xs
xsm
sm
md
lg

ม.ปักกิ่ง มหา’ลัยอันดับหนึ่งในเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกประจำปี 2005 โดยสิ่งพิมพ์ด้านการศึกษาของประเทศอังกฤษ “เดอะ ไทมส์ ไฮเออร์ เอดูเคชั่น ซัปพลีเมนต์” เมื่อปลายเดือนตุลาคม มีรายชื่อมหาวิทยาลัยในทวีปเอเชียติด 20 อันดับแรกอยู่เพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ มหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีนที่เลื่อนขึ้นจากเดิมอันดับที่ 17 มาเป็นอันดับที่ 15 ตามมาด้วยมหาวิทยาลัยโตเกียวของญี่ปุ่นที่หล่นจากปีก่อนในอันดับที่ 12 มาอยู่ที่อันดับ 16  ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า นิตยสารฉบับดังกล่าวยกให้มหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นสุดยอดมหาวิทยาลัยในเอเชียประจำปีนี้

กล่าวถึงชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยปักกิ่งแห่งนี้นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของชาวจีนและอยู่คู่กับประวัติศาสตร์การศึกษาของเขามาร้อยกว่าปีแล้ว โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1898 มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า “เป่ยจิงต้าเสียว์” ( 北京大学 ) มักเรียกย่อๆกันว่า “เป่ยต้า” (北大) ชื่ออังกฤษ Peking University เป็นสถานศึกษาระดับสูงสุดที่เปิดสอนทุกวิชาที่เรียกว่า มหาวิทยาลัยสหวิชาแห่งแรกของจีน เดิมใช้ชื่อว่า “จิงซือต้าเสียว์ถัง” (京师大学堂) จนกระทั่งในปี 1912 หลังการปฏิวัติซินไฮ่ (ค.ศ.1911) จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เป่ยจิงต้าเสียว์”

มหาวิทยาลัยปักกิ่งตั้งอยู่ในแถบชานเมืองทางตะวันตกของกรุงปักกิ่ง กินพื้นที่กว้างขวางมากกว่า 2.6 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีบุคคลากรในสังกัดกว่า 16,073 คน นักศึกษาราว 30,000 คน เปิดสอนในระดับปริญญาตรี 100 สาขา ปริญญาโท 221 สาขา และปริญญาเอก 199 สาขา และเป็นชุมชนไหลเวียนของกลุ่มบุคลากรด้านการศึกษาระดับศาสตราจารย์ในสาขาวิชาต่างๆกว่า 40 คน อธิการบดีคนแรก คือ ซุนเจียไน่ ปัจจุบันมี สี่ว์จื้อหง เป็นอธิการบดี

นอกจากเปิดสอนในระดับอุดมศึกษาที่ผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตในทุกสาขาวิชาชีพแล้ว มหาวิทยาลัยปักกิ่งยังเป็นแหล่งรวมของศูนย์ศึกษาและสถาบันวิจัยในทุกๆด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การแพทย์ ภาษาและวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ รวมถึงห้องทดลองและศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ทั้งยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศชาติอย่างเต็มรูปแบบ

ด้านประวัติการก่อตั้งและหนทางการเติบโตของมหาวิทยาลัยปักกิ่งคงต้องเล่าย้อนไปในช่วงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ยุคที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมใหม่ของประเทศ กล่าวคือ นับตั้งแต่การบุกเบิกสร้างฐานความคิดที่เป็นอิสระในทางการศึกษาโดยอธิการบดีผู้เป็นนักปฏิวัติการศึกษาหัวประชาธิปไตยที่มีชื่อเสียงของประเทศ นายไช่หยวนเผย (ค.ศ.1868-1940) ในปีค.ศ.1917 มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็มีการปฏิรูปอย่างขนานใหญ่

มหาวิทยาลัยปักกิ่งได้เป็นสถานที่บ่มเพาะประสบการณ์การทำงานทั้งในส่วนงานการศึกษาและด้านการบริหารแก่ชนชั้นหัวก้าวหน้าที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น อาทิ เฉินตู๋ซิ่ว หลี่ต้าเจา เหมาเจ๋อตง หลู่ซวิ่น หูซื่อ ฯลฯ ทั้งยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของกลุ่มแนวคิดใหม่เพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม เป็นบ่อเกิดและสถานที่หล่อหลอมจิตวิญญาณลัทธิมาร์กซ์และประชาธิปไตย และฐานกำลังทางความคิดในการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติจีนยุคบุกเบิกในกาลต่อมา ดังนั้นมหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงมีบทบาทสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมของประเทศจีนอย่างลึกซึ้ง

โดยเฉพาะในปีค.ศ. 1919 มหาวิทยาลัยปักกิ่งยังเป็นจุดกำเนิดของ ‘การเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม’ (五四运动 )* ที่เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของมหาวิทยาลัยในการเป็นแกนกลางการเคลื่อนไหวทางการเมืองโฉมใหม่ด้วย

หลังเกิดเหตุการณ์นองเลือดญี่ปุ่นเคลื่อนพลบุกจีนปะทะกับกองกำลังของทหารฝ่ายจีนที่สะพานมาร์โคโปโล เมื่อค.ศ.1937 (卢沟桥事变) มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยชิงหัว และมหาวิทยาลัยหนันไคต้องปิดการเรียนการสอนและร่วมกันเดินทางลงใต้ไปเปิดมหาวิทยาลัยชั่วคราวที่ฉางซา ในมณฑลหูหนัน

ต้นปี 1938 มหาวิทยาลัยชั่วคราวได้เดินทางไปเมืองคุนหมิง มณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) แล้วตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยสหภาพตะวันตกเฉียงใต้แห่งชาติ (西南联合大学) ที่กลายเป็นแหล่งรวมสุดยอดหัวกะทิจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของชาติทั้ง 3 แห่งนี้เอาไว้ ภายหลังเมื่อสงครามต่อต้านญี่ปุ่นสิ้นสุดลง มหาวิทยาลัยปักกิ่งได้กลับมาเปิดดำเนินการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการอีกครั้งในเดือนตุลาคม ค.ศ.1946

จนกระทั่งหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1949 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศได้มีการปฏิรูปโครงสร้างการศึกษาให้เป็นระบบมากขึ้น มหาวิทยาลัยปักกิ่งก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีการปรับปรุงโครงสร้างให้เป็นมหาวิทยาลัยสหวิชาที่มีการศึกษาและวิจัยด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นพื้นฐานอย่างเต็มตัว ทั้งนี้ ได้ผลิตนักวิชาการชั้นแนวหน้าในวงการศึกษาของจีนและมีผลงานวิจัยในสาขานี้ออกมามากมาย

ในฐานะแหล่งศึกษาที่ทำหน้าที่ส่งเสริมสติปัญญาของชนชาติจีนให้แข็งแกร่งรุ่งเรือง เป็นแหล่งพัฒนาและเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศชาติ เป็นแหล่งบำรุงฟูมฟักอารยธรรมอันดีงามของสังคม มหาวิทยาลัยปักกิ่งจึงมีการสร้างสรรค์และพัฒนาไม่หยุดนิ่งจากยุคสู่ยุค จนถึงปัจจุบันมหาวิทยาลัยปักกิ่งก็มีอายุครบ 107 ปีแล้วในวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา

โดยในวันเกิดครบรอบ 100 ปีของมหาวิทยาลัยเมื่อปี 1998 อดีตประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินได้กล่าวแสดงความยินดีและอวยพรในความสำเร็จของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ และยังประกาศปณิธานที่หวังจะให้มหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นแหล่งศึกษาที่ยอดเยี่ยมอันดับต้นๆของวงการการศึกษาโลก ซึ่งเป็นที่มาของประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของมหาวิทยาลัยปักกิ่งในอันที่จะเร่งพัฒนาศักยภาพในทุกๆด้าน เพื่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นสุดยอดมหาวิทยาลัยของโลก

‘คนเป่ยต้า’

บุคคลสำคัญของประเทศที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง อาทิ นักประวัติศาสตร์ นักวรรณกรรมและสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติจีนคนสำคัญ ฟ่านเหวินหลัน ( ค.ศ.1893 - 1969 ) จบการศึกษาด้านอักษรศาสตร์จากเป่ยต้าเมื่อปีค.ศ.1917 นักปรัชญาและนักการศึกษา พานจื่อเหนียน ( ค.ศ.1893 - 1972 ) บัณฑิตคณะปรัชญาปี 1923 ทั้งสองยังเป็นนักวิชาการชื่อดังของประเทศที่ทำงานอยู่ในบัณฑิตยสภาด้านสังคมศาสตร์แห่งชาติจีนด้วย

ยังมีนักการเมืองที่มีชื่อเสียงโดดเด่นในขณะนี้ นายป๋อซีไหล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นนักศึกษาเป่ยต้าในคณะประวัติศาสตร์ระหว่างปีค.ศ.1978-1981

ในวงการธุรกิจของจีนและฮ่องกง ได้แก่ หนึ่งใน 100 นักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดของจีน หลิวฮั่นหยวน ซีอีโอกลุ่มบริษัททงเวย เจ้าของธุรกิจด้านไอที ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และบริษัทผลิตอาหารสัตว์ ฯลฯ จางหย่ง ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทหลินเฟิ่ง อดีตเจ้าพ่อธุรกิจเหล้าขาวผู้ผันมาจับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และสถานีส่งกระแสไฟฟ้า ก็เป็นบัณฑิตเป่ยต้าสาขาเศรษฐศาสตร์การจัดการธุรกิจเอกชน ปี 1986 หลี่อี้เชา กรรมการบริหารกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจก่อสร้างจงไท่ลั่วหยัง ก็เป็นมหาบัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์การจัดการจากเป่ยต้าด้วย

นักธุรกิจรุ่นใหม่ อาทิ คู่หูซีอีโอผู้ก่อตั้ง ‘ไป่ตู้ ดอทคอมดร.สีว์หย่ง บัณฑิตจากคณะชีววิทยา ปี 1989 และหลี่เยี่ยนหง บัณฑิตจากคณะบริหารจัดการสารสนเทศ ปี 1991 นอกจากนี้ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ชื่อดังของจีน ‘ซีน่าเน็ต’ ผู้บริหารของเว็บไซต์ ‘ทอม ดอทคอม’ และ‘168 ดอทคอม’ รวมถึงบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ทีซีแอล และบริษัทผลิตซอฟต์แวร์สัญชาติจีนลีนุกซ์ ต่างก็เป็น ‘คนเป่ยต้า’ ทั้งสิ้น

ในวงการธุรกิจต่างประเทศ อาทิ ประธานกรรมการบริหารบริษัทซอฟต์แวร์ที่มีชื่อเสียง LANDESK ควบรองประธานกรรมการบริหารของ Symantec หวังจั๋ว ผู้จบจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งคณะคอมพิวเตอร์ในช่วงปีทศวรรษที่ 80 ของศตวรรษที่แล้ว สตีฟ เดวิส ซีอีโอเว็บเสิร์ช Corbis คลังภาพข่าวที่ใหญ่ที่สุดในอินเทอร์เน็ตก็เคยเป็นนักศึกษาต่างชาติที่เป่ยต้า เป็นต้น

ในวงการกีฬา เช่น ราชายิมนาสติกผู้โด่งดังในอดีตของจีน หลี่หนิง เจ้าของธุรกิจเครื่องกีฬายี่ห้อ ‘หลี่หนิง’ จบปริญญาตรีด้านกฎหมายและปริญญาโทด้านการจัดการการค้าจากเป่ยต้าปี 2000 และนักกีฬายิมนาสติกสาวรุ่นน้อง หลิวเสวียน บัณฑิตเป่ยต้าที่เพิ่งได้รับปริญญาบัตรจากคณะการข่าว เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2005 ที่ผ่านมา .

เรียบเรียงจาก เว็บไซต์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง / อาลิบาบาดอทคอม

หมายเหตุ
*‘การเคลื่อนไหว 4 พฤษภา’
การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ นำโดยคณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยปักกิ่งร่วมด้วยตัวแทนจากมหาวิทยาลัยต่างๆในกรุงปักกิ่งรวม 13 แห่ง ที่รวมตัวกันปิดการเรียนการสอนและออกมาแสดงพลังคัดค้านการประชุมสันติภาพที่กรุงแวร์ซายน์ในฝรั่งเศส ที่มีการรับรองฐานะของรัฐบาลญี่ปุ่นในมณฑลซันตงของจีน และเพิกเฉยต่อการที่จีนเรียกร้องซันตงกลับคืนจากญี่ปุ่น

การเดินขบวนประท้วงเกิดขึ้น ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินกลางกรุงปักกิ่งและได้รับการสนับสนุนจากมวลชนในวงกว้างจากการหนุนนำของลัทธิชาตินิยมในขณะนั้น การรวมพลังครั้งนั้นยังกระจายไปในหมู่ผู้ใช้แรงงานในเมืองสำคัญต่างๆเกือบทั่วประเทศ ทั้งในเซี่ยงไฮ้ หนันจิง เทียนจิน หังโจว จี่หนัน อู่ฮั่น ฯลฯ ที่ร่วมกันนัดหยุดงานและประชาชนก็ร่วมคว่ำบาตรสินค้าญี่ปุ่นด้วย

ในที่สุดการกดดันรัฐบาลจีนไม่ให้ยอมรับสนธิสัญญาดังกล่าวที่ดำเนินไปได้ 1 เดือนก็ประสบความสำเร็จ โดยในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1919 ไม่มีผู้แทนจากประเทศจีนแม้แต่คนเดียวเข้าร่วมพิธีลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพฉบับนั้นที่ฝรั่งเศส .
กำลังโหลดความคิดเห็น