xs
xsm
sm
md
lg

ตาม'เซี่ยงเส้าหลง'ไป'เจาะเวลาหาจิ๋นซี' (2)

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


บ่ายวันหนึ่งของต้นฤดูใบไม้ผลิ ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2517 (ค.ศ.1974) ทางตอนใต้ของหมู่บ้านซีหยาง ตำบลหลินถง เมืองซีอาน ขณะที่ชาวบ้าน 4 คนประกอบด้วย หยางจื้อฟา หยางเฉวียนอี้ หยางซินหม่าน และ หยางเผยเยี่ยน กำลังพยายามขุดบ่อเพื่อนำน้ำมาใช้ในภาวะที่ขาดแคลน เมื่อขุดลงไปลึกจากพื้นดินกว่า 5 เมตรพวกเขาก็พบกับเศษเครื่องปั้นดินเผาจำนวนหนึ่ง กับช่องเล็กๆ ช่องหนึ่ง หลังจากกระเทาะดินแหวกช่องเล็กๆ ที่ว่าให้กว้างขึ้นก็พบเครื่องปั้นดินเผารูปร่างคล้ายไหดินเผาอีกจำนวนหนึ่ง

ทีแรกชาวบ้านทั้งสี่แห่งหมู่บ้านซีหยางต่างรู้สึกสิ้นหวังเป็นอย่างมากและคิดไปว่าการขุดหาบ่อน้ำครั้งนี้คงล้มเหลวเป็นแน่ เนื่องจากพวกตนได้ขุดไปพบกับเตาเผาเครื่องปั้นดินเผาของคนโบราณเข้าแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อขุดไปเรื่อยๆ ก็พบว่าไหดินเผาที่ว่า ดันมีรูปลักษณ์คล้ายกับลำคอของมนุษย์ และเมื่อขุดต่อไปต่อไปก็พบส่วนที่เป็นร่างกายคน เมื่อเห็นดังนั้นทั้งสี่คนจึงรู้สึกตระหนกตกใจเป็นอย่างยิ่ง โดยต่างก็หวนคิดไปถึง ตำนานที่ผู้เฒ่าผู้แก่แห่งหมู่บ้านซีหยางเล่าต่อๆ กันมาว่า หมู่บ้านแห่งนี้มีเทพดินเผา (瓦神) สิงสถิตย์อยู่ โดยคนในหมู่บ้านมีความเชื่อกกันว่า เมื่อใดที่มีการขุดค้นเจอเทพดินเผาหมู่บ้านก็จะประสบพบกับเภทภัย

สี่คนต่างก็สันนิษฐานไปต่างๆ นานา และสรุปกันว่า สิ่งที่พวกตนขุดพบคราวนี้นั้นอาจจะเป็น ศาลเจ้าของเทพดินเผาก็เป็นได้ โดยต่อมาเมื่อมีการขุดพบส่วนแขน รวมถึงอาวุธที่ทำจากสัมฤทธิ์อีกจำนวนหนึ่งเพิ่มเติมข่าวนี้ก็แพร่สะพัดไปในหมู่บ้านซีหยางอย่างรวดเร็วราวกับไฟลามทุ่ม

กระทั่งวันหนึ่งเมื่อฝังซู่หมิน (房树民) เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเรื่องการขุดบ่อน้ำเดินทางมาตรวจการขุดบ่อน้ำที่หมู่บ้านซีหยางและทราบข่าวว่ามีการขุดบ่อน้ำไปลึกตั้ง 5 เมตรกว่าแล้วแต่ยังไม่พบน้ำใต้ดิน เขาจึงเดินทางไปตรวจดู ณ ปากบ่อ เมื่อเห็นร่องรอยของสิ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า เทพดินเผา และเศษอิฐโบราณ ฝังซู่หมินจึงสันนิษฐานว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นวัตถุโบราณอันถือเป็นสมบัติของประเทศก็เป็นได้ เนื่องจากจุดที่ขุดบ่อนั้นอยู่ห่างจากสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้เพียง 1.5 กิโลเมตร ดังนั้นเขาจึงป่าวประกาศไม่ให้ชาวบ้านดำเนินการขุดเพิ่มเติม และขนย้ายสิ่งของจากบ่อออกไปโดยเด็ดขาด ทั้งยังแจ้งเรื่องราวดังกล่าวไปยัง เทศบาลตำบลหลินถง

