามายากล ครึ่งวินาทีเปลี่ยนได้ 3 หน้า

หลังจากใช้เวลาฝึกฝนมานานนับ 10 ปี ในขณะนี้ เหอหงชิ่งถูกกล่าวขานว่าเป็น “เปี้ยนเหลี่ยนหวัง“ ที่อายุน้อยที่สุดและเปลี่ยนหน้ากากได้เร็วที่สุด ครึ่งวินาทีเปลี่ยนหน้ากากได้ 3 หน้า อย่างรวดเร็วโดยหน้ากากไม่ฉีกขาด ซึ่งเป็นสถิติที่ยังไม่มีใครทำลายได้

เหอหงชิ่งแย้มกลเม็ดให้เราฟังเล็กน้อยว่า “ผมบอกได้เพียงว่า เคล็ดลับของพวกเราอยู่ที่ส่วนหัวและร่างกาย” พร้อมกล่าวเปรียบเทียบว่า “สิ่งที่เป็นพื้นฐานของมายากล คือการประดิษฐ์อุปกรณ์ ซึ่งคล้ายๆ กับการเปลี่ยนหน้ากากของพวกเรา เพราะส่วนหนึ่งเราอาศัยอุปกรณ์ ซึ่งก็คือเสื้อผ้าและหน้ากาก แต่อีกส่วนคือการแสดง ซึ่งการแสดงมายากลไม่ต้องออกท่าทางมากเช่นนี้ ดังนั้นสมามารถกล่าวได้ว่า ศิลปะการเปลี่ยนหน้ากาก เป็นทั้งมายากล แต่ที่จริงแล้วเป็นยิ่งกว่ามายากล

แต่เหนือสิ่งอื่นใด การฝึกฝนครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นกุญแจสำคัญอีกประการที่ทำให้การแสดงประสบความสำเร็จ เนื่องจากมือของผู้ที่แสดงต้องเคลื่อนไหวอย่างว่องไว จนผู้ชมมองไม่ทันจึงจะเรียกว่าอัศจรรย์

แย้มเคล็ดลับหน้ากาก 10 ชั้นถูกเปลี่ยนในชั่วพริบตา

หากดูภาพช้าจากภาพยนตร์จีนแผ่นดินใหญ่เรื่อง “เปี้ยนเหลี่ยน” เราจะเห็นคล้ายๆ กับมีเส้นด้ายบางๆ โยงกับหน้ากากไว้ ซึ่งจะเกี่ยวกับเทคนิกการเปลี่ยนหน้ากากอย่างว่องไวหรือเปล่านั้น เหอหงชิ่งอธิบายให้ฟังเพียงว่า ศิลปะการเปลี่ยนหน้ามีหลายวิธี ตั้งแต่เป่า ลูบ ดึง ฉีก แต่สำหรับการแสดงเปลี่ยนหน้ากากที่เหอใช้ในปัจจุบัน ใช้เทคนิกที่เรียกว่า “ฉือเหลี่ยน” หรือการดึงหน้ากากออก ซึ่งจะใช้เชือกดึงออก นี่คือความลับสุดยอดของการเปลี่ยนหน้ากาก

อย่างไรก็ตาม การแสดงในแต่ละครั้งเหอต้องใส่หน้ากาก 10 กว่าชั้น แล้ววิธีการดึง ดึงออกแล้วเก็บไว้ที่ไหน ขั้นตอนตรงนี้ เหอหงชิ่งขอสงวนไว้ให้เป็นความลับต่อไป โดยให้เหตุผลว่า “การเปลี่ยนหน้ากากก็เหมือนการเล่นกล ไม่ได้อัศจรรย์อะไร แต่ใช้เทคนิกและกลไก หากผู้ชมรู้ความลับเกี่ยวกับกลไกทั้งหมด ความลึกลับของศิลปะการเปลี่ยนหน้ากากและคุณค่าของศิลปะแขนงหนี้ก็จะหมดไป”

แต่เหอพอจะแย้มให้ฟังเล็กน้อยว่า นักแสดงทุกคนต้องสวมใส่เสื้อคลุมทุกครั้งขณะแสดง ดังนั้น เสื้อคลุมมีความสำคัญต่อการแสดงอย่างไรคงต้องให้ผู้อ่านคิดต่อเอาเองแล้ว


