xs
xsm
sm
md
lg

สังคมนิยม – เครื่องมือสร้างชาติ (3)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ในทางทฤษฎีมาร์กซิสม์ ระบอบสังคมนิยม เป็นขั้นตอนพัฒนาการของสังคมมนุษย์ที่สูงกว่าระบอบทุนนิยม อีกนัยหนึ่ง เมื่อระบอบทุนนิยมพัฒนาถึงขีดสุดแล้ว ก็จะก้าวเข้าสู่ระยะระบอบสังคมนิยม เพื่อก้าวไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นระบอบสังคมที่สมบูรณ์รอบด้าน เอื้อต่อการพัฒนาทั้งทางด้านวัตถุและด้านจิตใจของมวลมนุษยชาติต่อไป
ทว่า ผลจากการเคลื่อนไหวปฏิบัติ เพื่อปฏิวัติสังคมที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศต่างๆ กลับปรากฏว่า ประเทศที่ประกาศใช้ระบอบสังคมนิยม กลับเป็นประเทศที่ยังล้าหลังกว่าโลกทุนนิยม
การที่พรรคคอมมิวนิสต์ พรรคการเมืองกองหน้าของชนชั้นกรรมาชีพ ใช้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ นำการปฏิวัติล้มล้างอำนาจรัฐเก่า โค่นล้มระบอบทุนนิยม สถาปนาอำนาจรัฐใหม่ในระบอบสังคมนิยมได้สำเร็จ ไม่เพียงแต่หักล้างหลักการสำคัญทางทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์เท่านั้น มองในอีกมุมหนึ่ง ตามการอธิบายทางทฤษฎีของเลนินของรัสเซีย และเหมาเจ๋อตงของจีนเวลาต่อมา มันเป็นการพัฒนาก้าวหน้าของทฤษฎีมาร์กซิสม์ ซึ่งถือว่าทฤษฎีมาร์กซิสม์ เป็นหนึ่งเดียวกับการเคลื่อนไหวปฏิบัติ เป็นด้านตรงข้ามของเหรียญเดียวกัน สามารถปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในรายละเอียดหรือกระทั่งหลักการสำคัญๆเสมอ
กระนั้น ไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมใด สิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์ในฐานะผู้นำการสถาปนาอำนาจรัฐใหม่ในระบอบสังคมนิยม หลีกไม่พ้นที่จะต้อง “ทำงานหนัก”เป็นพิเศษในการสร้างสรรค์ระบอบสังคมนิยม ในสภาพแวดล้อมของสังคมโลกที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นของระบอบทุนนิยมหรือล้าหลังกว่านั้น
ด้านหนึ่ง พวกเขาจะต้องเร่งสร้างกลไกอำนาจรัฐใหม่ๆที่แปลกแยกไปจากสังคมโลกส่วนใหญ่ อีกด้านหนึ่ง จะต้องพิสูจน์ตนเองในท่ามกลางการปิดล้อมของโลกทุนนิยม ว่าด้วยระบบระบอบของสังคมนิยม รัฐสังคมนิยมสามารถพัฒนาตนเองได้เร็วพอที่จะไล่ทันรัฐทุนนิยม
คำตอบที่พวกเขาจะได้ ไม่อาจค้นหาพบในตำราของคาร์ล มาร์กซ์ และเฟเดอริก เองเกลส์ แต่จะต้องค้นพบในท่ามกลางการเคลื่อนไหวปฏิบัติที่เป็นจริง
อดีตสหภาพโซเวียต รัฐสังคมนิยมแห่งแรกของโลก เลือกที่จะใช้วิธีการวางแผนจากส่วนกลาง ดำเนินการสร้างสรรค์สังคมนิยม และกลายเป็น “ต้นแบบ”ของการพัฒนาระบอบสังคมนิยมโลกไปโดยปริยาย เพราะต่อมา กลุ่มประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกและประเทศจีนก็ได้ใช้วิธีการดังกล่าวดำเนินการสร้างสรรค์ระบอบสังคมนิยม
อย่างไรก็ดี ในระหว่างนั้น ได้ปรากฏมีเหตุการณ์หลายอย่างที่ส่อไปในทางชวนสงสัยว่า การพัฒนาระบอบสังคมนิยมตามแบบอดีตสหภาพโซเวียต ถูกต้องแล้วหรือ ? เช่น การพัฒนาระบอบสังคมนิยมของอดีตยูโกสลาเวีย ที่ผิดแผกไปจากของอดีตสหภาพโซเวียต จนกระทั่งถูกผู้นำอดีตสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกพากันประณามว่าเป็นพวกแตกแถว นอกจากนั้น การเคลื่อนกองทัพรถถังเข้ายึดกรุงปูดาเปสต์ของอดีตสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ.1956 ก็ทำให้หลายฝ่ายตั้งปุจฉาว่า อดีตสหภาพโซเวียตกำลังเลือกใช้วิธีการควบคุมประเทศบริวาร ในทำนองเดียวกันกับมหาอำนาจทุนนิยมผูกขาดที่ก้าวเข้าสู่ขั้นของความเป็นจักรพรรดินิยม ซึ่งต่อมา เมื่อรัฐบาลอดีตสหภาพโซเวียตดำเนินนโยบายขยายอำนาจทางทหารแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาไปทั่วทุกทวีป มุ่งแผ่อำนาจครอบโลก พรรคฯจีนจึงได้ตราหน้าว่าเป็น “สังคม-จักรพรรดินิยม” มีลักษณะรุกรานเช่นเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา ตัวแทนของจักรพรรดินิยมในโลกทุนนิยม
ลักษณะรวมศูนย์ ผูกขาดอำนาจ ความไม่เสมอภาค ไม่เป็นประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศ(อดีต)สังคมนิยมเหล่านั้น เป็นจุดหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดของการดำเนินการสร้างสรรค์ระบอบสังคมนิยมตามแบบอดีตสหภาพโซเวียต
สะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาดของการสร้างสรรค์ระบอบสังคมนิยมที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง
ในทางเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดของการพัฒนาประเทศด้วยวิธีการวางแผนจากส่วนกลาง ไม่เอื้อต่อการปลดปล่อยพลังการผลิตและพัฒนาพลังการผลิตอย่างต่อเนื่องระยะยาว ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างแท้จริง เทียบไม่ได้กับประเทศทุนนิยมโลก อีกนัยหนึ่ง ไม่สนองตอบความต้องการทั้งทางวัตถุและจิตใจของประชาชนอย่างแท้จริงและอย่างรอบด้าน
ในทางความรับรู้ หรือปัญญา แสดงว่า กลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์อดีตสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก ยังไม่ได้ค้นพบคำตอบที่แท้จริงว่า สังคมนิยมคืออะไร ? การพัฒนาสังคมนิยมต้องทำอะไร ? และจำเป็นต้องทำอย่างไร ?