ต่อมาเทศบาลตำบลหลินถงจึงได้ส่ง เจ้าคังหมิน (赵康民) หัวหน้าผู้ดูแลสถานเก็บรักษาวัตถุโบราณของตำบลมายังหมู่บ้านซีหยางเพื่อตรวจสอบเรื่องราว โดยเมื่อเจ้าคังหมินรุดมายังบ่อก็พบว่าของในบ่อถูกชาวบ้านโยกย้ายออกไปเป็นจำนวนไม่น้อยแล้ว โดยบ้างนำอิฐในบ่อกลับไปใช้ที่บ้าน บ้างนำหัวธนูโบราณที่เป็นสัมฤทธิ์ไปขายต่อเป็นของเหลือใช้ ขณะที่ชาวบ้านอีกบางส่วนก็นำเอาหัวของหุ่นทหารดินเผาที่ยังมีสภาพดูดีไปใส่หมวกฟางทำเป็นหุ่นไล่กาในนาข้าวเสียอย่างนั้น!

เมื่อเห็นดังนั้นเจ้าคังหมินจึงเรียกชาวบ้านทั้งหมดมาชุมนุมกันและเปิดประชุมหมู่บ้าน โดยแจ้งให้ทุกคนทราบถึงนโยบายของรัฐด้านวัตถุโบราณในขณะนั้น ก่อนที่จะไปที่ร้านเศษเหล็กเก็บหัวธนูสัมฤทธิ์ และอาวุธสัมฤทธิ์ต่างๆ ที่ชาวบ้านขุดจากหลุมขึ้นมาขาย รวมถึงเศษหุ่นดินเผาต่างๆ กลับมารวบรวมเอาไว้ ก่อนที่จะนำกระดาษมาห่อส่วนของหุ่นดินเผาที่ยังดูสมบูรณ์กลับไปยังตำบลเพื่อนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ ทั้งนี้ก่อนกลับเขายังย้ำให้ชาวบ้านนำเศษดินที่ถูกขุดขึ้นมากองยังปากบ่อมาร่อนดูอีกครั้งด้วยว่ามีวัตถุโบราณอื่นๆ ปนติดขึ้นมากับเศษดินหรือไม่

นับว่าเป็นเรื่องบังเอิญอย่างยิ่งที่ในช่วงเวลาเดียวกัน ลิ่นอันเหวิ่น (蔺安稳) ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวซินหัวเดินทางกลับจากปักกิ่งไปเยี่ยมบ้านเกิดที่ตำบลหลินถง ประกอบกับภรรยาของลิ่นอันเหวิ่น นาม ซุนเฟิ่งหยุน (孙凤云) นั้นทำงานอยู่ที่สถานเก็บรักษาวัตถุโบราณของตำบลพอดี

เมื่อทราบข่าวพบร่องรอยการขุดค้นพบเทพดินเผาและวัตถุโบราณที่หมู่บ้านซีหยาง ลิ่นอันเหวิ่นจึงถือโอกาสสัมภาษณ์เจ้าคังหมิน รวมทั้งรุดไปยังบ่อ ณ หมู่บ้านซีหยางเพื่อดูสถานที่จริง ก่อนที่เขาจะเขียนรายงาน "ค้นพบหุ่นทหารดินเผา ณ สุสานจิ๋นซี" ส่งไปให้กับหนังสือพิมพ์ประชาชนรายวัน (人民日报) โดยรายงานชิ้นนี้เมื่อผ่านการตรวจสอบจากกองบรรณาธิการแล้วก็ได้ลงตีพิมพ์ในวารสารชุมนุมเหตุการณ์ที่แจกจ่ายให้กับบรรดาผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนอ่านโดยเฉพาะ

พ.ศ.2517 (ค.ศ.1974) ณ เวลานั้นเป็นช่วงปลายของการปฏิวัติวัฒนธรรม โดยก่อนหน้านั้นมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุครั้งใหญ่ๆ มาแล้วหลายครั้งไม่ว่าจะเป็น สุสานจงซานจิ้งที่เหอเป่ย สุสานหม่าหวังตุยที่หูหนาน มาถึงคราวนี้ปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ.1974 รองนายกรัฐมนตรีหลี่เซียนเนี่ยน จึงมีจดหมายเป็นคำสั่งให้กองโบราณคดีและคณะกรรมการมณฑลส่านซีร่วมกันหามาตรการอนุรักษ์โบราณวัตถุนี้ (ในจดหมายระบุถึงความสนใจต่อการค้นพบครั้งนี้ของ นางเจียงชิงหนึ่งในสมาชิกแก๊งค์สี่คนไว้ด้วย)

