xs
xsm
sm
md
lg

สวัสดีตรุษจีน

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

ตรุษจีน คือ วันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน

สมัยโบราณในยุคราชวงศ์ต่างๆ นับช่วงพ้นปีเก่าเข้าปีใหม่แตกต่างกันไป กระทั่งปี 105 B.C. ฮั่นอู่ตี้ฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ฮั่นปรับเปลี่ยนระบบปฏิทินใหม่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เรียกว่า ปฏิทินไท่ชูลี่

ปฏิทินไท่ชูลี่ ปรับปรุงขึ้นจากระบบปฏิทินของราชวงศ์เซี่ย (21-16 ศตวรรษ B.C.) ถือเอาวันแรกของปักษ์ลี่ชุน 立春 เป็นวันขึ้นปีใหม่

ชาวจีนนับเอาวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่มา 2010 ปีแล้ว

วันตรุษจีนหรือปีใหม่นี้ จีนโบราณเรียกว่า 过年 กั้วเหนียน ผ่านปีหรือ 元旦หยวนตั้น – ขึ้นปีใหม่

เทศกาลตรุษปีใหม่หรือตรุษวสันต์นี้ เดิมเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์ นักวิชาการเริ่มวิเคราะห์จากคำว่า “เหนียน” 年ซึ่งปัจจุบันแปลว่า ปี

เทศกาลตรุษจีน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กั้วเหนียน” 过年

ในสมัยโบราณ (ก่อนราชวงศ์โจว) เหนียน หมายถึง รอบการเจริญเติบโตของธัญพืชรอบหนึ่ง ธัญพืชสุกพร้อมที่จะเก็บเกี่ยว และ/หรือหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของการเพาะปลูก ดังนั้น คำว่า “กั้วเหนียน” เดิมทีมิได้หมายถึงการสิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ แต่หมายความว่า ในปีนั้นๆ เก็บเกี่ยวได้อุดมสมบูรณ์

โดยทั่วไปแล้ว การเพาะปลูกในตงง้วนจะเก็บเกี่ยวกันตอนปลายฤดูใบไม้ร่วง ส่วนฤดูหนาวคือช่วงระยะล่าสัตว์ เมื่อเราย้อนกลับไปดูการกำหนดเดือนอ้ายขึ้นปีใหม่ในปฏิทินโบราณทั้ง 4 ระบบ จะเห็นว่าก๊กเซี่ย ขึ้นปีใหม่ตอนปลายเดือนมกราคม ก๊กซางขึ้นปีใหม่ตอนปลายเดือนธันวาคม ก๊กโจวขึ้นปีใหม่ตอนปลายเดือนพฤศจิกายน ก๊กฉินขึ้นปีใหม่ตอนปลายเดือนตุลาคม ที่ต่างกันดังนี้ อาจเนื่องมากจากความแตกต่างของฤดูกาล

เทศกาลปีใหม่มีขึ้นอย่างเป็นเอกภาพพร้อมเพรียงกัน หลังจากจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ประกาศใช้ปฏิทินไท่ชูลี่ เมื่อค.ศ. 105 แล้ว ดังนั้น อาจกล่าวว่า เทศกาลปีใหม่จีนหรือตรุษจีนเริ่มกำหนดอย่างเป็นทางการในรัชสมัยฮั่นอู่ตี้

ในส่วนคติชาวบ้านก็มีนิทานพื้นบ้านอธิบายว่าทำไมจึงเรียกเทศกาลตรุษวสันต์ว่า “กั้วเหนียน” 过年 เช่นกัน ดังนี้

ในรัชสมัยของจู๋อี่ โอรสสวรรค์องค์ที่ 14 แห่งราชวงศ์ซาง มีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ ว่านเหนียน 万年เห็นว่าการประกาศปฏิทินกำหนดฤดูกาลของราชสำนักมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากสภาพภูมิอากาศที่เป็นจริง อันก่อผลเสียหายแก่การกสิกรรมและการปศุสัตว์มาก ว่านเหนียนจึงพากเพียรพยายามติดตามศึกษาดาราศาสตร์ ศึกษาเงาตะวันจากนาฬิกาแดด เป็นต้น จนกระทั่งทราบต้นตอที่มาของความผิดพลาด การคำนวณปฏิทินแบบเดิม

ขณะนั้นโอรสสวรรค์จู่อี่เอง ก็ทรงร้อนพระทัยห่วงใยที่การกำหนดฤดูกาลไม่แม่นยำ แต่ทว่าอาเหิง อำมาตย์ผู้ควบคุมการคำนวณฤดูกาลไม่ยอมรับว่าตนด้อยความรู้ความสามารถ กลับเสนอจู่อี่ว่า การที่ฤดูกาลไม่ตรงกับที่ได้คำนวณกำหนดไว้นั้น เนื่องมาจากพลเมืองกระทำมิดีผิดผีลบลู่เทพยดาฟ้าดิน

โอรสสวรรค์จักต้องก่อสร้างหอมหึมาแล้วนำอำมาตย์ทั้งมวลขึ้นไปบวงสรวงเทพยดาฟ้าดินพร้อมกัน

จู๋อี่ ทรงเชื่อตามที่อาเหิงเสนอ จึงทรงสั่งให้เก็บส่วยจากพลเมืองในแคว้น เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบวงสรวงฟ้าดิน

ฝ่ายว่านเหนียนเห็นว่าการทำเช่นนี้ มิอาจแก้ปัญหาอันใดได้เลย รังแต่จะเพิ่มความทุกข์ยากลำบากต่อราษฎรเป็นทวีคูณ ว่านเหนียนจึงขอเข้าเฝ้าจู๋อี่ แล้วอธิบายสาเหตุที่การคำนวณปฏิทินแบบเก่าผิดพลาดคลาดเคลื่อนให้จู๋อี่ฟัง

จู๋อี่ทรงยอมรับหลักการของว่านเหนียน จึงระงับพิธีบวงสรวงนั่นเสีย แล้วสร้างหอดาราศาสตร์ให้ว่านเหนียนใช้ทำงานค้นคว้า

อาเหิงแทนที่จะดีใจที่วิทยาการจะก้าวหน้าขึ้น แกกลับอิจฉาริษยาว่านเหนียน เกรงว่าหากว่านเหนียนปรับปรุงปฏิทินสำเร็จ ตนจะถูกปลดออกจากตำแหน่งขุนนาง อาเหิงจึงว่าจ้างมือสังหารไปฆ่าว่านเหนียน

แต่เนื่องจากว่านเหนียน ทำงานในหอดาราศาสตร์ทั้งกลางวันกลางคืน ภายนอกหอก็มีทหารพิทักษ์รักษาเวรยาม มือสังหารจึงหาโอกาสฆ่าว่านเหนียนไม่ได้สักที กาลผ่านไปเนิ่นนาน มือสังหารจึงตัดสินใจใช้ธนูลอบยิง ว่านเหนียนถูกธนูที่แขน แต่คนร้ายเองที่ถูกจับนำไปสอบสวนต่อหน้าจู๋อี่ เมื่อความลับเปิดเผยขึ้น อาเหิงจึงถูกประหาร

ในคืนวันนั้นจู๋อี่ก็เสด็จไปเยี่ยมว่านเหนียนที่หอดาราศาสตร์ เมื่อไปถึงว่านเหนียนได้พูดว่า “ขณะนี้เป็นเวลาเที่ยงคืนพอดี ปีเก่ากำลังผ่านพ้น วสันตฤดูกำลังเริ่มต้น ขอพระองค์จงทรงตั้งชื่อวันนี้ไว้เป็นที่ระลึกเถิด”

จู๋อี่ จึงทรงตั้งชื่อวันนั้นว่า ตรุษวสันต์ 春节 แล้วทรงชวนว่านเหนียนไปพักรักษาตัวในราชวัง แต่ว่านเหนียนยืนหยัดที่จะทำงานในหอดาราศาสตร์ต่อไป

กาลเวลาผ่านไปอีกสามปี ว่านเหนียนจึงปฏิรูประบบปฏิทินเสร็จสมบูรณ์ แต่ทว่าบัดนี้ ว่านเหนียนผู้แต่เดิมยังเป็นหนุ่มฉกรรจ์ได้เปลี่ยนเป็นชายชราผมขาวโพลน โอรสสวรรค์จู๋อี่ทรงประทับพระทัยในอุตสาหะวิริยะของว่านเหนียน จึงทรงตั้งชื่อปฏิทินใหม่นั้นว่า “ปฏิทินว่านเหนียน” (ว่านเหนียนลี่) และทรงแต่งตั้งให้ว่านเหนียนเป็นเทพแห่งอายุวัฒนะ

นี่เองคือต้นตอที่ชาวบ้านจีนเรียกตรุษวสันต์ว่า ‘กั้วเหนียน’และในเทศกาลนี้ชาวบ้านก็มักนิยมแขวนภาพ “เทพแห่งอายุวัฒนะ” (โส้วซิง) เพื่อรำลึกถึงคุณูปการความดีงามและคุณธรรมของ “ว่านเหนียน” นั่นเอง.
กำลังโหลดความคิดเห็น