xs
xsm
sm
md
lg

สังคมนิยม – เครื่องมือสร้างชาติ (1)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ดาวโลกใบนี้ยังคงมีขนาดเท่าเดิม แต่ความเจริญทางก้าวหน้าทางด้านวิทยาการยุคใหม่ ทำให้ดูเหมือนโลกเล็กลงไปมากในความรู้สึกของคน และนับวันจะรู้สึกว่ามันเล็กลงไปเรื่อยๆ เล็กจนกระทั่งเราๆท่านๆรู้ได้ทันทีว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นบนผิวโลกนี้ จากนี้ไปประเมินว่ามันจะส่งผลกระทบต่อตนเองอย่างไร ตนเองควรจะทำตัวอย่างไร
ในระดับปัจเจกชนที่เป็นเรื่องของแต่ละคน ใครจะคิดจะทำอะไร ดูจะเป็นเรื่องของใครของมัน ใครไปเอามาใส่ใจก็กลายเป็นเรื่อง “แบก”ภาระเปล่าๆ ยกเว้นบางเรื่องที่โดดเด่น เป็นแบบอย่างที่คนส่วนใหญ่ศึกษานำไปปรับใช้กับตนเองได้ ก็จะได้รับความสนใจจากคนทั่วไป มีการศึกษาเลียนแบบทำตาม หวังที่จะได้มรรคได้ผลตามอย่างของบุคคลที่เป็นแบบอย่างเหล่านั้น
ตรงนี้พิสูจน์ว่า ชาวโลกในยุคที่สังคมโลกเชื่อมโยงเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันแล้วนี้ กำลังให้ความสนใจในการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่าของเพื่อนร่วมโลกด้วยกัน โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นคนชาติไหน ผิวสีอะไร อยู่ในสภาพแวดล้อมทางสังคมแบบไหน
อีกนัยหนึ่ง การเข้าถึงความจริงของโลก กลายเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลไปแล้ว การรับรู้ในความเป็นจริงที่ดำรงอยู่หรือกำลังดำเนินไป ทำให้เขาหรือเธอเกิดประกายความคิด สามารถได้คำตอบเฉพาะตัวในท่ามกลางกระบวนการปุจฉาและวิสัชนาของตนเอง กระบวนการถักทอทางปัญญาดำเนินไปในหมู่สมาชิกชาวโลกไปในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา
จำนวนคนเช่นนี้นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นแนวโน้มที่ไม่อาจต้านทานได้ นี่กระมังที่เป็นเหตุผลของนักมองโลกในแง่ดี ที่เชื่อมั่นเสมอว่า “วันพรุ่งนี้ย่อมดีกว่าวันนี้”
ปรากฏการณ์ที่สะท้อนการมองโลกในแง่ดีเช่นนี้ ปัจจุบันกำลังมีมากขึ้นเรื่อยๆในประเทศจีน
มองในฐานะ “คนนอก” ที่ติดตามพัฒนาการเปลี่ยนแปลงของสังคมจีนและคนจีนมาโดยตลอด พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนจีนเกิดความเชื่อมั่นในชีวิตอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ที่สำคัญที่สุดก็เพราะการดำเนินการพัฒนาประเทศตามแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนยุคใหม่ ที่ถือเอาการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยเป็นภารกิจใจกลาง หรือที่เรียกว่าทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง
การบริหารประเทศตามแนวคิดทฤษฎีดังกล่าว นำมาสู่การพัฒนาศักยภาพการบริหารประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในฐานะพรรคการเมืองใช้อำนาจบริหารประเทศอย่างแท้จริง ปัจจุบันคณะผู้นำพรรครุ่นที่ 4 ที่มีหูจิ่นเทาเป็นแกนนำได้ผลักดันแนวนโยบายพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยแบบใหม่ๆออกมาใช้อย่างได้ผล เพียงสามปีเศษนับตั้งแต่ขึ้นบริหารประเทศ (ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.2002) ก็ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆให้แก่ประเทศจีนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ขนาดเศรษฐกิจจีนเขยิบขึ้นมาเป็นอันดับ 4 ของโลก คนจีนมีรายได้สูงขึ้น กลุ่มชนชั้นกลางมีขนาดใหญ่ขึ้น การพัฒนาประเทศด้วยทัศนะที่เป็นวิทยาศาสตร์ เน้นการยกระดับคุณภาพของชีวิต “คน” กระจายโอกาสไปยังเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของจีนชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภาพลักษณ์”ของผู้จีนชุดปัจจุบัน ที่ให้ความเอาใจใส่คนจีนระดับล่างเป็นพิเศษ ใช้จังหวะและโอกาสในช่วงปีใหม่และตรุษจีน ลงไปร่วมเฉลิมฉลองกับครอบครัวคนยากคนจนในชนบททุกครั้งไป พร้อมกับชี้แจงแนวนโยบายที่พรรคและรัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสถานภาพชีวิตของชาวจีนส่วนใหญ่ในชนบทอย่างทั่วถึง สร้างความหวังความอบอุ่นให้แก่ประชาชนชาวจีนผู้ยากไร้ ว่าวันเวลาที่พวกเขาจะหลุดจากภาวะอัตคัดขาดแคลนอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมเลย ยิ่งทวีความเชื่อมั่นในพรรคและรัฐบาล และเกิดกำลังใจที่จะต่อสู้กับชีวิตต่อไป
การสร้างชีวิตสุข หลุดพ้นจากความทุกข์ กลายเป็นจิตใจร่วมกันของผู้นำและประชาชนชาวจีนไปโดยปริยาย
สังคมจีนจึงเปี่ยมล้นไปด้วยบรรยากาศแห่งความหวัง ทุกคนมองเห็นอนาคตข้างหน้า ว่าจะต้องสดใสกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน
ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตของคนจีนจึงพุ่งโด่งนำลิ่วติดต่อกันหลายปี
สำหรับเราซึ่งเป็นคนนอก บ่อยครั้งที่เคยกังขาถึงความสำเร็จของคณะรัฐบาลจีน ว่าอาจเป็นเพราะพวกเขานำเอาระบอบทุนนิยมมาปรับใช้กับประเทศจีนแล้วกระมัง ถึงประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้
ในสายตาของนักวิชาการตะวันตกจำนวนมากเห็นว่า การนำเอาระบบเศรษฐกิจตลาดมาใช้ในประเทศจีน ก็คือการทำจีนให้เป็นทุนนิยม การพัฒนาของจีนจะต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของระบอบทุนนิยม การเมืองของจีนสักวันหนึ่งจะต้องเป็นแบบตะวันตก คือมีหลายพรรคและรัฐบาลได้มาจากการเลือกตั้ง
แต่นักทฤษฎีมาร์กซิสม์ของจีนบอกว่า ทัศนะดังกล่าว “เชย”สิ้นดี เข้าไม่ถึงความจริงของจีนในระดับองค์รวม เปรียบได้กับตาบอดคลำช้าง
เพราะกระบวนการบริหารประเทศที่กำลังดำเนินไปในประเทศทุกวันนี้ เป็นไปตามแนวคิดทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิงอย่างแท้จริง นั่นคือ มุ่งพัฒนาพลังการผลิต ปลดปล่อยพลังการผลิต ทำลายการกดขี่ขูดรีด ขจัดการแยกขั้วระหว่างคนรวยกับคนจน เพื่อก้าวไปสู่ความมั่งคั่งร่วมกัน ฯลฯ ทั้งหมดเป็นสาระสำคัญของระบอบสังคมนิยมขั้นปฐมแบบจีน ที่ถือเอาการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นภารกิจใจกลางในการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย โดยคณะผู้บริหารชุดปัจจุบันได้ขยายความเป็นการพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ที่สำคัญคือ พรรคและรัฐบาลจีนยุคใหม่มุ่งปฏิรูประบบกลไกต่างๆอย่างต่อเนื่อง ใช้การปฏิรูปเป็นพลังขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนา การพัฒนาพัฒนาขยายตัวไปในทางที่ดี เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็ด้วยการปฏิรูประบบ กลไก โดยเฉพาะการปฏิรูปทางการเมือง กฎหมาย เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ที่เกิดมรรคผลแก่ประชาชนชาวจีนมากที่สุดอย่างทั่วด้าน
ในการตีความการปฏิรูประบบ กลไก เช่นการนำเอาระบบเศรษฐกิจตลาดเข้ามาปรับใช้ในระบอบสังคมนิยม(ขั้นปฐม)ของจีน ถ้าจะให้ถูกต้องน่าจะเป็นว่า พรรคและรัฐบาลจีน พยายามทุกวิถีทางในการนำเอาสิ่งต่างๆเข้ามาประยุกต์ใช้ในระบอบสังคมนิยมของจีน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ระบอบสังคมนิยมแบบจีน ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน
นั่นหมายความว่า ถ้าเราไม่มองจีนโดยไม่เอา “เอกลักษณ์”จีนเป็นตัวตั้ง อาจตีความระบอบสังคมนิยมจีนผิดไปจากความเป็นจริง(ของจีน)
เช่น เราอาจมองว่า จีนก็เช่นเดียวกับประเทศอื่น มุ่งพัฒนาตนเอง สร้างความมั่งคั่งให้ตนเอง รุกไปทุกทาง เพื่อครอบงำผู้อื่น
ตามตรรกะเช่นนี้ จงไห่อิ๋วหรือ “ซีนุ๊ก”ก็ไม่มีอะไรแตกต่างจากเทมาเส็ก ทุนแห่งรัฐของสิงคโปร์ก็ไม่มีอะไรแตกต่างจากทุนแห่งรัฐของจีน
ทุนจีนก็เหมือนทุนโลกอื่นๆ ประเทศจีนก็เหมือนประเทศทุนนิยมครอบโลกอื่นๆ
ในที่สุดก็จะได้คำตอบว่า สังคมนิยมจีนก็ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากทุนนิยมตะวันตก กระทั่งแย่กว่าเสียอีก เพราะประชาชนไม่มีสิทธิมีเสียงแม้กระทั่งออกเสียงเลือกตั้งผู้นำของตนเอง !
การมองจีนใน “แง่ร้าย” เช่นนี้ มีอยู่เกลื่อนเวทีอภิปราย ไม่มีอารมณ์ร่วมกับชาวจีนที่นับวันยิ่ง “ซาบซึ้ง”ในผลงานรัฐบาลจีน และความเชื่อมั่นในระบอบสังคมนิยมแบบจีนแต่ประการใด

-----------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น