xs
xsm
sm
md
lg

ทฤษฎีชี้นำ (จบ)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

4. วิวัฒนาการลัทธิมาร์กซ์จีน (ต่อ-จบ)
4.11 อนาคตลัทธิมาร์กซ์จีน
พรรคคอมมิวนิสต์จีน ในฐานะพรรครัฐบาลใช้อำนาจบริหารประเทศ ในระบอบสังคมนิยม เชิดชูปรัชญา แนวคิดทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ ได้พัฒนาศักยภาพทางความคิดทฤษฎีของตนขึ้นมาเป็นลำดับ สามารถพัฒนาแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆ ชี้นำการปฏิบัติ ได้ในทุกขั้นตอน อย่างรวดเร็ว และ “ทันกาล”
พูดเป็นภาษาสามัญก็ว่า พวกเขามีความชำนาญยิ่งขึ้นในการพัฒนาแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆ มีความเป็นระบบ ไม่อ้อมค้อมชนิดต้อง “คลำหินข้ามห้วย” (สำนวนเติ้งเสี่ยวผิง)เหมือนคณะผู้นำรุ่นแรกๆ เช่น กว่าก่อรูปเป็นความคิดเหมาเจ๋อตงก็กินเวลา(นับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคฯปี ค.ศ.1921)ยี่สิบกว่าปี และกว่าจะก่อรูปเป็นทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิงก็กินเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปี(นับตั้งแต่สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนปี ค.ศ.1949)เช่นเดียวกัน
ตรงนี้อธิบายเพิ่มเติมได้ว่า ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ จากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่งที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เช่นการดำเนินการปฏิวัติปลดปล่อยประเทศจีนจากความเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินามาเป็นระบอบสังคมนิยม และการโยกตัวเองจากระบบเศรษฐกิจวางแผนจากส่วนกลางที่ปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอก มาเป็นระบบเศรษฐกิจตลาดที่เชื่อมโยงประเทศจีนเข้ากับระบบโลก จำเป็นต้องใช้ทฤษฎีที่เป็นระบบความคิดชุดใหญ่ชี้นำ (ความคิดเหมาเจ๋อตง และทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง)ซึ่งต้องใช้เวลามาก แต่เมื่อสังคมจีนเคลื่อนตัวเข้าสู่ลู่ทางของการพัฒนา ดำเนินการปฏิรูประบบโครงสร้างอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง ก็สามารถ “นวัตกรรม”แนวคิดทฤษฎีใหม่ๆขึ้นมาชี้นำเป็นชุดๆได้ในทันทีทันใด เช่นทฤษฎี “สามตัวแทน” “ทัศนะวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนา” และทฤษฎีการสร้าง “สังคมกลมกลืน”
อีกทั้ง ความก้าวหน้าทางวิทยาการสารสนเทศ บวกกับประสบการณ์ความรู้ความชำนาญในด้านการบริหารจัดการภาครัฐของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้พรรคฯและรัฐบาลจีนสามารถประมวลองค์ความรู้จากการปฏิบัติได้รวดเร็วและแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเหตุปัจจัยเสริมส่งให้พรรคฯจีนพัฒนาองค์ความรู้ขึ้นเป็นแนวคิดทฤษฎีชี้นำ “ทันใช้”ได้ในทุกขั้นตอนของการขับเคลื่อนของสังคมจีน
ทั้งนี้ ตามหลักการพื้นฐานของการสร้างพรรค ที่ว่าจะต้องสร้างพรรคทางความคิดเป็นเบื้องต้น ปัจจุบันพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้กำหนดการ “นวัตกรรม”แนวคิดทฤษฎีชี้นำเป็นภารกิจอันดันแรกของการนำการบริหารประเทศ ซึ่งก็คือให้ความสำคัญในเรื่อง “ปัญญา” ติดอาวุธทางปัญญาให้แก่สมาชิกพรรค เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนชาวจีนทั่วไปในทุกขึ้นตอนของการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย เจริญรุ่งเรืองอย่างรอบด้าน โดยยึดถือเอา “คน”เป็นศูนย์กลาง ให้ “คน”สามารถพัฒนาตนเองอย่างรอบด้านในสภาพแวดล้อมที่ “เอื้อ”ต่อการพัฒนาดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ
พรรคฯและรัฐบาลจีนเน้นย้ำถึงบทบาทของตนในการบริหารประเทศอยู่เสมอว่า จักต้องดำเนินการการปฏิรูประบบ กลไก ต่างๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ ยกระดับคุณภาพของประชาชนชาวจีน การพัฒนาทั้งหมด ก็เพื่อนำไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อม เงื่อนไขทางสังคม ให้เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวจีน สามารถพัฒนาตนเอง ปลดปล่อยตนเองออกจากการผูกมัดรัดรึง หรือข้อจำกัดต่างๆ ทั้งทางวัตถุ ทางสังคม และทางจิตใจในที่สุด
สะท้อนถึงการยึดมั่นในอุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ของพวกเขา ที่ว่า การพัฒนาประเทศให้ทันสมัยในระบอบสังคมนิยมเป็นขั้นๆ ก็เพื่อเคลื่อนตัวไปสู่ความเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ในบั้นปลาย
สังคมคอมมิวนิสต์ที่ “คน”สามารถพัฒนาตนเอง ปลดปล่อยตนเองอย่างรอบด้าน โดยไม่ต้องเบียดเบียนซึ่งกันและกัน !
