xs
xsm
sm
md
lg

การแพทย์แผนจีนในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มัยนี้คนไทยเริ่มรู้จักการนวดกดจุด การฝึกชี่กง การฝังเข็ม และการแมะหรือการจับชีพจรกันกว้างขวางยิ่งขึ้น วิธีการเหล่านี้หลายคนทราบดีว่าเป็นการรักษาคนไข้ตามแบบแพทย์แผนจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในศาสตร์แพทย์ทางเลือก (Alternative Medicine) ความจริงศาสตร์การแพทย์แผนจีนในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งนี้ มีหลักฐานบันทึกทางประวัติศาสตร์เป็นเครื่องใช้ในการทำยา หรือแม้แต่ตำรับยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่ต่างบ่งชี้ว่า การแพทย์จีนเข้ามาในประเทศสยามเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว

นายแพทย์ ชวลิต สันติกิจรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “ในยุคราชวงศ์ซ่ง-หมิงของจีน เป็นยุคที่เริ่มมีการจัดระบบ มีการพิมพ์และเผยแพร่ ตั้งสำนัก มีการชำระคัมภีร์แพทย์แผนโบราณนั้น ในปีค.ศ.1368 ของจีนตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชของไทย มีคัมภีร์โอสถพระนารายณ์ เป็นคัมภีร์ที่รวบรวมยาในราชสำนักของไทย ประกอบด้วยตำรับล้านนา ของยุโรป ของไทย และมีตำรับหนึ่งที่เป็นของจีนที่หมอจีนมาเขียนไว้ นั่นแสดงว่า มีหมอจีนเข้ามาในไทยแล้วจึงได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในคัมภีร์โอสถพระนารายณ์ฯ”

เช่นเดียวกับคุณหมอ หลินตันเฉียน แพทย์จีนที่เดินทางเข้ามาทำงานรักษาคนไข้ในเมืองไทยเป็นเวลา 11 ปี และปัจจุบันยังเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลหัวเฉียว ก็กล่าวว่า “เมื่อไม่นานมานี้ผมไปที่จังหวัดอยุธยามาก็ยังเห็นหลักฐานว่า มีที่บดยาอายุกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นหลักฐานว่า การแพทย์จีนเข้ามาในประเทศไทยนานแล้ว ทั้งคนไทยที่เป็นเชื้อสายจีนเองก็ให้ความสำคัญกับการรักษาด้วยการแพทย์แผนจีนมาแต่นมนานด้วย”

ซึ่งคุณหมอหลินเสริมว่า `”ปัจจุบันการแพทย์แผนจีนได้รับการยอมรับอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการบรรจุศาสตร์การแพทย์แผนจีนเข้าเป็นหนึ่งในการแพทย์ทางเลือก ที่รับรองโดยกระทรวงสาธารณสุขของไทยเมื่อไม่นานมานี้”

รศ.ดร. สุนิพนธ์ ภุมมางกูร คณบดี แผนกการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
กล่าวถึงบทบาทของการแพทย์แผนจีนในไทยในปัจจุบันว่า เริ่มมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เนื่องด้วยการติดต่อระหว่างไทยกับจีน และความสัมพันธ์ที่กระชับแนบแน่น ส่งผลให้ให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ มีการเปิดสถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำคัญของการแพทย์แผนจีนที่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในวงการแพทย์ของไทย

อีกด้านหนึ่ง แพทย์ที่จบการแพทย์แผนปัจจุบันกว่า 400 คนในเมืองไทยก็สนใจมาอบรมศาสตร์การแพทย์แผนจีน มาอบรมการฝังเข็ม และยังมีการตั้งสมาคมแพทย์ฝังเข็มและใช้สมุนไพรในไทยด้วย ซึ่งหน่วยงานสมาคมเหล่านี้มีมานานแล้ว

