"วัฒนธรรมของชาติทุกชาติในโลกนั้น ล้วนแล้วแต่พัฒนามาจากการแลกเปลี่ยน และการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของชาติตนกับชาติอื่นอย่างต่อเนื่อง แต่ในอดีตนั้นชาวจีนต่างยึดเอาว่าประเทศตนเองยิ่งใหญ่ และมักจะนึกเอาว่าภายใต้แผ่นฟ้านั้นประเทศจีนเป็นศูนย์กลางของโลก
"แน่นอนว่า ในอดีตชาวจีนย่อมมีการรับเอาวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามา แต่ว่าก็เป็นเพียงวัฒนธรรมของอินเดีย วัฒนธรรมตะวันออก วัฒนธรรมปิด และวัฒนธรรมแบบตั้งรับเท่านั้น ในอดีตวัฒนธรรมที่เข้ามาในจีน แม้ว่าจะเข้ามาเติมเต็มส่วนที่วัฒนธรรมจีนขาด แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อเดิมของวัฒนธรรมจีนแต่อย่างใด ......" - - - ประวัติศาสตร์การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับโลกภายนอก โดย หม่าซู่เต๋อ*
คำกล่าวข้างต้นไม่เพียงแต่ระบุถึงข้อเท็จจริงของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับโลกภายนอกนับจากอดีต แต่ตอนต้นยังแฝงไว้ด้วย "สัจธรรมแห่งการพัฒนา" ของชาติ สังคม ชุมชน ทั้งหลายที่ว่า สังคมจะไม่สามารถพัฒนาก้าวหน้าไปได้เลย หากปราศจากการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม
วิธีพิสูจน์ความจริงของคำกล่าวนี้อย่างง่ายๆ ก็คือ ลองถามตัวเองว่ารอบกายเรามีสิ่งของ เครื่องใช้ใดๆ บ้างที่ไม่ได้เป็นผลพวงหรือได้รับอิทธิพลมาจาก การติดต่อสื่อสาร และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของเรากับผู้อื่น ของชาติเรากับชาติอื่น ของสังคมของเรากับสังคมอื่น?
ปัจจุบันในสายตาของชาวตะวันตก หากกล่าวย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับโลกภายนอกแล้วชื่อของ "เส้นทางสายไหม (丝绸之路)" มักจะถูกยกขึ้นมากล่าวถึงเป็นชื่อแรก แต่กระนั้นหากพิจารณาในแง่มุมของ ผลกระทบของวัฒนธรรมภายนอกต่อวัฒนธรรมจีนแล้ว ถ้าเปรียบเส้นทางสายไหมเป็นดังเช่น ถนนสายวัฒนธรรม ขบวนรถจากภายนอกที่วิ่งเข้ามาถึงต้นทางเป็นขบวนแรกก็คงไม่พ้นขบวนรถจากอินเดียที่ชื่อว่า "พุทธศาสนา"
มีความเชื่อกันว่า แท้จริงแล้วขบวนพระพุทธศาสนาจากอินเดียได้แพร่เข้ามาในอาณาเขตของประเทศจีนปัจจุบัน ตั้งแต่ก่อนคริสตกาล ภายหลังจากการหักร้างถางพงเส้นทางสู่ดินแดนตะวันตกของจางเชียน (张骞; ขุนนางที่ได้รับคำสั่งจากฮ่องเต้ฮั่นอู่ตี้ให้เดินทางไปสานสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศที่อยู่ทางทิศตะวันตกของอาณาจักรฮั่นตะวันตก) ไม่ถึงสองร้อยปี โดยศาสนาพุทธได้แพร่หลายอยู่ในประเทศเล็กๆ ทางทิศตะวันตกของอาณาจักรจีนสมัยโบราณ (ปัจจุบันคือพื้นที่ทางตะวันตกของมณฑลซินเกียง) และแม้จะมีการเผยแพร่เข้ามายังอาณาจักรภายใต้การปกครองของจักรพรรดิจีนตั้งแต่ยุคปลายของราชวงศ์ฮั่นตะวันตกแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ จนกระทั่ง ช่วงต้นศตวรรษที่หนึ่งในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25-200) ขณะที่ปกครองโดยฮ่องเต้ฮั่นหมิงตี้ (汉明帝; ครองราชย์ในช่วง ค.ศ.58-75)**
