“ชนใดไม่มีดนตรีการ ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก...” ส่วนหนึ่งของพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 .... ขึ้นต้นแบบนี้ ผู้อ่านคงพอเดาออกว่า วันนี้เราจะมาว่ากันด้วยเรื่องของ "ดนตรี"
มีคนเคยกล่าวว่า ดนตรีมีความเป็นสากล ไม่ถูกจำกัดด้วยภาษาและไม่มีพรมแดนใดขวางกั้น ดนตรีสามารถสื่อเข้าถึงใจคนทุกชาติทุกภาษาได้โดยไม่ต้องอาศัยล่ามใดๆ ทั้งสิ้น...
เครื่องดนตรีของแต่ละประเทศก็มีความไพเราะเฉพาะตัว.....หลายคนคงเคยได้ฟังเสียงบรรเลงของเครื่องดนตรีจีนที่ชื่อว่า “กู่เจิง” หรือ "จะเข้จีน" มรดกสืบทอดอันล้ำค่าของแดนมังกร กันบ้างแล้ว คงไม่มีใครปฏิเสธถึงมนต์เสน่ห์ของเครื่องดนตรีชิ้นนี้ ที่สรรสร้างเสียงกังวานใสดุจสายน้ำไหล และบริสุทธิ์ดุจน้ำค้างบนยอดหญ้า ครั้นเสียงหนักแน่นรุนแรงก็ทรงพลังราวกับคลื่นถล่มภูผาได้
พระอาจารย์หลี่หยาง ผู้ถวายการสอนดนตรีกู่เจิงแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้มานั่งพูดคุยให้ฟัง ถึงความเป็นมาของกู่เจิง และ การเรียนการสอนดนตรีจีนในแดนสยาม พร้อมให้กำลังใจว่า เรื่องอายุไม่สำคัญ เท่าใจที่มุ่งมั่น
อาจารย์หลี่เริ่มต้นเล่าว่า “จากการศึกษาของนักโบราณคดี มีหลักฐานการขุดพบซากกู่เจิง (古筝) คิดว่า น่าจะอยู่ในหลุมศพของใครสักคนสมัยราชวงศ์ฉิน (ยุคจิ๋นซีฮ่องเต้) แต่ก็มีบางคนเชื่อว่า กู่เจิงมีมาก่อนหน้านั้น หรือมีอายุมากกว่า 2,500 ปีเสียอีก กู่เจิงยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า ฉินเจิง (秦筝) 'ฉิน' คือ ราชวงศ์ฉิน 'เจิง' เป็นการเลียนเสียงของเครื่องดนตรี ที่เวลาดีดจะมีเสียง เจิงๆๆ”
เริ่มแรกกู่เจิงมี 5 สาย และพัฒนามาเรื่อยๆ จนมี 13 สายในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของจีน ในยุคนั้นกู่เจิงได้มีการเผยแพร่ไปยังต่างประเทศ และเข้าไปยังญี่ปุ่นด้วย ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นเครื่องดนตรี "โกโตะ" ของญี่ปุ่น โกโตะเหมือนกับกู่เจิงจีนทุกอย่าง แตกต่างที่บันไดเสียง เพราะโกโตะยังคงมี 13 สายเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่รับมาจากสมัยถัง ในขณะที่กู่เจิงในจีนนั้น ได้มีการพัฒนาต่อจนมี 21-25 สายในปัจจุบัน แต่ส่วนใหญ่นิยม 21 สายมากกว่า เพราะ 25 สาย ตัวเครื่องจะใหญ่เทอะทะเกินไป
คำว่า โกโตะ ก็เพี้ยนเสียงมาจากภาษาจีนกลางคำว่า โกว (勾 - งอ) ทัว (托 - ปล่อย) ซึ่งเป็นเทคนิคในการดีดกู่เจิงอย่างหนึ่ง เวลาดีดนิ้วกลางเข้า เรียกว่า โกว ดีดนิ้วโป้งออก เรียกว่า ทัว