ศิลปะการเปลี่ยนหน้า

การเปลี่ยนหน้า เป็นเทคนิกพิเศษชนิดหนึ่งของอุปรากรเสฉวนใช้เพื่อสื่อถึงอารมณ์ที่หลากหลายของตัวละคร โดยเทคนิกการเปลี่ยนหน้าแบ่งออกเป็น 3 แบบใหญ่ๆ คือ “มอเหลี่ยน” (ลูบ) “ชุยเหลี่ยน” (เป่า) และ “ฉือเหลี่ยน” (ดึง) นอกจากนี้ยังมีอีกแบบที่เรียกว่า “ยุ่นชี่” (กำลังภายใน)

“มอเหลี่ยน” คือการใช้น้ำมันสำหรับแต่งหน้าทาบนตำแหน่งหนึ่งบนใบหน้า เมื่อจะเปลี่ยนสีบนใบหน้าก็ใช้มือลูบ หน้าก็จะเปลี่ยนสีไป หากจะเปลี่ยนสีทั้งหน้า ก็ทาน้ำมันที่หน้าผากหรือเหนือคิ้ว หากเปลี่ยนเฉพาะครึ่งหน้าล่างก็ทาน้ำมันที่แก้มหรือจมูก หากต้องการเปลี่ยนตรงไหนก็ทาน้ำมันเฉพาะตรงนั้น

“ชุยเหลี่ยน” สีที่ใช้เปลี่ยนหน้าจะเป็นแบบแป้งฝุ่น เช่น แป้งฝุ่นสีทอง สีดำ สีเงิน เป็นต้น โดยจะนำกล่องเล็กๆ ที่ใส่แป้งฝุ่นสีวางไว้บนพื้นเวที เมื่อต้องการเปลี่ยนหน้า นักแสดงจะแสดงท่าทางที่ต้องนอนลงกับพื้นใกล้กับกล่องแป้ง และฉวยโอกาสเป่าแป้งฝุ่น แป้งก็จะฟุ้งขึ้นลอยขึ้นมาเคลือบหน้า หน้าจึงเปลี่ยนเป็นอีกสีในทันที

“ฉือเหลี่ยน” เป็นวิธีเปลี่ยนหน้าที่ค่อนข้างซับซ้อนเล็กน้อย เพราะต้องวาดหน้ากาก หรือเหลียนผู่บนผืนผ้าไหมบางๆ ไว้ก่อน ตัดให้พอดีกับรูปหน้า และผูกไว้ด้วยเส้นด้ายบางๆ จากนั้นนำมาวางแปะไว้บนหน้าทีละแผ่น ส่วนปลายของเส้นด้ายจะนำไปผูกไว้เสื้อผ้าในตำแหน่งที่สะดวกแก่การดึงแต่ไม่แตะตาผู้ชม และขณะที่ออกท่าออกทางแสดงจึงค่อยๆ ดึงหน้ากากออกทีละชั้น ทั้งนี้ การดึงหน้ากากออกต้องมีเคล็ดลับ นั่นคือกาวที่ทาหน้ากากแปะไว้บนหน้าต้องไม่ทามากเกินไป และเวลาดึงด้ายต้องว่องไวไม่ให้ผู้ชมสังเกตเห็น

สุดท้าย “ยุ่นชี่” ซึ่งมีการเล่าต่อกันมาว่า เผิงซื่อหง นักแสดงงิ้วเสฉวนชื่อดัง ขณะที่แสดงเป็นขงเบ้ง เมื่อถึงตอนที่ฉินถงรายงานว่าสือหม่าอี้ถอยทัพไป เผิงได้ใช้กำลังภายในทำให้หน้าเปลี่ยนจากสีแดงเป็นขาว และจากขาวเป็นเขียวได้ เพื่อแสดงความรู้สึกกริ่งเกรงหลังจากปลดภาระอันหนักอึ้งของขงเบ้ง

ทั้งนี้ ศิลปะการเปลี่ยนหน้ากาก เป็นสัญลักษณ์ของอารมณ์ความรู้สึก ขณะที่เหลียนผู่หรือการใช้สีทาบนใบหน้าของผู้แสดงอุปรากรเป็นการบ่งบอกบุคลิกของตัวละครว่าดีหรือเลว แต่ “เปี้ยนเหลี่ยน” ได้ช่วยถ่ายทอดขั้นตอนการแปรเปลี่ยนของอารมณ์ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นจุดเด่นของอุปรากรพื้นบ้านของเสฉวน.

เรียบเรียงจาก ซินหัวเน็ต








กำลังโหลดความคิดเห็น