xs
xsm
sm
md
lg

ทฤษฎีชี้นำ (9)

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

4. วิวัฒนาการลัทธิมาร์กซ์จีน (ต่อ)
4.10 การเกิดขึ้นของทฤษฎีชี้นำใหม่ๆหลังยุคเติ้งเสี่ยวผิง
2) ทัศนะวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนา
ในต้นปี ค.ศ.2003 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้นำเสนอแนวคิดเรื่องการพัฒนาแบบใหม่ เรียกว่า “ทัศนะวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนา”เป็นครั้งแรก เมื่อหูจิ่นเทาจับเอาเรื่องวิกฤติโรคซาร์สที่ระบาดหนักในต้นปีนั้นมาเป็นตัว “จุดประกาย” เน้นความสำคัญของ “คน” ว่า การพัฒนาที่ถูกต้องสมบูรณ์จะต้องถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง
เป็นการส่งสัญญาณว่า จะต้องมีการปรับแนวทางการพัฒนาประเทศครั้งใหญ่ ที่แตกต่างไปจากเดิม
ต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน หูจิ่นเทาได้เรียกประชุมคณะกรรมการกลางพรรค(ครั้งที่สาม ของคณะกรรมการกลางพรรคฯชุดที่ 16 นำโดยหูจิ่นเทา) ผ่านมติสำคัญเรื่องการปรับแนวคิดการพัฒนา จากการถือเอาการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหัวใจ มาเป็นถือเอาคนเป็นหัวใจ
สาระสำคัญก็คือ การพัฒนาจะต้องถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง โดยคำนึงถึงทุกๆด้านอย่างเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน เช่น เศรษฐกิจกับสังคม เมืองกับชนบท ภูมิภาคที่เจริญกับภูมิภาคที่ล้าหลัง ในประเทศกับต่างประเทศ คนกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ให้การพัฒนาดำเนินไปได้อย่างกลมกลืนและอย่างยั่งยืน
นับเป็นการประกาศความสิ้นสุดของแนวคิดการพัฒนาที่ถือเอาการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นตัวใจ ที่เติ้งเสี่ยวผิงนำเสนอในต้นทศวรรษ ค.ศ.1980
เป็นจุดหักเหครั้งใหญ่ทางความคิดของคณะผู้นำพรรคฯจีน หลังจากที่ประเทศจีนประสบความสำเร็จอย่างงดงามในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ขนาดเศรษฐกิจจีนหรือมูลค่าการผลิตในประเทศ(จีดีพี)ขยายตัวเฉลี่ยปีละเกือบ 10 % ติดต่อกันทุกปีนับตั้งแต่เริ่มดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศในปี ค.ศ.1978 จวบจนทุกวันนี้
นักวิชาการจีนอธิบายการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า เป็นการปรับแนวคิดหรือทัศนะเกี่ยวกับการพัฒนาครั้งสำคัญ สอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการการพัฒนาไปอีกระดับหนึ่งประเทศจีน สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติต่างๆที่เป็นผลจากการพัฒนาที่ผ่านมา และเบิกทางไปสู่การพัฒนาในขั้นต่อไปได้เป็นอย่างดี
การปรับแนวคิดนี้ เป็นการแสดงออกอีกครั้งของการ “ก้าวไปตามเวลา” ในการพัฒนาทฤษฎีชี้นำการปฏิบัติพัฒนาประเทศจีนไปสู่อนาคต
มองตามกระบวนการพัฒนาทางความคิดทฤษฎีของพรรคฯจีน ก็คือ ภายหลังการดำเนินการพัฒนาประเทศมาอย่างต่อเนื่องนานกว่าสองทศวรรษ พรรคฯจีนโดยคณะผู้นำรุ่นใหม่ ได้สรุปประสบการณ์การพัฒนาในอดีต ประมวลเป็นองค์ความรู้รวบยอด แล้วเกิดการ “รู้แจ้งแทงตลอด”ในเรื่องการพัฒนาประเทศจีน ว่าจำเป็นต้องพัฒนาไปในรูปไหน แบบใด
ถือเป็นการแก้ไขปัญหาในระดับ “ปัญญา” โดยเริ่มจากการ “เข้าถึง”กฎเกณฑ์การพัฒนาของสังคมจีน ซึ่งเป็นความเข้าใจในระดับองค์รวม มิใช่บางส่วนบางด้าน หรือเพียงส่วนปลีกย่อย
การประกาศทัศนะใหม่ที่พรรคฯจีนเรียกว่า “ทัศนะวิทยาศาสตร์”ในเรื่องการพัฒนาครั้งนี้ ได้สร้างความสนใจให้แก่คนทั่วไปเป็นอย่างมาก รวมทั้งนักวิชาการตะวันตก ที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องการพัฒนา
จากการอธิบายของนักทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์จีน การนำเสนอทัศนะวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนา หมายถึงว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถเข้าถึงกฎเกณฑ์การพัฒนาประเทศให้ทันสมัยในระบอบสังคมนิยมอีกขั้นหนึ่ง สานต่อแนวคิดการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง(ถือเอาการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหัวใจ) และเจียงเจ๋อหมิน(เป็นตัวแทนสามประการ) เสริมเพิ่มความสมบูรณ์ทางด้านความคิดทฤษฎีให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกครั้งหนึ่ง บนเส้นทางที่พวกเขามุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาประเทศจีนให้ทันสมัย ประชาชนจีนอยู่ดีกินและมีสุขถ้วนหน้า ภายในปี ค.ศ. 2020