แม้ว่าสังคมอุดมการณ์ที่ว่านั้นจะยังอยู่ไกลแสนไกล แต่ก็เป็นจุดมุ่งหมายสูงส่งของพวกเขา ที่พวกเขาเชิดชู !
ทั้งหมดของกระบวนการพัฒนาแนวคิดทฤษฎี ไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นความเพ้อฝัน เพราะมันมีความเป็น “วิทยาศาสตร์”ในตัว เป็นไปตามหลักวิธีของลัทธิมาร์กซ์อย่างแท้จริง คือยึดมั่นในหลักวัตถุนิยมวิภาษและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ทุกอย่างเริ่มจากความเป็นจริง และเริ่มจากผลประโยชน์ของปวงประชามหาชนอย่างแท้จริง เพื่อการปลดปล่อยพลังการผลิต และพัฒนาตนเองอย่างรอบด้านของ “คน” ทีละขั้นๆ
แนวคิดทฤษฎีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงมีความเป็นระบบ สามารถชี้นำการปฏิบัติให้ปรากฏผลเป็นจริง และพิสูจน์ผลจากการปฏิบัติที่เป็นจริงได้ตลอดเวลา
นั่นคือคำตอบต่อคำถามที่ว่า ทำไมพวกเขาจึงสามารถพัฒนาหลักการและแนวคิดทฤษฎีได้อย่างต่อเนื่อง ดำเนินการบริหารจัดการ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้เสมอ จนกระทั่งบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จในทุกขั้นตอน ?
นั่นคือคำตอบต่อคำถามที่ว่า ทำไมจีนจึงพัฒนาได้เร็ว เจริญรุดหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ?
ตรงนี้ ขออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็น “วิทยาศาสตร์” ของแนวคิดทฤษฎีของพวกเขาอีกครั้งว่า หลักๆก็คือมันสอดคล้องกับกฎเกณฑ์การพัฒนาของประเทศจีน สอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการของประชาชนชาวจีนมากที่สุด เป็นความรับรู้ที่สะท้อนจากกระบวนการขับเคลื่อนที่เป็นจริงของมวลมนุษยชาติทั้งในสังคมจีนและสังคมโลก
อีกนัยหนึ่ง ภูมิหลังหรือที่มาของการเกิดขึ้นของแนวคิดทฤษฎีชี้นำของพรรคฯจีน มีรูปการหรือ “แพตเทิร์น”ที่แน่นอน นั่นคือ เกิดขึ้นตามสภาวะเป็นจริงทาง “ภววิสัย” เป็นการสะท้อนความจริงทางภววิสัยผ่านกระบวนการรับรู้ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวปฏิบัติของประชาชนชาวจีน พรรคคอมมิวนิสต์ที่ประสานสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันกับมวลชน สามารถประมวลและรวมศูนย์ความรับรู้ใหม่ๆของมวลชนชาวจีนเหล่านั้น กลั่นกรองเป็นองค์ความรู้รวบยอด ที่ครอบคลุมนัยแห่งยุคสมัยและความเรียกร้องต้องการของประชาชนชาวจีน กำหนดเป็นแนวคิดทฤษฎีชี้นำ สามารถพัฒนาแนวนโยบายใหม่ๆที่สนองตอบปัญหารูปธรรมได้อย่างเป็นจริงในทุกขั้นตอน
การเกิดขึ้นของทฤษฎีชี้นำ จึงเป็น “กระบวนการ”ซับซ้อน สะท้อนจิตใจและปัญญารวมหมู่ อิงติดอยู่กับทัศนะมาร์กซิสม์ที่ว่า “มวลประชามหาชนเท่านั้นคือผู้สร้างประวัติศาสตร์” “มวลประชามหาชนเท่านั้นคืออัจฉริยะที่แท้จริง”
ทฤษฎีชี้นำ จึงมิใช่สิ่งที่ใครคนหนึ่งคนใดจะทึกทักหรือตู่เอาเป็นของส่วนตัวได้ !
จึงสามารถ “ฟันธง”ได้ว่า กระบวนการ “นวัติกรรม”ทางแนวคิดทฤษฎีทั้งหมดนั้น จะไม่หยุดนิ่ง แต่จะขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปของความเป็นจริงของประเทศจีนและของโลกเสมอ
ยกเว้นว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีน ละทิ้งโลกทัศน์อุดมการณ์มาร์กซิสม์ ไม่ยึดมั่นในหลักวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีอะไรที่ส่อแสดงว่า พวกเขากำลัง “เปลี๊ยนไป๋”เป็นอื่น ยังคงยืนหยัดใช้หลักลัทธิมาร์กซ์ชี้นำการคิดและการปฏิบัติอย่างรอบด้านและอย่างพลิกแพลง !
จึงไม่แปลกที่ เพียงสามปีเศษๆ (ตั้งแต่ปลายปี ค.ศ.2002 เมื่อคณะผู้นำพรรคจีนชุดปัจจุบันเข้าปฏิบัติหน้าที่) พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้พัฒนาแนวคิดทฤษฎีชี้นำใหม่ๆขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ทัศนะวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนา และทฤษฎีสังคมกลมกลืน
พร้อมกับตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า จะสร้างประเทศจีนให้เป็นสังคมอยู่ดีกินดีอย่างรอบด้าน และเป็นประเทศนวัตกรรมก้าวหน้าของโลกภายในปี ค.ศ.2020
ด้วยแนวคิดทฤษฎีชี้นำที่ถูกต้อง ย่อมประกันว่า พวกเขาจะสามารถทำได้สำเร็จเป็นขั้นๆ และจะพัฒนาแนวคิดทฤษฎีชี้นำใหม่ๆได้ต่อไป อย่างไม่สิ้นสุด
ความสมบูรณ์ของลัทธิมาร์กซ์จีนก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นระบบปัญญาใหญ่ที่ชาวโลกต้องให้ความสำคัญ ศึกษา เรียนรู้ !
เพื่อยืนหยัดอยู่ร่วมกันได้อย่าง “กลมกลืน” ในสังคมโลกยุค “แตกแยกไร้พรมแดน” !

----------------------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น