xs
xsm
sm
md
lg

บันทึกความทรงจำจาก 'หัวซาน'

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ภูตะวันตก หัวซาน (华山)
แดดยามเช้า ทาบลงบนหลังคาของเก๋งจีนสีขาวปลอด
ผู้คนเริ่มทยอยเดินลงจากยอดเขา หลังพระอาทิตย์เริ่มแผดแสงแรงขึ้นเรื่อยๆ
ลมพัดเอื่อย ผมยังคงนั่งกอดเข่ามองท้องฟ้าในยามเช้า มองเทือกเขาที่ทอดตัวซ้อนกันเป็นชั้นๆ ชั้นๆ มองขอบฟ้าเวลาอรุณ มองเหล่าวิหคที่ออกหากินตามกิจวัตร

เช้าวันนี้ผมอยู่ห่างจากเมืองซีอาน มาทางทิศตะวันออก 120 กิโลเมตร นั่งอยู่บนยอดภูตะวันตกแห่งแผ่นดินจีน ที่รู้จักกันในนาม ....... หัวซาน

หัวซาน (华山) หรือ ภูตะวันตก นับเป็นหนึ่งใน 5 ยอดเขาแห่งแผ่นดินจีนหรือที่เรียกกันว่า อู่เยว่ (五岳) โดยอีกภูเขาอีกสี่แห่งที่เหลือนั้นประกอบไปด้วย เหิงซาน (恒山) ภูเหนือในมณฑลซานซี เหิงซาน (衡山) ภูใต้ในมณฑลหูหนาน ไท่ซาน (泰山) ภูตะวันออกในมณฑลซานตง และซงซาน (嵩山) ภูกลางในมณฑลเหอหนาน

นอกเหนือไปจากที่ 'หัวซาน' จะเป็นหนึ่งในยอดสำนักยุทธ์แห่งบู๊ลิ้มที่คนบ้านเราคุ้นหูกันในนิยายจีนกำลังภายในแล้ว ในโลกแห่งความเป็นจริงบรรพตแห่งนี้ยังถือว่ามีความสำคัญมากกับชาวจีน ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และเชิงวัฒนธรรม

ด้วยความที่หัวซาน ตั้งตระหง่านอยู่บนที่ราบดินเหลืองแหล่งฟูมฟักชนชาติจีน ทั้งยังแนบชิดอยู่กับ เสียนหยาง-ฉางอาน-ซีอาน ใจกลางศูนย์กลางการปกครองของจีนที่ทอดเวลายาวนานกว่า 1,200 ปี จึงมีปัญญาชนจีนจำนวนหนึ่งชี้ว่า จริงๆ แล้วคำว่า หัว (华) ในคำศัพท์ที่หมายความถึง จีน อย่างเช่น จงหัว (中华) หัวเซี่ย (华夏) นั้นก็น่าจะมีความเกี่ยวโยงกับยอดบรรพตแห่งนี้อย่างแน่นอน

นอกจากหัวซานจะเป็นภูเขาที่ถือว่าเป็นหนึ่งในตัวแทนของประเทศจีนและชนชาติจีนแล้ว ในบันทึกประวัติศาสตร์สื่อจี้ของซือหม่าเชียนยังระบุไว้อย่างชัดเจนด้วยว่า บรรพบุรุษในตำนานของชาวจีนอย่าง หวงตี้ เหยา ซุ่น ก็ยังเคยเดินทางมาเหยียบถึงภูเขาแห่งนี้ ขณะที่บันทึกประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมาก็ยังมีระบุไว้อย่างชัดเจนด้วยว่าฮ่องเต้องค์สำคัญๆ ในประวัติศาสตร์จีนอย่าง จิ๋นซีฮ่องเต้ ฮั่นอู่ตี้ พระนางบูเช็กเทียน ถังเสวียนจง ฯลฯ ต่างก็เคยเดินทางมายังหัวซานเพื่อประกอบพิธีบวงสรวงบูชาด้วยเช่นกัน

ด้วยนาม สถานที่ตั้ง ตำนานและหลักฐานทางประวัติศาสตร์เช่นนี้นี่เองได้ขับให้หัวซานนั้นกลายเป็นภูเขามีที่มีทางสำคัญอย่างยิ่งในหัวใจ และความรู้สึกของชาวจีนแทบทุกคน

ช่วงสายวานนี้รถประจำทางพาผมมาส่งบริเวณตีนเขา ส่วนยู่เฉวียนย่วน (玉泉院) ก่อนที่กระเช้าจะพาผมขึ้นมาส่งถึงยอดระเบียงเมฆาหรือยอดทิศเหนือของหัวซาน 1,600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

ขนาดของหัวซานไม่กว้างใหญ่ไพศาลดังเช่น ภูเหลือง (หวงซาน:黄山) แห่งมณฑลอานฮุย ที่ผมเคยไปเยือนเมื่อปีกลายเนื่องจากหัวซานประกอบด้วยยอดเขาหลักๆ ทั้งหมดเพียง 5 ยอด ประกอบไปด้วย ยอดทิศเหนือ ยอดทิศตะวันตก ยอดทิศใต้ ยอดทิศตะวันออก และยอดกลาง

ยอดทิศเหนือ หรือ ยอดระเบียงเมฆา (云台峰) สูง 1,614 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เปรียบเสมือนเป็นประตูทางเข้าของหัวซาน ที่ผู้มาเยือนทุกคนจะต้องผ่าน ทั้งนี้แม้เมื่อพิจารณาจากความสูงแล้ว ยอดระเบียงเมฆานี้จะสู้อีกสี่ยอดไม่ได้ แต่ลักษณะและความอันตรายนั้นก็ไม่แพ้ยอดที่เหลือ เนื่องจากนอกเหนือทางเดินแคบที่ทอดตัวไปทางทิศใต้แล้วอีกสามด้านที่เหลือของยอดระเบียงเมฆานี้ล้วนแล้วแต่เป็นหุบเหวทั้งสิ้น

ยอดทิศตะวันตก หรือ ยอดสโรชา (莲花峰) สูง 2,038 เมตร เป็นยอดเขาที่ขึ้นชื่อว่าสวยที่สุดของหัวซาน ทั้งนี้ด้วยความที่ลักษณะของยอดตะวันตกแห่งนี้คล้ายกับดอกบัว จึงได้ชื่อว่าเป็นยอดดอกบัวหรือยอดสโรชา นอกจากนี้แล้วบนยอดทิศตะวันตกแห่งนี้ยังบรรจุไว้ด้วยหินแยกต้นกำเนิดบุตรยอดกตัญญู "เฉินเซียงผ่าภูเขาช่วยมารดา" หรือที่รู้จักกันในนาม 'ตำนานเป่าเหลียนเติง (宝莲灯)' อีกด้วย

ทั้งนี้สันเขาหินแคบๆ อันเป็นทางสัญจรขึ้นไปยังยอดสโรชานี้นั้นนับเป็นสัญลักษณ์แห่งความน่าหวาดเสียวในการปีนหัวซานเสมอมา (ดูภาพประกอบ)

ยอดทิศใต้ หรือ ยอดห่านป่าโรย (落雁峰) เป็นยอดที่สูงที่สุดของหัวซาน คือ สูงกว่า 2,160 เมตร

ยอดทิศตะวันออก หรือ ยอดท้าตะวัน (朝阳峰) สูง 2,100 เมตร เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นในฝันของนักปีนเขาหลายๆ คน ประกอบกับ เก๋งประชันหมากรุก (下棋亭) ที่อยู่ข้างๆ ยังแฝงไว้ด้วยตำนานอันระบือลือลั่นที่ว่า "อดีตกาลชาวหัวซานไม่จ่ายภาษี ฮ่องเต้ก็ไม่มีปัญญาจัดการ"

ตำนานดังกล่าวมีอยู่ว่า ซ่งไท่จู่เจ้าค่วงอิ้น (宋太祖赵匡胤) ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซ่งเหนือ หลังจากรวมแผ่นดินขึ้นครองราชย์ได้เรียบร้อยแล้วก็เดินทางมายังหัวซานเพื่อมาคำนับความขอบคุณต่อ พระเต๋านามเฉินถวนที่ให้คำปรึกษาอันมีค่า ทั้งนี้เมื่อซ่งไท่จู่เดินทางมาถึงก็ทรงทอดพระเนตรเห็นกระดานหมากรุกและเกิดคันไม้คันมือขึ้นมา พระองค์จึงรับสั่งว่าต้องการเล่นหมากรุกพนันกับเฉินถวน เมื่อหมากรุกเล่นผ่านไปสองกระดานฮ่องเต้กลับแพ้เรียบ หมดทรัพย์สินที่จะนำมาพนันขันต่อ สุดท้ายในการเล่นกระดานที่สามซ่งไท่จู่จึงประกาศว่าครานี้นั้นพระองค์จะใช้หัวซานมาเป็นเดิมพัน จนในที่สุดฮ่องเต้ก็ต้องเสียหัวซานให้กับเฉินถวนไป