ทำให้เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ.1974 หยวนจงอี เจ้าคังหมิน จึงนำทีมนักโบราณคดี เดินทางเข้าหมู่บ้านซีหยางอีกครั้ง เพื่อขุดค้นบ่อน้ำอันเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบ กองทัพหุ่นทหารและม้าดินเผาของจิ๋นซีฮ่องเต้ (秦兵马俑) ที่โลกต้องตะลึง

ทั้งนี้ในเวลาต่อมา นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีหลายคนต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าการค้นพบครั้งนี้นั้นนับว่าเป็นเรื่องบังเอิญอย่างที่สุดก็คงได้

ประการแรกก็เพราะว่า จากการทับถมของหิน ดิน ทรายยาวนานกว่า 2,000 ปี หุ่นทหารและม้าดินเผาของจิ๋นซีได้ถูกฝังลึกลงไปใต้พื้นดิน ลึกเกินกว่าที่การทำการเกษตรหรือประกอบกิจกรรมในชีวิตประจำวันชาวบ้านจะมีโอกาสสัมผัสถึง แม้ในการขุดค้นของนักโบราณคดีจะพบว่าชาวบ้านในอดีตไม่ว่าจะเป็นในสมัยราชวงศ์ฮั่นหรือราชวงศ์หมิงได้มีการใช้ผืนดินแห่งนี้ขุดทำเป็นสุสานมาบ้าง แต่ก็ไม่เคยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นใดระบุว่ามีกองทัพหุ่นทหารของจิ๋นซีจำนวนมหาศาลฝังอยู่ ณ ที่นี้ เว้นแต่ตำนานเทพดินเผา และวัตถุประหลาดรูปร่างคล้ายคนที่ชาวบ้านเล่าต่อๆ กันมา

ประการที่สอง หากชาวบ้านทั้งสี่คนเลือกที่จะขุดบ่อน้ำห่างจากจุดเดิมออกไปทางทิศตะวันออกอีกสัก 5 เมตร หรือ 10 เมตร ถึงวันนี้เชื่อว่า สุสานกองทัพหุ่นทหารและม้าดินเผาของจิ๋นซีฮ่องเต้ก็ยังคงถูกฝังอยู่ใต้ดินรอวันที่จะถูกค้นพบต่อไป ......

และแล้วการขุดบ่อน้ำอันแสนธรรมดาในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ.1974 ก็กลับกลายเป็นการบิดกุญแจเพื่อเปิดประตูสู่ไขความลับและปริศนาที่ถูกฝังอยู่นานกว่าสองพันปีจนได้

หลังการปฏิวัติวัฒนธรรมยาวนาน 10 ปีได้สิ้นสุดลง .... วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1979 พิพิธภัณฑ์หุ่นกองทหาร-ม้าดินเผาสุสานจักรพรรดิฉินสื่อหวง ก็เปิดให้สาธารณชนเข้าชมอย่างเป็นทางการ โดยก่อนหน้าที่จะเปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าชม เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1976 นายกรัฐมนตรีลีกวนยู ของสิงคโปร์ได้ออกปากขอมาชมการขุดค้นพร้อมกับกล่าวด้วยว่า การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นการค้นพบสิ่งมหัศจรรย์ของโลก และความภูมิใจของชาวจีนทั้งมวล

ขณะที่นายฌาคส์ ชีรัค ผู้นำของฝรั่งเศสที่หลงใหลในประเทศและวัฒนธรรมจีนอย่างมากก็เคยเดินทางมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้หลายครั้ง โดยครั้งแรกสุดเมื่อ ปี ค.ศ.1978 ภายหลังจากการเยี่ยมชม ชีรัคซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสถึงกับกล่าวว่า หุ่นกองทหาร-ม้าดินเผานี้น่าจะสามารถถูกจัดให้เป็น 'สิ่งมหัศจรรย์อันดับที่ 8 ของโลก' ได้!!!

และจุดนี้เองที่กลายเป็นจุดเริ่มของคำอ้างอิงที่คนจีนระบุว่า กองทัพหุ่นทหาร-ม้าดินเผาของจิ๋นซีฮ่องเต้คือ 'สิ่งมหัศจรรย์อันดับที่ 8 ของโลก' (คำกล่าวนี้ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานหรือองค์กร แห่งไหนแต่อย่างใด เพียงแต่ในปี ค.ศ.1987 องค์การยูเนสโกได้ขึ้นบัญชีสุสานรวมถึงกองทัพหุ่นของจิ๋นซีนี้ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม และทั้งนี้หากสุสานกองทัพหุ่นดินเผานี้ถูกจัดเข้าเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกจริงก็น่าจะ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคโบราณเนื่องจากถูกสร้างขึ้นก่อน ค.ศ.500)

