xs
xsm
sm
md
lg

สรุปประเด็นปัญหาความขัดแย้งจีนกับญี่ปุ่น ปี 2005 (จบ)

เผยแพร่:   โดย: อดุลย์ รัตนมั่นเกษม

ปมขัดแย้งส่งท้ายปีเก่าระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเกิดขึ้นในที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกหรือ East Asia Summit (EAS) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งนี้ไม่มีสหรัฐฯเข้าร่วม นี่ทำให้ญี่ปุ่นรู้สึกขาดกำลังเมื่อต้องเผชิญหน้ากับจีนที่พยายามขยายอิทธิพลเข้ามาในอาเซียนมากขึ้นๆ ญี่ปุ่นหาทางออกด้วยการเชิญอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เข้ามาร่วมวงด้วย เพื่อสะกดอิทธิพลของจีนไว้

ว่าไปแล้ว จีนกับญี่ปุ่นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องกรอบความร่วมมือเอเชียตะวันออก โดยจีนเสนอให้ใช้กรอบอาเซียน +3 (10 ประเทศอาเซียน+ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) เพราะจีนมองว่านี่เป็นการต่อยอดของที่ประชุมอาเซียน+3 แต่ญี่ปุ่นอยากให้ใช้กรอบ “การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก” ซึ่งเป็นกรอบที่กว้างกว่า และอาจเปิดโอกาสให้สหรัฐฯเข้ามามีบทบาทได้ ในประเด็นเรื่องจะรับสหรัฐฯเข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกนี้หรือไม่ รวมทั้งประเด็นที่ว่าจะให้ใครเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการรวมเอเชียตะวันออกให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งจีนและญี่ปุ่นก็เห็นไม่ตรงกันอีก

จีนแสดงท่าทีว่า ต้องการให้อาเซียนมีบทบาทนำ (driver’s seat) ในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นท่าทีต่อเนื่องมาตลอดของจีน โดยเฉพาะกรอบความร่วมมือด้านความมั่นคง คงยังจำกันได้ว่า จีนได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ARF Security Policy Conference (ASPC) ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2547 ณ กรุงปักกิ่ง โดยมีอินโดนีเซียเป็นประธาน และ ASPC ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่เวียงจันทน์ วันที่ 19 พฤษภาคม 2548 โดยมีลาวเป็นประธานการประชุมทั้งสองครั้งที่ผ่านมาจีนได้รับเชิญให้เข้าร่วมมาตลอด แม้ว่าญี่ปุ่นจะได้เข้าร่วมการประชุมทั้งสองครั้งนี้ด้วยเช่นกัน แต่สหรัฐฯกลับไม่ได้มีส่วนร่วมในเรื่องนี้ด้วยแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ จีนได้เสนอแนวคิดในเรื่องกรอบความมั่นคงใหม่ โดยแจกจ่ายเอกสารที่แจกแจงแนวคิดและนโยบายในเรื่องนี้ของจีน เอกสารชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ “พีเพิลเดลี่” ของจีนเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2002 หลังวันก่อตั้งกองทัพปลดแอกจีนเพียง 1 วัน

ดังนั้น จึงเป็นที่ชัดเจนว่า จีนต้องการขยายอิทธิพลของตนในอาเซียน โดยพยายามเบียดอิทธิพลของญี่ปุ่นออกไป และท้ายที่สุด ก็จะพยายามเบียดเอาสหรัฐฯออกไปด้วย การเสนอให้อาเซียนมีบทบาทนำในกรอบความร่วมมือเอเชียตะวันออก จึงเป็นการต่อยอดแนวคิดนโยบายของจีนและซื้อใจประเทศในอาเซียนไปพร้อมกันด้วย และเมื่อกลุ่มประเทศในอาเซียนตอบรับแนวคิดของจีนตามคำแถลงที่กัวลาลัมเปอร์ นั่นเท่ากับจีนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งที่จะเบียดขับอิทธิพลทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐฯให้พ้นไปจากอาเซียน

ญี่ปุ่นแก้ลำด้วยการดึงเอาออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดียเข้าร่วมด้วย กระนั้นก็เป็นแรงหนุนที่แผ่วเบาเต็มทีเมื่อต้องเผชิญกับอำนาจจีนที่แกร่งขึ้นมาก ออสเตรเลียนั้นไม่อยากขัดแย้งกับจีนนัก เห็นได้ชัดในกรณีของไต้หวัน เหตุผลก็คือเรื่องของผลประโยชน์ที่จีนเป็นคู่ค้ารายสำคัญของออสเตรเลีย แม้ว่าออสเตรเลียจะเออออห่อหมกไปกับสหรัฐฯในหลายๆเรื่อง แต่ถ้าเรื่องไหนพาดพิงถึงจีน ออสเตรเลียเป็นต้องดันหางเสือเบนหัวเรือออกจากทิศทางที่ไปร่วมกับสหรัฐฯเสมอ อินเดียนั้นเป็นมิตรใหม่ของทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐฯ อะไรที่จะให้สนิทชิดเชื้อนัก อินเดียคงต้องชั่งใจให้มาก

