xs
xsm
sm
md
lg

สรุปประเด็นปัญหาความขัดแย้งจีนกับญี่ปุ่น ปี 2005 (1)

เผยแพร่:   โดย: อดุลย์ รัตนมั่นเกษม

ในรอบปีที่ผ่าน จีนและญี่ปุ่นสองมหาอำนาจในเอเชียขัดแย้งขับเคี่ยวชิงกันเป็นผู้นำเอเชียอย่างดุเดือด ก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกันหลายต่อหลายครั้ง จนทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเสื่อมทรามลงอย่างต่อเนื่องมาตลอดทั้งปี และต่อไปนี้คือข้อสรุปประเด็นความขัดแย้งต่างๆระหว่างสองชาติพี่ใหญ่ในเอเชีย

ปมขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น เริ่มจากประด็นเรื่องไต้หวัน ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาได้ประชุมหารือการร่วมมือด้านความมั่นคงในลักษณะทวิภาคีขึ้น โดยในแถลงการณ์ร่วมทั้งสองประเทศระบุว่า “สนับสนุนการแก้ไขปัญหาไต้หวันด้วยสันติวิธี” คือเป้าหมายยุทธศาสตร์ร่วมกันของญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ

และนี่เป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นพาตัวเข้ามาพัวพันกับปัญหาไต้หวันโดยอาศัยอิทธิพลของสหรัฐฯ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการขัดขวาง “กฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกดินแดน” ของทางจีน และถ้ามองในระยะยาว ก็อาจตีความได้ว่า ญี่ปุ่นพยายามใช้ประเด็นไต้หวันขัดขวางการเติบใหญ่ของจีน ทั้งยังสะท้อนถึงความร่วมมือในเชิงยุทศาสตร์ทางทหารของญี่ปุ่นกับสหรัฐฯที่พยายามคงอิทธิพลของตนในภูมิภาคนี้ไว้ แน่นอนว่า เรื่องนี้ จีนแสดงความไม่พอใจเป็นการตอบโต้ แถมออกอาการข่มขู่กลับไปว่า นี่เป็นการแทรกแซง “กิจการภายใน” ของจีน

ประเด็นที่ตามมาติดๆคือ เรื่องแบบเรียนประวัติศาสตร์ แบบเรียนทุกวิชาของญี่ปุ่นจะมีการปรับเปลี่ยนใหม่ทุก 4 ปี และปีที่แล้วก็ถึงวาระที่ต้องปรับเปลี่ยน แล้วแบบเรียนเจ้าปัญหาก็เกิดผ่านการอนุมัติ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นอธิบายว่า เป็นเรื่องของระบบการตรวจพิจารณาแบบเรียนที่ไม่เหมือนกัน แต่ทั้งจีนและเกาหลีใต้ไม่ยอมรับเหตุผลนี้ มองว่าเป็นเรื่องของการพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์การรุกรานของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และแม้ว่าปัญหานี้ดูจะยุติลงชั่วคราว แต่ใครจะรู้ได้ว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า มันจะกลับมาเป็นปมขัดแย้งอีกครั้งหรือไม่ เมื่อญี่ปุ่นต้องปรับแบบเรียนใหม่อีกครั้งตามวาระ

การเดินขบวนต่อต้านญี่ปุ่นเป็นประเด็นขัดแย้งรุนแรงที่สุดระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในรอบปีที่ผ่านมาก็ว่าได้ ปมขัดแย้งเรื่องแบบเรียน ก่อให้เกิดการเดินขบวนประท้วงญี่ปุ่นขึ้นในเกาหลีใต้ก่อน คนเกาหลีประท้วงดุถึงขั้นตัดนิ้วและเผาตัวเอง แล้วกระแสนี้ก็ลามเข้าไปในจีน และเมื่อผสมผสานกับความรู้สึกต่อต้านญี่ปุ่นที่จะขอเข้าเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง สหประชาติ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านญี่ปุ่นครั้งใหญ่ขึ้นทั่วประเทศจีน การประท้วงเป็นไปด้วยความรุนแรง มีการขว้างปาทำลายสถานกงสุลญี่ปุ่น ในขณะที่ญี่ปุ่นตอบโต้ด้วยการยื่นหนังสือประท้วงต่อทางการจีน และสื่อมวลชนญี่ปุ่นก็พากันเสนอแต่ภาพการประท้วงที่รุนแรงของชาวจีน ทำให้คนญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนความรู้สึกจากแปลกใจตกใจและไม่เข้าใจ ไปเป็นโกรธแค้นและประณามวิจารณ์เหตุการณ์นี้ ถึงกับเรียกร้องให้คว่ำบาตรการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2008 ของจีนไปโน่น คำ “รักชาติไม่ผิด” ที่สื่อมวลชนญี่ปุ่นนำมาใช้ได้กลายเป็นวาทะแห่งปีของชาวญี่ปุ่นไป ในขณะที่เหตุการณ์ทำท่าจะรุนแรงบานปลาย ทางการจีนก็ออกมาสั่งห้ามการชุมนุมประท้วง ผู้นำการชุมนุมบางคนถูกจับและเพิ่งถูกตัดสินลงโทษไปเมื่อปลายเดือนที่แล้ว

ความขุ่นเคืองใจของทั้งสองฝ่ายจากการที่ชาวจีนออกมาประท้วงญี่ปุ่นอย่างรุนแรงยังไม่ทันจางหาย ปมความขัดแย้งใหม่ก็เกิดขึ้น นั่นคือการที่ญี่ปุ่นพยายามขอเข้าเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคง สหประชาชาติ ซึ่งญี่ปุ่นถือว่าเป็นภารกิจครั้งสำคัญ ที่ตนจะได้มีโอกาสเข้ามามีบทบาทในเวทีโลกให้สมฐานะมหาอำนาจเสียที โดยญี่ปุ่นได้จับมือร่วมกับเยอรมนี อินเดีย และบราซิล เป็นพันธมิตรสี่ชาติ แต่ก็เกิดกลุ่มประเทศที่รวมตัวกันต่อต้านพันธมิตรสี่ชาตินี้ ภาพที่ปรากฏออกมาคือ สหรัฐฯไม่สนับสนุนเยอรมนี ในขณะที่จีนยืนขวางทางญี่ปุ่นอยู่ สุดท้าย พันธมิตรสี่ชาติประกาศละทิ้งความพยายามที่ว่านี้ แล้วญี่ปุ่นก็ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศของตนใหม่ หันเข้าพึ่งอิทธิพลของสหรัฐฯแทนการเกาะกลุ่มกับพันธมิตรสี่ชาติ ปมของเรื่องนี้อยู่ที่ญี่ปุ่นจะทำอย่างไรกับสมาชิกถาวรอย่างจีน เพราะไม่ว่าญี่ปุ่นจะอยากเป็นสมาชิกถาวรฯอีกกี่ครั้ง ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญหน้ากับจีน เรื่องนี้น่าสนใจติดตามมากทีเดียว

