xs
xsm
sm
md
lg

สังคมนิยม – เครื่องมือสร้างชาติ (8)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

เปรียบเทียบบรรยากาศ “สังคมนิยม”โลก ยุดก่อนกับยุคปัจจุบัน มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญตรงที่ ในอดีต สังคมนิยมมักจะหมายถึงการปฏิวัติเปลี่ยนแปลง จากระบอบสังคมหนึ่งไปสู่อีกระบอบสังคมหนึ่ง ซึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองและอื่นๆในมิติของความสัมพันธ์ทางการผลิต
แม้เมื่อการปฏิวัติสำเร็จแล้ว การสร้างสรรค์สังคมนิยมก็ยังคงวนเวียนอยู่ในกรอบการเปลี่ยนแปลงในมิติดังกล่าว การศึกษาค้นคว้าหาทางพัฒนาสร้างสรรค์ระบอบสังคมนิยมจึงวนเวียนอยู่ในกรอบโครงสร้างชั้นบน
โดยสำคัญว่า ภายใต้โครงสร้างทางสังคมแบบใหม่ที่ก้าวหน้า อะไรๆก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ภารกิจใจกลางที่กำหนดจึงมักจะเป็นเรื่องการจัดระเบียบสังคม ให้ดำเนินไปตามแนวคิดทฤษฎีที่มีให้แล้วตั้งแต่เริ่มต้น นั่นคือ ทำให้ทุกอย่างเป็นของส่วนรวม เพื่อให้สังคมนิยมก้าวไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์โดยเร็ว
การจัดระเบียบสังคมนิยมให้พร้อมสำหรับก้าวไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์จึงเป็นภารกิจใจกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ในกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียตและจีนในยุคเหมาเจ๋อตง
อีกนัยหนึ่งก็คือ พวกเขามุ่งใช้วิธีการปฏิวัติสังคมอย่างต่อเนื่องบรรลุสู่สังคมคอมมิวนิสต์ การต่อสู้ทางชนชั้น การต่อสู้ทางความคิดการเมืองจึงเป็นเนื้อหาสาระหลักในชีวิตของชาวสังคมนิยมเมื่อวันวาน และได้มลายหายไปสิ้นแล้วในปัจจุบัน
ทุกวันนี้ เหลือแต่สังคมนิยมที่เน้นการพัฒนาพลังการผลิต ด้วยถือว่าการพัฒนาพลังการผลิตคือแก่นแท้ของสังคมนิยม
จากนี้สุ้มเสียงของชาวสังคมนิยมจึงปรากฏออกมาในรูปของ “พัฒนา” และ “ปฏิรูป”มากกว่า “ปฏิวัติ”
ดังเช่นที่เติ้งเสี่ยวผิงกล่าวไว้ในปี ค.ศ.1980 ว่า การพัฒนาพลังการผลิตก็เป็นการปฏิวัติเช่นเดียวกัน และดูเหมือนจะเป็นการปฏิวัติที่สำคัญอย่างยิ่งยวดด้วย
และว่า ในมุมมองของกระบวนการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การปฏิวัติพลังการผลิต คือแก่นแท้ของสิ่งที่เรียกว่าการ “ปฏิวัติ”
สรุปคือ การปฏิวัติสังคม ความสัมพันธ์ทางการผลิต ก็เพื่อนำไปสู่การปฏิวัติพลังการผลิต
นอกจากนี้ เติ้งเสี่ยวผิงยังได้อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่าง การ “ปฏิวัติ”กับการ “ปลดปล่อย” และการ “ปฏิรูป” เพื่อให้คนจีนในยุคปฏิรูปเกิดความเข้าใจ จับได้แก่นแท้ของสังคมนิยมว่า จุดมุ่งหมายของการปฏิวัติก็คือปลดปล่อยพลังการผลิต การปฏิรูปก็เพื่อปลดปล่อยพลังการผลิต
