xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมสังคมนิยมจีน

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

จีนเปิดประเทศ ปฏิรูปเศรษฐกิจโดยยอมเปลี่ยนจากระบบวางแผนจากศูนย์กลางสู่เศรษฐกิจระบบตลาด ให้กลไกตลาดเป็นตัวควบคุม มาตั้งแต่ปี 1978 ทำให้สังคมจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง วันศุกร์ที่ 25 นี้ วิทยาลัยนวัตกรรรม มหาวิทยาลัยรังสิต จะมีการเสวนาแสดงความคิดเห็นกันในเรื่องนี้ โดยตั้งหัวข้อว่า “ทุนนิยมทำให้จีนดีขึ้นหรือแย่ลง”

ท่าน ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ ท่านจะพูดในมุมมองเศรษฐกิจที่เปลี่ยนจากระบบวางแผนศูนย์กลางมาสู่กลไกการตลาดแบบสังคมนิยม ดร.จุลชีพ ชินวรรณโณ อธิบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อาจารย์วิศิษฐ์ เตชะเกษม เปรียบเทียบให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมจากสังคมนิยมสู่ปัจเจกนิยม ส่วนผมนั้น คุณไพศาล สุริยะวงศ์ไพศาล ผู้ดำเนินการเสวนา ท่านกำหนดให้ผมพูดเกี่ยวกับผลกระทบทางวัฒนธรรม

เป็นเรื่องยากเหมือนกันนะครับ ที่จะสรุปภาพรวมของวัฒนธรรมในประเทศจีน ให้เห็นหรือเข้าใจกันภายในระยะเวลาสั้นๆ

“วัฒนธรรมจีน” มีเนื้อหาสาระมากมายมหาศาล เรื่องราวที่ผมนำเสนอในคอลัมน์นี้ ก็เป็นความพยายามที่จะเสนอภาพของวัฒนธรรมในสัปดาห์ละเรื่อง เมื่อนำภาพทั้งหมดมาต่อกันแบบจิ๊กซอว์แล้ว ก็อาจจะช่วยให้เห็นภาพรวมของวัฒนธรรมจีนได้บ้าง

วัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนนั้นฝังรากลึกเหนียวแน่นมาก เพราะประวัติศาสตร์ชาติยาวนานสามสี่พันปี

วัฒนธรรมระบบศักดินาหรือขุนนางนิยม ยังฝังรากลึกในสังคมจีน ระบบอุปถัมป์ ผู้ใหญ่ผู้น้อย ก็คล้ายๆสังคมไทยนั่นแหละ ทำเรื่องราวอันใดในเมืองจีนก็หนีระบบ “กวนซี” 关系 (ความสัมพันธ์หรือระบบอุปถัมป์นั่นเอง ) ไม่พ้น

ยิ่งในชนบทจีน ความคิดแบบชาวนาแบบสังคมกสิกรรมก็ยังหนาแน่นอยู่มาก

มองวัฒนธรรมจีนมในปัจจุบันนี้ เราจะเห็นวัฒนธรรมแบบผสมปนเปกันอยู่

หนึ่งคือวัฒนธรรมศักดินา สังคมกสิกรรม ที่ยังตกทอดสืบสานเป็นรูปการจิตสำนึกของคนส่วนใหญ่ในประเทศจีน

สองคือวัฒนธรรมสังคมนิยม ซึ่งก็ไม่ใช่สังคมนิยมแท้ๆเท่าใดนัก เพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ใช้ลัทธิสังคมแบบจีนๆ ไม่ใช่จะตรงตามลัทธิมาร์กซิสต์เสียทั้งหมด

ผมจึงต้องเรียกชื่อเสียใหม่ว่า วัฒนธรรมสังคมนิยมจีน

สามคือวัฒนธรรมทุนนิยม ที่รุกเข้าไปสู่จีนตั้งแต่ปลายราชวงศ์ชิง และมารุกหนักหลังจีนเปิดประเทศเมื่อปี ค.ศ. 1978

วัฒนธรรมนั้นตั้งอยู่บนรากฐานของรูปแบบการผลิต รูปแบบการผลิตหลักในสังคมกสิกรรม วัฒนธรรมก็เป็นไปอย่างหนึ่ง ขอเรียกกว้างๆว่าวัฒนธรรมศักดินา รูปแบบการผลิตหลักในสังคมเป็นแรงงานรับจ้าง (อุตสาหกรรม) ความสัมพันธ์ทางการผลิตเปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็นไปในรูปไพร่กับเจ้าขุนมูลนาย เปลี่ยนไปเป็นนายทุนกับแรงงานรับจ้าง วัฒนธรรมก็เปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมทุนนิยม

วัฒนธรรมสังคมนิยมเกิดขึ้นจากความไม่พอใจในด้านร้ายของเศรษฐกิจทุนนิยม

วัฒนธรรมสังคมนิยมจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ยังไม่มีคำตอบ เพราะมันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดมีสังคมนิยมแล้ว

แต่สังคมสังคมนิยมยังไม่เคยเกิดขึ้นในโลกนี้

พูดอย่างนี้ก็ต้องถูกถามว่า แล้วสหภาพโซเวียตรัสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีนฯ ไม่ใช่ประเทศสังคมนิยมหรือ

ในทัศนะของผม เห็นว่ายังไม่ใช่สังคมนิยมแท้นะครับ

สังคมนิยมแท้นั้น จะเกิดขึ้นบนซากศพของทุนนิยม

นั่นคือ สังคมนิยมจะเป็นสภาวะสังคมหลังจากทุนนิยมพัฒนาถึงขีดขั้นสูงสุดแล้ว พลังการผลิตเจริญรุ่งเรืองจนสามารถจะรองรับการจัดสรรผลประโยชน์ การกระจายรายได้แบบสังคมนิยมเสียก่อน

การเปลี่ยนแปลงสังคม ภายหลังการปฏิวัติของพรรคบอลเชวิคที่นำโดยสหายเลนิน ภายหลังการปฏิวัติจีนที่นำโดยสหายเหมาเจ๋อตงนั้น เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงขั้นการปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตยชาตินิยม พลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิตในสังคมรัสเซียและจีนในช่วงนั้น ยังไม่ได้เข้าสู่ทุนนิยมเต็มตัวด้วยซ้ำไป

และการบริหารจัดการประเทศของสองประเทศใหญ่ที่อ้างว่าเป็นสังคมนิยมนี้ ก็เป็นเพียงการลองผิดลองถูก พยายามสร้างสังคมนิยมซึ่งไม่เคยมีใครเคยพบเห็นมาก่อน

ผมไม่โทษว่าผู้นำประเทศเหล่านี้เลวร้ายนะครับ ผมมองว่ามันเป็นการลองผิดลองถูก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะมีที่ผิดแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดระดับบริหารประเทศนั้น ความเสียหายมันมากครับ

ผมยังไม่อยากสรุปว่าวัฒนธรรมสังคมนิยมมีโฉมหน้าเป็นอย่างไร

เพราะแม้แต่ความเข้าใจเรื่องสังคมนิยม และหนทางที่จะไปถึงสังคมสังคมนิยมก็ยังไม่ตรงกัน ผมยกตัวอย่างง่ายๆ นะครับ สังคมนิยมแบบสำนักเฟเบียน กับสังคมนิยมของมาร์กซิตส์ หรือว่าสังคมนิยมแบบจีนหรือแบบเอเชียก็ไม่ตรงกัน

ถ้าจะถือเอาว่า ระบอบที่ใช้กรรมสิทธิ์ทรัพย์สินรวมหมู่คือสังคมนิยม สังคมจีนในหลายยุคก็มีการปกครองทำนองนั้นอยู่หลายครั้ง อย่างเช่นการปกครองฮันต๋งของเตียวฬ่อ ผู้นำลัทธิเต๋าในยุคสามก๊ก และช่วงต่อระหว่างราชวงศ์ซีฮั่นกับราชวงศ์ตงฮั่น อันมีหวางเหมิ่ง (อองมัง) เข้าแย่งยึดอำนาจจากราชวงศ์ฮั่น (แซ่หลิวหรือแซ่เล่า) ไปได้ แล้วใช้ระบอบกรรมสิทธิ์ที่ดินคล้ายๆ กรรมสิทธิ์รวมหมู่ อองมังปกครองอยู่ได้ระยะสั้นๆ ก็ต้องพ่ายแพ้กับแนวคิดระบอบศักดินา

คาร์ล มาร์กซ ยอมรับว่า มีความรู้น้อยเรื่องวิถีการผลิตแบบเอเชีย สิ่งที่คาร์ล มาร์กซ นำเสนอนั้นมีหลายส่วน บางส่วนยังถูกต้องมีคุรค่า แต่บางส่วนก็ไม่ถูกต้องแล้วในยุคสมัยนี้ ต้องปรับต้องพัฒนา ซึ่งผมคิดว่าถ้าคาร์ล มาร์กซยังมีชีวิตอยู่ ก็คงจะยอมปรับเปลี่ยนเหมือนกัน

ลัทธิมาร์กซนั้น มิได้ครอบงำแนวคิดทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองเท่านั้น แต่ลัทธิมาร์กซให้คำตอบกับทุกด้านของวิถีชีวิตมนุษย์ แล้วผู้ที่เชื่อมั่นในลัทธิมาร์กซก็ใช้มันอย่างตายด้านไม่ถูกต้อง นักลัทธิมาร์กซที่ได้กุมอำนาจรัฐ ส่วนใหญ่ทำความผิดพลาดเพราะใช้ลัทธิมาร์กซอย่างลัทธิคัมภีร์

และลัทธิมาร์กซก็มีลักษณะเป็นคำสอนที่จะเข้าแทนที่ศาสนาดั้งเดิมอยู่แล้ว มันเลยหลงไปกันใหญ่

สัปดาห์หน้าจะเสนอแนวคิดว่า ลัทธิมาร์กซเป็นเหมือนศาสนาอย่างไร วัฒนธรรมสังคมนิยมแบบจีนเป็นอย่างไร และเมื่อจีนเปิดประเทศรับทุนนิยม จีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

เรื่องนี้เห็นจะต้องเขียนหลายตอนเสียแล้วละครับ แต่ถ้าใครมีเวลาว่าง ก็ขอเชิญไปฟังการเสวนาของม.รังสิต ที่ศูนย์สาธร ตึกธนาคารชาร์ตเตอร์ชั้น 7 จะได้ประโยชน์สมกับที่เสียเวลาไปครับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น