ส่วนการยอมรับศาสตร์การแพทย์แผนจีนในระดับนานาชาตินั้น อ.สุนิพนธ์ ชี้ว่า “ องค์การอนามัยโลกก็ยังให้ความสำคัญ มีการทำวิจัยศึกษาและตีพิมพ์เผยแพร่ถึงอาการต่างๆ 27 อาการที่สามารถรักษาได้ด้วยการฝังเข็มได้ผล ซึ่งถือว่าเขายอมรับศาสตร์การแพทย์แผนจีนแล้ว ซึ่งปัจจุบันในบ้านเราก็มีการรักษาด้วยการฝังเข็มซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาการปวดทั้งหลาย” ทั้งนี้ คลินิกแพทย์แผนจีนที่โรงพยาบาลหัวเฉียว ที่เปิดให้บริการรับรักษาคนไข้ทั้งที่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน คนจีน รวมถึงชาวต่างชาติ ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ชี้ว่า บทบาทของการแพทย์จีนเป็นที่ยอมรับในประเทศไทยมากน้อยเพียงใด

“คนที่มารักษาที่หัวเฉียว มีทั้งคนไทย คนจีนโพ้นทะเลและคนต่างชาติ คนพม่า ลาว เวียดนาม ฝรั่งตะวันตก คนดำคนขาว มารักษาด้วยอาการต่างๆกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการแพทย์จีนเป็นที่สนใจและให้การยอมรับทั้งคนไทยและของชาวต่างชาติมาก” หมอหลิน แพทย์จีนแห่งโรงพยาบาลหัวเฉียวเสริม

จนถึงปัจจุบัน โรงพยาบาลหัวเฉียวเปิดคลินิกแพทย์แผนจีนมาได้ 11 ปีแล้ว มีแพทย์ทั้งที่มาจากประเทศจีนและแพทย์จีนในไทยที่ได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะรักษาผู้ป่วยด้วยการแพทย์แผนจีน 20 กว่า คน ขณะนี้ทางคลินิกแพทย์แผนจีนแห่งนี้เปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยด้วยการแพทย์แผนจีนในแผนกต่างๆ อาทิ อายุรกรรมและแมะ ฝังเข็ม นวดและทุยหนา โรคผิวหนัง และโรคกระดูก

ความร่วมมือระหว่างแพทย์แผนจีนในไทยและจีน

“ในไทยมีสถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับซูเปอร์กอง เกิดขึ้นจากความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุขจีนและไทย ตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน เปิดมาปีนี้ครบ 10 ปีแล้ว ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางศึกษาเรื่องการแพทย์จีนและการควบคุมโรค ตลอดจนการปลูกสมุนไพรทดแทนการนำเข้า” นายแพทย์ ชวลิต สันติกิจรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ไทย-จีน กล่าว

สถาบันการแพทย์ไทย-จีนมีการศึกษาการแพทย์แผนไทย-จีน การแพทย์แผนไต สิบสองปันนา มีเป้าหมายเพื่อเอาวิชาการแพทย์จีนมาช่วยพัฒนาการแพทย์แผนไทย และนำความรู้ด้านการแพทย์แผนจีนมาใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทย

นอกจากนี้ ความร่วมมือยังกระจายไปสู่วงการการศึกษา ซึ่งปัจจุบันเริ่มดำเนินการไปอย่างจริงจังเมื่อมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเข้าไปร่วมมือกับมหาวิทยาลัยการแพทย์ของจีน อาทิ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยการแพทย์ของเซี่ยงไฮ้ เปิดสอนการแพทย์แผนจีนระดับปริญญาตรี และในอนาคตจะมีการส่งนักศึกษาแพทย์แผนจีนไปฝึกงานที่เซี่ยงไฮ้ด้วย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดลก็จับมือกับมหาวิทยาลัยการแพทย์ปักกิ่ง ส่วนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีก็จับมือกับมหาวิทยาลัยการแพทย์เฉิงตู ด้านมหาวิทยาลัยราชภัฏจันเกษมจับมือกับมหาวิทยาลัยการแพทย์ในกว่างโจว (กวางเจา)

ด้านโรงพยาบาลต่างๆในไทยก็มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลในประเทศจีนด้วย อาทิ โรงพยาบาลหัวเฉียวมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลหลงหัว โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์กับโรงพยาบาลจงซัน โรงพยาบาลศิริราชกับโรงพยาบาลเรนจี สถาบันบำราศนราดูรกับวิทยาลัยการสาธารณสุขเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น

การศึกษาแพทย์แผนจีนในไทย

รศ.ดร.สุนิพนธ์ คณบดีแผนกแพทย์แผนจีน แห่งมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวถึงสิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยหัวเฉียวกำลังทำอยู่ คือการพิสูจน์ว่าการแพทย์แผนจีนสามารถรักษาคนไข้ได้จริงโดยมีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ

“เราเปิดหลักสูตรการเรียนแพทย์จีน 5 ปี โดยในปีแรกนักศึกษาที่ไม่เคยเรียนภาษาจีนมาก่อนต้องเข้าเรียนภาษาจีนเป็นเวลา 1 ปี เพื่อสอบพื้นฐานทางภาษาจีนให้ได้เทียบเท่า เอชเอสเค ระดับ 5 จึงจะเข้าเรียนในวิชาการแพทย์แผนจีนเบื้องต้นได้ รวม 6 ปี นักศึกษาที่จบการศึกษาแล้วจะได้รับปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต (การแพทย์แผนจีน) วทย. สาขาแพทย์แผนจีน” อ.สุนิพนธ์ กล่าว

ทั้งนี้ อ.สุนิพนธ์ ได้ชี้แจงว่า นักศึกษาที่เรียนในแผนกการแพทย์แผนจีน จะต้องเรียนการแพทย์แผนจีนในแบบที่เป็นวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ ต้องเรียนวิชาสรีระศาสตร์ ชีวเคมี และศาสตร์ต่างๆที่เป็นหลักการมากกว่า การแพทย์แผนจีนที่เราเคยเข้าใจว่ามีการเรียนแบบสืบทอดจากบรรพบุรุษ ทั้งนี้เพื่อความถูกต้องแม่นยำในการวินิจฉัยและรักษาโรค

โดยการสอนในมหาวิทยาลัยหัวเฉียวนักศึกษาปี 1 จะเรียนพื้นฐานทางภาษาจีนและเรียนความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ขึ้นปีที่ 3 จะเรียนกับผู้เชี่ยวชาญรับเชิญจากสถาบันการแพทย์แผนจีนแห่งนครเซี่ยงไฮ้ ทั้งนี้ นักศึกษาจะต้องฝึกงานที่โรงพยาบาลหัวเฉียวครึ่งปี และไปฝึกที่สถาบันการแพทย์เซี่ยงไฮ้อีกครึ่งปี ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมีความร่วมมือกันอยู่

นางสาว พรประภา หรูประกายอักษร จบปริญญาตรีเอกภาษาจีน จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่เลือกเรียนแพทย์แผนจีน เพราะทางบ้านให้การสนับสนุน โดยมีคุณพ่อเป็นแพทย์จีนอยู่ด้วย ปัจจุบัน พรประภาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 หลักสูตรปริญญาตรี รุ่นที่ 1 แผนกการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ

พรประภา กล่าวถึงการเรียนในแผนกการแพทย์จีนว่า “หลักสูตรแพทย์แผนจีนของที่นี่จะผสมผสานกับแพทย์แผนตะวันตก 60-40 เปอร์เซ็นต์ โดยแบ่งเป็นแผนจีน 60 เปอร์เซ็นต์ และแผนตะวันตก 40 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของหลักสูตรแผนจีน เราจะได้เรียนเกี่ยวกับพื้นฐานการแพทย์แผนจีน การตรวจวินิจฉัยโรคตามหลักแพทย์แผนจีน ตำรับยาจีน การนวดแบบทุยหนา การฝังเข็ม”

เนื่องจากมีพื้นฐานด้านภาษาจีนมาแล้ว เวลาเรียนในชั้นเรียนของพรประภาจึงไม่แน่นมากนัก ในเทอมนี้เธอจึงใช้เวลาว่างไปดูคุณพ่อตอนทำงาน เพื่อศึกษาประสบการณ์การรักษาแพทย์แผนจีนของจริงด้วย “คุณพ่อก็ลองให้จับแมะบ้าง บางทีพ่อก็จะเล่าเคสคนไข้ให้ฟัง เพื่อให้เราเข้าใจพื้นฐานการรักษาตามแบบแผนจีน ที่บ้านยังรับวารสารทางการแพทย์จากเมืองจีนด้วย ก็ได้รับข่าวสารทางการแพทย์อยู่เสมอ” พรประภา กล่าว

