xs
xsm
sm
md
lg

กระแสเรียนภาษาจีน...ถึงอนาคตจีนศึกษาของไทย ตอนที่ ๑

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สืบเนื่องจากการที่จีนทะยานโลดขึ้นมาเป็นดาวเด่นของโลก ผลพวงที่ตามคือ กระแสการเรียนภาษาจีน โดยพิจารณาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักศึกษาที่เรียนภาษาจีนในระดับอุดมศึกษา การขยายหลักสูตรภาษาจีนในชั้นเรียนระดับมัธยมปลาย และกลุ่มสถาบันนอกระบบได้แก่ โรงเรียน สถาบันสอนภาษาจีนที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ดในย่านต่างๆ ตามห้างสรรพสินค้า ไปถึงคูหาห้องแถวเล็กๆมากมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้กลับมีข่าวว่า ทักษะภาษาจีน และภาษาอังกฤษของเด็กไทยนั้น ยังล้าหลังประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย ด้านเวียดนามและกัมพูชา ก็กำลังฟิตสุดตัว

ขณะเดียวกัน ด้วยแนวโน้มที่จีนกำลังทะยานสู่ชาติอำนาจ สิ่งสำคัญที่ควรใคร่ครวญกันคือ เรื่องจีนศึกษา เพื่อสร้างองค์ความรู้เรื่องจีน ซึ่งมีความสำคัญยิ่งยวดต่อการดำเนินความสัมพันธ์กับจีน แต่กลับดูจะตกอยู่ในกระแสที่สวนทางกับการเรียนภาษาจีน

ในชุดสัมภาษณ์พิเศษ ‘กระแสเรียนภาษาจีนถึงอนาคตจีนศึกษาของไทย’ จากกลุ่มผู้รู้เรื่องจีนในวงการการเรียนการสอนภาษาจีน จีนศึกษา ได้แก่ คุณทองแถม นาถจำนงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน คอลัมนิสต์ นักเขียน และนักแปลเรื่องจีน

อาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล แห่งภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย และกรรมการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คอลัมนิสต์ นักเขียน นักแปลเรื่องจีน

อาจารย์ ดร.กนกพร นุ่มทองหัวหน้าภาควิชาภาษาจีน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อาจารย์อักษรศรี พานิชสาสน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการโครงการจีนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญจีนศึกษาเฉพาะด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุน คอลัมนิสต์เรื่องจีน

การเรียนภาษาจีนในไทย ยังขาดมาตรฐานและเป้าหมาย

“เมื่อเร็วๆนี้ มีข่าวว่าทักษะภาษาอังกฤษและภาษาจีนของบ้านเรา ล้าหลังเสียยิ่งกว่าประเทศเพื่อนบ้านอีก เราจำเป็นต้องเร่งพัฒนาเป็นพิเศษ กำหนดมาตรฐานตรงนี้ ทำให้โรงเรียนเผชิญปัญหาน้อย ไม่อย่างนั้นแล้ว อีก 4-5 ปี ก็จะเกิดปัญหาเรื่องมาตรฐาน คุณภาพการศึกษา พร้อม ตั้งเป้าหมายอย่างเช่นว่า ภายใน 5 หรือ 10 ปีนี้ จะมีผู้รู้เรื่องจีนกี่คน”

อาจารย์ทองแถม นากจำนง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน นักเขียน-นักแปลเรื่องจีน: ดูจากภายนอก ปัจจุบันมีกระแสตื่นตัวในการเรียนภาษาจีนกันมาก สำหรับมหาวิทยาลัยโดยทั่วไปยังมีการผลิตคนที่รู้ด้านภาษาจีนน้อยมาก ที่มีมากก็ที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียว ที่ผลิตบุคลากรที่รู้ภาษาจีนนับร้อยในแต่ละปี ที่ผลิตอย่างเป็นล่ำเป็นสันคือที่ โรงเรียนสอนภาษาจีนสีตบุตรหรือโอซีเอ มีนักเรียนทุกวัยถึง 7,000 คน มากที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ ก็มีโรงเรียนสอนภาษาผุดขึ้นมากมาย ตามห้องแถว แต่กลับไม่มีไม่มีหน่วยงานตรวจสอบด้านคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม คิดว่า การเรียนภาษาจีนมีแนวโน้มที่ดี จากการขยายการเรียนการสอนหลักสูตรภาษาจีนในชั้นเรียนมัธยมปลาย ขณะนี้ โรงเรียนหลายแห่งได้เปิดการเรียนการสอนภาษาจีนเป็นวิชาเอก นอกเหนือจากพวกเอกภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน การขยายเอกภาษาจีน ตอนนี้ ก็มีแต่กลุ่มโรงเรียนใหญ่ๆที่ทำได้ เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบ โรงเรียนวัดไตรมิตร แต่มีปัญหาคือ โรงเรียนที่ต้องการเปิดสอนเอกจีนเร็วๆ ก็ใช้วิธีแบบเร่งรัดรวบรัด เช่น การหาครูมาสอน ก็ถามอาสาสมัครที่พอรู้ภาษาจีน หรือเคยเรียนมาตอนเด็กๆ จากนั้น ก็ขอทุนจากกระทรวงศึกษาไปฟื้นฟูภาษาที่เมืองจีน 3 เดือน แล้วกลับมาสอนเด็กมัธยมปลาย ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพ

ขณะนี้ ด้วยบทบาทของจีนต่อโลกที่ขยายตัวมากขึ้น และสภาพการเรียนการสอนภาษาจีนบ้านเรา ที่ยังไม่ก้าวหน้า ขนาดเมื่อเร็วๆนี้ มีข่าวว่าทักษะภาษาอังกฤษและภาษาจีนของบ้านเรา ล้าหลังเสียยิ่งกว่าประเทศเพื่อนบ้านอีก ดังนั้น เราจำเป็นต้องเร่งพัฒนาเป็นพิเศษ เพราะเราทอดทิ้งการเรียนการสอนภาษาจีนมาช่วงหนึ่งด้วย ทำให้เราเสียบุคลากร เสียโอกาสไปชั่วรุ่นหนึ่ง ตอนนี้ ควรเร่งกระตุ้นคนมาเรียน และสนองความต้องการของคนเรียนให้เพียงพอด้วย เช่น ลงทุนด้านบุคลากร ว่าจ้างบุคลากรที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดเป้าหมายอย่างเช่นว่า ภายใน 5 ปี หรือ 10 ปีนี้ จะต้องมีผู้รู้ภาษาจีนที่ใช้การได้ในระดับล่ามของรัฐบาล ล่ามของบริษัทที่มีคุณภาพ กี่พันคนกี่ร้อยคน เทียบกับการที่คนจีนที่มีการตื่นตัวด้านภาษาไทย การมีลงทุนมาก เฉพาะนักศึกษาจีนที่เรียนภาษาไทยปี 1 จากหนันหนิง มณฑลกว่างซี ที่มาเรียนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต 200 คน จากเมืองเดียว จนมีคำถามว่า ไทยตื่นตัวเรียนภาษาจีน หรือจีนตื่นตัวเรียนภาษาไทยมากกว่ากันแน่

ปัญหาอีกอย่างคือ การประสานงาน บูรณาการด้านการเรียนการสอนภาษาจีนกันระดับใดเท่าไหร่ เช่น เมื่อเร็วๆนี้ โรงเรียนวัดไตรมิตรได้จัดงานใหญ่ เพื่อพูดคุยเรื่องนี้ แต่โรงเรียนอื่นๆไม่ยอมรับ หันมาจัดทำหลักสูตรของตัวเอง แถมยังมีท่าทีแข่งขันกันด้วย ตอนนี้ มีแต่ข้อสอบเอนทรานซ์ที่ใช้มาตรฐานเดียวกัน ครูแต่ละโรงเรียน ก็ใช้มาตรฐานไม่เหมือนกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบของรัฐต้องมีแผนพิเศษขึ้นมา กำหนดมาตรฐานครูผู้สอน หลักสูตร ตลอดจนจัดการแลกเปลี่ยนนักศึกษา

การมีมาตรฐานตรงนี้ ทำให้โรงเรียนเผชิญปัญหาน้อย ไม่อย่างนั้นแล้ว อีก 4-5 ปี ก็จะเกิดปัญหาเรื่องมาตรฐาน คุณภาพการศึกษา การกำหนดมาตรฐานข้อสอบเอนทรานซ์ สำหรับข้อสอบยุคก่อน 4-5 ปีที่ผ่านมา ก็ยากมาก มีคนวงในมหาวิทยาลัย บอกว่า การที่ออกข้อสอบเอนทรานซ์ภาษาจีน ที่ยากหินเช่นนี้ เพื่อกีดกันพวกที่ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาที่หนึ่งจากเชียงราย ถ้าข้อสอบง่ายๆส่วนใหญ่ก็ทำข้อสอบได้เต็มร้อยกัน เลยต้องออกข้อสอบยากไว้ก่อน แต่สำหรับเด็กทั่วไปสู้ไม่ไหว เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย ก็ควรสร้างบรรยากาศให้เขามุมานะ หาความรู้ แต่กลับสร้างกำแพงให้มันเข้ายาก เมื่อไหร่เราจะได้บุคลากร การส่งเสริมภาษาจีนในขณะนี้ ยังนับเป็นความจำเป็นของสังคม ของชาติบ้านเมือง เนื่องจากบทบาทจีนที่ขยายตัวมากขึ้น

แฟชั่นเรียนภาษาจีน คนเรียนจริงมีน้อย

“แม้ว่าปัจจุบันจะแก้ปัญหาบุคลากรด้วยการนำเข้าครูชาวจีน แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากครูจีนจะช่วยเสริมทักษะบางอย่างได้เท่านั้น แต่ความที่ไม่รู้ภาษาไทยเพียงพอทำให้บางครั้งไม่สามารถอธิบายเชิงเนื้อหา จึงควรมีครูไทยเป็นหลัก โดยเฉพาะในระดับพื้นฐาน เพราะถ้าขาดพื้นฐานที่ดี เด็กจะไม่เข้าใจไปตลอด”

ดร.กนกพร นุ่มทอง หัวหน้าสาขาวิชาภาษาจีนภาควิชาภาษาต่างประเทศ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์: การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องจีน แบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ ภาษาจีน จีนศึกษา และจีนวิทยา โดยในส่วนของภาษาจีนนั้น ปัจจุบันถือว่าเฟื่องฟูมากในไทย โดยเฉพาะมีสถาบันสอนภาษาเอกชนเกิดขึ้นมากมาย แต่กลุ่มนี้ก็เริ่มทยอยปิดตัวลงไปบ้างแล้ว เนื่องจากผู้เรียนที่จริงจังมีน้อย อีกทั้งเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงมาก ขณะที่ภาครัฐเริ่มหันมาเอาจริงเอาจังด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์การศึกษาภาษาจีน

ดร.กนกพรเห็นว่า การเรียนภาษาจีนในไทยขณะนี้ เป็นลักษณะตามกระแส ทั้งจากอิทธิพลของดารานักร้อง และจากการที่เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นมากในระยะหลัง กระแสที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณมากกว่าเชิงคุณภาพ และยังมุ่งไปทางธุรกิจการค้ามากกว่าด้านศิลปวัฒนธรรม
“แต่ถ้ามองโลกในแง่ดี การเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ ท้ายที่สุดแล้ว ก็จะนำมาซึ่งคุณภาพในอนาคต เพราะถ้ายิ่งมีคนเรียนภาษาจีนมาก ก็น่าจะมีสัดส่วนของคนที่เรียนอย่างจริงจังมากขึ้นด้วย คนที่เริ่มจากการเรียนตามกระแส ไม่แน่ว่าวันหนึ่งข้างหน้า อาจจะหันมาเอาดีเรื่องจีนอย่างเป็นจริงเป็นจังก็ได้ ส่วนคนที่มาเรียนอย่างฉาบฉวย วันหนึ่งก็จะค่อยๆ ล้มเลิกไปเอง เพราะขาดแรงจูงใจภายใน” ดร.กนกพรกล่าว
ทั้งนี้ ปัญหาใหญ่เรื่องการเรียนการสอนภาษาจีนในไทยนั้น หนีไม่พ้นเรื่องขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณภาพ เช่นเดียวกับสาขาวิชาอื่นๆ

“ตามสถาบันศึกษาโดยเฉพาะระดับมัธยม จะหาอาจารย์ประจำยาก เนื่องจากอาจารย์จำนวนมากจะเลือกไปเป็นอาจารย์พิเศษตามสถาบันภาษา เพราะรายได้ดีกว่า แต่ไม่ต้องรับผิดชอบงานเอกสาร ในขณะที่ผู้มีความรู้ดีอีกส่วนหนึ่งก็ไหลไปสู่ภาคธุรกิจที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่า” ดร.กนกพรกล่าว

แม้ว่าปัจจุบันจะแก้ปัญหาบุคลากรด้วยการนำเข้าครูชาวจีน แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากครูจีนจะช่วยเสริมทักษะบางอย่างได้เท่านั้น แต่ความไม่รู้ภาษาไทยหรือไม่รู้ภาษาไทยเพียงพอทำให้บางครั้งไม่สามารถอธิบายเชิงเนื้อหา รวมทั้งอธิบายความแตกต่างระหว่างภาษาจีนและไทยได้ จึงควรมีครูไทยเป็นหลัก โดยเฉพาะในระดับพื้นฐาน เพราะถ้าขาดพื้นฐานที่ดี เด็กจะไม่เข้าใจไปตลอด การเรียนในชั้นต้น ครูไทยจึงมีบทบาทอย่างมาก

ส่วนประเด็นที่ทางกระทรวงศึกษาธิการจะบรรจุให้ภาษาจีนเป็นหลักสูตรบังคับแบบภาษาที่สองเหมือนภาษาอังกฤษที่นักเรียนจะเรียนตั้งแต่เด็กนั้น ดร.กนกพรระบุว่า “ส่วนตัวแล้ว ไม่เห็นความจำเป็นนัก เพราะใช่ว่าเรียนตั้งแต่เด็กแล้วจะดี ก็ทำนองเดียวกับภาษาอังกฤษ ที่เด็กถูกบังคับให้เรียนโดยบางคนไม่ได้สนใจจริงๆ ทำให้หลายคนเรียนได้ไม่ดี เรียนตั้งแต่อนุบาลจนจบปริญญา ก็ยังไม่สามารถใช้งานได้จริง” พร้อมย้ำว่า ควรระวังไม่ให้การเรียนการสอนภาษาจีนเป็นการโตแบบ ‘ฟองสบู่’
กำลังโหลดความคิดเห็น