โดยกล่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนนำประชาชนจีนเคลื่อนไหวปฏิวัติ ล้มล้างระบอบการปกครองที่อ่อนแอล้าหลัง สถาปนาระบอบการปกครองแบบใหม่ที่เข้มแข็งก้าวหน้า เป็นการปลดปล่อยพลังการผลิตระลอกแรก เท่านั้นยังไม่พอ ยังจะต้องดำเนินการปฏิรูประบบ โครงสร้างและกลไกต่างๆที่ยังผูกมัดรัดรึงการพัฒนาพลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง การ “ปฏิรูป”ในที่นี้ จึงมีนัยของการ “ปลดปล่อย”พลังการผลิต เป็นการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางสังคมให้เอื้อต่อการพัฒนาของพลังการผลิตอย่างไม่มีสิ้นสุด
การปฏิวัติก็เพื่อปลดปล่อยพลังการผลิต การปฏิรูปก็เพื่อปลดปล่อยพลังการผลิต การพัฒนาพลังการผลิตจึงสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องในสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้จากการปฏิรูป
ในประเทศจีน ตามหลักนี้ เมื่อการปฏิวัติสำเร็จแล้ว จึงควรดำเนินการปฏิรูปเป็นสำคัญ
ทว่า ในยุคเหมาเจ๋อตงเป็นผู้นำสูงสุด พรรคฯจีนกลับเน้นการ “ปฏิวัติต่อไป” ล้มล้างระบบความสัมพันธ์ทางการผลิตที่มิใช่ “สังคมนิยม”อย่างสิ้นเชิง โดยไม่คำนึงว่ามันสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ ประชาชนชาวจีนรับได้หรือไม่
ในภาษาการเมืองเรียกพฤติกรรมเยี่ยงนี้ว่า “ฉวยโอกาสเอียงซ้าย” เป็นโรคใจร้อนใจเร็ว มุ่งเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดหมายปลายทางสูงสุดที่ตั้งไว้โดยไม่คำนึงถึงสภาพเป็นจริง ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ คือไม่สอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการที่เป็นจริงของประเทศจีน ประชาชนจีน ทำให้เกิดนโยบายผิดๆ เกาไม่ถูกที่คัน ไม่สามารถกระตุ้นความเอาการเอางานของประชาชนได้ ซึ่งก็คือหลุดจากการเดินแนวทางมวลชน
สรุปคือ ดำเนินการสร้างสรรค์ระบอบสังคมนิยมตามความ “อยาก”มากกว่าตามกฎเกณฑ์พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เป็นจริง
ระบอบสังคมนิยมที่ “ก้าวหน้า”หลุดลอยไปจากฐานเศรษฐกิจและพลังการผลิตของสังคม เปรียบได้กับรถยนต์ล้อหลุด วิ่งต่อไปไม่ได้
นับเป็นความผิดพลาดทางด้านวิธีคิด ที่ไม่เริ่มจากความเป็นจริง ไม่ยึดมั่นในหลักการ “หาสัจจะจากความเป็นจริง” ที่เป็นแก่นในที่สุดของความคิดเหมาเจ๋อตง ซึ่งก็คือหัวใจของปรัชญาลัทธิมาร์กซ์
หลังจากเหมาสิ้นชีวิตลง เติ้งกับกลุ่มแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงเน้นชำระสะสางความผิดพลาดทางวิธีคิดเป็นอันดับแรก มีการรณรงค์ทั่วทั้งพรรคและทั้งประเทศให้หันมายึดมั่นในหลักการ “หาสัจจะจากความเป็นจริง” ความรับรู้ที่ถูกต้องจะต้องมาจากการเคลื่อนไหวปฏิบัติทางสังคม “สัจธรรม”จะพิสูจน์ได้ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวปฏิบัติทางสังคมของมวลชนเท่านั้น หากมิใช่คิดเองเออเอง
