xs
xsm
sm
md
lg

ขวางคิ้วแล้วเปลือยกระบี่-เหิงเหมยเจี้ยนชูเชี่ยว

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

บทกวีมีพลังมากกว่าร้อยแก้ว

บทกวีมีจุดที่แตกต่างจากร้อยแก้วตรงที่ บทกวีเป็นการใช้ถ้อยคำที่จำกัด สื่อสร้างจินตนาการที่ไม่จำกัด

บทกวีกับบทพรรณนาร้อยแก้วสามารถให้ภาพได้ แต่ก็มีจุดต่างตรงที่ “ในกวีมีภาพ ในภาพมีกวี” บทกวีใช้ถ้อยคำที่จำกัด สร้างภาพในจิตให้ผู้อ่านเห็น ผู้อ่านฟังสะเทือนอารมณ์ เช่นเดียวกับที่เมื่อได้ชมภาพดีๆ ก็จะสะเทือนใจเช่นเดียวกับอ่านหรือฟังบทกวีดีๆ

บทกวีนั้นมีพลัง และจำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ถูกสกัดกั้นการเผยแพร่ความคิดโดยผู้กุมอำนาจ

บทกวีมีพลังอย่างยิ่งในการปลุกเร้าพลังสู้รบ ทำนองเดียวกับดนตรีที่สร้างความฮึกเหิมหาญในการสงคราม

บทกวีอมตะมากมายมีเนื้อหาเล่าถึงการต่อสู้
โดยเฉพาะการต่อสู้ระหว่างความเป็นธรรมกับอธรรม การต่อสู้ระหว่างผู้ถูกกดขี่กับผู้กดขี่

ในนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก พวกชาวนาที่ลุกขึ้นสู้กับราชสำนักตงฮั่น ถูกมองว่าเป็นผู้กบฏ ราษฎรมีหน้าที่จำยอมให้ชนชั้นปกครองกดขี่ขูดรีดตลอดไป ราษฎรกลุ่มใดกล้าลุกขึ้นต่อต้านชนชั้นปกครอง คือพวกกบฏ ในนิยายสามก๊กจึงเรียกกลุ่มชาวนาที่ก่อการลุกขึ้นสู้ว่า “โจร” พวกเขาโพกผ้าเหลืองเป็นเครื่องหมายรู้กัน จึงถูกเรียกว่า “โจรโพกผ้าเหลือง”

“กองทัพผ้าเหลือง” คือคำที่พวกเขาเรียกตัวเอง และพวกเขาก็มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นมาโดยไม่มีพื้นฐาน ก่อนหน้านี้มีประเพณีที่ราษฎรจีนลุกขึ้นโค่นล้มชนชั้นปกครองมาหลายครั้งแล้ว ความคิดพื้นฐานเรื่องนี้มีปรากฏมาตั้งแต่สมัยปรมาจารย์ขงจื้อแล้ว และเม่งจื้อได้นำเสนอให้ประเด็นนี้โดดเด่นยิ่งขึ้น

ก่อนหน้าเกิดกองทัพผ้าเหลือง 70-80 ปี มีการลุกขึ้นสู้ของชาวนาขนาดใหญ่บ้างเล็กบ้าง รวมกันถึงกว่าร้อยครั้งในท้องที่ต่างๆ ในการลุกขึ้นสู้เหล่านี้เกิดเนื้อเพลงพื้นบ้านแพร่หลายกันมาก มีบางเพลงยังสืบทอดเนื้อเพลงมาถึงทุกวันนี้ เช่น

๏ ผองชนผมเหมือนหญ้า กล้อนเกศาก็งอกใหม่
ศีรษะประชาไซร้ถึงตัดไปก็งอกงาม
เหมือนไก่ถูกกุดหัวตัวใหม่มันมาขันตาม
ขุนนางอันแสนทรามผองประชาจงอย่ากลัว ๏
(กวีนิรนาม ยุคราชวงศ์ตงฮั่น)

ย้อนไปถึงยุคก่อนหน้าท่านขงจื๊อ ราษฎรชาวนาก็ต้องยอมทนแบกรับการกดขี่ขูดรีด ยอมรับความเลวของชนชั้นปกครอง

ทนไม่ไหวก็หาทางโยกย้ายบ้านหนีไปหักร้างถางพงหาที่อยู่ใหม่
แต่ถ้าหนีไม่พ้น ถูกทำร้ายหนักหนาสาหัสเข้าก็จะยอมตายเหมือนบทกวีข้างต้น

บทกวีต่อไปนี้เป็นบทหนึ่งในรวมบทกวี “ซือจิง” ที่ขงจื๊อเป็นบรรณาธิการชำระคัดสรร

หนูหลวง
๏ หนูใหญ่หนูหลวงอย่ากินข้าวรวง
หลายปีขุนเจ้าบ่คิดคุณค่า
ปักใจลาเจ้าสู่ดินหรรษา
ดินสุขดินชื่นจึ่งเป็นบ้านข้า
หนูอ้วนหนูพีอย่ากินข้าวสาลี
หลายปีขุนเจ้าบ่คิดคุณข้า
สาบถจากเจ้าไปเมืองหรรษา
เมืองร่มเมืองเย็นจึ่งเป็นถิ่นข้า
หนูใหญ่หนูโตอย่ากินต้นกล้า
หลายปีขุนเจ้าบ่แทนคุณข้า
สาบานจากเจ้าไปแดนหรรษา
ณ แดนสุขชื่นใครเล่าจักสะอื้นกลืนน้ำตา๏

จีนเขามีค่านิยมสืบทอดมาอย่างนี้ แม้ล่วงมายุคใกล้ ก็มีตัวอย่างที่โดดเด่น เช่น เหมาเจ่อตง ผู้เป็นทั้งนักปฏิวัติ นักการทหาร นักการเมือง และเป็นกวีที่ยอดเยี่ยม (โดยแท้)

ในงานรำลึกท่านโจวเอินไหล อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับ มวลชนเขียนกวีรำลึกถึงท่านและโจมตีแก๊งสี่คน (ขบวนการซ้ายจัด นำโดย นางเจียงชิง เหยาเหวินหยวน เป็นต้น )

บทกวีที่โดดเด่นชิ้นหนึ่งที่ปลุกเร้าใจได้ดีเหลือเกินคือ
๏ ชนสลด แต่ปีศาจกู่ร้อง
ข้าร่ำไห้ แต่สัตว์ร้ายยิ้มหัว
สาดน้ำตา บูชารัฐบุรุษ
ข้าขวางคิ้ว แล้วเปลือยกระบี่๏

ขวางคิ้ว-เหิงเหมย 横 眉 เป็นอาการบ่งบอกถึงความเอาจริงเอาจัง
การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว

เปลือยกระบี่ออกจากฝัก-เจี้ยนชูเชี่ยว 剑 出 鞘
เป็นการอาการบ่งบอกถึง คราวนี้ไม่ชนะ ไม่เลิกสู้ จนกว่าจะตาย

ปรมาจารย์เล่าจื๊อให้คำตอบไว้ว่า
“ประชาชนปกครองยาก เพราะรัฐยุ่งเกี่ยวกับชีวิตพวกเขามากเกินไป”
ประชาชนเห็นความตายเป็นเรื่องเล็กน้อย
เพราะนักปกครองมีความเป็นอยู่ฟุ่มเฟือยหรูหราเกินไป”
(คัดจากหนังสือ “ปรัชญาจีน” โดย น้อย พงษ์สนิท)
กำลังโหลดความคิดเห็น