ปมขัดแย้งสำคัญอีกเรื่องคือ เรื่องที่นายจุนอิจิโร่ โคอิซึมิ ไปรำลึกถึงทหารที่เสียชีวิตยังศาลเจ้ายาซูคูนิ ซึ่งนับแต่เป็นนายกรัฐมนตรีมา นายจุนอิจิโร่ได้ไปเยี่ยมศาลเจ้ายาซูคูนิมาแล้วถึง 5 ครั้ง และทุกครั้งก็ถูกทั้งจีนและเกาหลีใต้ประท้วงมาตลอด เรื่องนี้ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของทั้งสามชาติเสื่อมลง โดยเฉพาะจีนกับญี่ปุ่นที่ไม่มีการเยี่ยมเยือนกันในระดับผู้นำมาแล้วถึงกว่า 4 ปี แม้ว่านายจุนอิจิโร่จะอ่อนท่าทีลงบ้าง เปลี่ยนน้ำเสียงจาก “ต้องไป” มาเป็น “พิจารณาตามความเหมาะสม” หรือเปลี่ยนจากข้ออ้างว่า มันเป็นเรื่อง “กิจการภายใน” ของญี่ปุ่นมาเป็น “เรื่องส่วนตัว” ของนายจุนอิจิโร่ แต่ก็หาได้ทำให้จีนและเกาหลีใต้ลดความขุ่นเคืองใจลงได้ และแม้หลายฝ่ายจะคาดการณ์ว่า นายจุนอิจิโร่อาจไปเยือนศาลเจ้ายาซูคูนิในช่วงเดือนธันวาคมปีกลายหรือมกราคมปีนี้หลังการประชุมเอเปกและการประชุมสุดยอดเอเชีย เพื่อลดทอนความไม่พอใจของทั้งจีนและเกาหลีใต้ ทว่าเขากลับทำให้ทุกคนประหลาดใจด้วยการไปเยือนศาลเจ้ายาซูคูนิในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาซะอย่างงั้น ซึ่งทำให้จีนยังคงมีท่าทีมึนตึงกับญี่ปุ่นต่อไป และถึงกับยกเลิกการพบปะกันระหว่างนายกรัฐมนตรีของทั้งสองชาติในการประชุมสุดยอดเอเชียที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยที่นายจุนอิจิโร่ออกมาแสดงอาการไม่เข้าใจจีนว่า “ทำไมถึงพบกันไม่ได้เพียงเพราะปัญหานี้ปัญหาเดียว” และแม้เขาเล่นมุก “ขอยืมปากกา” จากนายเวินเจียเป่านายกรัฐมนตรีจีน แต่นายเวินก็ไม่รับมุกด้วย เชื่อว่าในปีนี้ ปัญหาเรื่องศาลเจ้ายาซูคูนิก็ยังจะเป็นประเด็นขัดแย้งของทั้งสองชาตินี้ต่อไป และจะเป็นปมเงื่อนสำคัญที่จะกำหนดว่า ทั้งสองชาติจะกลับมาญาติดีต่อกันเมื่อไหร่หรือไม่อีกด้วย

ปมขัดแย้งอีกเรื่องหนึ่งที่ดูท่าจะแก้ไขยากเสียยิ่งกว่าเรื่องศาลเจ้ายาซูคูนิ ก็คือ การพิพาทเรื่องเขตน่านน้ำในทะเลญี่ปุ่นของทั้งสองชาติ เพื่อแย่งชิงพื้นที่ที่ทั้งสองชาติเชื่อว่าเป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ศาลเจ้ายาซูคูนิเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ เรื่องแบบนี้ทะเลาะขัดแย้งกันง่าย แต่ก็น่าจะประนีประนอมกันง่ายด้วยเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วในอดีต แต่เรื่องการพิพาทเขตน่านน้ำนี่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่พอขัดแย้งกันแล้วมักคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนหรือประเด็นอธิปไตยเหนือหมู่เกาะที่ต่างฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์ เช่น หมู่เกาะที่จีนเรียกว่า เตี้ยวหวี แต่ญี่ปุ่นเรียกว่า เซนคาคูโชโตะ เป็นต้น

แม้ว่าในขวบปีที่ผ่านมา จีนกับญี่ปุ่นจะประชุมถกปัญหานี้กันมาแล้วหลายรอบ แต่เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีความเห็นแตกต่างกันมากในปัญหาเขตน่านน้ำ ส่งผลให้นอกจากจะหาทางออกกันไม่ได้แล้ว ยังทำให้ปัญหาเขม็งเกลียวหนักข้อขึ้นไปอีก โดยที่จีนได้เข้าไปขุดเจาะหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในซีกฝั่งที่เป็นเขตน่านน้ำของตน แต่ญี่ปุ่นอ้างว่า จีนขุดเจาะใกล้แนวเขตน่านน้ำมากไป บ่อน้ำมันที่จีนขุดอาจสูบเอาน้ำมันในเขตของญี่ปุ่นไปได้ ญี่ปุ่นจึงประท้วงจีน และอนุญาตให้บริษทเอกชนเข้าไปขุดเจาะบ้างตรงบนแนวเส้นแบ่งเขตน่านน้ำ เรื่องนี้ทำให้จีนไม่พอใจประท้วงญี่ปุ่นบ้างว่าล่วงล้ำอธิปไตยของตน ทำให้สถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้วเลวร้ายลงไปอีก และจนถึงบัดนี้ ก็ยังมองไม่มีมีวี่แววว่า ทั้งสองชาติจะช่วยกันคลี่คลายความขัดแย้งนี้ร่วมกันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น