อ่านต่อหน้า 2


นอกจากนี้ คณบดียังย้ำว่า ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยหัวเฉียวร่วมกับสถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสมาคมแพทย์จีน (เอกชน) กำลังทำร่างกฤษฎีกาไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอรับรองวุฒิการศึกษาของนักศึกษาที่จบการศึกษาจากแผนกแพทย์แผนจีนให้มีวุฒิเทียบเท่าแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อในอนาคตจะสามารถเปิดคลินิกแพทย์จีนของตนเองได้ นอกเหนือจากการออกใบอนุญาตรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน ซึ่งปัจจุบันแบ่งเป็น ใบอนุญาตด้านการฝังเข็ม การใช้ยาและการกดจุดหยุดอาการ รวม 3 แขนง ซึ่งหากใครได้ไปใบใดใบหนึ่งก็จะรักษาผู้ป่วยได้เฉพาะทางนั้นๆ ซึ่งมีอายุคราวละ 2 ปี

โอกาสของนักศึกษาแพทย์จีนในไทย

นายแพทย์ หลินตันเฉียน เป็นท่านหนึ่งที่สอนในแผนกแพทย์แผนจีนที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ ในสาขาที่ท่านเชี่ยวชาญคือการนวดแบบทุยหนา ท่านกล่าวถึงสถานการณ์การเรียนแพทย์แผนจีนในไทยให้ฟังว่า “เด็กที่เรียนมาทางด้านแพทย์แผนจีนที่ในปัจจุบันมีจำนวนมาก ตอนนี้คนไทยไม่เพียงแต่เรียนภาษาจีนยังสนใจเรียนศาสตร์การแพทย์จีนด้วย ตอนเปิดภาควิชาการแพทย์แผนจีนที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯมีนักเรียนมาสมัครมาก เรารับไม่ไหว ภายหลังต้องแบ่งเป็น 2 ชั้นเรียน เรารับได้ 60 คน ซึ่งว่าไปแล้วเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลย เด็กพวกนี้ยังต้องการเวลาในการฝึกฝนและสั่งสมการเรียนรู้อีกระยะหนึ่ง แต่ก็เชื่อมั่นว่า ในอนาคตจะผลิตแพทย์จีนออกมารับใช้คนไทยและสังคมไทยให้มีสุขภาพแข็งแรงกันถ้วนหน้า”

ด้าน รศ.ดร. สุนิพนธ์ ภุมมางกูร คณบดีฯ แผนกการแพทย์แผนจีน แสดงความเห็นว่า “โอกาสของนักศึกษาแพทย์แผนจีนในอนาคตที่เมื่อจบออกไปแล้วจะยิ่งมีสูงขึ้น ขณะนี้เรามีแพทย์แผนจีนกว่า 200 คน ที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ทางเลือก ซึ่งปัจจุบันครอบคลุมถึงแพทย์จีนที่เดินทางเข้ามาในไทยด้วย เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วจะอนุญาตให้บุคคลที่ประกอบโรคศิลปะ ศาสตร์การแพทย์แผนจีนสามารถดำเนินกิจกรรมรักษาโรคได้”

แม้ว่า ปัจจุบัน แพทย์จีนในไทยจะยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดคลินิกส่วนตัวรักษาโรคตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ อ.สุนิพนธ์ก็เชื่อมั่นว่า หากการผลักดันของหน่วยงานการแพทย์จีนในไทยประสบผลสำเร็จ อนาคตของแพทย์จีนในไทยจะมีโอกาสรักษาผู้เจ็บไข้ได้กว้างขวางมากขึ้น

ด้านนักศึกษาแพทย์แผนจีน นางสาว พรประภา ก็มั่นใจว่า “เมื่อเรียนจบแล้วก็อยากจะใช้ความรู้ที่ได้เรียนมานำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ เชื่อว่าอนาคตแพทย์จีนต้องได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันมีหลายโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศได้เปิดแผนกแพทย์แผนจีนเป็นแพทย์ทางเลือกสำหรับคนไข้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝังเข็ม ก็ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก เช่นในยุโรปและอเมริกาได้มีคลินิกฝังเข็มเปิดให้บริการแล้วด้วย”

