xs
xsm
sm
md
lg

โบราณคดียูนนาน

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

เคยเล่าเรื่องยูนนานก่อนเป็นจีนไว้อย่างย่อๆ อยากจะขยายความต่ออีกสักหน่อย ในสองฉบับก่อน เล่าถึงช่วงที่ “เตียนอ๋อง” ต้องยอมสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ อำนาจอิทธิพลของราชสำนักจีนเริ่มแผ่เข้าครอบงำยูนนานมากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องราวเตียนก๊กล่มสลาย และราชสำนักซีฮั่น (ฮั่นตะวันตก) จัดตั้งการปกครองระบบอำเภอขึ้นนั้น มีบันทึกอยู่ในทั้งจดหมายเหตุ “สื่อจี้” บรรพซีหนานอี๋เลี่ยจ้วน (ประวัติชนเผ่าต่างๆ ในภาคตะวันตกเฉียงใต้) และจดหมายเหตุ “ฮั่นซู” บรรพซีหนานอี๋จ้วน (ประวัติชนเผ่าในภาคตะวันตกเฉียงใต้)

เหตุที่ราชสำนักซีฮั่นยังคงให้ประมุขของเตียนก๊กเป็น “อ๋อง” (ราชา) ต่อไป อาจจะเนื่องจากเตียนอ๋องยอมสวามิภักดิ์ถือว่ามีความดีความชอบ หรืออาจเนื่องจากเมื่อราชสำนักซีฮั่นจัดตั้งแบ่งพื้นที่ปกครองเป็นแคว้นและอำเภอขึ้น เตียนอ๋องมิได้มีท่าทีต่อต้านขัดขวาง หรืออาจเนื่องจากดินแดนชนชาติส่วนน้อยทางชายแดนที่เพิ่งจะสวามิภักดิ์นั้น ราชสำนักซีฮั่นยังไม่อาจจะใช้อำนาจเต็มที่ได้โดยตรง ดังนั้นถึงแม้จะจัดตั้งแคว้นและอำเภอขึ้น แต่ก็ยังพระราชทานราชลัญจกรอ๋องให้เตียนอ๋อง และให้เป็นใหญ่เหนือราษฎรของตนต่อไป

ดังนี้ ในแดนเตียนก๊กจึงมีทั้งอำนาจส่วนท้องถิ่นของเตียนก๊ก และระบบแคว้น-อำเภอ ของราชสำนักซีฮั่น ดำรงอยู่ซ้อนกันในเวลาเดียวกัน

ในทางเป็นจริงนั้น ในขั้นแรกเริ่มจัดตั้งรูปแบบการปกครองระบบแคว้น-อำเภอ แม้จะมีการแต่งตั้งขุนนางปกครองแคว้น (จวิ้นไท่โส่ว) และนายอำเภอ (เสี้ยนลิ่ง) แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะพำนักอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆ เมืองหลวง มีน้อยนักที่จะมีขุนนางจีนลงไปกำกับการปกครองถึงระดับท้องถิ่นจริงๆ

อย่างไรก็ตาม สภาพที่มีก๊กดำรงอยู่ซ้อนในก๊กดังกล่าว ก็มิได้ดำรงอยู่ยาวนาน ครั้นถึงช่วงกลางของยุคซีฮั่น ราษฎรจากดินแดนส่วนใน (เหนือยูนนานขึ้นไป) จำนวนมากอพยพไปอยู่ยูนนาน ระบบปกครองแคว้น-อำเภอจึงมั่นคงสมบูรณ์ขึ้น แล้วค่อยๆ เข้าแทนที่การ “เป็นใหญ่เหนือราษฎรของตนต่อไป” ของอำนาจปกครองเตียนก๊กเดิม

ถึงช่วงต้นของยุคตงฮั่น (ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก) ชื่อของเตียนก๊กและเตียนอ๋อง แม้จะปรากฏในจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ของจีนอยู่บ้าง แต่อิทธิพลของอารยธรรมเตียนก็ยังคงหลงเหลืออยู่ จนกระทั่งถึงช่วงกลางของยุคตงฮั่นแล้ว เตียนก๊กและอารยธรรมเตียนจึงจะนับว่าจบสิ้นไป

ชนพื้นเมืองในยูนนานก็ค่อยๆ รับวัฒนธรรมแบบจีนมากขึ้นเรื่อยๆ

คนหัวเซี่ย (จีนดั้งเดิม) ที่อพยพโยกย้ายไปอยู่ในยูนนาน ช่วงแรกๆ มักจะต้องยอมรับปฏิบัติตัวตามวัฒนธรรมของคนพื้นเมือง ซึ่งคนพื้นเมืองยังมีจำนวนมากกว่าคนจีนอพยพ ผู้คนที่มีจำนวนน้อยกว่า ย่อมจะต้องยอมเป็นฝ่าย “รับ” ปรับตัวให้คล้ายคลึงกับชนพื้นเมืองที่เป็นคนส่วนใหญ่

คนจีนอพยพรุ่นแรกๆ อยู่ในแดนยูนนานนานไปๆ ก็มีอำนาจอิทธิพลเป็นตระกูลใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตระกูลใหญ่ที่เดิมเป็นคนจีนอพยพจากเสฉวนลงไปอยู่ในยูนนานตระกูลหนึ่งคือ “ตระกูลเหมิ่ง” หรือที่ในสามก๊กฉบับพระยาพระคลังเรียกว่า “เบ้ง”