อีกนัยหนึ่งเป็นการเตรียมพร้อมทางความคิดในการขับเคลื่อนสังคมจีนไปสู่ความเจริญขั้นใหม่ ตามแนวคิดอุดมการณ์ของเขาที่ว่า จะทำให้คนจีนก้าวเข้าสู่ความมั่งคั่งร่วมกัน ภายหลังประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ คนจีนส่วนหนึ่งสามารถถีบตัวพ้นความยากจน มีชีวิตมั่งคั่งล้ำเกินคนส่วนใหญ่ของประเทศ เกิดการแยกขั้วกันระหว่างคนรวยกับคนจนเช่นเดียวกันกับในประเทศทุนนิยม
การแยกขั้วเช่นนี้ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาในระบอบทุนนิยม แต่จีนปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม มีอุดมการณ์พัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดีถ้วนหน้า มั่งคั่งร่วมกัน พรรคฯและรัฐบาลจีนจึงไม่ปล่อยให้การแยกขั้วดำเนินต่อไป ใช้ “มือที่มองเห็น”คืออำนาจบริหารประเทศในมือ ออกแบบ “พิมพ์เขียว”ชุดใหม่ในการพัฒนาประเทศ จากการถือเอาการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหัวใจ มาเป็นการถือเอาคนเป็นหัวใจ
ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจยังเป็นภารกิจพื้นฐานของการพัฒนาแบบใหม่ ที่พวกเขาเรียกว่าเป็น “วิทยาศาสตร์”
กล่าวกันว่า ในการกำหนดแนวคิดชี้นำการพัฒนาประเทศครั้งใหม่นี้ เป็นผลจากการสรุปบทเรียนการพัฒนาประเทศของจีนและของต่างประเทศทั้งในอดีตและปัจจุบัน พบว่า เมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดำเนินไปได้ขั้นหนึ่ง หากไม่พัฒนาด้านอื่นๆตามไปด้วย ก็จะเกิดปัญหาวิกฤติตามมา เป็นการพัฒนาที่ไม่สมดุลและไม่ยั่งยืน ประเทศจีนซึ่งกำลังอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการก้าวจากประเทศกำลังพัฒนายากจนไปสู่ประเทศกำลังพัฒนาระดับกลาง จำเป็นต้องปรับแนวทางการพัฒนา ให้เกิดความสมดุลและดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน หลีกพ้นวงวิกฤติอันอาจจะเกิดขึ้นได้
ตามหลักวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ การปรับแนวคิดการพัฒนาประเทศของจีนครั้งนี้ จะนำไปสู่การปลดปล่อยและพัฒนาพลังการผลิตในสังคมอีกขั้นหนึ่ง การถือเอาคนเป็นศูนย์กลาง ดำเนินการพัฒนาแบบเชื่อมโยงอย่างเป็นบูรณาการในทุกๆด้าน จะสามารถระดมปัจจัยต่างๆเข้าสู่กระบวนการพัฒนาได้อย่างทั่วถึงยิ่งกว่าในอดีต การปฏิรูประบบ กลไก หรือความสัมพันธ์ทางการผลิตซึ่งเป็นโครงสร้างชั้นบนจะเอื้อและส่งเสริมการพัฒนาขยายตัวของพลังการผลิตที่เป็นปัจจัยพื้นฐานมากขึ้นเรื่อยๆ การขับเคลื่อนตัวเองของสังคมจีนก็จะดำเนินไปได้ในทุกๆด้านอย่างมีพลัง
นั่นหมายความว่า ประเทศจีนในระบอบสังคมนิยม จะสามารถพาตัวเองผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ ดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีตและในหลายประเทศทั่วโลก พุ่งทะยานไปสู่อนาคต แสดงพลานุภาพของระบอบสังคมนิยม ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก
พวกเขาคาดหมายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น คือความกลมกลืนในมิติต่างๆของสังคม ดังนั้น จึงต้องทำการปรับบรรยากาศของสังคมจีนให้พร้อมสำหรับความเป็น “สังคมกลมกลืน” สามารถหล่อเลี้ยงจิตใจของผู้คนทุกระดับชั้น ไม่ว่ารวยหรือจน ทุกคนคาดหวังได้เต็มเปี่ยมว่า วันพรุ่งนี้จะต้องดีกว่าวันนี้ เกิดความเชื่อมั่น และพร้อมที่สุดที่จะทุ่มโถมกำลังกายกำลังใจในการสร้างสรรค์ชีวิตใหม่
หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เปิดประชุมคณะกรรมการกลางพรรคครั้งที่ 4 ผ่านมติเกี่ยวกับการสร้างสังคมจีนให้เป็นสังคมกลมกลืน ชักนำให้ประชาชาวจีนทั้งประเทศยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยการเริ่มจากตนเอง ปฏิบัติปฏิบัติชอบในทุกๆด้าน แม้ว่าจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน

------------------
กำลังโหลดความคิดเห็น