ด้วยข้อเท็จจริงเช่นนี้เอง ทำให้เมื่อต้องการจะกล่าวถึงระลอกแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจีนกับภายนอกในอดีตกาลแล้ว การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจีนกับอินเดียย่อมถือว่ามีนัยยะสำคัญต่อประวัติศาสตร์จีนและชาวจีนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจากข้อพิสูจน์ที่ว่า หลังจากพระพุทธศาสนาเข้ามาในจีนอย่างเป็นทางการ ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกแล้ว แม้ราชวงศ์ฮั่นล่มสลายลงแต่พระพุทธศาสนาก็ยังคงแผ่รากลึก และลงหลักปักฐานในจีนได้อย่างเข้มแข็ง
โดยเฉพาะ เมื่อแยกพิจารณาถึงคำกล่าวข้างต้นที่ว่า "ในอดีตวัฒนธรรมที่เข้ามาในจีน เข้ามาเติมเต็มส่วนที่วัฒนธรรมจีนขาด แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อเดิมของวัฒนธรรมจีนแต่อย่างใด ..." แล้ว ก็ดูเหมือนว่าเนื้อหาจะถูกต้องตรงกับลักษณะการไหลเรื่อยของพระพุทธศาสนาเข้ามายังประเทศจีน ดังเช่นที่ผมเคยกล่าวไว้ในบทความตอน ถึงอารามม้าขาว ... เยือน ต้นธาร 'พุทธ' ในจีน แล้วว่า
"พุทธศาสนาที่มีต้นธารอยู่ในประเทศอินเดีย เมื่อไหลเข้ามาในประเทศจีนกลับมิอาจคงความบริสุทธิ์ได้ แต่มีความจำเป็นต้องหลอมรวมเข้ากับ แนวคิดและปรัชญาที่ถือกำเนิดขึ้นในแผ่นดินจีนเอง ก่อนที่จะเป็นที่ยอมรับจากชาวจีน ......
"ในแวดวงวิชาการของจีนคำว่า 'พุทธศาสนาในจีน' กับ 'พุทธศาสนาของจีน' นั้นจึงเป็นเรื่องที่มีความแตกต่างในระดับหนึ่ง เนื่องจาก พุทธศาสนาของจีน นั้นทางด้านปรัชญาแนวคิดได้มีการปะทะ การแลกเปลี่ยน หลอมรวม แนวคิดบางส่วนกับปรัชญาท้องถิ่นด้วย" (ดู : ภาพ 'สามศาสนา' ประกอบ)
กลับมาถึงเรื่อง การอัญเชิญพระไตรปิฎกจากอินเดียของพระสงฆ์ชาวจีน ......
แท้จริงแล้วก่อนหน้าที่ พระถังซำจั๋ง พระอริยสงฆ์แห่งราชวงศ์ถังจะไปยังอินเดียเพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกนั้น ได้มีพระสงฆ์ชาวจีนหลายรูปได้เดินทางไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยพระจีนที่สามารถเดินทางไปถึงอินเดียเพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกและกลับมาถึงฉางอานได้สำเร็จเป็นรูปแรกมิใช่พระถังซำจั๋งผู้เลื่องชื่อ แต่เป็นพระในสมัยจิ้นตะวันออกนาม ฝาเสี่ยน (法显)
ภายหลังจากการล่มสลายของราชวงศ์ฮั่น ประเทศจีนก็เข้าสู่ยุคแห่งความแตกแยกและวุ่นวายเรื่อยมา นับตั้งแต่ยุคสามก๊ก จิ้นตะวันตก จิ้นตะวันออก ยุค 16 แคว้น ราชวงศ์ใต้และราชวงศ์เหนือ จนกระทั่งถึงยุคราชวงศ์สุย จึงมีการรวมอาณาจักรให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียวได้อีกครั้ง ทั้งนี้เมื่อคำนวณระยะเวลาแห่งความแตกแยกของการปกครองแผ่นดินแล้วก็นับได้เกือบ 400 ปี