ในยุคสามก๊ก ขงเบ้งหรือจูกัดเหลียงแห่งจ๊กก๊ก (เสฉวน) จำเป็นต้องกำราบปราบปรามชนเผ่าทางภาคใต้ให้สงบราบคาบเสียก่อน ก่อนที่จะกล้ายกทัพขึ้นไปตีวุยก๊ก ดังนั้นจึงเกิดเรื่องขงเบ้งรบเบ้งเฮ๊กขึ้น ในดินแดนยูนนาน

เบ้งเฮ็กเป็นคนที่ชาวไทยสนอกสนใจ เพราะมีผู้ใหญ่ในอดีตให้ความเห็นทำนองว่า เบ้งเฮ๊กอาจจะเป็นคนไท

เรื่องนี้ผมได้เขียนเสนอข้อมูลใหม่ๆ พิสูจน์ว่า “เบ้งเฮ็ก” เป็นคนสืบเชื้อสายจากคนจีนที่อพยพเข้าไปอยู่ยูนนานในรุ่นแรกๆ ตระกูลเหมิ่งหรือเบ้งที่เข้าไปอยู่ในยูนนานรุ่นแรกๆ นั้น ยอมรับปฏิบัติตัวตามวัฒนธรรมประเพณีของชนพื้นเมือง เข้าผสมผสานสนิทกับคนพื้นเมือง จนกระทั่งรุ่นต่อๆ มาได้รับการยอมรับว่าเป็นคนพื้นเมือง และสามารถมีอิทธิพลสูงขึ้นจนกลายเป็นชนชั้นปกครองได้

รายละเอียดมีอยู่ในหนังสือเรื่อง “เบ้งเฮ็กไม่ใช่คนไท” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สุขภาพใจ เมื่อหลายปีก่อน ขายไปได้ไม่กี่เล่มหรอกครับ ยังเหลืออยู่อีกมากมาย อาจจะเนื่องจากเขียนอะไรลึกไปหน่อย คือหนังสือเล่มนี้จริงๆ แล้วเป็นวิชาการเกี่ยวกับเรื่องชาติพรรณวรรณาวิทยาในสมัยสามก๊ก ซึ่งหัวข้ออย่างนั้นมีคนสนใจน้อย แต่ก็อยากจะแนะนำว่า ใครที่สนใจเรื่องความเป็นมาของชนเผ่าไท คนไทมาจากไหน อะไรทำนองนั้น ไม่ควรพลาดนะครับ

หลังจากยุคสามก๊กแล้วชนพื้นเมืองในยูนนานก็ยังไม่ถูกกลืนเป็นจีนหมด ยังมีการต่อต้านสู้รบกับจีนอยู่เรื่อยๆ แต่ในที่สุดก็ถูกกลืนไปเกือบหมด ยังหลงเหลือเป็นชนชาติส่วนน้อยอยู่ก็ตามพื้นที่รอบนอกและชายแดนเท่านั้น ในพื้นที่เตียนก๊กเก่านั้น กลายเป็นจีนไปหมดแล้ว

เรื่องของเตียนก๊ก เรื่องราวของเส้นทางการค้าจากเสฉวนผ่านกุ้ยโจว ผ่านยูนนาน ผ่านทะเล อ่าวเบงกอลสู่อินเดียใต้ หรือผ่านภาคเหนือของพม่าเข้ารัฐอัสสัมข้ามแม่น้ำพรหมบุตรสู่อินเดีย ได้ถูกหลงลืมไปนมนาน จนกระทั่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลเจียงไคเช็คพ่ายหนีกองทัพญี่ปุ่นไปอยู่จุงกิง (เมืองฉงชิ่ง) ฝ่ายสัมพันธมิตรอังกฤษอเมริกาจะสนับสนุนอาวุธยุทธภัณฑ์ให้เจียงไคเช็คได้อย่างไร เกิดปัญหาที่ต้องรีบดำเนินการ จึงทำให้เกิดความคิดตัดถนนจากอินเดียผ่านพม่าเข้ายูนนานขึ้น เรียกกันว่าเส้นทางถนนพม่า Bermese Road อันที่จริงเส้นทางนี้ก็คือเส้นทางคมนาคมที่เคยมีอยู่แล้วตั้งแต่ยุคเตียนก๊ก หรือก่อนเตียนก๊กเสียด้วยซ้ำ

ความสำคัญของเตียนก๊กจึงเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น และยิ่งได้รับความใส่ใจอย่างเต็มที่เมื่อมีการขุดค้นพบสุสานโบราณยุคเตียนก๊ก สามแห่งใหญ่ๆ ได้แก่ สุสานสือไจ้ซาน อำเภอผู่หนิง สุสานหลี่เจียชุน อำเภอเจียงชวน และสุสานหยางผู่กวน อำเภอกวนตู้ เพราะได้พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “มโหระทึก” ที่จีนเรียกว่า “กลองสำริด”

วัฒนธรรมมโหระทึกเป็นวัฒนธรรมสำคัญมากในเอเชียอาคเนย์ครับ มโหระทึกเป็นแกนเรื่องของวัฒนธรรมความเชื่อทางศาสนาในภูมิภาคนี้ ก่อนที่คติความเชื่อทางศาสนาจากอินเดียและจีนจะแพร่เข้ามาถึงสุวรรณภูมิ.
กำลังโหลดความคิดเห็น