กู่เจิงไม่เพียงเผยแพร่ไปยังแดนอาทิตย์อุทัยเท่านั้น แต่ยังข้ามน้ำข้ามทะเลไปออกดอกออกผลที่เวียดนาม และเกาหลี ด้วย ที่เกาหลีกู่เจิงจะมีทั้ง 13 สาย และ 16 สาย แต่เสียงจะแตกต่างกับกู่เจิงจีนอยู่บ้าง โดยสายของกู่เจิงสมัยโบราณใช้หางม้าทำ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสายลวด ก่อนจะมาเป็นสายไนล่อนพันลวดในที่สุด ข้อดีของสายลวดก็คือ เสียงใส หางเสียงยาว สามารถกดโน้ตตัวอื่นให้เสียงเอื้อนได้อีก เหมาะกับการเล่นเพลงโบราณ แต่ข้อเสียคือ เวลาสายขาด สายลวดจะกระเด้งและทำอันตรายต่อผู้เล่นได้ ส่วนสายไนล่อน หางเสียงสั้น เหมาะกับการเล่นเพลงสมัยใหม่
ส่วนที่มีคนเปรียบ "กู่เจิง" เป็น "จะเข้จีน" นั้น เพราะว่าเทียบจากหน้าตาที่ละม้ายคล้ายกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจารย์หลี่มองว่า ในทางปฏิบัติ กู่เจิงมีความคล้ายคลึงกับเปียโนหรือพิณฮาร์ปมากกว่า จะเข้จะต้องใช้มือซ้ายกดให้เกิดโน้ตต่างๆ แล้วใช้มือขวาดีด ซึ่งคล้ายคลึงกับกีต้าร์ แต่สำหรับกู่เจิงนั้น สายแต่ละสาย ตั้งเสียงตัวโน้ตแต่ละตัวไว้เรียบร้อยแล้ว* เพียงใช้สองมือดีดเท่านั้น นอกจากนี้เสียงของจะเข้จะทุ้มต่ำ แต่กู่เจิงจะสูงใส
“มนต์เสน่ห์ของกู่เจิงน่าจะอยู่ที่เสียงที่ไพเราะด้วยตัวของมันเอง และดึงดูดความสนใจของผู้ฟังมากๆ ไม่เหมือนเครื่องดนตรีอื่น ที่ต้องเล่นเก่งจึงจะฟังเพราะ อย่าง ซอเอ้อร์หู บางคนสีพอเป็น แต่เราฟังเรารำคาญ แต่กู่เจิงแค่ดีดก็เพราะแล้ว นอกจากนี้ กู่เจิงสามารถเล่นเดี่ยวหรือเล่นวงก็ได้ ไม่เหมือนเครื่องดนตรีบางตัว ที่เล่นเดี่ยวไม่เพราะ” อาจารย์หลี่หยางกล่าวเสริม
ได้รู้จักกับกู่เจิงไปพอสังเขป หลายคนเกิดอาการคันไม่คันมือ อยากจะลองเรียนดูบ้าง แต่การจะเล่นกู่เจิงให้เป็น และไพเราะนั้นต้องอาศัยความพยายาม และการฝึกซ้อมไม่น้อย
“เด็กที่เมืองจีน เอาจริงเอาจัง เรียนแล้วต้องได้จริงๆ อาจารย์ถ้าไม่เก่ง ถึงค่าสอนถูกยังไงก็ไม่เรียน พ่อแม่หลายคนที่เป็นคนงานขนาดรายได้ไม่มากมายอะไร ก็ยังพยายามส่งลูกเรียน เพื่อหวังให้เด็กเป็นนักดนตรี มีอนาคตที่ดี ไม่ใช่แค่เล่นเป็นงานอดิเรกเท่านั้น บางทีก็เอาจริงเอาจังเกินไป ตรงข้ามกับคนไทย ที่บางทีก็สบายเกินไป พอเราเคี่ยวเข็ญกับเด็ก พ่อแม่บางคนถึงขั้นเคยออกปาก ให้ปล่อยๆ ลูกเขาบ้าง เพราะลูกเขาไม่ได้คิดจะเป็นนักดนตรี” อาจารย์หลี่หยางเปิดใจถึงความแตกต่างระหว่างการเรียนการสอนกู่เจิงของลูกศิษย์ในไทยและจีน ซึ่งลูกศิษย์ของอาจารย์ก็มีตั้งแต่อายุ 4 ขวบไปจนถึง 70 กว่า พร้อมกันนี้ อาจารย์ยังย้ำว่าอายุไม่ใช่อุปสรรค ปัญหาอยู่ที่คนเรียนมากกว่าว่าเอาจริงมากแค่ไหน บางคนแค่ตามกระแส ไม่ได้ชอบจริงๆ
อีกอย่าง “หลายคนชอบถามว่า จะเล่นเป็นเพลงได้เมื่อไร เราก็จะบอกว่า ถ้าจะเล่นให้เป็นเพลง แค่ชั่วโมงแรกก็เล่นได้แล้ว แต่ถ้าจะเล่นให้เพราะ และเล่นโดยใส่เทคนิคเสริมเข้าไป ก็ต้องใช้เวลา” อาจารย์หลี่หยางพูดจบ ก็หันไปบรรเลงเพลงไทย “คำมั่นสัญญา” สาธิตให้เราเห็นถึงความแตกต่างระหว่างการเล่นเพลงด้วยเทคนิคพื้นฐานและที่ต้องใช้เทคนิคสูงขึ้นให้ฟัง...พอมาได้ยินได้ฟังเสียงกู่เจิงแบบประชิดตัวเช่นนี้ ต้องยอมรับจริงๆ ว่าทำเอาหัวใจพองโต เพราะความไพเราะ ชนิดที่เสียงบรรเลงในแผ่นซีดีมิอาจเทียบเท่าได้เลยทีเดียว
