xs
xsm
sm
md
lg

ค่านิยมก่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

ได้เล่าไปแล้วว่าพรรคบอลเชวิคของรัสเซีย พรรคคอมมิวนิสต์จีน มีทฤษฏีลัทธิมาร์กซเป็นสิ่งชี้นำ และนำลัทธิมาร์กซมาใช้อย่าง “ลัทธิศาสนาทางโลก” นอกจากจะมีคำตอบทางเศรษฐศาสตร์ ทางการเมืองแล้ว ก็ยังมีกรอบจริยศาสตร์ของชาวสังคมนิยมหรือชาวคอมมิวนิสต์ไว้ด้วย

แน่นอนว่าเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศใดได้อำนาจรัฐ ก็ย่อมจะพยายามนำกรอบจริยศาสตร์แบบสังคมนิยมหรือแบบของชาวคอมมิวนิสต์มาสอนให้ประชาชนปฏิบัติตาม

ดังนั้น สังคมที่พรรคคอมมิวนิสต์เขาปกครองอยู่ จึงมิใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน ผู้คนไร้ศีลธรรม

ตรงกันข้าม จริยธรรม มนุษยธรรม จะถูกเชิดชู และเรียกร้องให้ผู้คนทำความดี ในนามเพื่อประชาชนผู้ถูกกดขี่ขูดรีด

จะมีปัญหาอยู่ก็ตรงที่ โดยหลักทฤษฎีการปฏิวัติของชาวคอมมิวนิสต์แล้ว สังคมมีชนชั้น แบ่งกว้างๆ ได้เป็นชนชั้นผู้กดขี่ขูดรีด กับชนชั้นผู้ถูกกดขี่ขูดรีด ต่อชนชั้นผู้ถูกกดขี่ขูดรีดนั้น ชาวคอมมิวนิสต์ถือว่าเป็นศัตรู ที่จะต้องกวาดล้างไป ปัญหาทางมนุษยธรรมก็เกิดขึ้นตรงนี้แหละ นั่นคือถ้าหากใครถูกตัดสินว่าเป็นศัตรูของการปฏิวัติ ศัตรูของชนชั้นผู้ถูกกดขี่ ศัตรูของประชาชนเสียแล้ว ก็มักจะถูกปฏิวัติ “ด้วยมาตรการที่ไร้ความปรานี” ตรงจุดนี้แหละที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ถูกมองว่าโหดร้ายทารุณ (โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นรัฐบาลเสียเอง)

แต่สำหรับ “ประชาชน”แล้ว (ซึ่งในยุคการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยนั้น รวมหมดทั้งกรรมกร ชาวนา นายทุนน้อย นายทุนผู้รักชาติ) ชาวคอมมิวนิสต์จะต้องทำความดีเพื่อคนพวกนี้ เสียสละทุกอย่างเพื่อคนพวกนี้

หลิวซ่าวฉี ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนหมายเลขสองในช่วงได้รับชัยชนะเข้าครองประเทศ เขียนไว้ในเรื่อง “ว่าด้วยการฝึกฝนของสมาชิกพรรมคอมมิวนิสต์” บทที่ 7 ตอนหนึ่งว่า

“พวกเขาเพียบพร้อมไปด้วยความรักฉันมิตร ความเร่าร้อนและความเห็นอกเห็นใจที่ยิ่งใหญ่และซื่อสัตย์สุจริต เพียบพร้อมไปด้วยจิตใจที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันอันยิ่งใหญ่ จิตใจที่สามัคคีอันแข็งแกร่ง จิตใจที่เสมอภาคอย่างแท้จริงต่อพี่น้องในชนชั้นตน และประชาชนผู้ใช้แรงงานที่ถูกกดขี่ทั้งปวง

พวกเขาคัดค้านการมีอภิสิทธิ์ใดๆ ของผู้หนึ่งผู้ใดทั้งสิ้น เห็นว่าตนเองไม่ควรจะมีความคิดอภิสิทธิ์ใดๆ พวกเขาเห็นว่าการมีความคิดอภิสิทธิ์ใดๆ ในหมู่ประชาชน กล่าวสำหรับตนแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะคาดคิดได้ เป็นการสบประมาทอย่างหนึ่ง พวกเขาจะพัฒนาตัวเอง จะยกระดับตัวเอง ก็จะต้องพัฒนาผู้อื่น ยกระดับฐานะชนชั้นผู้ใช้แรงงานทั้งหมดพร้อมกันไปด้วย ในทางความคิด ในทางการเมือง ในทางการงาน พวกเขาไม่ยอมล้าหลัง หากมีจิตใจที่มุ่งไปข้างหน้าอย่างสูง แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็นับถือ ถนอมรัก และช่วยเหลือคนที่เหนือกว่าเขาในด้านต่างๆ เหล่านี้ และพยายามไปศึกษาจากพวกเขา โดยไม่มีความอิจฉาริษยาอย่างเด็ดขาด

พวกเขาเอาใจใส่สภาวะความเจ็บปวดและความลำบากของชนชั้นตนและประชาชนผู้ใช้แรงงานทั้งหมดในโลก เอาใจใส่การต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยของผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนชัยชนะและความพ่ายแพ้ของพวกเขาทุกหนแห่ง เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นชัยชนะและความพ่ายแพ้ของผู้ใช้แรงงานในที่ใดๆ ก็ตาม ก็คือชัยชนะและความพ่ายแพ้ของพวกเขาเอง ทั้งได้แสดงความเห็นอกเห็นใจอย่างยิ่ง พวกเขาเห็นว่าการใช้ท่าทีเฉยเมย ไม่สนใจไยดี ต่อการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยของผู้ใช้แรงงานและผู้ถูกกดขี่ใดๆ เป็นความผิด การใช้ท่าทีลิงโลดในความเคราะห์ร้ายของผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันเป็นอาชญากรรม พวกเขาถนอมรักสหายและพี่น้องของตน ต่อจุดอ่อนและความผิดพลาดของสหายและพี่น้องของตน ก็จะทำการวิจารณ์อย่างเปิดเผย นุ่มนวลจริงใจ (นี่คือการแสดงออกซึ่งความถนอมรักอย่างแท้จริง) จะไม่ขอไปที จะไม่คล้อยตามไปในทางหลักการเป็นอันขาด และยิ่งไม่ไปส่งเสริมความผิดพลาดของผู้อื่นให้ขยายตัวไป....”

ที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้คือหลักการประพฤติปฏิวัติตัวของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กรอบจริยธรรมอย่างนี้ยังมีเนื้อหาอีกมากมาย กระจัดกระจายอยู่ในบทความ คำชี้นำของสมาชิกระดับผู้นำ เช่น ของเหมาเจ๋อตง ของหลิวซ่าวฉี ของเติ้งเสี่ยวผิง เป็นต้น

จริยธรรมค่านิยมทางสังคมที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนผลักดัน อบรมสั่งสอนเยาวชนคนรุ่นใหม่ ก็เป็นไปในทางเดียวกับที่เรียกร้องต่อสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์นั่นเอง เพียงแต่ระดับการเข้มงวดของการเรียกร้องจะเบาบางกว่า คือพวกสมาชิกพรรคนั้นจะต้องเข้มงวดกับตัวเอง เรียกร้องให้ตนเองประพฤติปฏิบัติตามจริยธรรมนั้นอย่างจริงจัง เรียกร้องให้ตนเองเสียสละกำลังทำงานเพื่อประชาชนมากกว่าที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปทำ

แรกๆ มันก็ได้ผลดี นายทุนชาติส่วนหนึ่งก็ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล การนับถือศาสนาและการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาดำเนินไปตามปกติ จริยธรรมของชาวสังคมนิยมค่อยๆ ซึมซาบเข้ากุมจิตใจของเยาวชนรุ่นใหม่ ส่วนคนรุ่นเก่าที่ประพฤติตนหนักไปทางอบายมุขนั้น ก็ถูกกดดันจากกรอบในสังคมจนต้องจำยอมไม่กล้าจะละเมิดกรอบ

อุดมคติสูงสุดที่กลายเป็นกรอบทางจริยธรรมของจีนยุคนั้น โดยชื่อแล้วคือ “ทำทุกอย่างเพื่อประชาชน” “รับใช้ประชาชน” แต่โดยเนื้อหาแล้วก็คืออุดมคติ “ชาตินิยม”

ผมมองว่า อุดมคติของรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์นั้น คือ “ชาตินิยม” แต่โฆษณาปลุกเร้ากันด้วยคำขวัญ “เพื่อประชาชนผู้ถูกกดขี่” จุดนี้อธิบายได้สองทาง

ทางหนึ่งคือ แรงผลักดันของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงประเทศจีนนั้น ส่วนสำคัญนอกจากความลำบากยากแค้นของชาวนาและกรรมกรแล้ว ความต้องการฟื้นฟู พัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมอารยะประเทศอื่นๆ เขาก็เป็นพลังสำคัญมาก

การเสียสละทำความดีเพื่อประชาชนผู้ถูกกดขี่นั้น ผลดี ความเจริญที่เกิดขึ้น ผลลำดับสุดท้ายก็คือสร้างความรุ่งเรืองให้ชาติจีน

ถ้าคนจีนจำนวนมากๆ มีอุดมคติ มีจริยธรรม มีค่านิยม อุทิศตนเพื่อประชาชนผู้ถูกกดขี่แล้ว ชาติจีนก็รุ่งเรืองไปด้วย โดยไม่จำเป็นต้องปลุกกระแสชาตินิยมให้เกิดความเสี่ยงที่อาจเอียงไปทาง “คลั่งชาติ”ได้

อีกทางหนึ่งคือว่า คำว่า “ความรักชาติ” นั้นเป็นนามธรรมมากๆ ความรักชาติมันจำเป็นต้องมีรูปธรรมมาแสดงออก ส่วน “ความรักประชาชนผู้ถูกกดขี่” นั้นเป็นรูปธรรม ที่นำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ทันที

“รับใช้ประชาชน” ครอบคลุมการทำความดีเรื่องดีได้ทั้งหมด นับตั้งแต่การเรียนหนังสือให้เก่ง เพื่อเติบโตขึ้นมารับใช้ประชาชน ช่วยกันรักษาความสะอาดหน้าบ้าน เก็บขยะ กวาดถนน ไม่ลักขโมย ฯลฯ

แต่หลังจากที่เหมาเจ๋อตงเกิดโรคใจร้อน อยากจะเห็นสังคมสังคมนิยมเร็วๆ กระชากลากถูให้เศรษฐกิจก้าวกระโดด เกิดความผิดพลาดทางเศรษฐกิจ ประกอบกับภัยธรรมชาติ ทำให้สังคมจีนลำบากยากแค้นไปหลายปี และยิ่งมาเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหภาพโซเวียตยุคครุสชอฟ เหมาเจ๋อตงคิดทำการปฏิวัติวัฒนธรรม หวังจะกวาดล้างความคิดเก่าที่เป็นปฏิกิริยาที่ต่อต้านแนวทางของสังคมนิยมเสียให้หมด เหมาเจ๋อตงยัดเยียดกรอบจริยธรรมสังคมนิยมดังกล่าวข้างต้นให้แก่สังคมจีน และในทางการปฏิบัติของระดับล่างลงมา การเคลื่อนไหวปฏิวัติวัฒนธรรมถูกนำไปปฏิบัติอย่างผิดพลาด ถูกใช้ไปเป็นเครื่องมือของการแย่งชิงอำนาจบริหารบ้านเมือง คนดีๆ ถูกทำลายไปมากมาย ด้วยข้อหาเป็นศัตรูของการปฏิวัติ

ที่สำคัญคือกรอบจริยศาสตร์แบบเก่าแนวขงจื้อ แนวพุทธ แนวเต๋า ตลอดจนมรดกทางวัฒนธรรมอีกมากมาย ถูกกวาดล้างทำลายไปมาก

กรอบจริยศาสตร์ของชาวคอมมิวนิสต์ก็ถูกบิดเบือน กลายเป็นกรอบเหล็กที่ซ้ายจัด ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของสังคมจีน ประชาชนจำนวนมากยอมอยู่ในกรอบนี้ตามวินัยสังคม แต่ก็มิได้ยอมรับถึงขั้นมีจิตสำนึกเป็นเช่นนั้น

เมื่อรัฐบางจีนเลิกความเป็นซ้ายจัด หันมาปฏิรูปเศรษฐกิจ ยอมปรับเศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจการตลาด มันก็ขัดแย้งกับอุดมคติ “เพื่อประชาชนผู้ถูกกดขี่” ค่านิยมเก่าเคว้งคว้างถูกลอยแพ ค่านิยมแบบทุนนิยมถาโถมเข้าไป ผลของมันทำให้สังคมจีนเป็นแบบทุกวันนี้

คนจีนแทบจะละทิ้งรูปธรรม “เพื่อประชาชนผู้ถูกกดขี่”ไปหมดแล้ว สิ่งที่แทนที่ คือนามธรรม “ชาตินิยม” ซึ่งน่าห่วงว่าอาจโน้มเอียงไปทาง “คลั่งชาติ” ได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น