xs
xsm
sm
md
lg

ชาวฮั่น

เผยแพร่:   โดย: โชติช่วง นาดอน

ชนชาติจีนปัจจุบันเรียกชื่อชนชาติของตนว่า “ชนชาติฮั่น” (Han) คำนี้เขียนด้วยอักษรตัวเดียวกับคำว่าราชวงศ์ฮั่น 汉

ชนชาติฮั่นเกิดจากการหลอมรวมประสมประสานระหว่างชนเผ่าต่างๆ หลายเผ่าหลายวัฒนธรรม ผ่านระยะเวลายาวนานกว่าจะกำเนิดเป็นชนชาติที่อยู่ร่วมกันในดินแดนหนึ่ง

กลุ่มชนเผ่ารากเหง้าที่เป็นแกนของชนชาติฮั่นนั้น เรียกกันว่าชาว “หัวเซี่ย”

ชาวหัวเซี่ยดั้งเดิมประกอบด้วยชนเผ่าสองกลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มของ “หวงตี้” (จักรพรรดิเหลือง) และกลุ่มของ “เหยียนตี้” สองกลุ่มนี้เป็นพันธมิตรกัน มีการแลกเปลี่ยนสมรสกันระหว่างเผ่า ตำนานบันทึกว่าต้นตอของเผ่าหวงตี้อยู่ที่ลุ่มแม่น้ำจี 姬จึงใช้แซ่ว่าจี 姬 แต่แม่น้ำชื่อนี้ปัจจุบันหาไม่พบ นักวิชาการจีนเสนอว่า ต้นตอของเผ่าหวงตี้คงจะอยู่แถบลุ่มแม่น้ำจี 伎 เชิงเขาจีซาน 伎山ค่อนไปทางเหนือของมณฑลส่านซีปัจจุบัน ส่วนต้นตอของเผ่าเหยียนตี้ อยู่ที่ลุ่มน้ำเจียง 姜จึงใช้แซ่ว่าเจียง 姜 แม่น้ำเจียงนี้ นักวิชาการจีนเสนอว่าน่าจะอยู่แถบอำเภอเป่าจี 宝鸡ค่อนมาทางใต้ของมณฑลส่านซีในปัจจุบัน

บริเวณเหล่านี้ก็อยู่ใกล้ๆ กับเมืองซีอาน มณฑลส่านซีในปัจจุบันนั่นแหละ สรุปง่ายๆ ว่าต้นตอของชาวหัวเซี่ยอันเป็นแกนของชนชาติฮั่นนั้น ก็อยู่แถบมณฑลส่านซี และเหอเป่ย อันเป็นถิ่นที่ชาวจีนตั้งราชวงศ์มีราชธานีอยู่ในแถบนี้ถึงอย่างน้อย 13 ราชวงศ์

การขยายตัวขึ้นเป็นกลุ่มชนหัวเซี่ยนั้น ก็มิใช่มีเฉพาะการรวมตัวกันระหว่างเผ่าหวงตี้กับเผ่าเหยียนตี้เท่านั้น หากแต่ได้ค่อยๆ มีชนเผ่าอื่นๆ หลอมรวมเข้ามาเพิ่มด้วย เป็นต้นว่า พวกซีอี๋ (ชาวอี๋ทางตะวันตก เช่น ตระกูลของราชวงศ์โจว) ตงอี๋ พวกอี๋ทางตะวันออก (เช่นตระกูลของจักรพรรดิสุ้น) เป็นต้น

ในยุคเริ่มต้นของตัวอักษร คือสมัยราชวงศ์เซี่ย ราชวงศ์ซาง พื้นที่ครอบครองของแต่ละเผ่าพันธุ์ เรียกว่ “ฟาง” 方 มีมากมายนับร้อยฟาง กลุ่มชนในแถบตงง้วน (ส่านซี เหอเป่ย) เรียกตัวเองว่าหัวเซี่ย เรียกชนเผ่าอื่นๆ รอบสี่ทิศ แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ว่า หมาน อี๋ ยง ตี๋