การคิดเองเออเองย่อมนำไปสู่แนวนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง กรณีความผิดพลาดมากมายในยุคปลายชีวิตของเหมา ส่วนใหญ่ก็มาจากการยึดติดในความคิดเฉพาะตัวของเขาเอง แล้วพลอยพาให้คนจีนผิดพลาดไปด้วย เพราะหลงยึดติดในตัวเหมา ทั้งเหมาและผู้คล้อยตามต่างพากันละทิ้งหลักการของ “ความคิดเหมาเจ๋อตง” ซึ่งเป็นระบบความรับรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เป็นผลิตผลของการเคลื่อนไหวปฏิวัติสังคมของประชาชนชาวจีน และได้รับการพิสูจน์ถึงความถูกต้องในท่ามกลางการเคลื่อนไหวปฏิวัติของประชาชนชาวจีนแล้ว
เติ้งเสี่ยวผิงเรียกร้องให้ชาวพรรคฯจีนและประชาชนชาวจีนหันมายึดมั่นในหลักการที่ถูกต้องของความคิดเหมาเจ๋อตง อันดับแรกก็คือ “หาสัจจะจากความเป็นจริง”
ด้วยหลักชี้นำดังกล่าว เขานำพาประชาชนจีนเข้าถึง “ความจริงแท้”ของสังคมนิยม(คือกระบวนการพัฒนาของพลังการผลิตไปสู่ระดับสูงสุดจนเกินกว่าที่ระบบความสัมพันธ์ทางการผลิตของระบอบทุนนิยมจะรับได้ จำเป็นจะต้องปฏิวัติล้มล้างระบอบทุนนิยม และสถาปนาระบอบสังคมนิยมขึ้นมาแทนที่)และของประเทศจีน(ล้าหลังยากจนยิ่ง มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก) จากนี้ สามารถให้คำตอบได้ว่า แก่นแท้ของสังคมนิยมคืออะไร ในบริบทของประเทศจีนที่ล้าหลังยากจนและมีจำนวนประชากรมหาศาล ? ประเทศจีนจะพัฒนาสร้างสรรค์สังคมนิยมได้อย่างไร บนพื้นฐานของความเป็นจริงของประเทศจีน ?
เมื่อการดำเนินความคิดเป็นไปอย่างถูกต้อง สอดคล้องกับความเป็นจริง พรรคฯจีนจึงสามารถนำเสนอภารกิจใจกลางสำหรับระดมสรรพกำลังไปบรรลุได้อย่างถูกต้อง สอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการที่เป็นจริงของประเทศจีน ซึ่งก็คือพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย โดยถือเอาการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นภาระหน้าที่ใจกลาง
เพื่อให้การดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจดำเนินไปได้ดี พรรคฯจีนภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิงจึงได้เดินหน้าขับเคลื่อนการปฏิรูป ใช้การปฏิรูปนำร่องการพัฒนา เพื่อให้การพัฒนาหันมาขับเคลื่อนการปฏิรูปต่อไป
โดยนัยก็คือ จีนยังคง “ปฏิวัติ”ตนเองต่อไป ในรูปของการปฏิรูป ปลดปล่อยพลังการผลิต พัฒนาพลังการผลิต
การปฏิวัติในรูปของการปฏิรูปเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความสร้างสรรค์ สังคมนิยมจีนในสายตาชาวโลกวันนี้ จึงมีชีวิตชีวา และพร้อมจะก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน มากกว่าที่กำลังเป็นไปในกลุ่มประเทศทุนนิยมที่ “กำลังพัฒนา”
ประเทศไทยที่กำลังพัฒนาจะก้าวไปสู่อนาคตด้วยเส้นทางใด ทุนนิยมหรือสังคมนิยม ? ด้วยการปฏิวัติหรือการปฏิรูป ?
บางทีจากกรณีศึกษาของจีน อาจจะทำให้เกิดประกายความคิดที่ดีได้

--------------------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น