xs
xsm
sm
md
lg

ทฤษฎีชี้นำ (10)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

4. วิวัฒนาการลัทธิมาร์กซ์จีน (ต่อ)
4.10 การเกิดขึ้นของทฤษฎีชี้นำใหม่ๆหลังยุคเติ้งเสี่ยวผิง
3) ทฤษฎีสังคมกลมกลืน
ที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคสมัยที่ 16 เมื่อปลายปี ค.ศ. 2002 ได้กำหนดเป้าหมายว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะต้องนำประชาชนชาวจีนพัฒนาประเทศสู่ความเป็น “สังคมอยู่ดีกินดีอย่างรอบด้าน” (เฉวียนเมี่ยนเสี่ยวคังเซ่อฮุ่ย)ภายในปี ค.ศ.2020 โดยกำหนดภาพรวมของสังคมดังกล่าวไว้อย่างเคร่าๆในระดับ “พิมพ์เขียว”เรียบร้อยแล้ว
มันเป็น “การบ้าน”ที่คณะผู้นำชุดใหม่ที่มีหูจิ่นเทาเป็นแกนนำจะต้องกระทำการให้เป็นผลสำเร็จ โดยจะต้องตีโจทย์สำคัญให้แตก นั่นคือ “จะทำกันอย่างไร ?”
ทันทีที่รับมอบอำนาจหน้าที่จากคณะผู้นำชุดเก่าเรียบร้อยแล้ว คณะผู้นำพรรคฯจีนชุดใหม่ที่มีหูจิ่นเทาเป็นแกนนำ ก็เดินหน้าปฏิบัติ ยืนหยัดในแนวคิดทฤษฎีชี้นำที่เป็นแม่บทนำร่อง ทั้งความคิดเหมาเจ๋อตง ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง และหลักคิดสำคัญเรื่อง “สามตัวแทน” ซึ่งรวมๆก็คือ ลัทธิมาร์กซ์จีน ยึดมั่นในหลักการ “ปลดปล่อยความคิด หาสัจจะจากความเป็นจริง ก้าวไปพร้อมกับกาลเวลา” ทำการวิเคราะห์สภาวะเป็นจริงของสังคมโลก ทำความเข้าใจในปัญหาต่างๆของประเทศจีน จนกระทั่งประมวลเป็นองค์ความรู้ใหม่ และแนวคิดทฤษฎีชี้นำชุดใหม่ๆ สำหรับการแก้ไขปัญหาข้อที่ว่า “จะทำกันอย่างไร ?”โดยเฉพาะ
ดังปรากฏออกมาเป็น “ทัศนะวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนา” และทฤษฎี “สังคมกลมกลืน” ตามลำดับ
ทั้งสองทฤษฎีนี้ ในทางปฏิบัติก็คือ พรรคฯจีนใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายตามที่ได้กำหนดไว้ในที่ประชุมใหญ่สมัชชาพรรคฯสมัยที่ 16
ซึ่งเชื่อแน่ว่า จะยังมีแนวคิดทฤษฎีชี้นำใหม่ๆเพิ่มขึ้นอีก สำหรับเป็นเครื่องมือในกระบวนการพัฒนาประเทศจีนไปสู่ความเป็นสังคมอยู่ดีกินดีอย่างรอบด้านภายในปี ค.ศ.2020
ยิ่งกว่านั้น คณะผู้นำพรรคฯจีนชุดปัจจุบัน ยังได้กำหนด “การบ้าน”ใหม่ๆ เพิ่มเติมให้แก่ตนเองอีก เช่นในการประชุมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2006 ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ ก็ได้กำหนดเป้าหมายที่จะสร้างประเทศจีนให้เป็นประเทศ “แบบนวัตกรรม”(ภาษาจีนว่า “ช่วงซินสิงกั๋วเจีย)ภายในปี ค.ศ.2020 โดยได้กำหนดมาตรการต่างๆไว้อย่างกว้างขวางในแผนพัฒนาประเทศระยะห้าปี ฉบับที่ 11 (ค.ศ.2006-2010) ที่จะผ่านการรับรองของสภาผู้แทนประชาชนจีนแห่งชาติและประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ การจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งที่กำหนดไว้เดิมและกำหนดขึ้นมาใหม่นั้น จำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือ “ทัศนะวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนา” และ ทฤษฎี “สังคมกลมกลืน”อย่างเต็มที่ และอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง จะมีการปรับปรุงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งอาจจะต้องมีแนวคิดทฤษฎีชี้นำใหม่ๆ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือเสริมเพิ่มขึ้นมาอีกในอนาคต
ทั้งหมดนั้น ก็เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดำเนินลุล่วงไปด้วยดีในทุกขั้นตอน
เครื่องมือเดิมๆใช้ไม่ได้ ก็ต้องพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆขึ้นมาใช้
เช่น ในเรื่องการพัฒนา เติ้งเสนอว่า “การพัฒนาคือเหตุผลเหล็ก” การแก้ไขปัญหาต่างๆจะต้องแก้ไขด้วยการพัฒนา ต่อมาเจียงเจ๋อหมินเสนอเพิ่มว่า “การพัฒนาเป็นภารกิจอันดับหนึ่งของการบริหารประเทศ”ที่พรรคบริหารประเทศจะต้องทำให้ดี สำหรับสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาในหมู่ประชาชน
ด้วยแนวคิดชี้นำดังกล่าว ประเทศจีนเดินหน้าพัฒนาประเทศ ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่องกัน 26 ปี (ค.ศ.1980-2005)ในอัตราเฉลี่ยปีละ 9.6 %
แต่การพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยเน้นตัวเลขจีดีพี(มูลค่าการผลิตโดยรวมในประเทศ) ได้นำมาซึ่งปัญหาต่างๆมากมาย เช่นทำลายสิ่งแวดล้อม และสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน หากยังดำเนินการพัฒนาตามแนวคิดชี้นำเดิมๆ ก็จะนำไปสู่วิกฤติรอบด้าน จำเป็นต้องพัฒนาแนวคิดทฤษฎีชี้นำใหม่ ที่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นบูรณาการ