โดยภาพรวม การพัฒนาสร้างสรรค์ระบอบสังคมนิยมของกลุ่มอดีตสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก ไม่สามารถก้าวพ้น “กับดักทางปัญญา” คือดำเนินแนวทางนโยบายต่างๆจากการตีความทางทฤษฎีในตำรา ยึดติดในองค์ความรู้จากการตีความ (ใช้หลักทฤษฎีเป็นตัวตั้ง) มากกว่าจากการรับรู้ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวปฏิบัติของมวลชน ที่ปรับเปลี่ยนแนวคิดทฤษฎี และนโยบายต่างๆ ไปตามการรับรู้ใหม่ๆที่ได้จากการเคลื่อนไหวปฏิบัติของมวลชนในห้วงประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ที่จะต้องใช้วิธีการใหม่ๆ แก้ไขปัญหาใหม่ๆเสมอไป
อีกนัยหนึ่ง ความผิดพลาดของกลุ่มอดีตสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก มีต้นตอมาจากความผิดพลาดทางปรัชญา ไม่ยึดมั่นในจุดยืน ทัศนะ วิธีการมาร์กซิสม์ ไม่ใช้จุดยืน ทัศนะ และวิธีการแบบมาร์กซิสม์ไปมองโลก ไปกำหนดแนวทางชีวิต คือไม่เกิดโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่ดี ที่ถูกต้องเป็นวิทยาศาสตร์ จึงไม่เกิดปัญญาชี้นำที่ถูกต้อง ไม่เกิดการปฏิบัติที่สอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการของประชาชน
พูดแบบไทยๆก็ว่า ไม่เกิดความสว่าง ไม่รู้แจ้งเห็นจริง อันสืบเนื่องจากการตกอยู่ในภาวะ “โลภ โกรธ หลง”ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จึงไม่สามารถนำพาตนเองก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งความเจริญ กระทั่งพบจุดจบในที่สุด ซึ่งก็คือการล่มสลายอย่างรวดเร็วของกลุ่มอดีตสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออกในปลายทศวรรษ ค.ศ.1980 และต้นทศวรรษ ค.ศ.1990
สำหรับประเทศจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนตระหนักดีถึงการ “ก้าวข้ามขั้น”ทางประวัติศาสตร์ ในการร่นระยะเวลาการพัฒนาสังคมจีน จากสังคมเก่าที่เป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาไปสู่สังคมใหม่ที่เป็นสังคมนิยม
การทำความเข้าใจสภาวะความเป็นจริงของตนเองจึงเป็นสิ่งแรกที่ชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะต้องทำ เพื่อกำหนดว่า ตนเองจำเป็นจะต้องทำอะไรบ้าง ?
อีกนัยหนึ่ง จะต้องตีความให้แตกว่า สังคมนิยมคืออะไร ? สังคมนิยมจีนเป็นอย่างไร ? แล้วจึงจะรู้ว่า ควรจะพัฒนาสร้างสรรค์ระบอบสังคมนิยมแบบจีนไปในแนวไหน ? อย่างไร ?
ทั้งหมดจะดำเนินไปได้อย่างถูกต้อง ก็ด้วยจุดยืน ทัศนะ วิธีการมาร์กซิสม์ !
ซึ่งตีความได้ว่า ทุกอย่างต้องเริ่มจากความเป็นจริง ต้องปลดปล่อยความคิด หาสัจจะจากความเป็นจริง ทุกอย่างต้องเริ่มจากผลประโยชน์ของมวลชน อาศัยมวลชน เพราะปวงประชามหาชนคือผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่แท้จริง !
ดังนั้น การคิดการทำอะไรก็ตาม ที่เริ่มจากผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน เช่นการปฏิรูประบบ กลไก โครงสร้าง อำนาจรัฐ ให้เอื้อต่อการปลดปล่อยพลังการผลิต พัฒนาพลังการผลิต เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อสนองตอบความเรียกร้องต้องการของประชาชนอย่างรอบด้าน ทั้งทางวัตถุและจิตใจ ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกต้องเสมอ !
นี่คือเหตุผลเบื้องต้น ของการหลุดพ้นจากชะตากรรม “ล่มสลาย”ของระบอบสังคมนิยมจีน !
---------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น