เมื่อแรงหนุนนี้แผ่วเบาเพราะขาดอิทธิพลของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นจึงงัดไม้ตายมาใช้นั่นคือ การเสนอให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจก้อนโต เพื่อรักษาอิทธิพลของตนไว้ อย่าลืมว่า ถึงอย่างไร อาเซียนก็ยังคงเป็นตลาดลงทุนสำคัญของญี่ปุ่น ในขณะที่ญี่ปุ่นก็เป็นแหล่งเงินลงทุนสำคัญของอาเซียน เฉพาะในช่วงปี 1995-2001 ญี่ปุ่นขนเงินมาลงทุนในอาเซียน 34,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯจากยอดเงิน 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯที่ญี่ปุ่นขนไปลงทุนในประเทศอื่นๆทั่วโลก หรือราวร้อยละ 57 ของเงินลงทุนทั้งหมดของญี่ปุ่นไหลมาอยู่ที่อาเซียน หากมองจากทางอาเซียน เงินลงทุนจากญี่ปุ่นก็ยังครองอันดับหนึ่ง สูงสุดถึงร้อยละ 21.6 ของยอดเงินลงทุนจากต่างประเทศจำนวน 229,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำหน้ายุโรปและสหรัฐฯที่ตามมาด้วยร้อยละ 16.8 และ 14.5 ตามลำดับ

ดังนั้น เงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นประกาศให้ในครั้งนี้ จึงยังคงมีนัยสำคัญต่อบางประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม ที่เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ กว่าครึ่งมาจากทางญี่ปุ่น เห็นได้ชัดว่า ญี่ปุ่นไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยต่อการที่จีนพยายามเบียดขับอิทธิพลของตน

การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกปิดฉากลงแล้ว แม้ดูเบื้องต้น อาจเห็นว่าจีนถือไพ่ที่มีแต้มต่อเหนือกว่าญี่ปุ่น เพราะอาเซียนยอมรับแนวคิดของจีนที่จะให้อาเซียนมีบทบาทนำ แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันดีว่า หากจีนและญี่ปุ่นสองชาติยักษ์ใหญ่ในเอเชียไม่รอมชอมกัน การจะเห็นเอเชียตะวันออกเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็คงเป็นเรื่องของการฝันลมๆแล้งๆต่อไป

ทีนี้มาถึงประเด็นสุดท้าย คือเรื่องภัยคุกคามจากจีน ซึ่งตลอดขวบปีที่ผ่านมา ในญี่ปุ่นมีกระแสพูดถึงจีนในแง่ที่เป็นภัยคุกคาม ไล่เรียงมาตั้งแต่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ไปจนถึงสื่อมวลชนของญี่ปุ่นเอง ต่างสนใจพูดถึงประเด็นนี้กันทั่วหน้า เช่นเดียวกับที่เมื่อหลายปีก่อน ที่ญี่ปุ่นพร่ำพูดถึงภัยคุกคามจากเกาหลีเหนืออย่างไรก็อย่างนั้น

เกือบทุกฝ่ายในญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจต่ออำนาจทางทหารของจีนกันมากเป็นพิเศษ ในหนังสือ “ปกขาว” ของกระทรวงป้องกันตนเองของญี่ปุ่นได้แสดง “ความห่วงกังวล” ต่อการขยายและปรับปรุงของกองทัพจีน รวมไปถึงความไม่โปร่งใสในการเพิ่มแสนยานุภาพทางทหารของจีนด้วย และเมื่อบางประเทศในสหภาพยุโรปแสดงท่าทีว่าจะยกเลิกการคว่ำบาตรไม่ขายอาวุธให้จีน ญี่ปุ่นก็พยายามขัดขวางทุกทาง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเองก็เคยแสดงความไม่พอใจต่อฝรั่งเศสและเยอรมนีเกี่ยวกับเรื่องนี้ เหตุผลของญี่ปุ่นคือ หากยุโรปปลดล็อกเรื่องขายอาวุธให้จีน ก็อาจกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงโดยรวม เพราะทำให้ดุลอำนาจในภูมิภาคนี้เสียไป

หากเรามองย้อนกลับไปที่ญี่ปุ่น เราจะเห็นญี่ปุ่นแสดงอาการหวั่นเกรงอำนาจจีนอย่างออกนอกหน้า จนมีการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านความมั่นคงหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการดึงไต้หวันเข้ามาอยู่ในเป้าหมายยุทธศาสตร์ร่วมของญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้ญี่ปุ่นยกฐานะกองกำลังป้องกันตนเองขึ้นเป็นกองทัพ และยกฐานะกรมกิจการป้องกันตนเองขึ้นเป็นกระทรวงกลาโหม รวมทั้งการ เข้าร่วมพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธและการปรับยุทธศาสตร์ของกองทัพให้สอดรับกับทางสหรัฐฯ ทั้งหมดนี้คือปฏิกิริยาตอบสนองจากญี่ปุ่นต่ออำนาจจีนที่กล้าแข็งขึ้น

ดังนั้น ความสัมพันธ์จีนกับญี่ปุ่นในขวบปีที่ผ่านมา จึงปิดฉากลงด้วยกระแส “ภัยคุกคามจีน” จากนายมาเอะฮาร่า เซนจิ ประธานพรรคแอลดีพีและนายทาโร่ อาโซะ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ส่วนปฏิกิริยาตอบโต้จากจีนมีทั้งที่ดุเดือดรุนแรงมึนตึงเย็นชา พร้อมกับการรุกคืบขยายอิทธิพลสู่อาเซียนอย่างไม่ลดละ
กำลังโหลดความคิดเห็น