ล่วงมาถึงยุคเลียดก๊ก (ราชวงศ์ตงโจว) อันแบ่งเป็นสองช่วง ได้แก่ ชุนชิวกับจั้นกั๋ว การหลอมรวมชนเผ่าอื่นๆ เข้ามารวมกับหัวเซี่ยเกิดขึ้นมาก อย่างเช่น ชาวฉู่ (ฌ้อ) ชาวฉิน (หรือจิ๋น) – เจ้าผู้ปกครองของแคว้นจิ๋นเองก็มิใช่พวกหัวเซี่ยดั้งเดิม หากจะนับว่าจิ๋นซีฮ่องเต้เป็นต้นตอที่มาของชื่อคำว่า (ประเทศ)จีนแล้ว จีนก็มิใช่จีนดั้งเดิมต้นตอ) ชาวอู๋ ชาวเยวี่ย อันเป็นกลุ่มชนเผ่าเยวี่ย(เวียด) ทางตอนบน (คือแถบลุ่มแม่น้ำแยงซีตอนปลาย)

สรุปว่าถึงสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ “หัวเซี่ย” ขยายตัวหลอมรวมเอาชนเผ่าอื่นๆ อีกมากเข้าไปอยู่ร่วมกัน โดยเป็นราษฎรภายใต้ปกครองชองราชวงศ์ฉิน ราชวงศ์ฮั่น ตามลำดับ

การหลอมรวมชนเผ่าครั้งใหญ่ๆ ในประวัติศาสตร์จีนมี 3 ครั้ง

ครั้งแรกก็คือ ช่วงชุนชิว จั้นกั๋ว จนถึงจิ๋นซีฮ่องเต้รวมประเทศเป็นเอกภาพดังกล่าวแล้ว เป็นผลให้ก่อเกิดเป็นรัฐที่มีเอกภาพ มีการรวมอำนาจปกครองที่ศูนย์กลางโดยมีชนชาติหัวเซี่ยเป็นแก่นแกน

ครั้งที่สอง คือในช่วงราชวงศ์เว่ย (วุยก๊กในยุคสามก๊ก ค.ศ.220-265 ราชวงศ์จิ้น (ของลูกหลานสุมาอี้) ค.ศ. 265-420 ยุคหนานเป่ย ค.ศ. 420-589 นับตั้งแต่ยุคราชวงศ์ตงฮั่นเป็นต้นมา ชนเผ่าทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือและภาคเหนือ เช่น เผ่าซงหนู เผ่าเซียนเปย เผ่าตี๋ เผ่าเชียง ค่อยๆ เคลื่อนเข้ามาอาศัยปะปนอยู่กับชาวหัวเซี่ยในตงง้วน รับวัฒนธรรมของหัวเซี่ย ล่วงมาถึงยุคราชวงศ์เว่ย ราชวงศ์จิ้น มีบันทึกว่าในตงง้วนมีราษฎรเป็นชนเผ่าทางเหนือจำนวนพอๆ กับชาวหัวเซี่ย จนเกิดข้อเรียกร้องให้ขับไล่พวกชนเผ่าทางเหนือออกไป แต่เรื่องนั้นไม่มีทางจะทำสำเร็จ เพราะแนวโน้มพัฒนาการทางสังคมขณะนั้นก็คือการหลอมรวมกันทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ กระบวนการนี้สืบเนื่องต่อมาจนถึงยุคราชวงศ์ถัง

ในยุคหนานเป่ยนี่เอง ชนเผ่าจากภาคเหนือเริ่มเรียกชาวหัวเซี่ยว่า “ฮั่น” คำเรียกนี้ปรากฏครั้งแรกในสมัยราชวงศ์เป่ยฉี ค.ศ. 550-577 แต่ต่อๆ มา คำว่าคนฮั่น 汉人ขยายความหมาย หมายรวมถึงทั้งคนหัวเซี่ยในตงง้วนและคนเผ่าอื่นๆ ด้วย แสดงถึงการหลอมรวมทางเชื้อชาติที่เกิดขึ้นอย่างมากในยุคนี้

