xs
xsm
sm
md
lg

แฉเบื้องหลัง “การกิน” เป้าหมายที่ไม่ใช่แค่อิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลิงเตี่ยน สำนักทำโพลล์ชื่อดังของจีน เปิดเผยผลการสำรวจล่าสุด ว่าด้วยการสังคมของชาวจีน พบว่า “การกิน” หรือการจัดเลี้ยง ยังคงเป็นวิธีสังคมที่ชาวจีนส่วนใหญ่นิยมมากที่สุด โดยในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม มีมากถึง 46% ที่เลือกกิจกรรมนี้ในการสังคม ส่วนอันดับ 2 คือการออกกำลังกายมีคนเลือกเพียง 13% เท่านั้น

ความนิยมในการจัดเลี้ยงสามารถสืบสาวขึ้นไปจนถึงยุคหินใหม่ และกล่าวได้ว่า เหตุการณ์สำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์จีนมักเกี่ยวข้องกับงานเลี้ยงรับประทานอาหาร เช่น “หงเหมินเยี่ยน” (鸿门宴) ในสมัยปลายราชวงศ์ฉิน ช่อปาอ๋องซึ่งกำลังแย่งชิงความเป็นใหญ่กับหลิวปัง ได้เชิญฝ่ายหลังมาร่วมงานเลี้ยงอาหารกระชับมิตรที่หงเหมิน โดยหวังฉวยโอกาสนี้กำจัดหลิวปัง

การสังคมด้วยการกินในแบบของจีน สามารถสื่อได้ถึง “ความเป็นกันเอง” “คนกันเอง” “เรื่องงานไว้คุยที่หลัง มากินข้าวด้วยกันก่อน” “ถึงเรื่องงานไม่สำเร็จได้กินข้าวด้วยกัน ก็ถือเป็นการให้เกียรติกัน” หากจะคุยกันแต่เรื่องงานในบรรยากาศทางการ คนจีนจะรู้สึกเครียด หยวนเยี่ยว์ ผู้อำนวยการของหลิงเตี่ยนให้ความกระจ่าง

เจ้าหน้าที่ของทิงหลีก่วน ภัตตาคารใหญ่ระดับหรูแถบอี้เหอหยวน ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งมีประสบการณ์รับจัดงานเลี้ยงมาแล้วนับไม่ถ้วน ได้เล่าถึงบรรยากาศงานเลี้ยงสังสรรค์ที่บริษัท 2 แห่งร่วมกันจัดว่า เมื่อผู้นำของทั้ง 2 หน่วยงานกล่าวเปิดงานจบ งานเลี้ยงจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ อาหารสารพัดเมนูที่ชื่อเป็นมงคลทยอยขึ้นโต๊ะ ขณะที่เสียงแก้วกระทบกันกริ๊ง กร๊าง ดังไม่หยุด บรรยากาศเต็มไปด้วยความรื่นรมย์ แต่ในใจของผู้ที่มาร่วมงานแต่ละคนจะวางหมากว่าจะต้องชนแก้วกับใคร จะพูดคุยอะไร ไม่ควรพูดอะไร และจะต้องทำตัวเป็นมิตรกับใคร เป็นต้น

งานเลี้ยงลักษณะนี้มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนคือการรื่นเริง เปรียบเหมือนการคบหาของคู่รัก มีคำกล่าวว่า “ความรักคืองานเลี้ยงนับล้านครั้ง แต่การแต่งงานคืองานเลี้ยงเพียงครั้งเดียว” ด้านเสิ่นหงเฟย นักชิมและคอลัมนิสต์ชื่อดังของจีนกล่าวเช่นกันว่า “หญิงชายทั่วไปในยุคสมัยปกติที่กำลังมีความรักอย่างปกติทั่วไป มักอยู่ไม่ไกลจากโต๊ะอาหาร”

ยังมี “การกิน” อีกแบบเพื่อเจรจาเรื่องงานโดยเฉพาะ บรรยากาศจะตรงข้ามกับงานเลี้ยงรื่นเริงโดยสิ้นเชิง เริ่มแรกคลื่นลมยังคงสงบ แต่หลังจากถามไถ่ทักทายการตามมารยาทแล้ว ระหว่างการทานอาหารทั้ง 2 ฝ่ายจะเริ่มพูดโจมตีจุดด้อยของฝ่ายตรงข้าม และชื่นชมจุดแข็งของตน จนถึงขั้นพูดเกินจริงกดอีกฝ่ายต่ำติดดินและยกยอตัวเองเสียลอยเลิศ เพื่อให้ฝ่ายตนได้เปรียบในการเจรจา

ในการกินเช่นนี้ อาหารเป็นเพียงเครื่องมือช่วยให้การเจรจาไม่กระด้างเกินไป ผู้นำที่ชาญฉลาดจะรู้ว่าควรลุกขึ้นเชิญทุกคนชนแก้วเมื่อการถกเถียงเริ่มรุนแรง เพื่อช่วยลดอุณหภูมิอารมณ์ของทั้ง 2 ฝ่ายก่อนที่จะเจรจากันในยกต่อไป นี่คือเหตุผลสำคัญที่การเจรจาธุรกิจมักเกิดขึ้นบนโต๊ะอาหาร นอกจากนี้ ผู้ที่ร่วมโต๊ะอาหารเจรจาธุรกิจเช่นนี้ ต้องเป็นคนที่คอแข็งพอควร เพราะระหว่างการเจรจาจะมีการชนแก้วกันบ่อยครั้ง หากดื่มเพียงไม่กี่แก้วก็คอพับเสียแล้ว นอกจากจะเสียงานแล้วยังจะเสียหน้าด้วย

เป็นที่รู้กันว่าสังคมชาวจีนเป็นสังคมพึ่งพากัน ที่จำต้องมี “สายสัมพันธ์” จะดำเนินการเรื่องใดต้องถามไถ่กันก่อนว่ามี “คนรู้จัก” หรือไม่ ดังนั้น เมื่อจะไหว้วานใครให้เป็นธุระเรื่องใด จึงมักจะเอื้อนเอ่ยบนโต๊ะอาหาร

การทานอาหารของคนในหน่วยงานเดียวกัน หรือเพื่อนร่วมงาน บางครั้งเกิดขึ้นเพื่อให้ช่วยดูแลเรื่องงานซึ่งกันและกัน หากเจ้านายเลี้ยงลูกน้อง ก็อาจเพื่อซื้อใจ ให้กำลังใจ ทะนุถนอมความสัมพันธ์ให้มั่นคง แต่หากลูกน้องเลี้ยงเจ้านาย อาจเพื่อขอเลื่อนตำแหน่งขึ้นเงินเดือน หรือแค่ขออภัยที่กล่าวคำไม่สมควรออกไป

นอกจากนี้ นักศึกษาอาจเลี้ยงข้าวอาจารย์ เมื่อสอบไม่ผ่านหรือหยุดเรียนมากเกินกว่าที่กำหนด หรือการเลี้ยงเพื่อขอคะแนนเสียง หรือชายหนุ่มเลี้ยงข้าวหญิงสาว จะเห็นว่า เป้าหมายการสังคมด้วยกิจกรรม “การกิน” นั้นมากมายนับไม่ถ้วน หยวนเยี่ยว์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การสังคมด้วยการเลี้ยงอาหารมักเกิดขึ้นในหมู่เพศชาย เพราะเพศหญิงชอบทานฟาสท์ฟู้ดมากกว่า

เว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์จีนเผยว่า อุตสาหกรรมอาหารของประเทศตลอดปี 2005 มีมูลค่าทะลุ 880,600 ล้านหยวน หรือราว 4,403,000 ล้านบาท ขยายตัว 16.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หรือคิดเป็น 108 เท่าของปี 1978 ขณะที่ส่านซี เสฉวน และกวางตุ้ง มีอุตสาหกรรมอาหารเป็นเสาหลักของมณฑล ทั้งนี้ ทั่วแดนมังกรมีร้านอาหารราว 4 ล้านกว่าแห่งและมีบุคคลกรในสาขานี้มากกว่า 20 ล้านคน

เสิ่นหงเฟยกล่าวว่า นอกจากการเชิญทานอหารของชาวจีนจะมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลายแล้ว รูปแบบในแต่ละพื้นที่ยังแตกต่างกันด้วย เช่น ที่เซี่ยงไฮ้ การสังสรรค์ในหมู่เพื่อนฝูงหรืองานเลี้ยงบริษัทค่อนข้างมาก สำหรับในปักกิ่ง หากเป็นการเลี้ยงในหมู่ข้าราชการระดับสูงมักต้องมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง

ส่วนในกวางตุ้งส่วนใหญ่เป็นการกินเพื่อธุรกิจ แต่ที่เมืองเหลียวหยวน มณฑลเหลียวหนิง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน มักไม่ค่อยให้ความสนใจกับรสชาติของอาหาร แต่ถือว่างานเลี้ยงดีไม่ดีอยู่ที่เหล้าซึ่งมักเป็นเหล้าขาว และหากแขกดื่มยิ่งมากยิ่งเมาถือว่าเป็นการเลี้ยงที่ยอดเยี่ยม

หยวนเยี่ยว์ อธิบายว่า ชาวจีนให้น้ำหนักกับ “การกิน” ในการสังคมระหว่างกันมาก เนื่องจากชาวจีนไม่เหมือนชาวตะวันตกที่แบ่งแยกเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวอย่างชัดเจน “การกิน” ในวัฒนธรรมตะวันตก เป็นผลลัพธ์เกิดเมื่อการเจรจาธุรกิจสำเร็จ แต่สำหรับชาวจีน “การกิน” เป็นเครื่องมือระหว่างการเจรจาธุรกิจ

นอกจากนี้ เนื่องจาก “การกิน” เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ย่อมต้องมีธรรมเนียมปฏิบัติ นั่นคือ หากเป็นการเลี้ยงในหมู่เพื่อนร่วมรุ่นที่พบปะกันประจำทุกปี มักจะไม่พาเพื่อนใจคนปัจจุบันไปด้วย ส่วนการสังสรรค์ของคนในสายอาชีพเดียวกัน จะไม่คุยเรื่องในหน่วยงานของตนหรือถามเรื่องภายในบริษัทของคนอื่น หากเป็นงานเลี้ยงระหว่างบริษัทก็ไม่ควรพาคนในครอบครัวหรือเพื่อนไปด้วย

ขณะเดียวกัน สำหรับผู้ที่มักจะได้รับเชิญอยู่เป็นประจำซึ่งอยู่ในสังคมระดับสูง จะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสนนราคาของของอาหารเท่าใด แต่จะให้ความสำคัญกับ “ความพิเศษ” ของการเลี้ยงมากกว่า อย่างไรก็ตาม ความหรูหราของมื้ออาหารไม่ได้ขึ้นอยู่กับแขกที่รับเชิญ แต่ขึ้นอยู่กับความสำคัญของเรื่องราวที่จะเจรจาหรือไหว้วานกัน.

เรียบเรียงจาก โอเรียนทัล เอาท์ลุก
กำลังโหลดความคิดเห็น