xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่านกับทางออกของจีน

เผยแพร่:   โดย: อดุลย์ รัตนมั่นเกษม

ปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่าน เป็นประเด็นข่าวสำคัญข่าวหนึ่งที่โลกกำลังจับตามอง ไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งอิหร่าน ยุโรป สหรัฐฯ รัสเซีย และแน่นอนต้องมีจีนด้วยในฐานะหนึ่งในสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่มีสิทธิออกเสียงวีโต้ญัตติใดก็ได้ให้ตกไป เพราะทางองค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศหรือไอเออีเอตัดสินใจส่งเรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่านให้ทางคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติพิจารณา ซึ่งแน่นอนผลอาจออกมาเป็นการคว่ำบาตรอิหร่าน ยิ่งนายโทนี่ แบลร์นายกรัฐมนตรีของอังกฤษออกมาสำทับใส่อิหร่านเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ว่า นานาชาติไม่ควรกลัวเรื่องราคาน้ำมันจะสูงขึ้น แล้วลังเลใจกับการคว่ำบาตรอิหร่าน เรื่องก็ยิ่งชัดเจนว่า อิหร่านอาจต้องถูกคว่ำบาตรจากสหประชาชาติก็เป็นได้

แม้นายแบลร์จะไม่ระบุว่า มีชาติไหนบ้างที่กลัวการคว่ำบาตรอิหร่าน แต่ก็พอทราบกันว่า ชาติที่ต้องพึ่งพาน้ำมันจากอิหร่านอย่างจีนและญี่ปุ่น คงไม่อยากเห็นอิหร่านถูกคว่ำบาตร แต่จีนจะตกเป็นเป้าสายตามากกว่า เพราะอย่างน้อยก็มีเหตุผล 3 ข้อ

นอกจากเรื่องที่ต้องพึ่งพาน้ำมันจากอิหร่านแล้ว สถานะสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งทำให้จีนมีสิทธิออกเสียงวีโต้ ก็เป็นเหตุผลอีกข้อ และผลประโยชน์มหาศาลของจีนในอิหร่านอันเนื่องจากจีนเข้าไปลงทุนไว้มาก คือเหตุผลข้อสุดท้าย ดังนั้น จีนจึงต้องตรึกตรองอย่างหนักว่า จะทำอย่างไรกับปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่าน

ในที่ประชุมขององค์การตรวจสอบพลังงานปรมาณู หรือ IAEA จีนแสดงท่าทีคัดค้านที่อิหร่านจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และเห็นด้วยที่จะส่งเรื่องปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่านให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติพิจารณา ซึ่งอิหร่านก็ไม่รู้สึกแปลกใจกับท่าทีนี้ของจีน เพราะจีนเคยพูดจาชัดเจนกับอิหร่านมาหลายครั้งว่า จีนจะไม่เสียสละผลประโยชน์ของตนที่มีอยู่กับสหรัฐฯและยุโรปเพื่ออิหร่านแน่นอน

แต่แน่นอนว่า จีนก็คงไม่ต้องการให้ปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่านนี้ย่ำแย่ลงจนถึงขั้นเกิดวิกฤตน้ำมัน ดังนั้น ในอีกด้านหนึ่ง จีนจึงพยายามที่จะไม่ให้วิกฤตนี้เลวร้ายลง เพื่อมิให้อิหร่านถูกสหประชาชาติคว่ำบาตร

จีนคงต้องพิจารณาถึงสถานการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเลวร้ายที่สุดคือ จีนจะไม่สามารถซื้อน้ำมันจากอิหร่านได้อันเนื่องมาจากอิหร่านถูกสหประชาชาติคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และคงต้องมีนโยบายรับมือที่ดีด้วย เพื่อจีนจะได้มีทางออกเมื่อทางไอเออีเอยื่นเรื่องนี้ต่อคณะมนตรีความมั่นคงในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้

จีนนั้นทราบดีแก่ใจว่า หากปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่านก่อให้เกิดวิกฤตขึ้น แม้เพียงแค่วิกฤตระดับกลางๆ จีนก็อาจสู้รับมือกับวิกฤตนี้ไม่ไหว เพราะราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้น บวกกับต้นทุนการขนส่งน้ำมันก็จะสูงตามไปด้วย อันจะส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจจีนแน่นอน และหากจีนเลือกใช้สิทธิวีโต้ในขณะที่นานาชาติต่างคัดค้านโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน จีนก็จะถูกโดดเดี่ยวทางการทูตทันที และอาจถูกบางประเทศเล่นงานกลับด้วย ทางที่เป็นไปได้คือ จีนต้องระมัดระวังท่าทีต่อเรื่องนี้ เอาเรื่องนี้มาต่อรองกับสหรัฐฯและยุโรป และเชื่อว่าทั้งสหรัฐฯและยุโรปอาจจะต้องให้ผลประโยชน์บางประการแก่จีนเป็นการแลกเปลี่ยนมิให้จีนใช้สิทธิวีโต้ คำถามคือทั้งสหรัฐฯและยุโรปจะเสนอเงื่อนไขอะไรถึงจะโน้มน้าวจีนได้