ครั้งที่สาม การหลอมรวมครั้งใหญ่ในช่วงราชวงศ์ซาง ราชวงศ์เหลียว ราชวงศ์จิน ราชวงศ์หยวน

ราชวงศ์เหลียวเป็นราชวงศ์ของชาวคีตาน ราชวงศ์จิน (กิม ) เป็นราชวงศ์ของชาวนูเจิน ราชวงศ์หยวนเป็นราชวงศ์ของชาวมงโกล ราชวงศ์เหลียว จิน หยวน มีความรุ่งเรืองเติบใหญ่แข่งขันได้กับราชวงศ์ซ่งของชาวจีน ชนเผ่าทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือรับวัฒนธรรมที่ก้าวหน้าของจีน ปรับปรุงปฏิรูปการปกครองและวิทยาการของตน จนสามารถก่อตั้งรัฐ และขยายอำนาจเข้าครอบครองดินแดนตงง้วนได้ ทำให้เกิดการหลอมรวมทางกลุ่มชนครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

ชาวจีนทางภาคเหนือเรียกตัวเองว่าคนฮั่น ส่วนชาวจีนทางภาคใต้เรียกตัวเองว่าคนถัง- ตึ่งนั้ง

นั่นสะท้อนว่า การหลอมรวมชนเผ่าในภาคเหนือ บรรลุสำเร็จก่อนทางภาคใต้ คนหัวเซี่ยก่อตั้งก๊กใหญ่โตที่มีอายุยืนนานถึงกว่าสี่ร้อยปีมีนามว่า “ฮั่น” (ราชวงศ์ฮั่น) การหลอมรวมชนเผ่าครั้งใหญ่ๆ แล้วใช้นามเรียกว่า “ฮั่น” เกิดขึ้นสามช่วงใหญ่ๆ ดังได้กล่าวแล้ว แต่การหลอมรวมชนเผ่าในภาคใต้ น่าจะเกิดความสำเร็จในยุคราชวงศ์ถัง ค.ศ. 618-907 คนในภาคใต้จึงเรียกตัวเองว่า “ตึ่งนั้ง-คนถัง” ไม่เรียกว่า “คนฮั่น”

คำว่า “ฮั่น” ยังมีความสับสนอีกประเด็นหนึ่ง นั่นคือในช่วงมหาสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชาติสัมพันธมิตรโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้คนรังเกียจชาติเยอรมนีที่ก่อสงคราม โดยเรียกชาติเยอรมนีว่าชาติ Hun ใช้ถ้อยคำรุนแรงถึงขั้นเรียกว่า “ไอ้ฮั่น”ในภาษาไทย อ้างว่าชาติเยอรมนีสืบเชื้อสายมาจากอนารยชนเอเชียที่บุกรุกเข้าไปปล้นสะดมในดินแดนยุโรป ฆ่าฟันชาวยุโรปไปมากมาย

อนารยชนเอเชียที่บุกรุกเข้าไปในยุโรป เรียกว่า “ฮุน” หรือ “หุน” ชนเผ่ากลุ่มนี้ก็คือกลุ่มชนเผ่าทางภาคเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ที่ส่วนหนึ่งของชนกลุ่มนี้ได้มีการหลอมรวมเข้ากับพวกหัวเซี่ย ดังที่ได้เล่าไว้ข้างต้นนั่นเอง คำเรียกชื่อพวกนี้มีมากมายหลายชื่อ และเรียกแตกต่างกันไปตามยุคสมัย เช่น พวกยง พวกตี่ พวกคีตาน พวกซงหนู พวกหุน

คำว่าหุนหรือฮุนนี้เองที่ไปสับสนกับคำว่าราชวงศ์ฮั่น ชนชาติฮั่น ท่านที่สนใจเรื่องที่ชาวเอเชียบุกรุกเข้าไปในยุโรปหาอ่านได้จากเรื่อง “ฮวนนั้ง” ของคึกฤทธิ์ ปราโมช ครับ .
กำลังโหลดความคิดเห็น