ในฐานะนักศึกษาแพทย์แผนจีนรุ่นที่ 1 ที่ร่ำเรียนในประเทศไทย พรประภา เสริมว่า “รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมาก และเมื่อได้เลือกมาเรียนทางนี้แล้วก็ทำให้อนาคตของเรามีเป้าหมายไปอีกหลายสิบปี เชื่อว่าการเรียนรู้ด้านการแพทย์จีนก็คงไม่มีวันหยุด ต้องเรียนไปจนแก่ และหวังว่าในประเทศไทยจะมีกฎหมายที่ออกมาเอื้อกับบุคคลที่เรียนจบมาทางด้านนี้ด้วย”

ทั้งนี้ อ.สุนิพนธ์ สรุปในตอนท้ายว่า “แพทย์แผนปัจจุบันมุ่งรักษาโรค แต่การแพทย์แผนจีนมุ่งรักษาคน อย่างไรก็ตาม แพทย์แผนจีนไม่ได้รักษาได้ทุกโรค โรคบางโรคแพทย์แผนจีนยังรักษาไม่หาย ต้องให้ความระมัดระวัง ตอนนี้เราพยายามจะศึกษาแพทย์จีนโดยเข้าหาวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น แพทย์จีนส่วนใหญ่ในประเทศจีนตอนนี้ก็มีการผสมผสานการแพทย์แผนปัจจุบันด้วย ผมคิดว่า ทั้งสองอย่างต้องใช้อย่างควบคู่กัน ผสมผสานกัน เช่นการตรวจอาการเบื้องต้นบางอย่าง เช่น การตรวจหาการตั้งครรภ์ หากใช้วิธีแมะก็ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการไปตรวจด้วยเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาล เป็นต้น”

บทบาทของการแพทย์จีนในไทยในด้านการยอมรับและการให้บริการแก่คนไข้ที่จะกระจายออกไปในวงกว้างอาจยังไม่ใช่จุดประสงค์ที่แท้ตามปรัชญาการแพทย์แผนจีน การเข้าถึงแนวทางการมีชีวิตอยู่โดยพึ่งพายาและแพทย์ให้น้อยที่สุด ตลอดจน การผสมผสานศาสตร์การแพทย์แผนจีนกับแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อใช้ในการรักษาโรคใหม่ๆ เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ควรศึกษาค้นคว้าต่อไป .

*****เรียนแพทย์จีนในจีน******

หลังเข้าเรียนภาษาจีนกลางที่มหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่ง (เป่ยซือต้า) 北京师范大学 Beijing Normal University ได้ 1 ปีครึ่ง ณัฐธยาน์ ปัญคิวจณาณ์ อาชีพเภสัชกร ก็สามารถสอบวัดระดับทางภาษาได้ (เอชเอสเค) ระดับ 6 เธอตัดสินใจเรียนต่อในมหาวิทยาลัยแพทย์แผนจีนในประเทศจีน ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจว่าจะเลือกเข้าสมัครในมหาวิทยาลัยแห่งใด แต่ตามข้อมูลที่ได้จากการสอบถามในหมู่นักเรียนไทยในปักกิ่ง คุณณัฐธนาย์ ทราบมาว่า สุดยอดของมหาวิทยาลัยการแพทย์ของจีนอยู่ที่กรุงปักกิ่งนี้เอง (北京中医药大学)

“แรงบันดาลใจที่อยากจะเปลี่ยนสายมาเรียนแพทย์จีน คือครั้งหนึ่งเคยพาคุณพ่อไปรักษาหมอจีน และรู้สึกทึ่งและประหลาดใจว่า คุณหมอแค่จับแมะก็รู้ทันทีเลยว่าพ่อเราเป็นอะไรมา แล้วตอนนี้ในเมืองไทยการแพทย์จีนก็กำลังได้รับการสนใจมากขึ้น” ณัฐธนาย์ กล่าว

ณัฐธนาย์ เล่าว่า คนรอบตัวของเธอนอกจากคนในครอบครัวแล้ว บรรดาเพื่อนเก่าร่วมอาชีพ หรือแพทย์แผนปัจจุบันในเมืองไทยที่เคยได้พูดคุยกันต่างเห็นตรงกันว่า การรักษาตามแบบแพทย์แผนจีนในไทยกำลังมีความสำคัญอย่างมาก และในอนาคตจะต้องมีโอกาสอย่างมากสำหรับผู้ที่เรียนทางด้านนี้ ทั้งนี้ เธอชี้ว่า สังคมกำลังย้อนกลับไปหาธรรมชาติ และสนใจในวิธีการรักษาตามแบบตะวันออกมากขึ้น เพียงแต่บ้านเรายังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อยู่มาก

