xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าบนกำแพง (4)

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


ผมเดินผ่านหอระฆัง ที่อยู่ห่างจากที่พักไปไม่เกิน 5 นาทีเท้า มุ่งหน้าไปยัง "กำแพงเมืองซีอาน" รักแรกพบของผมในวันนี้

กำแพงเมืองซีอาน ในปัจจุบันถือว่าเป็นกำแพงเมืองโบราณที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ดีที่สุดและใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง กำแพงเมืองที่เห็นในปัจจุบันถูกสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงด้วยอิฐสีดำ มีความยาวโดยรอบถึง 13.74 กิโลเมตร ใหญ่โตถึงขนาดที่ด้านบนสามารถเอารถบรรทุกคันใหญ่ๆ ขึ้นไปวิ่งเรียงเป็นแถวหน้ากระดานได้สัก 2-3 คัน เพราะส่วนบนของกำแพงมีความกว้างราว 12-14 เมตร ขณะที่ส่วนฐานนั้นกว้างกว่า 15-18 เมตรเลยทีเดียว

4 ทิศของกำแพง มีประตูใหญ่ทิศละหนึ่งประตู ประกอบไปด้วยประตูหย่งหนิงทางทิศใต้ (永宁门) ประตูอานหย่วนทางทิศเหนือ (安远门) ประตูฉางเล่อทางทิศตะวันออก (长乐门) และ ประตูอานติ้งทางทิศตะวันตก (安定门) นอกจากนี้ก็ยังมีประตูเล็กๆ อีกจำนวนหนึ่ง

ผ่านห้างสรรพสินค้าใหญ่ ภัตตาคาร ร้านขายของบนถนนอันพลุกพล่านจนมาถึงประตูหย่งหนิงทางทิศใต้ จริงๆ แล้วการเดินขึ้นไปเยี่ยมชมกำแพงเมืองซีอานนั้นสามารถขึ้นได้จากประตูใหญ่ทั้ง 4 ทิศที่ว่า แต่โชเฟอร์แท็กซี่หน้าสถานีรถไฟที่ขับมาส่งผมถึงที่พักบอกว่า ประตูทางทิศใต้แห่งนี้นั้นได้รับความนิยมที่สุด

สาเหตุหนึ่งก็อาจเป็นเพราะว่า ประตูทิศใต้แห่งนี้ตั้งประชันหน้าอยู่กับ 'หอระฆัง' อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเมืองซีอานก็เป็นได้ จึงทำให้เมื่อมองจากหอคอยทางประตูทิศใต้ก็จะเห็นทิวทัศน์ของเมืองซีอานที่ ความโบราณตัดกับความทันสมัยอย่างชัดเจน ....

เช่นเดียวกับประตูใหญ่ทั้งสี่ประตู กำแพงเมืองบริเวณประตูหย่งติ้งนี้ถูกสร้างขึ้นทับเป็นสองชั้น เสริมเข้ากับหอคอยอันแข็งแรง หอยิงธนู เพื่อความแน่นหนาในการป้องกันการรุกรานของศัตรู

กำแพงแห่งเมืองซีอานที่เราเห็นกันในปัจจุบันสร้างขึ้นในช่วงต้นราชวงศ์หมิง รัชสมัยของฮ่องเต้หมิงไท่จู่จูหยวนจาง ในช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ.1370-1378 (อ่านเพิ่มเติม : เรื่องราวเกี่ยวกับ จูหยวนจาง ตอน 1 และ ตอน 2) โดยเป็นการสร้างขึ้นบนแนวเก่าของกำแพงพระราชวังสมัยราชวงศ์ถัง

การกล่าวเช่นนี้ก็หมายความว่า พื้นที่เมืองซีอานที่อยู่ภายในกำแพงในปัจจุบันนั้น เดิมเป็นเพียงพื้นที่ส่วนพระราชวังของฮ่องเต้ในสมัยราชวงศ์ถังเท่านั้น!

ที่น่าเสียดายที่เมื่อเวลาผันผ่าน กำแพงเมืองซีอานที่เดิมสร้างเอาไว้ป้องกันข้าศึกศัตรูเข้าจู่โจม กลับไม่ได้มีประโยชน์ดังเช่นที่มันมีตอนเริ่มแรก คล้ายกับสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่างกำแพงเมืองจีนที่เดิมก็สร้างขึ้นไว้เพื่อป้องกันชนเผ่านอกด่านไม่ให้เข้ามารุกรานชาวฮั่นที่อาศัยอยู่ภายในกำแพงเมืองจีน แต่กำแพงไม่ว่าจะยาวเพียงใด จะใหญ่เพียงใด หรือแข็งแกร่งดุจภูเขาไท่ซาน ก็กลับไม่มีแข็งแกร่งมากเพียงพอที่จะปิดกั้นหรือชะลอการจู่โจมและสงครามในรูปแบบใหม่ๆ ที่คิดค้นมาโดยสมองน้อยๆ ของมนุษย์ได้

ในช่วงระหว่างสงครามโลก กำแพงดั้งเดิมในสมัยราชวงศ์หมิงนั้นถูกขุดทำลายเสียเละเทะ โดยชาวเมืองซีอานในตอนนั้นอาศัยกำแพงเมืองเป็นเครื่องกำบัง ด้วยวิธีการขุดหลุมหลบภัยไว้ใต้กำแพงเพื่อรักษาชีพให้รอดพ้นจากลูกระเบิดที่ถูกหย่อนมาจากเครื่องบินของญี่ปุ่น ทั้งนี้ในช่วงนั้นมีการนับกันไว้ว่าหลุมหลบภัยภายใต้กำแพงเมืองซีอานมีมากถึง 1,991 หลุม

นอกจากนี้ หลังจากช่วงสงครามโลกสงบลง ในช่วงต้นของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวจีนเองที่ต้องดำรงชีวิตอย่างลำบากยากแค้น เมื่อท้องยังไม่อิ่มก็ไม่เวลาไปสนใจที่จะอนุรักษ์โบราณสถานอะไรจึงมักจะมีการขนหินจากกำแพงเมืองมาสร้างบ้าน ก่อเป็นเตาหุงหาอาหาร ฯลฯ กันโดยพละการ กระทั่งเมื่อปี ค.ศ.1983 หรือราวสองทศวรรษก่อน หลังการปฏิรูปเศรษฐกิจดำเนินมาได้สักระยะหนึ่งรัฐบาลจีนจึงหันมาเห็นความสำคัญ ทุ่มทรัพย์และกำลังซ่อมแซมกำแพงเมืองซีอานให้กลับมาอยู่ในรูปลักษณ์เดิมอีกครั้ง*

บนกำแพง ....

ผมเช่าจักรยานมาคันหนึ่งในราคาขูดเลือดซิบๆ ชั่วโมงละ 10 หยวน

ก่อนหน้านี้ผมทราบข้อมูลมาจาก อ.เซียวลี่ อาจารย์ของผมซึ่งเป็นเจ้าถิ่นว่า ในปัจจุบันยังมีการเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเดิน วิ่ง หรือขี่จักรยานบนกำแพงได้ครบรอบ โดยแกเล่าด้วยว่า สมัยที่ยังเป็นเป็นนักเรียน เมื่อมีการฝึกซ้อมเพื่อแข่งกีฬาทีไร อาจารย์กับรุ่นพี่มักจะให้บังคับให้รุ่นน้องวิ่งรอบกำแพงหนึ่งรอบเป็นการอบอุ่นร่างกาย

...... สำหรับผม หลังจากไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้ว ระยะทางเกือบ 14 กิโลเมตรนี้ผมขอถีบจักรยานดีกว่า

ด้านบนของกำแพงนอกจากจะมีความสมบูรณ์และสะสวยแล้ว ยังมีความแปลกแฝงประการหนึ่ง ก็คือ เมื่อเดิน-ขี่จักรยานไปเรื่อยๆ จะพบว่า กำแพงเมืองซีอานแตกต่างไปจากกำแพงเมืองสี่เหลี่ยมที่เราเคยเห็นๆ กันมา โดยหากใครที่ได้ลองมาเดินเล่นหรือขี่จักรยานชมดู ก็จะทราบว่า ณ มุมกำแพงด้านตะวันตกเฉียงใต้นั้นไม่ได้หักรูป 90 องศา แต่โค้งตัวเป็นรูปครึ่งวงกลม

จริงๆ แล้วความแปลกอันนี้ถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานประวัติศาสตร์บ่งชี้ และไม่มีใครสามารถให้คำตอบที่แน่ชัดได้ว่า ด้วยสาเหตุใดจึงทำให้มีการสร้างมุมหนึ่งของกำแพงเป็นครึ่งวงกลม

