xs
xsm
sm
md
lg

เผาตำรา ฆ่าบัณฑิต บทเรียนจาก'จิ๋นซี'

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

จิ๋นซีฮ่องเต้
...... หากกล่าวว่า กรุงโรมมิได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด ความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ฉินก็มิได้บังเกิดขึ้นในยุคสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้เพียงผู้เดียวฉันนั้น ......

ย้อนกลับไปก่อนที่ อิ๋งเจิ้ง (嬴政) หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้ จะลืมตาขึ้นมาดูโลก 1 ศตวรรษพอดิบพอดี เมื่อ ปี 359 ก่อนคริศต์ศักราช ในยุคสมัยที่เรียกว่าจั้นกั๋ว ปีดังกล่าวเป็นปีที่สามของอ๋องเสี้ยวกงแห่งรัฐฉิน (秦孝公) หลังจากผ่านการสู้รบ การกลืนรัฐ ในสมัยชุนชิว ส่งให้ประเทศจีนในขณะนั้นก็มีรัฐใหญ่ๆ หลงเหลืออยู่เพียง 7 รัฐ ประกอบด้วย รัฐฉี ฉู่ เยียน เจ้า หาน เว่ย และฉิน

เพื่อเป็นการพัฒนารัฐของตนให้เข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้น และมิให้ถูกรุกรานได้โดยง่าย เจ้าครองรัฐต่างๆ จึงเร่งการปฏิรูปการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม เป็นการใหญ่ โดยรัฐที่เริ่มต้นปฏิรูปการปกครองขึ้นเป็นรัฐแรกก็คือ รัฐเว่ยภายใต้การดำเนินการโดยขุนนางนาม หลี่คุย (李悝)

หลี่คุยปฏิรูปการปกครองของรัฐเว่ย โดยยกเลิกระบบขุนนางชั้นสูงที่ตกทอดกันมานาน เปลี่ยนมาใช้ระบบที่ก้าวหน้ากว่าคือ แทนที่ความดีความชอบขุนนางจะพิจารณาจากชาติตระกูล ก็หันมาพิจารณาผลงาน นอกจากนี้ยังมีการปฏิรูประบบที่ดิน ภาษี ควบคุมราคาสินค้าเกษตร เพื่อเร่งการเพาะปลูกและลดภาระของชาวนา ทั้งยังมีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม อีกด้วย

เมื่อรัฐเว่ยปฏิรูปการปกครอง รัฐอื่นๆ ก็เริ่มปฏิรูปกันบ้าง โดยรัฐฉินนั้นถือว่าเป็นรัฐสุดท้ายที่เริ่มดำเนินการ

ปี 359 ก่อนคริศต์ศักราช อ๋องฉินเสี้ยวกง สานต่อการปฏิรูปของพระบิดา ฉินเสี้ยนกง (秦献公) แต่งตั้ง กงซุนยัง (公孙鞅) ขึ้นเป็นอัครมหาเสนาบดีและมอบอำนาจให้ดำเนินการปฏิรูปการปกครอง ทั้งนี้แม้การปฏิรูปการปกครองของรัฐฉินโดยกงซุนยังครั้งนี้จะเป็นการปฏิรูปที่ค่อนข้างล่าช้ากว่ารัฐอื่น แต่ถือว่าก็เป็นการปฏิรูปที่ถือว่าขุดรากถอนโคน โดยนักประวัติศาสตร์ตั้งชื่อของการปฏิรูปครั้งนี้ว่า การปฏิรูปของซังยัง (商鞅变法)

การปฏิรูปการปกครองของซังยังประกอบด้วย 4 ด้านหลักๆ คือ

หนึ่ง การปฎิรูปที่ดิน มีการยกเลิกระบบที่ดินทั้งหมดเป็นของรัฐ และนำระบบที่ดินเอกชนมาใช้แทน โดยอนุญาตให้มีการซื้อ-ขายที่ดินได้ ขณะที่ภาษีที่ดินก็เก็บอย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้น สำหรับการปฏิรูปที่ดินครั้งนี้นั้นถือว่าเป็นการลดทอนอำนาจของเจ้าขุนมูลนาย-เจ้าที่ดินที่แต่เดิมมักจะขูดรีดผลผลิตและค่าเช่าเอาจากชาวนา ทั้งยังถือเป็นการปฏิรูปสำคัญที่บ่งชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของสังคมจีนจากยุคทาส มาเป็นยุคศักดินาอีกด้วย

สอง การปฏิรูประบบราชการ เปลี่ยนการพิจารณาความดีความชอบ-การปูนบำเหน็จ จากเดิมที่เน้นพิจารณาตามชาติตระกูล ก็เปลี่ยนมาใช้ระบบพิจารณาตามผลงาน ขุนนางผู้ใดที่ยิ่งมีผลงานการรบชนะมาก ก็ยิ่งได้ตำแหน่งสูง ยิ่งได้ที่ดินไปครอบครองมาก นอกจากนี้ถ้ามีตำแหน่งสูงถึงระดับหนึ่งก็ยังได้รับไพร่ไปรับใช้หนึ่งคน (หนึ่งเดือนสามารถใช้งานไพร่ได้ 6 วันโดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน)

สาม การปฏิรูประบบการผลิต หันมาให้ความสำคัญกับชาวนามากกว่าพ่อค้า โดยชาวนาผู้ใดที่ขยันขันแข็งมีผลผลิตออกมามากก็ไม่ต้องโดนเกณฑ์ไปใช้แรงงาน ขณะที่พวกพ่อค้ากับคนยากจนที่เกียจคร้านนั้นจะถูกลงโทษให้ไปเป็นทาส ในขณะเดียวกันก็ยังมีกฎกำหนดไว้ด้วยว่า หากครอบครัวใดที่มีลูกชายโตเป็นหนุ่มถึงสองคนแล้วลูกชายยังไม่แยกไปสร้างครอบครัวใหม่ก็จะมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น โดยการปฏิรูประบบการผลิตดังกล่าวนี้ก็เพื่อจุดมุ่งหมายในการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจในระดับล่าง

สี่ การจัดตั้งระบบอำเภอ (เสี้ยน:县) ขึ้น โดยแบ่งเอารัฐฉินออกเป็น 31 อำเภอ (หรือบางตำรากล่าวว่า 41 อำเภอ) โดยมีการตั้งนายอำเภอที่ขึ้นตรงกับส่วนกลาง เพื่อให้มีการปกครองและมีการจัดทำสำมะโนครัวอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ยังมีระบบการจัดกลุ่มครอบครัว 5 ครอบครัวเป็นหนึ่งอู่ (伍) 10 ครอบครัวเป็นหนึ่งสือ (什) โดยเมื่อสมาชิกในกลุ่มครอบครัวคนใดมีการทำผิดกฎหมาย เพื่อนบ้านก็จะต้องรายงานให้ทางการได้รับทราบ เมื่อการรายงานเป็นความจริงก็จะมีการบำเหน็จรางวัล ขณะที่เพื่อนบ้านผู้ใดที่ไม่รายงานก็จะถูกลงโทษ ขณะที่หากทางการทราบว่าบ้านใดให้การหลบซ่อนแก่กบฎ บ้านนั้นก็จะได้รับโทษหนัก นอกจากนี้เพื่อนบ้านที่อยู่ในกลุ่มครอบครัวเดียวกันก็ต้องถูกลงโทษตามไปด้วย

การปฏิรูปของซังยัง ดังเช่นที่ว่าประกอบกับการออกกฎเกณฑ์อื่นๆ นับว่าเป็นระบบที่ก้าวหน้าอย่างยิ่งในยุคนั้น ทั้งส่งผลดีต่อภาพรวมของรัฐฉินอย่างมาก อย่างไรก็ตามเนื่องจากการปฏิรูปของซังยังนี้ด้วยเหตุที่เป็นการปฏิรูปที่ถือได้ว่าเป็นการคุกคาม-สั่นคลอน สถานะของชนชั้นสูงและขุนนางที่มีอำนาจอยู่เดิม ต่อมาเมื่อฉินเสี้ยวกงสิ้นลงและฉินฮุ่ยหวังขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน ซังยังก็ถูกว่าร้ายจากขุนนางจำนวนหนึ่งว่า วางแผนก่อการกบฎโดยในที่สุดซังยังก็ได้รับโทษเป็นการประหารชีวิตด้วยวิธี "ม้าแยกร่าง"

ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้ซังยังจะจบชีวิตไปแต่ผลจากการดำเนินการปฏิรูปของซังยังที่กินเวลายาวนานกว่า 20 ปี ก็ส่งให้รัฐฉินมีระบบการปกครอง เศรษฐกิจ การทหารที่เข้มแข็งขึ้นอย่างมากจนกลายเป็นรัฐใหญ่ทางทิศตะวันตกสุด จนรัฐอื่นๆ ต้องเกรงขาม และถือว่าเป็นรากฐานอันเข้มแข็งให้ในเวลาต่อมา จิ๋นซีฮ่องเต้สามารถผนวก 6 รัฐเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จในที่สุด

ในการปราบ 6 รัฐนั้น จิ๋นซีฮ่องเต้เริ่มจากการปราบรัฐหาน เมื่อปี 230 ก่อนคริสต์ศักราช ตามมาด้วย รัฐเจ้า รัฐเว่ย รัฐฉู่ รัฐเยียน และรัฐฉีเป็นรัฐสุดท้ายเมื่อปี 221 ก่อนคริสต์ศักราช โดยเมื่อรวมแผ่นดินเข้าเป็นหนึ่งเดียวได้แล้ว อิ๋งเจิ้งที่ถือตนว่า มีคุณธรรมเทียบได้กับสามบูรพกษัตริย์ (三皇) และผลงานมากมายเกินกว่าห้ามหาราชันย์ (五帝) ก็ยกตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้องค์แรก หรือ ปฐมจักรพรรดิ (始皇帝) ในประวัติศาสตร์จีน โดยพระองค์หวังว่า ราชวงศ์ของพระองค์นั้นจะมีฮ่องเต้ผู้สืบทอดต่อไปเป็นหมื่นองค์

ทั้งนี้นับจากจิ๋นซีฮ่องเต้เป็นต้นมา ผู้ปกครองของจีนใช้ตำแหน่งว่า ฮ่องเต้ (皇帝) มาโดยตลอด จวบจนกระทั่งราชวงศ์ชิงสิ้นสลายเมื่อช่วงต้นของศตวรรษที่ 20

หลังการตั้งตนขึ้นเป็นจักรพรรดิแล้ว จิ๋นซีฮ่องเต้ก็ฟังคำแนะนำจากอัครเสนาบดีนามว่า หลี่ซือ (李斯) โดยหลี่ซือกล่าวว่า ระบบการปกครองแบบปูนตำแหน่งศักดินา (分封制) นั้นส่งให้มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งเป็นรัฐเล็กรัฐน้อยจนราชวงศ์โจวล่มสลายมาแล้ว การหันกลับมาใช้ระบบการปกครองแบบศักดินาเช่นเดิมนั้นก็ถือเป็นความดื้อดึงและรังแต่จะทำให้ประวัติศาสตร์กลับมาซ้ำรอยอีก ทั้งนี้หลี่ซือซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในสาวกของแนวคิดแห่งสำนักนิตินิยม (ฝ่าเจีย:法家) นั้นเสนอให้ใช้ระบบการปกครองที่รวบอำนาจเบ็ดเสร็จมาไว้ที่ฮ่องเต้แทน

แต่ไหนแต่ไรมา สำนักนิตินิยม ที่ได้รับปรัชญาแนวคิดจากสวินจื่อ (荀子) ที่ว่า "โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์นั้นชั่วร้าย (人性本恶)" ก็สนับสนุนปรัชญาในการปกครองแบบเบ็ดเสร็จอยู่แล้ว โดยสำนักนิตินิยมเสนอให้มีการยกอำนาจไว้ที่ผู้ปกครอง และเน้นความสำคัญของกฎหมาย (法) กุศโลบาย (术) และ อำนาจ (势) ที่มีกฎหมายเป็นแกนกลาง

เมื่อรับเอาแนวคิดของหลี่ซือมาบริหารประเทศ จิ๋นซีฮ่องเต้ก็กำหนดมาตรการหลายประการเพื่อสร้างเสริมความแข็งแกร่งแก่อำนาจส่วนกลาง และเพื่อความเป็นเอกภาพ โดยรวมอำนาจสูงสุดอยู่ในมือขององค์ฮ่องเต้ ขณะที่เหล่าขุนนางใหญ่มีสิทธิเพียงถกเถียงและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการของรัฐโดยไม่มีสิทธิในการตัดสินใจใดๆ

ในการปกครองผู้มีอำนาจรองลงมาจากองค์ฮ่องเต้ประกอบด้วย 3 ขุนนางใหญ่คือ อัครเสนาบดี (เฉิงเซี่ยง:丞相) เป็นผู้ช่วยที่มีอำนาจรองจากฮ่องเต้ช่วยบริหารบ้านเมือง สมุหนายก (อี้ว์สื่อต้าฟู:御史大夫) คอยกำกับดูแลข้าราชบริพารทุกระดับชั้น และ สมุหกลาโหม (ไท่เว่ย:太尉) รับผิดชอบกิจการทหาร ขณะที่ดินแดนทั้งหมดถูกแบ่งเป็นเขตการปกครอง (郡) 36 แห่ง (ต่อมาเพิ่มเป็น 40 กว่า) ซึ่งแบ่งย่อยออกไปเป็นอำเภอ (县) ตำบล (乡) และหมู่บ้าน (亭)

ในส่วนของระบบวัตถุปัจจัยได้มีการสร้างมาตรฐานระบบภาษาเขียน ระบบเงินตรา มาตราชั่ง ตวง วัด และถนนให้เป็นหนึ่งเดียว โดยสิ่งเหล่านี้เป็นแกนที่คอยรวบรวมเอกภาพของแผ่นดินจีนตลอดประวัติศาสตร์กว่า 2,000 ปี

แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ สิ่งที่ชนรุ่นหลัง และชาวโลกในปัจจุบัน นึกได้เป็นอันดับต้นๆ เมื่อมีการกล่าวถึงจิ๋นซีฮ่องเต้กลับไม่ใช่การปฏิรูปต่างๆ เหล่านี้ แต่เป็นสิ่งก่อสร้างและวัตถุที่ร่ำลือกันต่อๆ มาว่าเป็น "สิ่งมหัศจรรย์บนกองเลือดเนื้อหยาดเหงื่อ และความสูญเสียของประชาชน"

นอกจากการปฏิรูปต่างๆ ข้างต้นแล้ว จิ๋นซีฮ่องเต้ยังมีรับสั่งให้ซ่อมสร้างกำแพงเมืองจีนที่มีอยู่เดิมให้ยาวขึ้นและต่อกันเพื่อป้องกันชนเผ่านอกด่าน สั่งให้มีการเกณฑ์แรงงานกว่า 7 แสนคนเพื่อก่อสร้างพระราชวังเออผังกง (阿房宫) ขึ้น ณ เมืองเสียนหยาง โดยพระราชวงศ์เออผังกงนั้นมีคำร่ำลือกันว่า ภายในกำแพงเมืองนั้นบรรจุไว้ด้วยตำหนักต่างๆ กว่า 300 ตำหนัก ขณะที่ภายนอกนั้นมากมายกว่า 400 ตำหนัก

ความยิ่งใหญ่ของเออผังกงได้ถูกบันทึกไว้ในหน้าหนังสือประวัติศาสตร์เล่มสำคัญอย่าง สื่อจี้ (史记) โดยในสื่อจี้ ซือหม่าเชียนบันทึกเอาไว้ว่า ตำหนักใหญ่ด้านหน้าของเออผังกงหลังหนึ่งนั้นมีขนาดความกว้างจากทิศตะวันออกไปตะวันตก 500 ก้าว ขณะที่ความกว้างจากทิศเหนือไปใต้นั้นยาว 50 จ้าง บรรจุคนได้หนึ่งหมื่นคน ..... ขณะที่เมื่อฌ้อปาอ๋อง-เซี่ยงอี่ว์ (项羽) บุกเข้าเมืองเสียนหยาง การเผาทำลายพระราชวังเออผังกงแห่งนี้ เปลวเพลิงนั้นลุกโชนยาวนานอยู่กว่า 3 เดือน!!!

พร้อมๆ ไปกับการสร้าง กำแพงเมืองจีน พระราชวังเออผังกง รวมถึงโครงการต่างๆ มากมาย จิ๋นซีฮ่องเต้ยังมีรับสั่งให้มีการสร้างสุสานอันวิจิตรพิสดารเตรียมไว้สำหรับตัวเองเมื่อสวรรคต (แม้ว่าอีกใจหนึ่งพระองค์เองก็ยังตั้งความหวังไว้กับยาอายุวัฒนะก็ตาม) ทั้งนี้สุสานหุ่นม้าและทหารดินเผา ก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของสุสานที่ว่าของพระองค์

จากข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ระบุว่า สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้มี หลี่ซือเป็นผู้คุมการก่อสร้างหลัก ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างยาวนานกว่า 39 ปี และใช้คนงานมากกว่า 720,000 คน

ในขณะที่เวลานั้นทั้งประเทศมีประชากรรวมกันราว 20 ล้านคน มีการประเมินกันไว้ว่ามีประชากรเป็นคนหนุ่มมากถึง 3 ล้านคนเศษที่จะต้องใช้แรงงานหนักในอภิมหาโครงการต่างๆ เหล่านี้ของจิ๋นซีฮ่องเต้ ขณะที่ภาระค่าก่อสร้างต่างๆ ก็ถูกผลักต่อไปสู่ชาวบ้านอีกทอดหนึ่ง

มากไปกว่าความเหนื่อยล้าจากการใช้แรงงานและกฎหมายอันเข้มงวดดังที่กล่าวไปแล้ว หลี่ซือ คนเดิม ยังเสนอให้ออกมาตรการเด็ดขาดเพื่อปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ฮ่องเต้ ด้วยวิธีการควบคุมทางความคิดทุกประการที่แตกต่างจากตนเอง

มาตรการดังกล่าวถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า การเผาตำราฆ่าบัณฑิต (焚书坑儒)

การดำเนินการเผาตำราฆ่าบัณฑิตนั้น มีการออกราชโองการให้เผาทำลายหนังสือตำราทุกชนิด ยกเว้นตำราการแพทย์ ตำราพยากรณ์ และตำราการเพาะปลูก มีคำสั่งห้ามมิให้มีการเปิดโรงเรียนเอกชน ห้ามเรียนวิชาเกี่ยวกับแนวความคิดของสำนักต่างๆ และดำเนินการวิพากษ์วิจารณ์ภาครัฐโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ในเวลาต่อมาเมื่อโองการประกาศใช้ ก็สร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาสานุศิษย์ของลัทธิขงจื๊อเป็นอย่างมาก ส่งให้สานุศิษย์ของลัทธิขงจื๊อเหล่านี้ออกมาเผยแพร่ความเหลวแหลกของจิ๋นซีฮ่องเต้ ไม่ว่าจะเป็นการเสาะหายาอายุวัฒนะ ความโลภ และโหดเหี้ยมต่างๆ นานับประการ

เมื่อจิ๋นซีฮ่องเต้ทราบข่าวดังกล่าวเข้าก็พิโรธเป็นอย่างยิ่ง และออกคำสั่งให้มีการประหารเหล่าสานุศิษย์ของลัทธิขงจื๊อ ด้วยวิธีการฝังทั้งเป็นรวมแล้วกว่า 460 คน

การเผาตำราฆ่าบัณฑิต เดิมทีเป็นความพยายามของจิ๋นซีฮ่องเต้ในการควบคุมทางความคิดของประชาชนให้เป็นไปในแนวเดียวกัน แต่ผลสุดท้ายการกระทำดังกล่าวกลับไม่ได้สามารถช่วยกลบเกลื่อนความเหลวแหลก ความโลภ และความโหดร้ายทารุณของจิ๋นซีฮ่องเต้ในการปกครองประเทศให้เบาบางลงได้ และรังแต่จะเร่งจุดจบของราชวงศ์ฉินให้มาถึงรวดเร็วขึ้นเท่านั้น

...... คล้อยหลังจิ๋นซีฮ่องเต้สวรรคตลงได้เพียง 3 ปี ปีที่ 207 ก่อนคริสต์กาลราชวงศ์ฉินก็สิ้นสลายลง

ความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์ฉินมิได้บังเกิดขึ้นในยุคสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้เพียงผู้เดียว แต่การดำรงอยู่เพียง 15 ปีของราชวงศ์ฉินนั้น จิ๋นซีฮ่องเต้ผู้เคยวาดหวังไว้ว่าจะมีทายาทเป็นฮ่องเต้สืบทอดราชวงศ์ฉินต่อจากตนไปอีกเป็นหมื่นรุ่น ก็มิอาจจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบดังกล่าวได้เลย

ความรุ่งเรืองและล่มสลายของรัฐฉิน เป็นบทเรียนที่ผู้ปกครองทุกคนควรเรียนรู้และจดจำ เพราะ อย่างเช่นที่หลายคนเคยเปรียบเปรยเอาไว้ ประวัติศาสตร์นั้นคล้ายกับกงล้อที่เมื่อเวลาผ่านไป ก็มักจะหมุนกลับมาทับซ้ำรอยเดิมอยู่เสมอ

อ้างอิงจาก :
1.หนังสือประวัติศาสตร์จีนยุคเก่า (中国古代史) โดยกัวเผิง (郭鹏) สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง ค.ศ.2003
2.หนังสือประวัติศาสตร์จีน โจวจยาหรง เขียน ผศ.ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ บรรณาธิการ นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์ พ.ศ.2546
3.หนังสือ 中国文化速成读本 : สำนักพิมพ์ 中国文史出版社 ฉบับเดือนมกราคม ค.ศ.2004
4.นิตยสาร 中国国家地理 (Chinese National Geography) ฉบับที่ 536 เดือนมิถุนายน ค.ศ.2005
แผนที่ตั้งของรัฐต่างๆ ในสมัยสงครามระหว่างรัฐ (จั้นกั๋ว:战国)
ซังยัง (商鞅; 390-338 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
พระราชวังเออผังกงตามจินตนาการของชนรุ่นหลัง
ภาพการเผาตำราฆ่าบัณฑิต หรือ เผาตำราฝังบัณฑิต (焚书坑儒) ในสมัยฉิน
กำลังโหลดความคิดเห็น