“กระดาษเฉิงซินจากซินอัน
ลื่นกว่าจันทร์น้ำแข็งสัมผัสรู้
ช่างกระดาษพานโหวนั้นยอดครู
เขายังรู้จานหมึกลายหางมังกร”
นี่คือบทร้อยกรองที่ เหมยหยาวเฉิน กวีสมัยเป่ยซ่ง ได้เขียนบทร้อยกรองชื่อชมกระดาษเฉิงซิน ซึ่งเป็นกระดาษสำหรับใช้เขียนศิลปะลายมือและภาพเขียนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หนันถัง
ชนชาติจีนนับเป็นนักบันทึกตัวเอ้ที่ไร้เทียบทานของโลก กระทั่งเครื่องเขียน 4 อย่าง ได้แก่ พู่กัน จานหมึก หมึกจีน กระดาษ ซึ่งเป็นสมบัติอันล้ำค่าสำหรับรังสรรค์งานวรรณกรรมทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง ศิลปะภาพเขียน และภาพอักษรจีน ได้กลายเป็นสี่สุดยอดสมบัติจีนในห้องหนังสือ
คุณอดุลย์ รัตนมั่นเกษมผู้ช่ำชองชำนัญในภูมิปัญญาตะวันออกสายจีนผู้หนึ่ง และค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารภาษาจีน ได้ขุดค้นเรื่องราวเกี่ยวกับสี่สุดยอดสมบัติจีนในห้องหนังสือ มาเสนอแก่ผู้อ่านอีกเล่ม ซึ่งได้เผยเรื่องราวของเครื่องเขียน 4 อย่างนี้ อย่างรอบด้านที่สุด ได้แก่ ประวัติศาสตร์ วิวัฒนาการกว่า 2,000 ปี ของเครื่องเขียนแต่ละชนิดในแต่ละยุคสมัย และแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีวิธีการใช้วัสดุ เทคนิกการประดิษฐ์ทำ คุณสมบัติ การตกแต่งด้วยศิลปะหลากหลาย ที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังมีความรู้เกี่ยวกับการดู-การเลือก เป็นต้น
อาทิ…….
เรื่องของพู่กัน: ในสมัยราชวงศ์หยวน มีพู่กันจากเมืองหูโจวที่มีชื่อเสียงระบือไปทั่วแผ่นดิน ที่เรียกว่า ‘หูปี่’ มีคุณสมบัติ ปลายแหลม ขนเรียบ หัวกลมสวย และแข็งแรง โดยใช้ขนแกะ กระต่าย อีเห็น มาประดิษฐ์อย่างประณีตถึง 17 ขั้นตอน หรือพู่กันที่ใช้กันในวัง หรือที่เรียกว่า ‘อวี้ปี่’ ที่ประดิดประดอยอย่างประณีตสวยงามเป็นพิเศษ ต้องคัดแต่ขนสัตว์ที่ดีเยี่ยม ....หัวพู่กันทำยาวมากเพื่อให้อุ้มหมึกได้มาก ตัวด้ามอาจทำจากไผ่สลักลวดลาย แท่งหยก งาช้าง ทอง กระเบื้องเคลือบ และอื่นๆอีกมากมาย พร้อมตกแต่งลวดลายเช่น มังกร โป๊ยเซียน ค้างคาว เงินกษาปณ์โบราณ ทิวทัศน์ เป็นต้น
.......พู่กันลายหงส์มังกรในสมัยราชวงศ์หมิง ...ทุกด้ามมีการลงรักเป็นพื้นก่อน เขียนระบายสีเป็นรูปภูเขา ทะเล แก้วล่อมังกร คลื่นทะเลโถมถาเข้าใส่โขดชะง่อนหินผาที่ตั้งตระหง่านขวางกั้น ...นอกจากนี้ ตัวด้ามและปลอกพู่กันยังเลี่ยมทอง ทำให้ดูสวยงามและมีค่ามากขึ้น ส่วนหัวพู่กันนั้น สีขนมันวาว กลมและแข็งแรง มีรูปร่างคล้ายลิ่ม และมีคุณสมบัติของพู่กันที่ดีครบถ้วน…