ในเวลาต่อมา เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์นี้ ชาวบ้านหัวซานจึงสร้างเก๋งจีนครอบโต๊ะหมากรุกตัวนี้ไว้อย่างไรก็ตามในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมเก๋งจีนดังกล่าวกลับถูกทำลายไป จนกระทั่งปี พ.ศ.2528 (ค.ศ.1985) จึงมีการสร้างเก๋งหินสีขาวหลังใหม่ขึ้นมาแทนที่ พร้อมกับม้านั่งอีกสี่ตัวรอบโต๊ะ

ยอดกลาง หรือ ยอดธิดาหยก (玉女峰) สูง 2,042 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

สำหรับผมแล้ว หัวซานนั้นแม้จะดูไม่ไพศาลเท่าภูเขาแห่งอื่นๆ ในประเทศจีน แต่ความสวยงาม และความระทึกในการปีนเขากลับเหนือกว่ายอดภูอื่นๆ ในประเทศจีนที่ผมประสบมา

การปีนเขาหัวซานนั้นเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าอันตรายที่สุดในหมู่ห้ายอดภู ไม่ว่าจะเป็นความชัน ทางเดินหินที่ทั้งแคบทั้งลื่น ลมบนยอดเขาที่พัดแรงถึงขนาดพัดคนตกเขาอยู่เป็นประจำ ฯลฯ แต่ก็แน่นอน ดีกรีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นก็ย่อมหมายความถึงดีกรีความมหัศจรรย์ของทิวทัศน์ที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
.................................
วานนี้ตอนบ่ายแก่ๆ ระหว่างทางไปสู่ยอดตะวันตกของหัวซาน คุณลุงชราใบหน้าอิดโรย หยุดฝีเท้าก่อนที่จะหย่อนบั้นท้ายลงนั่งพักอยู่ด้านข้างของผม บนหลังของแกเต็มไปด้วยไม้ก่อสร้าง ขวดน้ำเปล่า (ที่นักท่องเที่ยวดื่มแล้วทิ้งเอาไว้) แกนั่งหายใจอย่างเหนื่อยหอบอยู่พักใหญ่

"เอ้าลุง! ไปไหนเนี่ย" เฮียที่นั่งสูบบุหรี่อยู่อีกข้าง ชิงเอ่ยปากถาม
"ไปยอดทิศใต้ " ลุงตอบด้วยเสียงที่แทบจะเหมือนกระซิบ
"อายุเท่าไหร่แล้วเนี่ยลุง ยังรับจ้างแบกของขึ้นเขาอีก" เฮียแกถามต่อ
"เจ็ดสิบสอง ...."

จากบทสนทนาทำให้ผมทราบว่าของบนหลังและบ่าของคุณลุงวัยเจ็ดสิบสองน้ำหนักรวมแล้วก็ราวสามสิบกิโลกรัม ส่วนเม็ดเงินค่าตอบแทนความเหนื่อยที่ได้สำหรับการแบกของวันนี้ทั้งวันตั้งแต่เช้าตรู่เดินขึ้นมาจากตีนเขาจนถึงยอดห่านป่าโรยอันเป็นยอดที่อยู่เหนือสุดนั้นเท่ากับ 14 หยวน

ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า
...... บัตรผ่านประตูขึ้นเขาหัวซานนั้นราคา 100 หยวน
...... ค่ากระเช้าขึ้น-ลง เขาหัวซานนั้นราคา 110 หยวน
...... น้ำเปล่าขวดเล็กบนหัวซานนั้นเท่ากับ 5 หยวน
ส่วนราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสเจื่อนนั้นอยู่ที่ 10 หยวน