“แพทย์แผนจีนในไทยส่วนใหญ่ยังเป็นแพทย์ที่ผ่านการอบรมจากเมืองจีนระยะสั้นแค่ 3 เดือน รักษาได้แต่การฝังเข็ม แต่การจับชีพจรหรือการรักษาอื่นๆที่ลึกซึ้งกว่านั้นยังมีรายละเอียดอีกมากที่ต้องเรียนรู้ นอกจากนี้ การสอบใบอนุญาตของไทยยังไม่ได้มาตรฐานตามแบบของประเทศจีน แต่ตอนนี้ทราบมาว่าทางมหาวิทยาลัยหัวเฉียวของไทยกำลังเปิดสอนการแพทย์จีน เชื่อว่า อนาคตมาตรฐานของแพทย์แผนจีนในไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้น” คุณณัฐธนาย์ กล่าว

อดีตเภสัชกรที่หันมาสนใจแพทย์แผนจีน ยังแนะนำว่า มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนที่ยอดเยี่ยมมีหลายแห่งอยู่ในเมืองสำคัญๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนปักกิ่ง มหาวิทยาลัยการแพทย์เซี่ยงไฮ้ ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีความร่วมมืออยู่กับมหาวิทยาลัยหัวเฉียวของไทย นอกจากนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยการแพทย์ที่หนันจิงและที่เมืองเซี่ยเหมิน เป็นต้น โดยคุณสมบัติของผู้เข้าสมัครเรียนในมหาวิทยาลัยการแพทย์ในจีนระดับปริญญาตรี หลักสูตร 5 ปี จะต้องเป็นนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว และต้องสอบวัดระดับทางภาษาจีนกลางให้ได้ (เอชเอสเค) ระดับ 6 จึงจะสมัครเรียนได้

“เมื่อจบหลักสูตร 5 ปีแล้วนักศึกษาแพทย์จีนในจีนยังต้องผ่านการฝึกงานอีก 1 ปี หลังจากนั้นจึงจะนับว่าได้เดินเข้าสู่ประตูของการเป็นแพทย์แผนจีนอย่างเป็นทางการ” คุณณัฐธนาย์ เสริม


ณัฐธนาย์ ยังเปิดเผยว่า “ขณะนี้นักเรียนไทยที่ศึกษาต่อทางด้านการแพทย์แผนจีนยังมีจำนวนน้อยไม่ถึง 10 คน สำหรับค่าเล่าเรียนหลักสูตร 5 ปีตกอยู่ราว 1 ล้านบาท ทั้งนี้หากรวมค่าครองชีพและค่าที่พักอาจถึง 2 ล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนจีนที่จบการศึกษาในเมืองไทยหรือจบจากเมืองจีน หรือจะเป็นแพทย์แผนปัจจุบันก็ตามต่างมีปรัชญาการทำงานไม่แตกต่างกัน โดย ณัฐธนาย์ ย้ำว่า “สิ่งสำคัญคือแพทย์ต้องให้ความเอาใจใส่แก่คนไข้ ไม่ใช้เทคนิคหลอกลวงหรือหลอกขายยาแก่ผู้ป่วย ให้เวลาดูแลและพูดคุยกับคนไข้มากขึ้น สิ่งนี้จะทำให้แพทย์คงความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับไปได้นาน”


หมายเหตุ :
คลินิกแพทย์แผนจีน โรงพยาบาลหัวเฉียว เบอร์โทรศัพท์ 02-223-1111
สถาบันการแพทย์ ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับความรู้ด้านการแพทย์แผนจีน เบอร์โทรศัพท์ 02-590-6381 02-951-0789 หรือติดต่อทางที่อยู่
thai chinamedicine@hotmail.com
‘โครงการผู้จัดการสุขภาพ’ เปิดให้ผู้สนใจเข้ารับคำปรึกษาและตรวจสุขภาพโดยนายแพทย์หลินตันเฉียน ผู้เชี่ยวชาญด้านทุยหนา (ไม่เสียค่าใช้จ่าย) ที่อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ โปรดสอบถามล่วงหน้าที่ 02-629-2211 ต่อ 1117,1118,1152

กำลังโหลดความคิดเห็น