ด้วยเหตุนี้จึงมีคำอธิบายต่างๆ นานา ถึงที่มาที่ไปของ "กำแพงเมืองครึ่งวงกลม" ดังกล่าว โดยมีบางคนอธิบายว่า เนื่องจากในช่วงการออกแบบกำแพงเมือง ตามนโยบาย "สร้างกำแพงเมืองสูง สะสมกำลัง-เสบียง แต่ยังไม่ตั้งตนเป็นกษัตริย์" ที่จูหยวนจางยึดถือมาตลอดตั้งแต่ก่อนตั้งตนเป็นฮ่องเต้แห่งราชวงศ์หมิง หลังจากช่าง ออกแบบกำแพงเมืองเสร็จและนำแบบไปให้ฮ่องเต้ทอดพระเนตร พระองค์เมื่อดูแบบแล้วก็ตรัสว่า แม้การสร้างกำแพงเมืองจะมีระเบียบตายตัวอยู่ แต่ตามประสบการณ์ของพระองค์แล้วเห็นว่าต้องปรับเปลี่ยนสักนิดหน่อย จากนั้นพระองค์จึงแก้แบบ โดยลากมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกำแพงให้เป็นรูปวงกลมเสียอย่างนั้นเอง

ขณะที่บางคนก็อธิบายไปอีกอย่างว่า ในระหว่างการก่อสร้างกำแพง เมื่อสร้างไปถึงมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ ได้มีการพบซากเมืองฉางอานเก่าของสมัยถัง ทั้งนี้เนื่องจากซากเมืองเก่าดังกล่าวมีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม เพื่อประหยัดเวลาในการก่อสร้างจึงยึดตามแบบเก่าแล้วสร้างต่อเสียเลย

นอกจากนี้แล้วก็ยังมีคำอธิบายที่เกี่ยวกับความเชื่อ-โชคลางอื่นๆ อีกมากมาย แต่คำอธิบายที่ดูจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ และสมเหตุสมผลมากที่สุดก็คือ คำอธิบายที่ว่า ระหว่างการก่อสร้างมีการค้นพบว่า พื้นที่นอกกำแพงเมืองในส่วนมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้นั้นมีรอยแยกของแผ่นดินอยู่ โดยหากดื้อดึงยึดตามแบบเดิม ดันทุรังสร้างกำแพงทับไปบนรอยแยกดังกล่าวก็มีโอกาสสูงที่กำแพงจะทรุดหรือพังลงมาได้ง่าย แต่กระนั้นเนื่องจากการก่อสร้างในส่วนอื่นๆ นั้นดำเนินการไปแล้วไม่น้อย การขยับกำแพงเมืองให้หนีจึงทำไม่ได้ สุดท้ายจึงได้แต่แก้ไขด้วยวิธีปรับแบบกำแพงเมืองในส่วนมุมนี้จากรูปเหลี่ยม ให้เป็นรูปโค้งเสีย**

.... เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าของเหลี่ยมๆ ก็มิใช่ว่าจะถูกต้องและดีเสมอไป : )

บนอานจักรยาน เหนือเมืองซีอาน เวลา 2 ชั่วโมง กับ 14 กิโลเมตรผ่านไปอย่างรวดเร็ว เรื่องเล่าจากบนกำแพงของผมก็คงต้องหยุดลงแค่นี้ ส่วนที่เหลือผมคงให้ 'ภาพ' เป็นผู้เล่าต่อ และคงต้องให้ 'ท่านผู้อ่าน' มาลองสัมผัสประสบการณ์นี้ด้วยตัวเอง คงจะดีกว่า

Tips สำหรับการเดินทาง:
- กำแพงเมืองซีอาน ในช่วงเดือนเมษายน-ตุลาคม เปิดให้ขึ้นชมได้ตั้งแต่เวลา 7.00-22.30น. ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคมเปิดให้ชมในช่วง 8.00-18.00น. ค่าบัตรผ่านประตู 40 หยวน (มีบัตรนักเรียนลดครึ่งราคาเหลือ 20 หยวน)
- ค่าเช่าจักรยานแบบขี่คนเดียว ชั่วโมงละ 10 หยวน แบบขี่เป็นคู่ ชั่วโมงละ 20 หยวน โดยมีค่าประกันจักรยานคันละ 100 หยวน หรือ หากนั่งชมทิวทัศน์แบบสบายๆ ก็มีรถไฟฟ้าให้บริการในราคา 50 หยวน/คน/รอบ หรือ 5 หยวน/คน/เศษหนึ่งส่วนสี่รอบ

อ้างอิงจาก :
*นิตยสาร 中国国家地理 (Chinese National Geography) ฉบับที่ 536 เดือนมิถุนายน ค.ศ.2005
**หนังสือ 陕西历史百谜 : สำนักพิมพ์ 陕西旅游出版社 เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2001 หน้า 173-174




กำลังโหลดความคิดเห็น