นั่นคือที่มาของทฤษฎี “ทัศนะวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนา”
ส่วนทฤษฎี “สังคมกลมกลืน” ก็มีภูมิหลังหรือที่มาคล้ายคลึงกัน นั่นคือ ปัญหาทางสังคมที่มาพร้อมกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมจีนแตกตัวออกเป็นหลายชั้นชน แต่ก็ยังเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ในหมู่ประชาชน ป้องกันมิให้เกิดการแยกขั้วที่เป็นปฏิปักษ์กัน
ทั้งนี้ จีนอธิบายว่า สังคมนิยมจีนเป็นสังคมปลอดชนชั้น กรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตสำคัญๆ เช่นที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นของรัฐ ประชาชนชาวจีน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะอาชีพใดๆ ล้วนแต่เป็นผู้ใช้แรงงาน ร่วมกันสร้างสรรค์ประเทศจีนให้เจริญรุ่งเรือง มีความแตกต่างกันในระดับชั้นของฐานะอาชีพและรายได้ แต่ไม่ได้แบ่งออกเป็นชนชั้นขูดรีดกับชนชั้นถูกขูดรีดแต่ประการใด ดังนั้น ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในระหว่างชั้นชนต่างๆ จึงเป็นความขัดแย้งภายในหมู่ประชาชน มิใช่ความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์ระหว่างเรากับศัตรู
โดยภาพรวม ณ วันนี้ จีนเป็นสังคมนิยมที่มีลักษณะเชิงซ้อนหรือพหุสังคม จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพสำหรับการแก้ไขปัญหา ป้องกันมิให้ความขัดแย้งพัฒนาขยายตัวไปไกลจนเลยเถิดเป็นความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์ เกิดความปั่นป่วนในสังคม
นั่นคือที่มาของทฤษฎี “สังคมกลมกลืน”
การสร้างสังคมกลมกลืน มุ่งพัฒนาระบบ กลไก เช่นกฎหมาย และกฎกติกาต่างๆ ทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่น ไปพร้อมๆกับการพัฒนาสำนึกของความเป็นพลเมืองดีในหมู่ประชาชน
ตามหลักคิดของ “สังคมกลมกลืน” ให้ความสำคัญในเรื่องการยกระดับสำนึกแห่งความเป็นพลเมืองดีเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นปัญหาโดดเด่น เป็นจุดด่างพร้อยส่งผลกระทบในวงกว้าง ปัญหานี้ มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน หลักๆคือความล้าหลังยากจนต่อเนื่องหลายศตวรรษของประชาชนชาวจีน ผสมผสานกับความระส่ำระสายอย่างมากในช่วงปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม หนำซ้ำยังได้รับแรงหนุนจากลัทธิบริโภคที่เห็นแก่ตัวในยุคปฏิรูปและพัฒนา ชักนำให้คนจีนประพฤติปฏิบัติตัวในทางไม่ดีกันเกร่อ เช่น เห็นแก่ได้ ฉกฉวย ฉ้อฉล บิดพลิ้ว คดโกง ฯลฯ แสดงออกถึงความเป็นแก่ตัวอย่างรอบด้าน เป็นที่น่ารังเกียจทั้งในหมู่คนจีนด้วยกัน และในสายตาชาวต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดไม่อาจโยนความผิดให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เป็นเพราะขาดการพัฒนาทางจิตใจ ความเจริญทางจิตใจไล่ไม่ทันความเจริญทางวัตถุ หากไม่ทำการแก้ไขอย่างรอบด้าน ก็จะกลายเป็นจุดด่างพร้อยทางวัฒนธรรมของชาวจีน บั่นทอนความน่าเชื่อถือของคนจีน รัฐบาลจีน และประเทศจีนในสังคมโลก
การทำอย่างไรให้คนจีนอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน บนความแตกต่างทางฐานะอาชีพและรสนิยม ค่านิยม ที่นับวันแตกตัวสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น สามารถดำเนินชีวิตร่วมกันได้ในสังคมที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วรอบด้าน โดยไม่ปีนเกลียวหรือขัดแย้งกันจนเกินเหตุ จึงกลายเป็นภาระหน้าที่สำคัญยิ่งของพรรคและรัฐบาลจีน
มองในมุมหนึ่ง ทฤษฎีสร้างสังคมกลมกลืน ก็เป็นทั้งเครื่องมือและจุดมุ่งหมายพร้อมกันในตัว
ปัจจุบันรัฐบาลจีนได้ขยายผลทฤษฎีสังคมกลมกลืนไปสู่ระดับโลก นำเสนอทฤษฎีสร้าง “สังคมโลกที่กลมกลืน” สู่เวทีสากล เป็นเครื่องมือดำเนินการทูตสำคัญของรัฐบาลจีน เพื่อโน้มนำสังคมโลกเข้าสู่สภาวะ “กลมกลืน” แม้แตกต่างกันก็ยังอยู่ร่วมกันได้ บนพื้นฐานของความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และความเป็นอิสระความเป็นตัวของตัวเอง
เห็นได้ชัดว่า ทฤษฎีนี้สอดรับกับความเรียกร้องต้องการของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ทำให้จีนก้าวล้ำหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง บนเวทีการทูตโลก

-----------------------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น