นอกจากนี้ จะเรียนกู่เจิงให้ได้ดี ความขยันหมั่นเพียรเป็นสิ่งสำคัญ และแน่นอนนั่นหมายความว่า ผู้เรียนจำเป็นต้องมีกู่เจิงไว้ซ้อมมือที่บ้านด้วย มาถึงตรงนี้ หลายคนเกิดเครื่องหมายคำถามขึ้นในใจ “แล้วจะหาซื้อกู่เจิงได้จากที่ไหน”
“หลายคนเคยถามว่า ต้องมีกู่เจิงไว้ที่บ้านหรือไม่ บางคนคิดว่าเรียนกู่เจิงง่าย พอมาเรียนแล้วถอดใจ เพราะไม่ง่ายเหมือนที่คิด วิธีที่ดีที่สุดคือ อย่าเพิ่งซื้อ ให้ลองเรียนดูชั่วโมงสองชั่วโมงก่อน ดูว่าชอบจริงหรือไม่ ถ้าชอบจริงก็ควรจะไปซื้อกู่เจิงไว้ เพราะถ้าชั่วโมงต่อไปไม่มีกู่เจิง ก็คือเรียนไม่รอด”
สำหรับการเลือกซื้อกู่เจิง เป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อน คนที่เพิ่งเริ่มเรียนจะยังแยกไม่ออกว่า กู่เจิงที่เสียงดีเป็นอย่างไร วิธีที่ดีที่สุด คือ การฟังคำแนะนำของครู หรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านกู่เจิง โดยส่วนตัวของอาจารย์หลี่หยางไม่เคยซื้อกู่เจิงในเมืองไทย จะซื้อแต่ละครั้ง ต้องลัดฟ้าไปถึงแผ่นดินใหญ่ เพื่อคัดเลือกกู่เจิงที่เสียงดีที่สุด
“ถ้าไปซื้อกู่เจิงที่จีน ราคาก็มีตั้งแต่ 1,000 หยวนเป็นต้นไป แต่กู่เจิงราคา 1,000 กว่าหยวนแทบจะใช้ไม่ได้เลย ส่วนใหญ่ต้อง 2,000 -3,000 หยวนขึ้นไป แต่ก็ต้องดูดีๆ ช่างมีหลายระดับ แต่บางทีผลงานของช่างเก่งๆ ก็ยังมีเสียงที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ว่าเก่งแล้วทุกตัวจะดีหมด เราต้องมาคัดอีกที ส่วนใหญ่กู่เจิงที่ซื้อ จะไปซื้อที่บ้านช่างโดยตรงเลย คือ ช่างเขาทำงานที่โรงงาน ซึ่งงานที่โรงงานจะไม่ค่อยละเอียด ส่วนงานที่บ้านเขาราคาจะสูงกว่า แต่คุณภาพดีกว่า บางทีต้องสั่งจอง ต้องรอคิว เพราะเขาทำไม่เยอะ”
แหล่งผลิตกู่เจิงในเมืองจีนมีหลายแหล่ง เช่น หยางโจว เซี่ยงไฮ้ อย่างยี่ห้อที่ติดตลาดมากๆ ของเซี่ยงไฮ้ก็คือ ตุนหวง ที่ขึ้นชื่อเรื่องสายกู่เจิง
ปัจจัยที่ทำให้คนไทยรู้จักกู่เจิงมากขึ้น และช่วยกระตุ้นกระแสการเรียนกู่เจิงในไทย อาจารย์หลี่มองว่า ที่สำคัญที่สุดน่าจะมาจากการที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จัดคอนเสิร์ตสายสัมพันธ์สองแผ่นดินเมื่อปี 2000 และดำเนินมาถึงครั้งที่ 3 แล้วในปีนี้ อีกส่วนหนึ่งคือ การที่เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และเก็งว่าจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในอนาคต ทำให้คนไทยเห็นช่องทางในการทำธุรกิจกับจีน จึงสนใจศึกษาภาษาจีนมากขึ้น นี่อาจเชื่อมโยงไปถึงการสนใจใคร่รู้ในวัฒนธรรมจีนที่ลึกซึ้งขึ้น...
*หมายเหตุ - โน้ตเพลงของกู่เจิงมีทั้งสิ้น 5 เสียง คือ โด เร มี ซอล ลา โดยจะไม่มีเสียง ฟา และ ที แต่สามารถสร้าง 2 เสียงนี้ได้โดยการใช้มือซ้ายกดสาย
คลิกอ่าน อ.หลี่หยาง ผู้อยู่เบื้องหลัง ‘สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน’