xs
xsm
sm
md
lg

ยูนนานก่อนเป็นจีน

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

ผมไม่แน่ใจว่าคนไทยมองดินแดนสุวรรณภูมิกว้างขวางเพียงใด แต่สำหรับส่วนตัวผมเห็นว่าชื่อสุวรรณภูมินี้ สามารถใช้แทนเอเชียอาคเนย์ หรือบางท่านเรียกว่าอุษาคเนย์ได้

เอเชียอาคเนย์แบ่งได้สองส่วนคือภาคพื้นทวีปและภาคพื้นสมุทร

เอเชียอาคเนย์ภาคพื้นทวีปนั้นผมมองรวมไปถึงดินแดนยูนนานและกวางสีด้วย

กวางสีและยูนนานมีรากฐานอารยธรรมของชนพื้นเมืองอยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่ชาวจีนหรือชาวฮั่นจะเคลื่อนย้ายลงมาผสมผสานและค่อยๆ กลมกลืนวัฒนธรรม จนกลายเป็นจีนไปอย่างทุกวันนี้

โบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมพื้นถิ่นของยูนนานน่าสนใจมาก เพราะมีความใกล้ชิดเกี่ยวพันกับโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม ในประเทศไทย ลาว

ในช่วงที่ชาวจีนแท้ดั้งเดิม (หัวเซี่ย) เจริญรุ่งเรืองขึ้นในแดนแดนตงง้วน (ตอนกลางของลุ่มแม่น้ำฮวงโห) ดินแดนยูนนานก็มีชนพื้นเมืองหลายหลายเผ่า ค่อยๆ สร้างความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเช่นกัน

ดินแดนยูนนานมีความสำคัญมากขึ้นในยุคสำริด เพราะยูนนานเป็นแหล่งโลหะสำคัญ ทั้งทองแดง ดีบุก ตะกั่ว โดยเฉพาะดีบุกและตะกั่วนั้น แหล่งใหญ่ๆ ในประเทศจีนก็คือยูนนานเป็นสำคัญ ดีบุกและตะกั่วเป็นโลหะส่วนผสมสำคัญของสำริด

เครื่องใช้และอาวุธพัฒนาจากการใช้ทองแดงเป็นวัตถุดิบอย่างเดียว มาเป็นสำริด แล้วต่อมาเมื่อความรู้ทางด้านการถลุงโลหะสูงขึ้น มนุษยชาติก็พัฒนาเข้าสู่ยุคเหล็ก

ดินแดนยูนนานจึงมิได้เป็นดินแดนป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม แต่มี “รัฐ” หรือ “ก๊ก” ขึ้นแล้วในยุคราชวงศ์โจวของทางตงง้วน

ชื่อย่อของมณฑลยูนนานในภาษาจีนเรียกว่า “เตียน” 滇 คำนี้เป็นชื่อก๊กโบราณในยูนนาน

เตียนก๊กเป็นรัฐโบราณซึ่งรุ่งเรืองอยู่ในช่วงระหว่างยุคจั้นกั๋ว (ช่วงหนึ่งในราชวงศ์โจวตะวันออก) ถึงยุคราชวงศ์ซีฮั่น (ฮั่นตะวันตก) มีศูนย์กลางอยู่แถบทะเลสาบเตียนฉือ ในช่วงหลังราชวงศ์ซีฮั่น เตียนก๊กเริ่มเสื่อมโทรมลง จนล่มไป ถูกระบบจวิ้นเสี้ยน – แคว้นอำเภอ 郡县 ของจีนตงง้วนแทนที่

นับแต่ก๊กเตียนเปลี่ยนจากจุดเจริญสูงสุด เริ่มเสื่อมโทรมลงกระทั่งล่มไป กินเวลาประมาณ 3-400 ปี

เตียนก๊กถูกจีนเรียกว่าเตียน สืบเนื่องจากชื่อทะเลสาบ “เตียนฉือ” ซึ่งมีระยะทางรอบทะเลสาบยาวหลายร้อยลี้

บันทึกของจีนที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับเตียนก๊กและราชาเตียน (เตียนอ๋อง 滇王) พบใน “สื่อจี้” (บันทึกประวัติศาสตร์) บรรพ “ซีหนานอี๋เลี่ยจ้วน” (เรื่องราวอนารยชนภาคตะวันตกเฉียงใต้) บันทึกโดย “ซือหม่าเชียน” สรุปเนื้อความได้ว่า

ก๊กเตียนมีศูนย์กลางอยู่แถบทะเลสาบเตียนฉือ ทางตะวันออกของก๊กเตียน คือ ก๊กเย่หลาง ทางเหนือของก๊กเตียน คือ ก๊กฉองตู ทางตะวันตกของก๊กเตียน คือ ก๊กคุนหมิง ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่แถบทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ (ต้าหลี่หรือตาลีฟู) เผ่าเตียนและเผ่าคุนหมิงเป็นชนเผ่าสำคัญในดินแดนยูนนานโบราณ ทั้งสองชนเผ่ามีประวัติศาสตร์ยาวนานและวัฒนธรรมรุ่งเรือง