ในยุคแห่งความวุ่นวายราว 300-400 ปีนี้เอง ศาสนาพุทธที่เข้ามาตั้งแต่สมัยฮั่นได้ แทรกซึมไปในสังคมจีนอย่างรวดเร็ว เริ่มจากการนับถือในราชสำนัก ขุนนาง ชนชั้นสูง แพร่ลงมายังสามัญชน โดยมีแรงกระตุ้นชั้นดีสองประการ คือ
หนึ่ง ภาวะความวุ่นวายของการเมืองและสังคมอันเกิดจากสงครามและการแย่งชิงอำนาจ ความไม่แน่นอนดังกล่าวส่งผลมายังวิถีชีวิตของชาวบ้านให้ตกอยู่ในภาวะยากจนข้นแค้น โดยเมื่อชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงเต็มไปด้วยความทุกข์ระทม สามัญชนคนธรรมดาจึงต้องหันไปหาที่พึ่งทางจิตใจแทน ทั้งนี้คำสอนของพุทธหลายประการ อย่างเช่น "กฎแห่งกรรม" ทำดีได้ดี-ทำชั่วได้ชั่ว (善有善报,恶有恶报) และ การบรรลุอรหันต์เพื่อให้หลุดพ้นจากวัฎสงสารนั้นสามารถ ผ่อนคลายและบรรเทาแรงกดดันในการดำเนินชีวิตของสามัญชนได้เป็นอย่างดี
สอง ในช่วงเวลาเดียวกัน ปรัชญาของลัทธิขงจื๊อที่กลายมาเป็นปรัชญาชี้นำสังคมมาตั้งแต่สมัยฮ่องเต้ฮั่นอู่ตี้ ในสมัยฮั่นตะวันตก (202 ปีก่อนคริสตศักราช - ค.ศ.8) เมื่อมาถึงช่วงนี้ก็ถึงยุคสมัยแห่งความเสื่อมโทรม เนื่องจากไม่สามารถอธิบายความเป็นไปของชีวิตของประชาชน และชี้นำสังคมได้อย่างมีพลังอีกต่อไป***
พระฝาเสี่ยน (法显; มีชีวิตอยู่ในช่วงราว ค.ศ.338-423) เกิดใน สมัยจิ้นตะวันออก (ค.ศ.317-420) ท่านออกเดินทางจากเมืองฉางอานเลาะไปตามดินแดนทางทิศตะวันตกจนกระทั่งถึง นครสาวัตถี (Sravasti:舍卫城) อันเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งพุทธกาล และเป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับจำพรรษามากที่สุด รวม 25 พรรษา
เมื่อถึงอินเดีย พระฝาเสี่ยนนอกจากจะไปศึกษาพระไตรปิฎก ศึกษาภาษาสันสกฤต และคัดลอกพระธรรมวินัยแล้ว ท่านยังถือโอกาสธุดงค์ไปทั่วอินเดียอีกด้วย จนกระทั่งปี ค.ศ.409 ท่านจึงออกเดินทางจากอินเดียเพื่อกลับมายังประเทศจีน โดยผ่านไปยังดินแดนที่เป็นประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน และได้แวะพักอยู่เป็นเวลาสองปี จน ค.ศ.411 จึงได้อาศัยเรือกลับมายังประเทศจีน (ณ ปัจจุบัน ที่ประเทศศรีลังกายังคงมีวัดที่ใช้นามของพระฝาเสี่ยนเป็นชื่อวัดอยู่)
เมื่อมาถึงบ้านเกิด พระฝาเสี่ยนซึ่งขณะนั้นมีอายุเกินกว่า 70 ปี แล้วจึงได้ดำเนินการแปลพระไตรปิฎกและคำภีร์ของศาสนาพุทธ เป็นภาษาจีนออกมาจำนวน 6 เล่มสมุด 63 ม้วนรวมล้านกว่าตัวอักษร นอกจากนี้ท่านยังได้เขียนบันทึกการเดินทางออกมาหนึ่งเล่ม มีชื่อว่า 'บันทึกพุทธภูมิ (佛国记)' อันถือเป็นบันทึกที่มีคุณค่าต่อพุทธศาสนาและทางประวัติศาสตร์โลก เช่นเดียวกับ 'บันทึกดินแดนตะวันตกในสมัยถัง (大唐西域记)' ที่พระถังซำจั๋ง เขียนขึ้นในเวลาต่อมา
ทั้งนี้นอกจากพระฝาเสี่ยน และพระถังซำจั๋ง ที่ถือว่าเป็นพระสงฆ์จีนสองรูปที่มีชื่อเสียงที่สุดจากการไปอัญเชิญพระไตรปิฎกยังอินเดียแล้ว ก็ยังมีพระสงฆ์ในสมัยถังนาม อี้จิ้ง (义净; ค.ศ.635-713 หรือที่ชาวไทยเรียกกันว่า หลวงจีนอี้จิง) ที่เดินทางทางเรือ ข้ามน้ำข้ามทะเลไปอัญเชิญพระไตรปิฎกที่มหาวิทยาลัยนาลันทา โดยพระอี้จิงใช้เวลาศึกษาอยู่ที่นาลันทาถึง 10 ปี ก่อนที่จะเดินทางต่อไปที่อาณาจักรศรีวิชัย และได้คัดลอกพระไตรปิฎกเป็นภาษาสันสกฤตมาอีกจำนวนหนึ่งก่อนจะเดินทางกลับถึงประเทศจีน
ในเวลาต่อมา พระอี้จิงได้แปลพระไตรปิฎกและพระธรรมวินัยเป็นภาษาจีนรวมแล้ว 56 เล่มสมุด 230 ม้วนและยังได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับการไปอัญเชิญพระไตรปิฎกของตนเองอีก 2 เล่มไว้เป็นมรดกให้แก่อนุชนรุ่นหลังอีกด้วย****
.................................
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ไม่ไกลนักจากวัดต้าฉือเอิน (大慈恩寺) ผมนั่งรถมาลง ณ วัดเจี้ยนฝู (荐福寺) เพื่อมาชมคู่แฝดของเจดีย์ห่านป่าใหญ่ - - - เจดีย์ห่านป่าเล็ก (小雁塔)
วัดเจี้ยนฝูสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.684 บนพื้นที่อันเป็นวังเดิมของฮ่องเต้สุยหยางตี้หยางกว่าง เพื่อเป็นอนุสรณ์ครบรอบ 100 วันการสวรรคตของฮ่องเต้ถังเกาจง (唐高宗) โดยแต่เดิมมีการตั้งชื่อว่า วัดเสี้ยนฝู (献福寺) กระทั่งปี ค.ศ.690 ในสมัยของพระนางบูเช็กเทียน (อู่เจ๋อเทียน) จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดเจี้ยนฝู ขณะที่เจดีย์ห่านป่าเล็กนั้นสร้างขึ้นในรัชสมัยของฮ่องเต้ถังจงจง (唐中宗) ระหว่างช่วงปี ค.ศ.707-709 โดยสร้างเป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมเหมือนเจดีย์ห่านป่าใหญ่ แต่รูปทรงเล็กกว่าและเตี้ยกว่าเล็กน้อย
คนซีอานมีตำนานบันทึกความมหัศจรรย์เกี่ยวกับ เจดีย์ห่านป่าเล็ก หลายต่อหลายเรื่อง โดยเรื่องที่เป็นที่กล่าวขานกันมาก ก็คือ เรื่องราวของตัวเจดีย์ที่คงกระพันและศักดิ์สิทธิ์จนผ่านพ้นมหันตภัยทางธรรมชาติมาได้ ทั้งยังมีตำนาน "การรวมแล้วแยก แยกแล้วรวม" อีกหลายครั้งหลายครา
โดยเรื่องราวมีอยู่ว่า ในสมัยราชวงศ์หมิง (ปี ค.ศ.1556) เกิดเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ขึ้น แผ่นดินไหวครั้งนั้นรุนแรงถึงขนาดมีผู้เสียชีวิตมากมายกว่า 820,000 คน แรงสั่นสะเทือนส่งให้บ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างต่างก็เสียหายและล้มระเนระนาดไปเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เจดีย์ห่านป่าเล็ก ที่สูงเสียดฟ้าองค์นี้กลับได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวเล็กน้อยเพียงแค่ส่วนยอด และยืนตระหง่านอยู่ได้อย่างไม่สะทกสะท้าน ขณะที่แผ่นดินไหวครั้งอื่นๆ แม้จะทำให้ตัวเจดีย์ได้รับความเสียหายมีรอยแยก แต่เมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งถัดมารอยแยกนั้นก็เลื่อนกลับมาปิดสนิทเหมือนดังเดิมอีกครั้ง
ปรากฎการณ์เช่นนี้เองทำให้คนซีอาน ร่ำลือกันว่า เจดีย์ห่านป่าเล็กนี้เป็นเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งยังเป็นสัญญาณบ่งบอกกับผู้ปกครองว่า เมื่อบ้านเมืองวุ่นวายประชาชนเดือดร้อนเจดีย์ห่านป่าเล็กจะมีรอยแยก แต่เมื่อบ้านเมืองสงบสุขประชาชนสุขสบายรอยแยกบนเจดีย์ก็จะเลื่อนตัวกลับและเลือนหายไป
นับถึงปัจจุบัน เจดีย์ห่านป่าเล็กนี้ก็มีอายุเกือบ 1,300 ปีแล้ว จากแต่เดิมที่สูง 15 ชั้น หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี ค.ศ.1556 ทำให้ส่วนยอดขององค์เจดีย์พังไป และหลงเหลือตัวเจดีย์ไว้ให้ชนรุ่นหลังชมเพียง 12 ชั้น รวมความสูง 43.3 เมตร*****
สำหรับความสำคัญของวัดเจี้ยนฝู และเจดีย์ห่านป่าเล็กนั้น นอกจากจะเป็นวัดที่สร้างโดยฮ่องเต้ และอยู่ในความดูแลของราชสำนักถังแล้ว วัดแห่งนี้ก็ยังเป็นสถานที่แปลและเก็บ พระไตรปิฎก พระธรรมวินัย และคัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่ พระอี้จิง อัญเชิญมาจากอินเดียและอาณาจักรศรีวิชัยอีกด้วย
จากความมุมานะ อุตสาหะในการเผยแพร่พระธรรมคำสอนขององค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพระสงฆ์รุ่นแล้วรุ่นเล่า นับช่วงเวลาแล้วเป็นร้อยๆ พันๆ ปี ส่งผลให้ ศาสนาพุทธ ปรัชญาที่มีต้นกำเนิดอยู่ภายนอกแผ่นดินจีนสามารถส่งอิทธิพลทั้งในทางกว้างและในทางลึกต่อสังคมจีน
ทางกว้างคือ ปรัชญาพุทธได้แพร่กระจายไปเข้าในสังคมจีนทุกชนชั้นและหลายเผ่าพันธุ์ ไม่เฉพาะแต่เพียงชาวฮั่นเท่านั้น ส่วนในทางลึกคือนอกจากจะมีการสืบทอดกันมาหลายยุคหลายสมัยนับเป็นพันปีแล้ว การไหลเรื่อยเข้ามายังแผ่นดินจีนของศาสนาพุทธนั้น ถึงแม้จะมีอุปสรรค หรือ การปะทะกับความเชื่อ-ปรัชญาท้องถิ่นบ้าง แต่สุดท้ายเมื่อผ่านการถกเถียง แลกเปลี่ยนและพัฒนา สุดท้ายศาสนาพุทธก็สามารถหลอมรวมเข้ากับความเชื่อและปรัชญาท้องถิ่นของจีนที่มีอยู่เดิมได้เป็นอย่างดี
....... นับถึงปัจจุบัน แม้ร่องรอยดังกล่าวจะดูซีดจางลงไปบ้าง แต่ก็พอนับได้ว่ายังคงไม่ถูกลบเลือนหายไปเสียทีเดียว
Tips สำหรับการเดินทาง:
- ค่าบัตรผ่านประตูเข้าชมวัดเจี้ยนฝู (荐福寺) ราคา 18 หยวน (บัตรนักเรียนลดเหลือ 9 หยวน) ส่วนค่าขึ้นเจดีย์ราคา 10 หยวน
อ้างอิงจาก :
*หนังสือประวัติศาสตร์การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับโลกภายนอก (中国外文化交流史) โดยหม่าซู่เต๋อ (马树德) สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง ค.ศ.2002
**หนังสือ Cultural Flow Between China and Outside World Throughout History โดย Shen Fuwei สำนักพิมพ์ Foreign Languages Press Second Printing 1997
***หนังสือประวัติศาสตร์จีนยุคเก่า (中国古代史) โดยกัวเผิง (郭鹏) สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง หน้า 147-152
****อ้างอิงแล้วจาก*
*****หนังสือ 陕西历史百谜 : สำนักพิมพ์ 陕西旅游出版社 เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2001 หน้า 167-168