xs
xsm
sm
md
lg

“อมตะ” ในค่านิยมจีน

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

‘อมตะ’ในที่นี้หมายถึง การดำรงอยู่ยั่งยืนยาวนาน จะบอกว่านิรันดรก็เห็นจะไม่ได้ เพราะไม่มีสรรพสิ่งใดเป็นนิรันดร์ จะอยู่ได้ยาวนานมากเพียงใด สุดท้ายก็ยังต้องมีวันเปลี่ยนแปลง

แต่เอาแค่ว่า อยู่คู่กับประวัติศาสตร์โลกได้เท่านั้น ในบทความนี้ขออนุโลมเรียกว่าอมตะ

อะไรหรือสิ่งใดเป็นอมตะ ตามค่านิยมจีนโบราณ
ความเป็นอมตะ แบ่งได้สองด้าน

ด้านแรก คือความเป็นอมตะทาง ‘กาย’หมายถึงการมีชีวิตเป็นอมตะ ไม่แก่ไม่ตาย อยู่มันไปอย่างนั้นชั่วนิรันดร์ ซึ่งเรื่องนี้เราๆท่านๆก็รู้กันดีว่ามันเป็นไปไม่ได้

แต่ในสมัยโบราณ ที่มนุษย์เรายังมีความเชื่อทางไสยศาสตร์อยู่มาก คนในหลายๆชาติก็มีคติความเชื่อว่า มนุษย์เราอาจแสวงหาชีวิตเป็นอมตะได้ ทางจีนเขาก็มีความเชื่อเรื่องกินยาวิเศษไปแล้ว สามารถกลายเป็นเซียน มีชีวิตเป็นอมตะได้

ความเชื่อนี้มีต้นธารจากไสยศาสตร์ แล้วมาผสมผสานเข้ากับลัทธิเต๋า พัฒนาเป็นศาสนาที่มีความเชื่อเรื่องเวทย์มนตร์คาถา ยันตร์ศักดิ์สิทธ์ ยาวิเศษที่กินแล้วทำให้ชีวิตเป็นอมตะ

ความคิดนี้แพร่หลายมากทีเดียว คนที่มีอำนาจวาสนา มีเงินมีทองมาก มักจะอยากอยู่เป็นอมตะ ลงทุนแสวงหายาวิเศษเพื่อทำให้ตนมีชีวิตเป็นอมตะ อย่างเช่นจิ๋นซีฮ่องเต้ ก็ลงทุนใช้ทรัพย์สินไปในการแสวงหายาวิเศษเป็นจำนวนมหาศาล

ส่วนความเป็นอมตะด้านที่สอง ผมขอเรียกว่าด้านจิตใจ คือร่างกายนั้นตายจากโลกนี้ไปนานแล้ว แต่ก็ยังมีผู้คนจดจำ รู้จักเรื่องราวอันดีงามในชีวิตของคนผู้นั้นที่ตายไปแล้ว

ในจุดนี้มีความหมายต่อสังคมมากทีเดียว เพราะทำให้ “คนดี”ได้รับการยกย่องเชิดชู “คนเลว” ก็ถูกด่าประณาม ตลอดไป

เรื่องราวความเป็นอมตะในวัฒนธรรมจีนนี้ ผมได้รับฟังจากการอภิปรายของอาจารย์ ถาวร สิกขโกศล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนท่านหนึ่ง เมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา

เป็นรายการของ “อาศรมสยาม -จีนวิทยา” ประจำเดือนนี้ ซึ่งรายงานนี้พูดที่ตึกศิลปศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์ ถึงแม้ว่าจะย้ายที่จัดจากตึกซีพี สีลม มาจัดในมหาวิทยาลัย แต่แฟนประจำก็ยังเหนียวแน่น นี่ถ้าหากว่าการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าทำได้ดีขึ้น งานเผยแพร่วัฒนธรรมจีนของ “อาศรมสยาม-จีนวิทยา” ประจำเดือนก็คงจะมีผู้เข้าฟังมากขึ้น

ย้อนกลับมาถึงเรื่องค่านิยมจีนเกี่ยวกับความเป็นอมตะ
อาจารย์ถาวร สิกขโกศล ได้ยกเอาเรื่องราวใน จดหมายเหตุ “จั่วจ้วน” บรรพหลู่เซียงกง มาเป็นแนวคิดว่า คุณค่าของคนหรือของชีวิตคนๆหนึ่งคืออะไร

คำตอบคือ
คุณค่าสูงสุดคือได้ก่อคุณธรรม ลี่เต๋อ
คุณค่ารองลงมาคือได้ก่อวีรกรรม ลี่กง
คุณค่ารองลงไปคือได้ก่อธรรมพจน์ ลี่เหยียน