ก๊กเตียนมีความเจริญมานานแล้วตั้งแต่สมัยจั้นกั๋ว เพียงแต่ทางจีนตงง้วนเริ่มเห็นความสำคัญจริงจังในรัชสมัยฮั่นอู่ตี้

สื่อจี้ บรรพ ซีหนานอี๋จ้วน ของซือหม่าเชียน บันทึกไว้ สรุปได้ว่า ปี 122 B.C จางเซียน ทูตที่พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ส่งให้เดินทางไปยัง “ต้าเซี่ย” (คือดินแดนอัฟกานิสถานปัจจุบัน) เดินทางกลับถึงราชสำนักจีน จางเชียนได้เล่าว่าพบ “ผ้าสู่” (ผ้าทอของดินแดนสู่ คือเสฉวนในปัจจุบัน) และ “ไม้เท้าฉอง” (สินค้าพิเศษของดินแดนสู่ หรือเสฉวนในปัจจุบัน) ที่อาณาจักรต้าเซี่ย จึงได้สืบถามจนทราบว่า มีเส้นทางจากดินแดนทางใต้ของจีน เดินทางผ่านเซินตู๋ (สินธุ หรืออินเดียในปัจจุบัน) สามารถไปถึงอาณาจักรต้าเซี่ยได้ เส้นทางนี้มิเพียงสั้นกว่าเส้นทางผ่านซินเกียง แต่ยังสามารถหลีกเลี่ยงการถูกรบกวนปล้นสะดมจากชนเผ่าซวงหนูอีกด้วย ถ้าหากบุกเบิกเส้นทางนี้ได้ ราชสำนักฮั่นก็จะติดต่อกับอินเดียและต้าเซี่ยได้สะดวกมากขึ้น

พระเจ้าฮั่นอู่ตี้เห็นด้วยตามคำแนะนำของจางเชียน จึงส่งทูตลงมาดินแดนยูนนาน เพื่อกรุยเปิดเส้นทางไปสู่อินเดีย งานนี้ได้รับความร่วมมือจากก๊กเตียน แต่ถูกชนเผ่าคุนหมิงขัดขวาง

ดินแดนยูนนาน กวางสี กวางตุ้ง (มีรัฐหนานเยวี่ย) ยังเข้มแข็งเป็นอิสระ ราชสำนักฮั่นไม่อาจรบชนะได้

จนกระทั่งปี 112 B.C ราชสำนักฮั่นผ่านช่วงสะสมกำลังฟื้นฟูความเข้มแข็งมาหลายสิบปี สามารถรุกรานลงภาคใต้ได้ จึงได้ปราบปรามก๊กหนานเยวี่ยในดินแดนกวางตุ้ง กวางสีได้สำเร็จ กองทัพฮั่นยกเข้าใกล้ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงใต้ของก๊กเตียน หนึ่งปีหลังจากนั้น กองทัพฮั่นทำศึกชนะก๊กเย่หลางด้านตะวันออกของก๊กเตียน และก๊กฉองตู ด้านเหนือของก๊กเตียน ทำให้ก๊กเตียนอยู่ในภาวะโดดเดี่ยว หลังจากชนเผ่าในภาคตะวันตกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ถูกราชสำนักฮั่นพิชิตไปทีละเผ่าๆ แล้ว ฮั่นอู่ตี้เคยส่งทูตไปเกลี้ยกล่อมให้ก๊กเตียนยอมสวามิภักดิ์ ส่งทูตไปจิ้มก้องราชสำนักฮั่น แต่ขณะนั้นเตียนอ๋องยังมีกำลังเข้มแข็งระดับหนึ่ง ประกอบกับยังมีเผ่าหลาวจิ้น เผ่าหมีม่อ ซึ่งเป็นโคตรวงศ์เดียวกันคอยช่วยเหลือ เตียนอ๋องจึงเลือกหนทางต่อต้านราชสำนักฮั่น

ปี 109 B.C. กองทัพจีนบุกพิชิตเผ่าหลาวจิ้น และเผ่าหมีม่อ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของก๊กเตียนก่อน แล้วยกทัพประชิดก๊กเตียน ก๊กเตียนจำต้องยอมเลิกต่อต้านจีน สวามิภักดิ์เป็นขุนนางของราชสำนักฮั่น นับแต่นั้นมา ก๊กเตียนก็สังกัดราชสำนักฮั่น

ราชวงศ์ซีฮั่น ตั้งดินแดนเดิมของก๊กเตียนเป็นแคว้น (จวิ้น 郡) เรียกอวี้โจวจวิ้น เมืองหลวงของแคว้นตั้งอยู่ที่อำเภอเตียนฉือ (ปัจจุบันคืออำเภอผู่หนิง ในมณฑลยูนนาน) แต่ราชสำนักซีฮั่นก็ยังมอบราชลัญจกร “อ๋อง” แต่เตียนอ๋อง และให้ปกครองราษฎรของตนต่อไป .
กำลังโหลดความคิดเห็น