เป็นไปได้หรือไม่ที่สหรัฐฯจะยอมเปิดไฟเขียวให้จีนเข้าไปลงทุนด้านน้ำมันในอิรัก หรือยอมให้จีนกระชับความร่วมมือด้านน้ำมันกับทางซาอุดิอาระเบีย โดยสหรัฐฯทำเอาหูไปนาเอาตาไร่เสีย เรื่องนี้ต้องมองกันให้ชัดว่า สถานการณ์ในอิรักยังไม่สงบเรียบร้อย และยังมองไม่เห็นอนาคตอุตสาหกรรมน้ำมันของอิรัก จีนจึงอาจไม่สนใจข้อเสนอนี้ก็เป็นได้ ส่วนสหรัฐฯก็ใช่ว่าจะพอใจที่จีนทำตัวใกล้ชิดกับซาอุดิอาระเบีย ดังนั้น เรื่องที่จะให้จีนกระชับความร่วมมือด้านน้ำมันกับซาอุดิอาระเบีย เหมือนได้คืบเอาศอก จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องสหรัฐฯอยากทำนัก

ถ้าเช่นนั้น เป็นไปได้ไหมที่สหรัฐฯจะยอมให้ความร่วมมือด้านโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์กับจีนเช่นเดียวกับที่เคยสัญญาไว้กับอินเดีย และเชื่อได้ว่า จีนต้องสนใจแน่ แต่เรื่องนี้ ก็มีข้อเสียตรงที่เมื่อตอนที่รัฐบาลอเมริกันจะให้ความร่วมมือด้านนิวเคลียร์กับอินเดียนั้น นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลก็เที่ยวล็อบบี้รัฐสภาว่า ทำไปเพื่อถ่วงดุลกับจีน แล้วตอนนี้กลับจะมาช่วยจีนพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แล้วนักการเมืองเหล่านี้จะไปบอกกับรัฐสภาว่าอย่างไร และถ้าสหรัฐฯทำอย่างนี้ ก็จะทำให้นโยบายต่อเอเชียและอนุทวีปของสหรัฐฯดูสับสนยิ่งขึ้นไปอีก

อีกทางหนึ่งคือ สหรัฐฯอาจยอมขายเทคโนโลยีด้านถ่านหินแก่จีน และเกลี้ยกล่อมให้ยุโรปลดการกีดกันสินค้าจีนลง ซึ่งอาจทำให้จีนพอใจ ปัญหาคือ เงื่อนไขเหล่านี้จะต้องทำให้จีนไม่อาจปฏิเสธได้ก่อนที่คณะมนตรีความมั่นคงจะลงมติกับปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งดูไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่ายด้วยข้อจำกัดด้านเวลา

สหรัฐฯยังมีไม้เด็ดอีกไม้หนึ่งคือ สหรัฐฯเตรียมพร้อมอยู่แล้วที่จะใช้กำลังทหารจัดการกับอิหร่านได้ทุกเวลา ซึ่งจะเป็นการกดดันทั้งจีนและรัสเซียที่เป็นพันธมิตรสำคัญของอิหร่านว่า จีนและรัสเซียจะยอมเห็นอิหร่านถูกสหรัฐฯโจมตี หรือจะยอมรับผลที่ดีกว่าหน่อยคือ ให้อิหร่านถูกสหประชาชาติคว่ำบาตร ซึ่งสหรัฐฯเชื่อว่า ทั้งจีนและรัสเซียซึ่งมีผลประโยชน์อยู่ในอิหร่านมากทีเดียว จะตัดสินใจทำในสิ่งที่สหรัฐฯเห็นว่าถูกต้อง

แน่นอนว่า ทั้งจีนและรัสเซียก็รู้ว่า การทำอะไรตามอำเภอใจของสหรัฐฯอาจนำความเดือดร้อนมาสู่พวกเขา ทั้งสองประเทศนี้ จึงได้พร่ำเตือนสหรัฐฯว่าอย่าคุกคามอิหร่าน เพราะถึงอย่างไร อิหร่านก็ไม่ใช่ยูโกสลาเวียที่ทั้งยากจนไม่มีทรัพยากรอะไร และไม่มีความหมายทางยุทธศาสตร์ หากปล่อยให้สหรัฐฯจัดการกับอิหร่านตามอำเภอใจ ย่อมจะก่อความเสียหายให้แก่ทั้งจีนและรัสเซียแน่นอน

จีนรู้ดีว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้สหรัฐฯเลิกรากับเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ดังนั้น จีนจะต้องตรึกตรองอย่างจริงจังถึงสถานการณ์ที่จะส่งผลเลวร้ายต่อตนเองเมื่อน้ำมันจากอิหร่านถูกตัดขาดเพราะการคว่ำบาตรของสหประชาชาติ และอย่าลืมว่า จีนมีน้ำมันสำรองพอใช้ได้เพียง 30 วันเท่านั้น

สรุปรวมความได้ว่า ในปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่าน จีนมีขีดจำกัดยิ่งที่จะมีอิทธิพลต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หากจีนต้องการได้น้ำมันจากตะวันออกกลาง จีนก็จำเป็นต้องสละทิ้งผลประโยชน์บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ และหากจีนต้องการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจของตนต่อไป เพื่อตนจะได้เป็นมหาอำนาจของโลก จีนก็ต้องไม่มองข้ามข้อนี้ เพราะหากนโยบายต่อจีนของสหรัฐฯไม่ได้เริ่มจากการมองจีนเป็นมิตรสำคัญของภูมิเอเชียละก้อ นั่นแหละคืออันตรายที่สุดสำหรับจีน.
กำลังโหลดความคิดเห็น