“ก่อคุณธรรม” ในที่นี้ หมายถึง เป็นผู้ประพฤติธรรม มีศีลธรรม คุณธรรม เป็นแบบอย่างแก่ชนชาวโลกในการทำความดี รักษาคุณธรรม ถ้าอย่างสูงสุดเห็นได้ชัดก็ได้แก่ศาสดาทั้งหลายในโลกนี้แหละครับ เป็นแบบอย่างที่ดีได้ ชื่อเสียงด้านดีงามของคนผู้นั้นก็คงทนสถาพร อย่างเช่นเรื่องราวใน “ยี่จั๊บสี่เห่า” อันเป็นเรื่องของบุตรที่กตัญญูกตเวทิตา บิดามารดาอย่างถึงที่สุด 24 คน ได้รับการบันทึกเป็นแบบอย่างให้เยาวชนจีนศึกษา สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นต้น

“ก่อวีรกรรม” ในที่นี้หมายถึงสร้างผลงาน ที่เป็นประโยชน์แก่สังคม แก่ประเทศชาติ ทั้งนี้ผลงานที่ทำนั้นก็ต้องไม่ขัดกับหลักศีลธรรมอันดีด้วย

.“ก่อธรรมพจน์” ในที่นี้หมายถึง ได้ฝากคำตอบที่ดีงามไว้ให้คนรุ่นหลังประพฤติปฏิบัติตาม ศาสดา นักบุญ กวี นักประพันธ์ หรือรัฐบุรุษ ก็ได้ฝากคติพจน์คำกลอนที่เขากล่าวหรือเขียนไว้ ยั่งยืนอยู่เป็นอมตะคู่กับสังคมมนุษย์

นี่คือคุณค่าของคน

เป็นอุดมคติสอนให้ลูกหลานจีนตั้งตนเป็นคนดี (ใครจะเชื่อไม่เชื่อนั่นอีกเรื่องหนึ่ง)

ความรวยแสนล้าน การเป็นนายกรัฐมนตรีกี่ปีกี่สมัย ไม่ใช่เรื่องอมตะ

การ “ก่อคุณธรรม” หรือ “ก่อวีรกรรม” หรือ “ก่อธรรมพจน์ ” ต่างหาก จะทำให้เป็นอมตะ

สุดท้ายผมขอยกเอาเนื้อความในจดหมายเหตุ “จั่วจ้วน” บรรพ “หลู่เซียงกง” แปลโดยอาจารย์ถาวร สิกขโกศล มาเตือนใจคนในสังคมไทยทุกวันนี้ ดังนี้

“ปี 24 รัชกาลหลู่เซียง (ก่อน ค.ศ. 549 ปี ) ซู่ซุนเป้าอัครมหาเสนาบดีแคว้นหลู่ไปเยือนแคว้นจิ้น ฟ่านซวนจื่อ อัครมหาเสนาบดีแคว้นจิ้นออกมาต้อนรับ แล้วถามว่า “โบราณมีคำกล่าวว่า ตายแล้วเป็นอมตะ คืออย่างไร” ซู่ซุนเป้ายังไม่ทันตอบ ฟ่านซวนจื่อ ก็พูดต่อไปว่า “บรรพชนของข้าพเจ้า ตั้งแต่ยุคพระเจ้าซุ่นตี้ขึ้นไป มีบรรดาศักดิ์เป็นเถาถังซื่อ (พระยานครเถาถัง) สมัยราชวงศ์เซี่ยเป็นอวี้หลงซื่อ (พระยานครอวี้หลง) สมัยราชวงศ์ซางเป็นลื่อเหวยซื่อ (พระยาลื่อเหวย) ราชวงศ์โจวเป็นฟ่านซื่อ ( พระยานครฟ่าน) นี่คือความเป็นอมตะละกระมัง”

ซู่ซุ่นเป้าตอบว่า “เท่าที่ข้าพเจ้าได้ฟังมา นี่คือการสืบยศถาบรรดาศักดิ์ มิใช่ความเป็นอมตะ ในอดีตแคว้นหลู่มีอัครมหาเสนาบดีชื่อจังเหวินจ้งแม้ล่วงลับไปแล้ว วาทะของท่านยังแพร่หลายอยู่ นี่แหละคงจะใช่ความเป็นอมตะ ข้าพเจ้าเคยสดับมาว่า สูงสุดคือสร้างคุณธรรม รองลงมาคือสร้างผลงาน ถัดลงมาคือสร้างคมวาทะ (หรือวรรณกรรม) แม้นานก็มิเสื่อมสลาย นี้แลคืออมตะ ส่วนการพิทักษ์กุลวงศ์ธำรงกุลศักดิ์ เพื่อรักษา ศาลกุลเทพบิดรให้สถิตสถาพร มีอนุชนสืบศักดิ์เซ่นสรวงมิขาดสายนั้น พบเห็นได้ทั่วทุกแคว้น เป็นความยิ่งยงของยศศักดิ์ หาใช่ความเป็นอมตะไม่”
กำลังโหลดความคิดเห็น