มีเรื่องเล่าสนุกๆ ต่อๆ กันมาว่า ขณะที่รัฐบาลจีนพาผู้นำจากทั่วโลก และเก็บเงินชาวต่างชาติในการเข้าชมสุสานฯ ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ชาวบ้านทั้งสี่คนผู้ขุดพบเข้ากับสมบัติอันล้ำค่าอันหาค่ามิได้ของชนชาติจีนกลับได้รับรางวัลเป็นตัวเงินเพียงคนละ 3.9 เหมา หรือ เท่ากับค่าแรงรายวันในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมเท่านั้น .... อย่างไรก็ตามต่อมาเมื่อเติ้งเสี่ยวผิงทำการปฏิรูปเศรษฐกิจ เปิดประเทศ ชาวบ้านเหล่านี้ก็รับทรัพย์อย่างมากมายจากรายได้ในการแจกลายเซ็นให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน (ถึงปัจจุบันก็ยังคงแจกอยู่ทุกวัน)

แล้วกองทัพหุ่นทหาร-ม้าดินเผาแห่งสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ มหัศจรรย์อย่างไร?

ปัจจุบันมีการขุดค้นพบหลุมที่ใช้ฝังหุ่นทหาร-ม้าดินเผา 4 หลุม เรียกว่า หลุมหมายเลข 1 หมายเลข 2 หมายเลข 3 และ หมายเลข 4 เรียงลำดับตามช่วงเวลาของการขุดค้นพบ โดยหลุมหมายเลข 4 นั้นเป็นหลุมเปล่าที่ยังสร้างไม่เสร็จ ทั้งนี้เมื่อนับรวมทั้งสามหลุมแล้วมีหุ่นทหาร-ม้าดินเผาบรรจุอยู่รวมแล้วกว่า 8,000 ตัว ไม่นับรวมอาวุธ-ชุดเกราะที่ทำด้วยสัมฤทธิ์อีกนับแสนชิ้น ขณะที่ส่วนของอาวุธที่ทำด้วยไม้เช่นด้ามหอก ธนู มีหลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะส่วนใหญ่ถูกย่อยสลายไปแล้วกับกาลเวลา

สิ่งที่น่าตื่นตะลึงยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ขนาดของหุ่นทหาร-ม้าดินเผาของจิ๋นซีฮ่องเต้ที่แต่ละตัวใหญ่โตพอๆ กับคนจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยืนหรือหุ่นนั่ง โดยหุ่นยืนนั้นสูงราว 175-185 เซนติเมตร ขณะที่น้ำหนักของหุ่นทหารแต่ละตัวก็ตกอยู่ที่ราว 100-300 กิโลกรัม ส่วนหุ่นม้านั้นอาจจะหนักถึง 500 กิโลกรัม ที่สำคัญก็คือ ใบหน้า รูปลักษณ์ ของหุ่นทั้งหมดนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อันแสดงให้เห็นว่าในการลงมือประดิษฐ์หุ่นเหล่านี้มิได้เป็นการทำแบบลวกๆ แต่มีการตกแต่งใบหน้าของหุ่นให้แตกต่างออกไปให้เหมือนกับใบหน้าทหารจริงๆ ไม่นับรวมกับการแยกกอง-แบ่งลำดับชั้นของทหาร โดยใช้ท่าทาง เครื่องแต่งกาย ทรงผม อาวุธ ฯลฯ ตามแบบฉบับกองทัพจริงๆ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง

ขณะที่ในขั้นตอนการประดิษฐ์หุ่นเหล่านี้ก็ละเอียดอ่อนมากไม่ว่าจะเป็นการเลือกดิน การขึ้นรูป (หุ่นภายในกลวง) การเผา รวมไปถึงการลงสี ทั้งนี้มีการประเมินโดยนักวิทยาศาสตร์แล้วว่า การเผาหุ่นทหารจิ๋นซีที่บางตัวดินมีความหนาเพียง 5 มิลลิเมตรนั้น อุณหภูมิต่ำที่สุดที่จะใช้นั้นอยู่ที่ประมาณ 950-1,000 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิสูงสุดนั้นอยู่ที่ราว 1,000-1,050 องศาเซลเซียส

สำหรับการควบคุมอุณหภูมิให้คงที่นั้นถือเป็นเทคนิคชั้นสูงประการหนึ่ง เพราะหากไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิผ่านความแรงของไฟที่ใช้เผาแล้ว หุ่นก็จะมีรอยร้าว รอยแยก แตก หรือดินหดตัวเกิน ทำให้ไม่ได้รูป ฯลฯ เทคนิคและวิธีการเหล่านี้หากนำมาลงมือทำกันใหม่ในปัจจุบันก็นับว่ามิใช่เป็นเรื่องง่ายแต่อย่างใด ยิ่งหากพิจารณาถึงข้อจำกัดที่ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อ 2,000 กว่าปีก่อนด้วยแล้ว การสร้าง 'กองทัพหุ่นทหารดินเผา' ก็ดูแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ พอๆ กับบัญชาการการซ่อม-สร้าง 'กำแพงเมืองจีน' ของจิ๋นซีฮ่องเต้เลยทีเดียว

ในยุคต่อๆ มาแม้ฮ่องเต้และชาวจีนรุ่นหลังโดยเฉพาะสมัยฮั่น จะมีการสร้างหุ่นดินเผาเช่นเดียวกับในยุคของจิ๋นซีฮ่องเต้ แต่ก็ยังไม่เคยมีการค้นพบครั้งใดที่หุ่นดินเผาจะทำได้ขนาดใหญ่โต จำนวนมาก และละเอียดประณีต เท่ากับหุ่นทหาร-ม้าดินเผาของจิ๋นซีฮ่องเต้เลย
......................................
ผมเดินเลียบไปตามแนวชมภายในอาคารที่ครอบหลุมบรรจุหุ่นทหาร-ม้าดินเผาจิ๋นซีฮ่องเต้ ...

ความมหัศจรรย์จากการสร้างสรรค์ที่บังเกิดขึ้นด้วย หนึ่งสมองสองมือของมนุษย์หนึ่งคน ที่รวมพลังเข้ากับคนอื่นๆ จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสาม จากสามเป็นสิบ จากสิบเป็นร้อย จากร้อยเป็นพัน จากพันเป็นหมื่นๆ เมื่อสองพันสองร้อยปีก่อน ทหารหาญ ราษฎร ชาวนาภายใต้การปกครองของจิ๋นซีต้องเสียสละ หยาดเหงื่อ แรงงาน เลือดเนื้อ กระทั่งชีวิตไปมากมายเพียงไรเพื่อให้สิ่งมหัศจรรย์ที่อยู่ต่อหน้าของเราก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เห็น? แล้วทำไมจิ๋นซีฮ่องเต้จึงบัญชาให้สร้างตุ๊กตา หุ่นดินเผาเหล่านี้ขึ้น?

เพียงเพื่อต้องการแสดงความยิ่งใหญ่ของตนเองเท่านั้นหรือไร ..... ?


Tips สำหรับการเดินทาง:
- สุสานจักรพรรดิจิ๋นซี (秦始皇帝陵) ราคาบัตรผ่านประตู 18 หยวน พิพิธภัณฑ์สุสานฯ ในช่วงฤดูท่องเที่ยว (มี.ค.-พ.ย.) ราคาบัตร 90 หยวน เปิด 8.00-18.00น. นอกฤดูท่องเที่ยว (ธ.ค.-ก.พ.) ราคาบัตร 65 หยวน เปิด 8.30-18.00น. สุสานจิ๋นซีและพิพิธภัณฑ์สุสานอยู่ห่างจากตัวเมืองซีอาน ไปทางทิศตะวันออกราวชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง
- การเดินทางไป สุสานฯ อย่าเชื่อคำชักชวนไปกับรถที่ระบุว่า "ทัวร์สุสานจิ๋นซีพร้อมไกด์ ค่ารถ 30-40 หยวน ตลอดสายไป-กลับ" เพราะรถเหล่านี้จะแวะร้านขายของกับนักท่องเที่ยว และไม่ไปสถานที่สำคัญจริงๆ รวมถึงยังอาจมีการโกงค่าบัตรเข้าชม ทางที่ดีแนะนำให้ตื่นแต่เช้าไปขึ้นรถประจำทางสาย 306 ขึ้นรถที่หน้าสถานีรถไฟซีอาน หรือหากมีงบประมาณมากพอก็น่าจะเหมารถแท็กซี่ไปแทน (ราคาแล้วแต่ต่อรอง)

อ้างอิงจาก :
- หนังสือ 秦陵秦俑百谜 โดย จางเทา (张涛) : สำนักพิมพ์ 西安地图出版社
- หนังสือ 中国考古地图 (Map of China Archaeology) โดย ซ่างหลง และ หยางเฟย (尚珑 ,杨飞) : สำนักพิมพ์ 光明日报出版社 มกราคม ค.ศ.2005











กำลังโหลดความคิดเห็น