เรื่องของจานหมึก: จานหมึก ‘เฉิงหนี’ ในสมัยราชวงศ์ถัง จานหมึกชนิดนี้ มีวิธีทำที่แปลกมาก ก่อนอื่นต้องนำถุงผ้าแพรไว้ที่ก้นแม่น้ำเฝินในมณฑลซานซี เป็นเวลาหนึ่งปี จึงนำถุงขึ้นจากแม่น้ำ เพื่อเอาดินทรายที่น้ำพัดเข้ามาไว้ในถุงมาทำจานหมึกดินเผา
........จานหมึกตวนเยี่ยนที่ดีที่สุดคือ จานหมึกที่ทำจากหินในบ่อหินเก่าหรือที่เรียกว่า ‘เหล่าเคิง’ จัดเป็นหินเนื้อดีที่สุด ... จานหมึกที่ทำจากหินเนื้อดีชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษคือ แม้ในฤดูหนาว น้ำหมึกในจานจะไม่เหือดแห้งเหมือนจานหมึกชนิดอื่น ประกอบกับมีลวดลายหินเป็นที่นิยมกันมาก เช่น ลายใบตองอ่อน ลายดอกไม้ ลายดอกกุหลาบ สีหยกเขียว ลายเส้นเงินทอง เป็นต้น โดยเฉพาะลายใบตองอ่อน ซึ่งเป็นรูปใบตองเริ่มแตกบาน แลดูสวยงามและน่าอัศจรรย์ยิ่ง
เรื่องของหมึกจีน: หมึก “หลี่โม่” ในสมัยราชวงศ์หนันถัง ที่เลื่องลือ ถึงกับเล่าขานกันว่า “ทองคำหาง่าย หมึกหลี่โม่หายาก” หมึกชนิดนี้ ได้ผสมกาวที่ทำจากเขากวางใส่ในแท่งหมึกด้วย ทำให้แท่งหมึกดูนวลอิ่มและเนียนละเอียด เขียนแล้วหมึกเป็นมันวาวดั่งลงรักไว้
.......แท่งหมึกจีนนานาชานิด ได้แก่ แท่งหมึกธรรมดา แท่งหมึกบรรณาการ แท่งหมึกหลวง แท่งหมึกทำกันเอง แท่งหมึกสำหรับสะสม แท่งหมึกสำหรับเป็นของขวัญของฝาก และแท่งหมึกสมุนไพร ที่ทำขึ้นเพื่อใช้บำบัดโรค มักทำจากเขม่าถ่านไม้สน...
เรื่องของกระดาษ: หากไม่มีการค้นพบกระดาษของชาวจีน โลกก็คงจะขาดสิ่งที่จะบันทึกเหตุการณ์ และเรื่องราวที่เกิดจากสติปัญญาของมนุษย์ไปอีกหลายร้อยหลายพันปีที่เดียว นี่คือคุณูปการที่มีต่อชาวโลกของนักประดิษฐ์ชาวจีนซึ่งไม่เป็นที่รู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันนัก หลักการเบื้องต้นของเทคนิกการทำกระดาษในสมัยราชวงศ์ฮั่น ก็คือรากฐานของเทคนิกการทำกระดาษในยุคปัจจุบันนั่นเอง
........การรู้จักดูกระดาษโบราณ มีประโยชน์มากที่จะช่วยให้เราดูออกว่า ภาพเขียนและหนังสือโบราณนั้นๆ เป็นของเก่าหรือไม่ และถ้าเป็นของเก่าจริง เป็นของยุคสมัยใด.......
‘สี่สุดยอดสมบัติจีนในห้องหนังสือ’ ได้เสนอแง่มุมอื่นๆอีกมากมายที่นึกไม่ถึงเกี่ยวกับเครื่องเขียน 4 ชนิดนี้ และตบท้ายเล่มด้วยภาคผนวก เรื่อง ‘ตราจีน’ ซึ่งเป็นของสำคัญที่ขาดเสียไม่ได้ในการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมและศิลปะลายมือพู่กันจีน.