xs
xsm
sm
md
lg

'เจดีย์ห่านป่า' อนุสาวรีย์สายใยสองอู่อารยธรรมตะวันออก ตอน 1

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


ช่วงหัวค่ำ ที่ร้านครัวสามัญชน (百姓厨房) ชานเมืองซีอาน ผมนั่งสนทนาอยู่กับ ดร.เซียว อาจารย์ชาวซีอาน ที่แวบตัวจากปักกิ่งกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดในช่วงปิดเทอม

ผมใช้นิ้วมือวาดไปในอากาศ อธิบายถึงแผนการเดินทางอย่างคร่าวๆ ของผมในครั้งนี้ ......

จากจุดเริ่มต้นที่เมืองซีอาน ผ่านเข้าไปยังพื้นที่ของระเบียงเหอซี (河西走廊:Hexi Corridor) ในมณฑลกานซู่เพื่อไปเยือน ถ้ำหินสลักไม่จีซาน เมืองเทียนสุ่ย ถ้ำหินสลักโม่เกาคู เมืองตุนหวง และกำแพงเมืองจีน ณ ปลายตะวันตกสุด เจียอี้ว์กวน ก่อนออกไปสู่ดินแดนตะวันตก ที่อยู่ปลายสุดของจีน .... ซินเกียง (ซินเจียง)

การเดินทางครั้งนี้คงมิอาจกล่าวได้ว่า เป็นการเดินไปตาม 'เส้นทางสายไหม' อันเลื่องลือ แต่น่าจะเป็นการเดินทางไปตาม 'เส้นทางพอใจ' มากกว่า เพราะ ด้วยเวลาราว 3-4 สัปดาห์หรือจนกว่าเงินจะเกลี้ยงกระเป๋านั้น ผมคงมีปัญญาเพียงแค่ระหกระเหินพาตัวเอง (และท่านผู้อ่าน) ไปเดินตามรอยเส้นทางสายไหมเพียงบางส่วนที่อยู่ในดินแดนของประเทศจีนเท่านั้น โดยอาจมีบางจุดที่ละเลยออกไปนอกเส้นทาง ......

"ซีอานเปลี่ยนไปมากเลย จากสมัยอาจารย์ยังเด็ก ......" อาจารย์เซียวเรียกสติกลับมา ก่อนที่ฝันของผมจะเตลิดไปไกลกว่านี้
"ทำไมหรือครับ?"
"สมัยก่อนซีอานไม่มีหรอกนะร้านอาหารอย่างเช่นที่พวกเรานั่งกันอยู่ .... " อาจารย์หมายถึง ภัตตาคารใหญ่ขนาด 7-8 ห้องอย่างนี้ ส่วนสายตาผมนั้นเหลือบไปเห็นป้ายโฆษณาร้านแขวนห้อยลงจากเพดาน ระบุว่า 'ฉลองเปิดสาขาที่ 6' "ตึกสูงหลายๆ ชั้น เรียงกันไปเป็นบล็อกๆ อย่างนี้ก็ไม่มี ... ปัจจุบัน ซีอานมีภัตตาคารลักษณะนี้มากกว่า 300 แห่ง สมัยเด็กๆ ผมจินตนาการไม่ออกเลยนะว่าซีอานเปลี่ยนแปลงจนมีสภาพอย่างนี้ได้"

พิจารณาจากคำพูดและสายตาของอาจารย์ ผมพอจะเข้าใจดี เพราะ สภาวะของซีอานก็เป็นเช่นเดียวกันกับประเทศจีน หลังจากจีนเปิดประเทศในช่วงปลายทศวรรษที่ 70 ต้นทศวรรษที่ 80 ถึงทุกวันนี้ ซีอานในฐานะศูนย์กลางแห่งการพัฒนาแห่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน นอกจากจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางการศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (西北大学) มหาวิทยาลัยคมนาคมซีอาน (西安交通大学) มหาวิทยาลัยอุตสาหกรรมแห่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (西北工业大学) หรือ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ซีอาน (西安电子科技大学) สถาบันการศึกษาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ก็เป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอยู่ในระดับชั้นนำของจีนทั้งสิ้น

ส่วนในฐานะของเมืองท่องเที่ยว ซีอานยังเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจีน โดยในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างประเทศมาเยือนมากกว่า 20 ล้านคน มีสนามบินนานาชาติ ที่รับเครื่องบินบินตรงมาจากหลายประเทศ รวมถึงจากประเทศไทย

หัวค่ำวันนั้นผมนั่งสนทนากับอาจารย์จนเกือบถึงเที่ยงคืน ......

ก่อนแยกย้ายกันอาจารย์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในซีอานหลายแห่งที่ผมควรไปเยือน "ถ้าจะเที่ยวในตัวเมืองก่อนก็ ลองไปดู เจดีย์ห่านป่าใหญ่สิ เจดีย์นี้สร้างมาตั้งแต่สมัยถัง พันกว่าปีแล้ว เมื่อก่อนที่ตั้งตรงนั้นนี่ถือว่าเป็นทำเลทองคำของเมืองฉางอานเลยนะ ฮ่องเต้ถังพระราชทานที่ดินให้พระถังซำจั๋งสร้างเจดีย์ห่านป่าตรงนั้นได้นี่ต้องถือว่า อิทธิพลของศาสนาพุทธในสมัยถังนั้นสูงทีเดียว เอ๊ะ! เธอนับถือศาสนาพุทธนี่นา น่าจะลองไปชมดูสักรอบ"

"ขอบคุณครับ .... " ผมตอบรับความปรารถนาดีของอาจารย์ด้วยคำพูดและรอยยิ้ม ก่อนจะโบกแท็กซี่กลับที่พัก
.......................
ท่ามกลางไอหมอกยามเช้า เจดีย์ห่านป่าใหญ่ปรากฎขึ้นเบื้องหน้า ......

ผมเดินทบทวนนึกถึงนวนิยายเรื่องไซอิ๋ว ที่เคยอ่านตั้งแต่ยังอยู่ชั้นประถม ภาพลายเส้นการ์ตูนของ เห้งเจีย ตือโป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง ม้าขาว พระถังซำจั๋ง ยังติดอยู่ในความทรงจำ ... นอกจากนี้ใจยังเตลิดนึกไปถึง 'ซูหยุน' หญิงสาวผู้ตามรอยซำจั๋ง ที่ผมเคยพบเธอเมื่อปลายปีที่แล้ว

· หมื่นลี้ไร้เมฆ:หญิงสาวผู้ตามรอย 'ซำจั๋ง' ตอน 1
· หมื่นลี้ไร้เมฆ:หญิงสาวผู้ตามรอย 'ซำจั๋ง' ตอน 2
· หมื่นลี้ไร้เมฆ:หญิงสาวผู้ตามรอย 'ซำจั๋ง' ตอน 3


นิยายไซอิ๋ว และ พระถังซำจั๋ง ถูกเขียนขึ้นมาจากเค้าโครงชีวิตของพระอริยสงฆ์สำคัญรูปหนึ่งของประวัติศาสตร์จีน นามว่า เสวียนจั้ง (玄奘; นอกจากเสวียนจั้งแล้วชาวจีนยังเรียกท่านด้วยว่า ถังเซิง (唐僧) หรือ พระถัง ทั้งที่จริงๆ แล้ว พระในสมัยราชวงศ์ถังนั้นมีมากมาย แต่สำหรับชาวจีนถ้ากล่าวถึง พระถัง แล้วต้องหมายถึงเสวียนจั้งรูปเดียวเท่านั้น สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและชื่อเสียงท่านในหมู่ชาวจีนมาตั้งแต่โบราณกาล)

โดยหลังจากที่พระเสวียนจั้งฝ่าฟันอุปสรรค เผชิญกับสภาวะธรรมชาติอันโหดร้าย เดินทางข้ามทะเลทรายอันเวิ้งว้าง ภูเขาหิมะหนาวเหน็บ ทุ่งหญ้าที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ผจญกับอุปสรรคและสิ่งเย้ายวนสารพัดสารพันไปถึง มหาวิทยาลัยนาลันทา (那烂陀) ในประเทศอินเดีย และใช้เวลาศึกษาพระไตรปิฎกที่มหาวิทยาลัยนาลันทา เป็นเวลา 6 ปี ก่อนออกเดินทางไปทั่วประเทศอินเดียเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กับตนเอง และเดินทางกลับประเทศจีนพร้อมกับพระไตรปิฎกที่คัดลอกมาจากต้นฉบับ

พระเสวียนจั้งเดินทางกลับจากอินเดียมาถึงนครฉางอานเมื่อปี ค.ศ.645 พร้อมกับอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 150 องค์ พระไตรปิฎกจำนวน 257 เล่มสมุด บรรทุกด้วยม้าจำนวน 20 ตัว รวมระยะเวลาที่ท่านจากดินแดนบ้านเกิดไปอัญเชิญพระไตรปิฎกที่อินเดียนานถึง 19 ปี รวมระยะการเดินทางกว่า 50,000 ลี้

เมื่อ พระเสวียนจั้งกลับมาถึงฉางอาน ฮ่องเต้ซึ่งยังคงเป็นฮ่องเต้ถังไท่จงอยู่เช่นเดียวกับตอนที่ท่านออกเดินทางไปได้สั่งให้มีการจัดแจงวัดต้าฉือเอิน (大慈恩寺) ที่พระองค์สร้างอุทิศให้พระมารดา ไว้ให้พระเสวียนจั้งแปลพระไตรปิฎก

โดยในเวลาต่อมาหลังฮ่องเต้ถังไท่จงเสด็จสวรรคต เมื่อพระราชโอรส ถังเกาจงขึ้นครองราชย์ ในปี ค.ศ.652 พระเสวียนจั้งก็ทูลขอพระบรมราชานุญาตให้สร้างเจดีย์ขึ้นทางทิศตะวันตกของวัด ซึ่งในเวลาต่อมาก็คือ เจดีย์ห่านป่าใหญ่ (ต้าเอี้ยนถ่า:大雁塔)

สำหรับรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของเจดีย์องค์นี้นั้น พระเสวียนจั้งเป็นผู้ออกแบบเอง โดยออกแบบให้มีความคล้ายคลึงกับรูปลักษณ์เจดีย์ของทางฝั่งอินเดีย เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม (ผ่านมาหลายยุคหลายสมัย รวมแล้วเกือบ 1,400 ปี มีการบูรณะปฏิสังขรณ์เจดีย์แห่งนี้กระทั่งปัจจุบันเป็นเจดีย์ 7 ชั้น ความสูง 64.5 เมตร)*

จริงๆ แล้ว แรกเริ่มเดิมทีเจดีย์แห่งนี้มีชื่อว่า "เจดีย์แห่งวัดฉือเอิน (慈恩寺塔)" แต่ในภายหลังได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "เจดีย์ห่านป่าใหญ่" อันเนื่องมาจากตำนานๆ หนึ่งที่แพร่หลายในเหล่าผู้นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน (อาจาริยวาท)

ตำนานดังกล่าวระบุว่า นานมาแล้วมีวัดแห่งหนึ่ง ณ อาณาจักร Magadha (摩揭陀国; อดีตอาณาจักรแห่งหนึ่งในดินแดนของประเทศอินเดียปัจจุบัน) ตอนเช้าของวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่ง เมื่อพระสงฆ์ในวัดออกเดินบิณฑบาต แต่กลับไม่มีชาวบ้านออกมาทำบุญกันเท่าใดนัก เมื่อกลับถึงวัด พระสงฆ์รูปหนึ่งจึงกล่าวอย่างทอดถอนใจว่า

"พระโพธิสัตว์ท่านคงไม่หลงลืมไปนะว่าวันนี้เป็นวันอะไร ... "

ในเวลานั้นเอง ห่านป่าฝูงหนึ่งได้บินผ่านวัด พอคำพูดของพระสงฆ์รูปนั้นกล่าวไม่ทันขาดคำ ก็มีห่านป่าตัวหนึ่งบินแยกตัวออกมาจากฝูง ร่วงตกลงมาตายในบริเวณวัด ทำให้พระทั้งวัดตกตะลึงเป็นอันมาก โดยต่างก็สันนิษฐานกันไปว่า พระโพธิสัตว์ท่านคงได้ยินคำรำพึงรำพันจึงอุทิศร่างหนึ่งของท่านเป็นห่านป่าส่งมาเป็นอาหารให้แก่เหล่าสงฆ์

เมื่อคิดได้ดังนี้ พระสงฆ์ในวัดจึงเลิกรับประทานเนื้อ และได้สร้างเจดีย์หินขึ้น ณ ที่ซึ่งห่านป่าลอยร่วงลงมานอนเสียชีวิตนั่นเอง

นอกจากนี้แล้ว สาเหตุของการเปลี่ยนชื่อเจดีย์แห่งวัดฉือเอิน มาเป็น เจดีย์ห่านป่าใหญ่นั้น ก็ยังมีตำนาน และเรื่องเล่าอื่นๆ อีกมากมาย แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างแพร่หลายเช่นเดียวกับตำนานแรกก็คือ เรื่องเล่าที่ว่า

ขณะที่พระเสวียนจั้งเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกนั้น มีครั้งหนึ่งระหว่างที่ท่านเดินทางผ่านทะเลทรายอันเวิ้งว้าง น้ำดื่มที่ท่านติดตัวมาได้หมดลง หลังจากโซซัดโซเซอยู่นาน ก็มีห่านป่าใหญ่เป็นผู้นำทางท่านไปจนพบแหล่งน้ำกลางทะเลทรายในที่สุด ด้วยเหตุนี้เมื่อเจดีย์ ณ วัดฉือเอินสร้างเสร็จ จึงมีการเปลี่ยนชื่อเจดีย์ให้เป็นเจดีย์ห่านป่าใหญ่เพื่อระลึกถึงห่านป่าที่มีคุณูปการต่อการไปอัญเชิญพระไตรปิฎกของพระเสวียนจั้ง**

ในวัฒนธรรมจีน 'ห่าน' นั้นนอกจากจะมีความหมายศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพุทธ ตามตำนานดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ห่านก็ยังเป็นสัตว์ที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ถึงการเป็น "ทูตแห่งแห่งข่าวสาร" ด้วย เนื่องจากตั้งแต่โบราณคนจีนเขาช่างสังเกต

เขาสังเกตว่า เวลาห่านบินกันเป็นฝูงนั้นจะบินเป็นรูปตัวอักษรจีนที่แปลว่า "คน (เหริน,เหยิน:人)" ดังนั้นคนจีนจึงเห็นว่า ห่านนั้น คือ ผู้ส่งข่าวสารระหว่างสวรรค์กับโลกมนุษย์ เมื่อพบเห็นฝูงห่านบินอยู่บนท้องฟ้าก็แสดงว่าอาจจะมีข่าวสารอะไรสักอย่างส่งมาถึงในไม่ช้า

หลังจากที่สร้างเจดีย์ห่านป่าใหญ่เสร็จ พระเสวียนจั้งได้ใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกที่ท่านอัญเชิญมาจากมหาวิทยาลัยนาลันทา อินเดีย และที่วัดต้าฉือเอินแห่งเดียวกันนี้เอง พระเสวียนจั้งก็ได้ใช้เป็นสถานที่แปลพระไตรปิฎกฉบับดั้งเดิมเป็นภาษาจีน โดยมีการแปลออกมาเป็นจำนวนมากถึง 75 เล่มสมุด 1,335 ม้วน ทิ้งไว้ให้เป็นมรดกสำคัญต่อการศึกษาพุทธศาสนาของคนจีนรุ่นหลัง

นอกจากนี้ท่านยังเขียน 'บันทึกดินแดนตะวันตกในสมัยถัง (大唐西域记)' บันทึกประวัติศาสตร์อันมีค่ามหาศาลไว้เป็นมรดกทาง วัฒนธรรม สำหรับชาวโลกรุ่นหลังอีกด้วย

แม้จีนกับอินเดียจะเริ่มมีการติดต่อกันมาก่อนหน้านั้นนานนับเป็นร้อยๆ ปี แต่ในยุคราชวงศ์ถัง ความเจริญรุ่งเรืองทางความสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับอินเดียถือว่าได้ดำเนินมาถึงจุดสูงสุดก็ว่าได้ โดยปัจจัยสำคัญประการหนึ่งก็อันเนื่องมาจาก การแลกเปลี่ยนและการถ่ายทอดปรัชญาความเชื่อที่มี พุทธศาสนาเป็นปัจจัยโน้มนำสำคัญ

พุทธศาสนาเข้ามาจีนตั้งแต่สมัยฮั่นตะวันออก โดยมีการอัญเชิญและแปลพระไตรปิฎก รวมถึงคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตลอดช่วงระยะเวลา 500-600 ปี เมื่อมาถึงสมัยราชวงศ์ถัง กิจกรรมเกี่ยวกับศาสนาพุทธทั้งสองต่างก็ถือได้ว่ารุ่งเรืองถึงขีดสุด (อ่าน :ถึง อารามม้าขาว ... เยือน ต้นธาร 'พุทธ' ในจีน)

ทั้งนี้ทั้งนั้นหากชาวจีนเอ่ยถึง การอัญเชิญ-แปลพระไตรปิฏกแล้วก็มิอาจลืมเลือนที่จะกล่าวหนึ่งในสัญลักษณ์ของ "ทูตแห่งความสัมพันธ์ของจีน-อินเดีย" ซึ่งก็คือ พระถัง-เสวียนจั้ง วัดต้าฉือเอิน และเจดีย์ห่านป่าใหญ่ ณ เมืองซีอานได้เลย

Tips สำหรับการเดินทาง:
- วัดต้าฉือเอินเปิดตั้งแต่เวลา 8.00-18.30น. บัตรผ่านประตูราคา 25 หยวน (บัตรนักเรียนลดเหลือ 15 หยวน) นอกจากนี้ยังมีค่าขึ้นเจดีย์อีก 20 หยวน (นักเรียน 10 หยวน)

อ้างอิงจาก :
*หนังสือประวัติศาสตร์การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศจีนกับโลกภายนอก (中国外文化交流史) โดยหม่าซู่เต๋อ (马树德) สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง ค.ศ.2002
**หนังสือ 陕西历史百谜 : สำนักพิมพ์ 陕西旅游出版社 เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2001 หน้า 169-171



กำลังโหลดความคิดเห็น