ผมนั่งมองอย่างเงียบๆ ดู คุณลุงกระชับเชือกที่พาดไปบนบ่า จัดไม้ท่อนใหญ่ให้ทาบสนิทกับแผ่นหลัง แกเกร็งขาลุกขึ้นยืนก่อนก้าวเท้าช้าๆ มุ่งหน้าไปยังจุดหมายเบื้องหน้าที่อยู่เหนือขึ้นไปเป็นระยะทางอีกหลายกิโลเมตร

Tips สำหรับการเดินทาง:
- หัวซาน (华山) หรือ ภูตะวันตก ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองซีอานไปประมาณ 120 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปถึงได้โดยการขึ้นรถโดยสารหน้าสถานีรถไฟซีอานไปยังเมืองหัวอิน (华阴市) เมืองหน้าด่านก่อนเข้าไปยังหัวซาน โดยจากเมืองหัวอินนั้นต้องแวะต่อรถจากศูนย์ท่องเที่ยวเข้าไปในเขตภูเขาหัวซาน (ค่ารถขาเข้า-ออก 10 หยวน)
- ค่าบัตรผ่านประตูในช่วงฤดูท่องเที่ยว (เม.ย.-พ.ย.) 100 หยวน และนอกฤดูท่องเที่ยว (ธ.ค.-มี.ค.) 50 หยวน ค่ากระเช้าขึ้น-ลง เขาหัวซานราคา 110 หยวน หรือกระเช้าขึ้นเที่ยวเดียวราคา 60 หยวน
- ไม่แนะนำให้ซื้อทัวร์จากเมืองซีอานที่บอกว่าเที่ยวไปเช้าเย็นกลับ เนื่องจากเวลาจะเร่งรีบมาก และจะขึ้นเขาได้ไม่ครบทุกยอด โดยหากมีเวลาก็ควรเตรียมตัวไว้ค้างคืนเพื่อชมพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้าที่ยอดตะวันออก
- ก่อนขึ้นเขาหัวซานควรเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เช่น รองเท้า ถุงมือ หมวก ไฟฉาย แผนที่ น้ำดื่ม (ไม่ควรนำไปมากเกิน) หรือถ้าไม่ได้เตรียมไปก็อาจไปหาซื้อเพิ่มเติมได้ที่ตีนเขา หน้าร้อน (เดือนก.ค.- ส.ค.) อากาศบนยอดเขาหัวซานนั้นค่อนข้างเย็นสบาย แต่ลมค่อนข้างจึงควรเตรียมเสื้อคลุมหรือแจ็กเกตไปเผื่อ
- การขึ้นเขาหัวซานนั้นสามารถขึ้นได้ในช่วงกลางคืนเพื่อไปชมพระอาทิตย์ขึ้นในตอนเช้า โดยวิธีนี้เด็กวัยรุ่นชาวจีนนิยมกันมากเนื่องจากเป็นการประหยัดค่าที่พัก โดยการเดินขึ้นในเวลากลางคืนต้องเตรียมเวลาเดินขึ้นไว้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่แนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเนื่องจากค่อนข้างอันตรายมาก

อ้างอิงจาก :
- เว็บไซต์ travel.163.com
- หนังสือท่องเที่ยวจีนภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ฉบับท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (臧羚羊自助游) สำนักพิมพ์ 中国大百科全书出版社 ฉบับเดือนมีนาคม ปีค.ศ. 2003
ก่อนอรุณรุ่ง

ยอดระเบียงเมฆา (云台峰) หรือยอดทิศเหนือ

กุญแจคล้องใจ
ยอดทิศตะวันตก หรือ ยอดสโรชา (莲花峰) ยอดเขาที่ขึ้นชื่อว่าสวยที่สุดของหัวซาน ว่ากันว่ามีลักษณะคล้ายดอกบัว ส่วนทางเดินขึ้นนั้นก็นับว่าเสียวบาดหัวใจโดยเฉพาะในเวลาที่ลมพัดแรง
เก๋งประชันหมากรุก (下棋亭) ใกล้ๆ กับยอดท้าตะวัน หรือยอดทิศตะวันออก
วัดเต๋าบนภูตะวันตก (西岳庙)
ตัวอย่างความท้าทายและความอันตรายของหัวซาน

กำลังโหลดความคิดเห็น